คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 132 (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 72 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3868-3869/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งฟ้องอุทธรณ์, ดุลพินิจศาล, ค่าขึ้นศาล, การจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ, ความยุติธรรมในการพิจารณาคดี
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ผู้ร้องภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงถือว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ซึ่งศาลอุทธรณ์มีอำนาจจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้ตามมาตรา 132 (1) ประกอบมาตรา 246 แต่มาตรา 132 ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดว่าศาลจะต้องจำหน่ายคดีเสมอไป เพียงแต่ให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าจะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงเหตุผลอันสมควรและความยุติธรรม
เมื่อปรากฏว่าขณะที่ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ยื่นอุทธรณ์ ได้เสียค่าขึ้นศาลเป็นเงิน 200,000 บาท 37,482 บาท 95,162 บาท และ 35,162 บาท ชี้ให้เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ประสงค์ที่จะต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป เมื่อเปรียบเทียบจำนวนเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ดังกล่าวกับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจัดส่งคำคู่ความให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเงินเพียง 500 บาท แล้ว ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการจัดส่งคำคู่ความจึงเป็นเงินจำนวนเพียงเล็กน้อย ตามพฤติการณ์ดังกล่าว แม้ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 จะทิ้งอุทธรณ์ แต่ศาลฎีกาเห็นว่ากรณียังไม่สมควรจำหน่ายคดีของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ทั้งนี้เพื่อให้คู่ความได้ว่ากล่าวกันในเนื้อหาแห่งคดีกันต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9251/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายเรียกข้ามประเทศและการทิ้งฟ้องคดี: การพิสูจน์ฐานะตัวแทนและการปฏิบัติตามคำสั่งศาล
แม้จำเลยที่ 1 จะเรียกเก็บค่าระวางจากผู้เอาประกันภัยแทนจำเลยที่ 2 รวมทั้งดำเนินการทางพิธีการศุลกากร แจ้งการมาถึงของเรือและออกใบสั่งปล่อยสินค้าให้แก่ผู้เอาประกันภัยซึ่งอยู่ในราชอาณาจักรแทนจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่จำเลยที่ 1 กระทำการแทนจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ตกลงร่วมกันรับขนที่ฟ้องร้องในคดีนี้เท่านั้น ไม่อาจถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ อันจะทำให้อาจส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องตั้งต้นคดีให้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 83 ทวิ วรรคหนึ่ง การที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ณ สำนักทำการงานของจำเลยที่ 1 เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลง จึงมีคำสั่งให้แก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดหลงดังกล่าว โดยให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 โดยทำเป็นคำร้อง พร้อมกับคำร้องขอส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของจำเลยที่ 2 นอกราชอาณาจักร ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง โดยให้โจทก์ทำคำแปลหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเป็นภาษาราชการของประเทศที่จำเลยที่ 2 มีภูมิลำเนาหรือภาษาอังกฤษพร้อมคำรับรองคำแปลว่าถูกต้องและวางเงินค่าใช้จ่ายเพื่อส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องผ่านสำนักงานศาลยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศต่อไป จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 83 ทวิ และมาตรา 83 จัตวา
โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาสืบหาภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 ไปถึงวันที่ 25 กรกฎาคม 2558 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2558 โจทก์ก็ไม่ดำเนินการภายในกำหนดตามคำสั่งศาลที่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งยื่นคำโต้แย้งคัดค้านคำสั่งศาล ย่อมเป็นการที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้น ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องและจำหน่ายคดีของโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 83 จัตวา วรรคหนึ่ง และวรรคสาม มาตรา 174 (2) และมาตรา 132 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13881/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งฟ้องคดีทรัพย์สินทางปัญญา จากการไม่ดำเนินคดีตามกำหนดศาล
ตามรายงานกระบวนพิจารณา ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่า คดีของโจทก์มีมูล ให้ประทับฟ้องโจทก์ไว้พิจารณา หมายเรียกจำเลยทั้งสามมาให้การในวันเดียวกับวันนัดพร้อม และให้โจทก์นำส่งหมายภายใน 7 วัน โจทก์ได้ทราบคำสั่งดังกล่าวตามที่โจทก์ได้ลงชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณานั้นแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ดำเนินคดีภายในกำหนดเวลานั้น ถือว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลกำหนดไว้เพื่อการนั้นโดยชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) อันเป็นการทิ้งฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่า โจทก์ทิ้งฟ้องและสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์เสียจากสารบบความจึงชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 132 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2475/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งอุทธรณ์เนื่องจากไม่ชำระค่าขึ้นศาลตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ ทำให้ศาลจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
คำสั่งของศาลอุทธรณ์ที่เห็นว่าโจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ไม่ครบถ้วนและมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นเรียกให้โจทก์ให้ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามทุนทรัพย์ให้ครบถ้วนถูกต้องภายใน 15 วันนับแต่ทราบคำสั่ง เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แม้โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าว โจทก์ก็ต้องชำระค่าขึ้นศาลตามคำสั่งดังกล่าวไปก่อน และโต้แย้งคำสั่งไว้เพื่อใช้สิทธิฎีกาในภายหลัง แต่โจทก์มิได้ดำเนินการชำระค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจึงถือว่าโจทก์ทิ้งอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะจำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5329-5331/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางแพ่งของข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีทุจริตต่อหน้าที่ และการกำหนดขอบเขตความรับผิดร่วม
เงินที่มีการทุจริต บางส่วนเป็นเงินงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้แก่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นราชการส่วนภูมิภาคในสังกัดของโจทก์ บางส่วนเป็นงบกลางอยู่ภายใต้การครอบครองดูแลของคลังจังหวัดอุบลราชธานี แต่กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีจะต้องทำฎีกาขอเบิกจากคลังจังหวัดอุบลราชธานี ตามระเบียบการเบิกจ่ายเงินจากคลัง พ.ศ. 2520 เมื่อคลังจังหวัดอุบลราชธานีจ่ายเงินให้กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว เงินดังกล่าวก็อยู่ในความครอบครองดูแลของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ถ้ามีเงินเบิกเกินมาแล้วไม่ได้จ่ายหรือจ่ายไม่หมด ส่วนราชการผู้เบิกต้องนำส่งคืนคลังภายใน 15 วัน นับจากวันรับเงินจากคลัง ตามข้อ 53 วรรคสอง และข้อ 66 วรรคหนึ่ง ของระเบียบฉบับเดียวกัน การที่มีการทุจริตไม่นำเงินที่เกินกว่าหลักฐานการจ่ายส่งคืนคลังจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีการเบียดบังเงินดังกล่าวไปโดยทุจริต โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเป็นผู้เสียหาย มีอำนาจฟ้อง
หนังสือมอบอำนาจมิได้ระบุว่าให้ฟ้องผู้ใดบ้าง แต่การระบุให้ฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับการทุจริต หรือต้องชดใช้เงินคืนทุกเรื่องเกี่ยวกับการเงินของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ย่อมหมายความถึงดำเนินการฟ้องร้องหรือเรียกเงินคืนจากผู้ทุจริตหรือผู้ต้องรับผิดชอบคืนเงินที่เบียดบังเอาเงินงบประมาณของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบหาผู้รับผิดชอบจนทราบตัวข้าราชการที่ต้องรับผิดชอบชดใช้เงินของโจทก์ได้แล้ว
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และที่ 18 มิได้เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ 15 และที่ 16 การที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และที่ 18 ร่วมกันทำละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 ที่ 15 และที่ 16 ผู้บังคับบัญชาจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และที่ 18 ตามสายงานต้องร่วมรับผิดในการละเมิดของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 10 และที่ 18 ได้ จำเลยที่ 2 ที่ 15 และที่ 16 จะต้องรับผิดชอบเฉพาะการกระทำในส่วนที่จำเลยที่ 2 ที่ 15 และที่ 16 แต่ละคนได้กระทำไปด้วยความประมาทเลินเล่อเท่านั้น
การที่ผู้เบิกได้ลงลายมือชื่อในฎีกาเบิกเงินเดือนโดยตรวจข้อความและหลักฐานของแต่ละฎีกาที่เสนอขึ้นมาให้ลงลายมือชื่อแล้วมีจำนวนเงินตรงกันกับหลักฐาน ไม่อาจถือได้ว่าผู้เบิกปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่องหรือประมาทเลินเล่อ อย่างไรก็ตาม หากผู้เบิกที่มีหน้าที่ลงลายมือชื่อเบิกเงินในฎีกาเบิกเงินเดือนเป็นประจำหรือบ่อยครั้งอาจตรวจพบความผิดปกติในฎีกาเบิกเงินจากจำนวนเงินที่ขอเบิกสูงกว่าฎีกาอื่นอย่างมากและเป็นการเบิกซ้ำซ้อนกับที่เคยขอเบิกไปแล้ว จำเลยที่ 2 มิได้เป็นหัวหน้าส่วนราชการกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี จึงไม่มีหน้าที่ลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกเงินในฎีกา และรับผิดชอบตรวจสอบเงินที่เบิกมาจากคลังจังหวัด แต่จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกเงินในฎีกาแทนจำเลยที่ 15 เฉพาะในกรณีที่จำเลยที่ 15 ไม่อยู่ หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงไม่อาจตรวจสอบได้ว่า มีการเบิกเงินจำนวนสูงผิดปกติ และซ้ำซ้อนกับที่เบิกมาแล้วหรือไม่ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อ โดยไม่ใช้ความระมัดระวังและประมาทเลินเล่อ แต่จำเลยที่ 2 ซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีอาวุโส รักษาราชการแทนในตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี นอกจากต้องลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกเงินในฎีกาแล้วยังต้องรับผิดชอบดูแลรักษาเงินการจ่ายเงิน หลักฐานการจ่ายเงินที่เบิกจากคลังจังหวัดและตรวจสอบบัญชีเงินคงเหลือตามระเบียบการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ. 2520 การที่จำเลยที่ 2 เบิกความรับว่า ได้มอบหมายให้สารวัตรการเงินและบัญชีดูแลรับผิดชอบโดยจะตรวจสอบหลักฐานการจ่ายเป็นครั้งคราวเท่านั้น หากไม่ได้รับรายงานเงินคงเหลือก็ไม่อาจทราบได้ว่ามีจำนวนเงินที่ต้องส่งคืนคลังจังหวัดหรือไม่ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ตรวจสอบหลักฐานการใช้จ่ายเงินที่เบิกมา ทำให้มีการทุจริตเบียดบังเอาเงินคงเหลือที่เกินกว่าหลักฐานการจ่ายไป ถือว่าจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง ประมาทเลินเล่อ
จำเลยที่ 17 เป็นหัวหน้าส่วนราชการกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ต้องดูแลรับผิดชอบผู้ใต้บังคับบัญชาให้ปฏิบัติหน้าที่ตามนโยบายและระเบียบแบบแผนของทางราชการการที่ผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 17 ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและทุจริตทำให้ราชการได้รับความเสียหาย แม้จะมีบุคคลหลายคนร่วมกันทำเป็นขบวนการ แต่ไม่ใช่กรณีที่จำเลยที่ 17 ไม่สามารถป้องกันได้ จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัย จำเลยที่ 17 ทราบอยู่แล้วว่า มีเงินที่จะต้องเบิกจากคลังจังหวัดเป็นประจำทุกเดือนและจ่ายให้แก่ผู้รับในวันสิ้นเดือนนั้น มีฎีกาเบิกเงินเดือน และฎีกาเบิกเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) ที่จะต้องทำฎีกาเบิกจากคลังจังหวัดภายในทุกวันที่ 15 ของเดือน แต่ละประเภทเดือนละ 1 ครั้ง และนำไปจ่ายให้แก่ข้าราชการในวันสิ้นเดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2527 ซึ่งจำเลยที่ 17 เข้าดำรงตำแหน่งผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี มีการทุจริตทำฎีกาไม่ปกติเบิกเงินเดือนและเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) ทุกเดือนเสนอสลับไปกับฎีกาปกติเบิกเงินเดือน และเงินเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราว (พ.ช.ค.) ตามปกติ ทำให้จำนวนฎีกาที่นำเสนอเบิกเงินจากคลังจังหวัดมีมากขึ้น จำนวนเงินที่ขอเบิกในแต่ละเดือนก็เพิ่มมากขึ้นกว่าปีงบประมาณที่ผ่านมาเป็นอย่างมาก ก่อนเข้ารับตำแหน่งจำเลยที่ 17 ก็ทราบบ้างแล้วถึงความไม่ชอบมาพากลของเจ้าหน้าที่แผนการเงินและบัญชี จึงทำเรื่องเสนอขอให้กรมตำรวจย้ายจำเลยที่ 3 ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งสารวัตรการเงินและบัญชีออกไป แต่ก็ไม่อาจย้ายได้โดยทันที ดังนั้น จำเลยที่ 17 จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการตรวจสอบและลงลายมือชื่อเป็นผู้เบิกในแต่ละฎีกาให้เข้มงวดมากขึ้น แม้ข้อความและหลักฐานในฎีกาเบิกเงินที่เสนอให้จำเลยที่ 17 ลงลายมือชื่ออาจไม่พบข้อพิรุธหรือความผิดปกติ แต่จำเลยที่ 17 ควรต้องระแวงสงสัยว่าจำนวนฎีกาและจำนวนเงินรวมที่เสนอขอเบิกจากคลังจังหวัดมีจำนวนมากและสูงผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 17 ยังต้องรับผิดชอบตรวจสอบบัญชีเงินสดและบัญชีเงินคงเหลือเพื่อดูแลรักษาเงินที่เบิกจากคลังจังหวัดว่ายังมีเงินค้างจ่ายในแต่ละวัน แต่ละเดือน ที่ไม่มีหลักฐานการจ่ายอันจะต้องส่งคืนคลังจังหวัดมากน้อยเพียงใด หากจำเลยที่ 17 ได้ทำการตรวจสอบเป็นปกติตามระเบียบการเก็บรักษาและนำเงินส่งคลังของส่วนราชการ พ.ศ.2520 ย่อมต้องทราบว่าเงินที่เบิกจากคลังจังหวัดมาแล้วยังไม่มีการจ่ายมีมากน้อยเพียงใด เจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาย่อมไม่อาจกระทำการทุจริต ทำฎีกาเท็จเบิกเงินซ้ำซ้อนแล้วเบียดบังไปเป็นประโยชน์ของตนได้โดยง่าย เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 17 ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่วิสัยและพฤติการณ์ในฐานะหัวหน้าส่วนราชการดังกล่าวแล้ว ถือว่าจำเลยที่ 17 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ที่จำเลยที่ 17 ฎีกาว่า หลังจากทราบการกระทำผิด จำเลยที่ 17 ได้ติดตามยึดทรัพย์คืนได้จากผู้กระทำผิดจำนวนถึง 30 ล้านบาทเศษ จึงต้องนำจำนวนเงินดังกล่าวหักออกจากค่าเสียหายที่จำเลยที่ 17 ต้องรับผิด และหากรวมค่าเสียหายที่จำเลยแต่ละคนต้องรับผิดจะเกินกว่าทุนทรัพย์ตามฟ้องนั้น เป็นกรณีที่ความรับผิดของจำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมไม่เกินไปกว่าหนี้ตามคำพิพากษา ส่วนการจะติดตามทรัพย์สินคืนได้เพียงใดก็เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 17 ชอบที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นบังคับคดี
จำเลยที่ 11 เป็นคลังจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ตรวจอนุมัติฎีกาเบิกเงินทุกประเภทแทนผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ในวันหนึ่ง ๆ คลังจังหวัดต้องลงลายมือชื่ออนุมัติฎีกาประมาณ 100 ถึง 200 ฎีกา เป็นที่เห็นได้ว่า ในการปฏิบัติหน้าที่ตรวจอนุมัติฎีกานั้น จำเลยที่ 11 ต้องดำเนินการโดยรวดเร็วเพื่อให้การปฏิบัติราชการของส่วนราชการในจังหวัดอุบลราชธานีนำเงินไปใช้ในการบริหารงานในส่วนราชการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การตรวจอนุมัติฎีกาของจำเลยที่ 11 เป็นการกระทำในขั้นตอนสุดท้ายของการเสนอขอเบิกเงินจากคลังจังหวัดซึ่งแต่ละฎีกากว่าจะทำเสนอให้จำเลยที่ 11 ตรวจและลงลายมือชื่ออนุมัตินั้น ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากข้าราชการระดับล่างหลายขั้นตอนจนถึงผู้ช่วยคลังจังหวัด ซึ่งจะต้องตรวจสอบความถูกต้องเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะนำเสนอให้จำเลยที่ 11 อนุมัติ เห็นว่า การตรวจสอบก่อนลงลายมือชื่ออนุมัติ จำเลยที่ 11 จะต้องตรวจสอบว่ามีการลงลายมือชื่อครบถ้วนและถูกต้องในฎีกาเป็นลำดับหรือไม่ มีการแก้ไขจำนวนเงินหรือไม่ และจำนวนเงินที่ขอเบิกตรงกันกับใบหน้างบและเอกสารแนบท้ายฎีกาหรือไม่ จึงถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามวิสัยและพฤติการณ์ของผู้อนุมัติฎีกาแล้ว การที่จำเลยที่ 11 ลงลายมือชื่ออนุมัติในฎีกาที่มีการตรวจผ่านตามลำดับขั้นตอน และตามระเบียบราชการ แม้จะเป็นฎีกาที่ไม่ปกติ ก็ไม่ถือว่าจำเลยที่ 11 ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ แต่อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงได้ความว่า มีหลายฎีกาที่นอกจากจำเลยที่ 11 ลงลายมือชื่อในฐานะเป็นผู้อนุมัติฎีกา จำเลยที่ 11 ยังได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ตรวจฎีกาแทนที่ผู้ช่วยคลังจังหวัดอีกฐานะหนึ่งด้วย ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 11 ในส่วนนี้ จำเลยที่ 11 ต้องปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบความยิ่งกว่าการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้อนุมัติฎีกาเพียงฐานะเดียว โดยเฉพาะฎีกาที่ไม่ปกติหลายฎีกาต่อเนื่องกัน หากตามพฤติการณ์จำเลยที่ 11 ควรทราบถึงความผิดสังเกตของฎีกาไม่ปกติแล้ว จำเลยที่ 11 ลงลายมือชื่อตรวจผ่านและลงลายมือชื่ออนุมัติในฐานะคลังจังหวัดด้วยแล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 11 ถือได้ว่าเป็นการประมาทเลินเล่อ
อายุความเรียกค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดนั้น ต้องนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งหมายความถึงว่าผู้เสียหายต้องรู้ถึงความเสียหายด้วย รายงานการสอบสวนและบันทึกความเห็นในการดำเนินคดีนั้น มุ่งสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดอาญาและการฟ้องร้องผู้กระทำผิดให้รับโทษทางอาญา ในรายงานการสอบสวนและบันทึกดังกล่าวไม่ปรากฏจำนวนความเสียหายว่ามากน้อยเพียงใด จึงไม่อาจเริ่มต้นนับอายุความ 1 ปี อันเป็นวันที่โจทก์ได้รับทราบรายงานการสอบสวนและบันทึกความเห็นในการดำเนินคดีอาญาแก่ผู้กระทำการทุจริต
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 และที่ 15 รับผิดสำนวนแรกโดยมีทุนทรัพย์ตามฟ้องจำนวน 19,597,486.38 บาท ให้จำเลยที่ 17 และที่ 18 รับผิดสำนวนที่สอง โดยมีทุนทรัพย์ตามฟ้องจำนวน 40,271,015.97 บาท และให้รับผิดสำนวนที่สามโดยมีทุนทรัพย์ตามฟ้องจำนวน 27,275,927.55 บาท ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 15 ถึงที่ 18 ร่วมกับจำเลยอื่นใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทุกสำนวนแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสามสำนวนรวม 100,000 บาท นั้น เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 161 วรรคหนึ่ง และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยแต่ละคนร่วมรับผิดตามจำนวนเงินที่ฟ้องทั้งหมดโดยไม่แบ่งแยกเป็นรายสำนวน ซึ่งมีผลให้จำเลยบางคนต้องร่วมรับผิดในสำนวนที่ไม่ถูกฟ้องหรือข้อเท็จจริงตามที่พิจารณาได้ความไม่ปรากฏความรับผิดร่วมด้วย เป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) รวมทั้งเพื่อความถูกต้องในการบังคับคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 414/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการจำหน่ายคดีเมื่อโจทก์ไม่ชำระค่าขึ้นศาล: การใช้ดุลพินิจของศาล
ในกรณีที่โจทก์ทิ้งฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ศาลมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 (1) แต่บทบัญญัติมาตรา 132 (1) นี้มิได้บังคับเด็ดขาดว่า ศาลต้องจำหน่ายคดีทุกกรณี แต่ให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ก็ได้ ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่จำหน่ายคดีแล้วกำหนดเวลาให้โจทก์นำเงินมาเสียค่าขึ้นศาลใหม่ จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7981/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีทิ้งฟ้องได้ หากมีเหตุผลสมควรและมิได้จงใจทิ้งฟ้อง ศาลมีอำนาจไต่สวนและเพิกถอนคำสั่งเดิมได้
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเสียจากสารบบความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 (1) ทำให้คดีเสร็จไปจากศาล เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีแล้วคำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งใหม่ให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีเช่นนี้เกิดขึ้นภายหลังคำสั่งจำหน่ายคดี จึงไม่เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาอันต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 (1) จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้
แม้ศาลชั้นต้นจะได้สั่งจำหน่ายคดีโดยเห็นว่าโจทก์ทิ้งฟ้องไปแล้วก็ตาม แต่เมื่อโจทก์มายื่นคำร้องแสดงเหตุอันสมควร ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะทำการไต่สวนคำร้องของโจทก์เพื่อทราบข้อเท็จจริงและหากเห็นว่ามีการกระทำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาโดยผิดหลงและเป็นกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ศาลชั้นต้นก็ย่อมมีอำนาจเพิกถอนกระบวนพิจารณาพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวโดยสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ว่าโจทก์ทิ้งฟ้องและให้จำหน่ายคดีจากสารบบความนั้นเสียได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27
แม้ตามคำร้องของโจทก์ไม่ได้กล่าวอ้างอย่างตรงไปตรงมาว่า คำสั่งทิ้งฟ้องของศาลชั้นต้นเป็นคำสั่งมิชอบอย่างไร แต่เมื่อพิเคราะห์คำร้องของโจทก์แล้วก็พอแปลได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างว่ามีการดำเนินกระบวนพิจารณาไปโดยเข้าใจผิดในข้อเท็จจริงและถึงแม้ความเข้าใจผิดของผู้กระทำไม่ว่าจะเป็นศาลหรือคู่ความหรือเจ้าพนักงานก็เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ คำร้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
ศาลชั้นต้นไต่สวนโจทก์ได้ความว่า ทนายโจทก์และผู้รับมอบอำนาจโจทก์ไม่สามารถมาศาลในวันนัดพร้อมได้ทันตามกำหนดเนื่องจากรถยนต์เสียระหว่างเดินทางมาศาล ได้แจ้งให้ศาลทราบทางโทรศัพท์ 2 ครั้ง โดยมี ช. เจ้าพนักงานศาลซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มงานช่วยพิจารณาคดีเบิกความรับรองข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยได้ทำรายงานเจ้าหน้าที่เสนอต่อศาล ทนายโจทก์และผู้รับมอบอำนาจโจทก์มาถึงศาลล่าช้ากว่ากำหนดและได้ยื่นคำร้องต่อศาลในวันเดียวกันนั้น จำเลยทั้งสองมิได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ข้อเท็จจริงน่าเชื่อว่า ทนายโจทก์และผู้รับมอบอำนาจโจทก์รถเสียไม่อาจมาศาลได้ทันตามกำหนด แม้การที่ทนายโจทก์ขอเลื่อนคดีโดยแจ้งให้ศาลทราบทางโทรศัพท์จะไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่จำเลยทั้งสองอ้างก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นว่าทนายโจทก์และผู้รับมอบอำนาจโจทก์มิได้จงใจที่จะไม่มาศาล ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4781/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งอุทธรณ์เนื่องจากไม่ชำระค่าขึ้นศาล และผลกระทบต่อการขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นเรียกโจทก์ให้ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มตามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทให้ครบถ้วนภายใน 15 วัน นับแต่ทราบคำสั่ง และศาลชั้นต้นส่งหมายนัดแจ้งคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้โจทก์ทราบโดยชอบแล้ว โดยวิธีรับหมายเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2548 แต่โจทก์มิได้ดำเนินการชำระค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ให้ครบถ้วนภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจึงถือว่า โจทก์ทิ้งอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความตาม ป.วิ.พ. 132 (1) นั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งว่า โจทก์ทิ้งอุทธรณ์และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเท่ากับเป็นคำสั่งไม่รับอุทธรณ์นั่นเอง ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่รับอุทธรณ์แล้วโจทก์จะร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์โดยขอให้ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องของโจทก์อีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1869/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งฟ้องอุทธรณ์จากความผิดพลาดในการส่งหมายและการเพิกเฉยจำเลย
จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ว่า รับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 นำส่งสำเนาอุทธรณ์แก่โจทก์และผู้ซื้อทรัพย์ภายใน 15 วัน มิฉะนั้นถือว่าทิ้งอุทธรณ์ และในอุทธรณ์ดังกล่าวมีข้อความประทับว่า "ถ้าศาลไม่อาจสั่งได้ในวันนี้ ผู้ยื่นจะมาติดตามเพื่อทราบคำสั่งทุก ๆ 7 วัน มิฉะนั้น ถือว่าทราบคำสั่งแล้ว" โดยทนายจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ใต้ข้อความดังกล่าวจึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ทราบคำสั่งแล้ว และเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องนำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลชั้นต้นด้วยตนเอง แม้จำเลยที่ 1 จะเสียค่าใช้จ่ายในการนำส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ไว้แล้วก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 1 หมดหน้าที่ที่จะต้องจัดการนำส่งตามคำสั่งศาลชั้นต้น เมื่อเจ้าหน้าที่ศาลผู้ส่งหมายรายงานต่อศาลชั้นต้นว่าส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ไม่ได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่ารอจำเลยที่ 1 แถลง เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่นำส่งเองแต่ให้เจ้าหน้าที่ศาลไปนำส่งตามลำพังเช่นนี้ ต้องถือว่าเป็นความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล จะอ้างว่าไม่ทราบผลการส่งหมายไม่ได้ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งว่า รอจำเลยที่ 1 แถลง โดยไม่กำหนดเวลาให้จำเลยที่ 1 แถลงและไม่ได้แจ้งคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ทราบอีก ก็ถือว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้แถลงต่อศาลชั้นต้นว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจนถึงวันที่เจ้าหน้าที่ศาลรายงานต่อศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่ 1 มิได้แถลงต่อศาลว่าจะดำเนินการอย่างไร รวมระยะเวลาเกือบ 2 เดือน จึงเป็นการเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 เป็นการทิ้งฟ้องอุทธรณ์ในส่วนที่เกี่ยวกับผู้ซื้อทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจจำหน่ายคดีได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 (1)
ส่วนการส่งหมายนัดและสำเนาอุทธรณ์ให้โจทก์นั้น เป็นการส่งหมายข้ามเขตซึ่งศาลแพ่งกรุงเทพใต้เป็นผู้ส่ง เมื่อส่งไม่ได้และศาลชั้นต้นมิได้แจ้งผลการส่งหมายดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 ก็ย่อมไม่ทราบถึงผลการส่งหมายดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นคำแถลงให้ดำเนินการต่อไปจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดอันเป็นการทิ้งฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1434/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้อง, การมอบอำนาจ, การบอกกล่าวบังคับจำนอง, พยานเอกสาร, ดุลพินิจศาล: ข้อวินิจฉัยสำคัญในคดีบังคับจำนอง
การมอบอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 60 วรรคสอง มิได้บังคับว่าผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจหรือพยานผู้รู้เห็น จะต้องลงชื่อเมื่อใด ดังนั้น แม้ผู้มอบอำนาจ ผู้รับมอบอำนาจหรือพยานผู้รู้เห็นจะลงลายมือชื่อภายหลังที่ได้มี การมอบอำนาจกัน ก็ไม่ทำให้การมอบอำนาจเสียไป
ช. มีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองก่อนที่จะได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ แต่เมื่อโจทก์ได้ยอมรับเอาการ บอกกล่าวบังคับจำนองโดยได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีแล้ว ย่อมถือว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 วรรคหนึ่ง
โจทก์เป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ. ธนาคารอาคารสงเคราะห์ จึงได้รับยกเว้นไม่ต้องปิดอากรแสตมป์ในเอกสารตามที่กฎหมายบังคับให้ปิด ตาม พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป. รัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร และเป็นสิ่งที่ศาลรู้เองโจทก์ไม่ต้องนำสืบ
คำสั่งจำหน่ายคดีเพราะเหตุทิ้งฟ้อง เป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้น มิได้สั่งจำหน่ายคดีและดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป จึงเป็นดุลพินิจที่ชอบแล้ว
of 8