คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประจวบ พัชนีรัตนกรณ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 104 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3541/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำสืบเกินคำฟ้อง: ศาลไม่อาจพิพากษาในส่วนที่ไม่ได้บรรยายไว้ แม้มีคำขอท้ายฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาซื้อหินอ่อนและหินแกรนิตกับโจทก์ในราคา 1,770,000 บาท ชำระมัดจำงวดแรกร้อยละ 20 ของราคาหินเป็นเงิน 354,000 บาท งวดต่อไปชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันส่งหินให้และออกใบแจ้งหนี้/ใบวางบิลเรียกเก็บเงิน โจทก์ส่งหินอ่อนและหินแกรนิตให้จำเลยตามสัญญาและเรียกเก็บเงินเรื่อยมา ปรากฏว่าจำเลยค้างชำระค่าหินอ่อนและหินแกรนิตโจทก์เป็นเงิน 578,329.95 บาท ดังนั้น การที่โจทก์นำสืบว่ายอดเงินที่จำเลยค้างชำระดังกล่าวมียอดเงินที่จำเลยสั่งซื้อหินอ่อนและหินแกรนิตเพิ่มเติมนอกเหนือจากสัญญาที่โจทก์จำเลยทำสัญญากันไว้จำนวน 137,561.08 บาท รวมอยู่ด้วย ซึ่งโจทก์ไม่ได้บรรยายไว้ในคำฟ้อง จึงเป็นการนำสืบข้อเท็จจริงเกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง แม้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะมีคำขอให้ชำระเงินในส่วนนี้ปนรวมมาด้วยก็ตาม ศาลก็ไม่อาจพิจารณาและพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ค่าหินอ่อนและหินแกรนิตที่จำเลยสั่งซื้อเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากสัญญาที่จำเลยทำสัญญาซื้อกับโจทก์ตามที่ปรากฏในคำฟ้องได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3336/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์หนี้จากการซื้อขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปโดยไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร ศาลเชื่อพยานบุคคลที่เป็นกลาง
โจทก์ที่ 1 และจำเลยทั้งสองต่างเบิกความยันกันปากต่อปากว่า จำเลยทั้งสองซื้อเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากโจทก์ที่ 1 ไปขาย ยังไม่ได้ชำระเงิน ส่วนจำเลยทั้งสองยืนยันว่า ซื้อไปจริงแต่ชำระเงินแล้ว แต่โจทก์มีพยานซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านที่โจทก์เป็นลูกบ้านและผู้ใหญ่บ้านที่จำเลยทั้งสองเป็นลูกบ้านรวมทั้งอดีตกำนันที่ทั้งสองฝ่ายเป็นลูกบ้านเบิกความในทำนองเดียวกันว่าทั้งสองฝ่ายได้เจรจากันและจำเลยทั้งสองยอมรับว่าเป็นหนี้ค่าเสื้อผ้าที่ซื้อไปจากโจทก์ที่ 1 จริง โดยมีบันทึกถ้อยคำเป็นหลักฐาน และโจทก์ยังมีพนักงานสอบสวนที่ไกล่เกลี่ยคู่ความทั้งสองฝ่ายแล้วจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ที่ 1 จริง จำเลยที่ 2 จะนำที่ดินมาตีใช้หนี้ แต่ที่สุดตกลงกันไม่ได้ จึงมีบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน แม้เอกสารทั้งสองฉบับจำเลยทั้งสองจะไม่ยอมลงลายมือชื่อจึงไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ไม่มีผลผูกพันจำเลยทั้งสองก็ตาม แต่ก็ฟังประกอบคำเบิกความพยานของโจทก์ที่ 1 ที่ยืนยันว่ามีการเจรจากันจริง โดยพยานของโจทก์ที่ 1 ต่างเป็นเจ้าพนักงานของรัฐและอดีตเจ้าพนักงานของรัฐ เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเชื่อถือในหมู่บ้านที่ทั้งสองฝ่ายอยู่อาศัยทั้งไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ถือได้ว่าเป็นพยานคนกลาง ทำให้มีน้ำหนักน่าเชื่อว่าเบิกความไปตามความจริง ส่วนจำเลยทั้งสองคงมีแต่ตัวจำเลยทั้งสองเบิกความว่า ได้ชำระค่าเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้โจทก์ที่ 1 หมดแล้วไม่ได้ค้างชำระ โดยไม่มีพยานอื่นใดมาสนับสนุน แม้โจทก์ที่ 1 จะจำไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองรับซื้อเสื้อผ้าไปวันที่เท่าใดและมีรายการเสื้อผ้าใดบ้าง แต่จำเลยทั้งสองรับว่าการรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปขายมิได้ทำหลักฐานไว้ การที่โจทก์ที่ 1 จำไม่ได้จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ซื้อขายกันมีเป็นจำนวนมาก โจทก์ที่ 1 อาจหลงลืมได้ พยานหลักฐานที่โจทก์ที่ 1 นำสืบมาจึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าพยานจำเลยทั้งสอง เชื่อว่าจำเลยทั้งสองเป็นหนี้โจทก์ที่ 1 จริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3335/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์มีเงื่อนไข และการเลิกสัญญาโดยสมัครใจ สิทธิเรียกร้องเงินคืน
จำเลยให้การต่อสู้เพียงว่า คำฟ้องโจทก์ซึ่งกล่าวถึงสภาพข้อหาว่าจำเลยผิดสัญญาโอนสิทธิเช่าซื้อ แต่คำขอบังคับให้จำเลยคืนเงินให้แก่โจทก์ จำเลยไม่อาจเข้าใจได้ว่าโจทก์ประสงค์สิ่งใดทำให้ไม่อาจสู้คดีได้ถูกต้อง คำให้การจำเลยดังกล่าวมิได้บรรยายให้เห็นว่า ฟ้องของโจทก์ส่วนใดเคลือบคลุมหรือไม่ชัดแจ้งอย่างไร หรือเนื้อหาในคำฟ้องขัดแย้งกันอย่างไร ซึ่งอ่านแล้วไม่อาจเข้าใจได้ ถือว่าเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัย
ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยเป็นการซื้อขายรถยนต์พิพาทโดยจำเลยผู้ขายยอมให้โจทก์ผู้ซื้อผ่อนชำระราคาและมีเงื่อนไขว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ให้เมื่อโจทก์ผ่อนชำระราคาครบถ้วนแล้ว จึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 เมื่อเป็นการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงราคากันตั้งแต่ 500 บาท ขึ้นไป แม้มิได้มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด แต่หากได้มีการวางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้วคู่กรณีก็ย่อมฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ตามมาตรา 456 วรรคสองและวรรคสาม เมื่อจำเลยตกลงขายรถยนต์พิพาทให้โจทก์ในราคา 200,000 บาท โจทก์ได้ผ่อนชำระแล้วเป็นเงิน 95,000 จึงถือว่าโจทก์ได้วางประจำและชำระหนี้บางส่วนแก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงฟ้องร้องบังคับคดีได้
โจทก์จำเลยตกลงเลิกสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทโดยสมัครใจทั้งสองฝ่าย ย่อมทำให้โจทก์และจำเลยกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 เมื่อโจทก์ได้มอบรถยนต์พิพาทคืนแก่จำเลยแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องคืนเงินที่ได้รับมาแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย โดยสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3331/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องไม่เคลือบคลุม-อายุความสิทธิเรียกร้องซื้อขายอาหารสัตว์: การพิจารณาอายุความตามวัตถุประสงค์การใช้สินค้า
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยซื้อสินค้าไปจากโจทก์หลายครั้งและมีหนี้ที่จำเลยสั่งซื้อสินค้าแล้วยังไม่ชำระราคารวม 34 ครั้ง โดยระบุรายละเอียดวันสั่งซื้อ จำนวนรายการที่ซื้อ ตลอดจนค่าสินค้าและค่าขนส่งแต่ละครั้ง โจทก์มีสำเนาใบส่งของและใบกำกับสินค้าแนบมาท้ายฟ้องด้วยซึ่งถือว่าเป็นส่วนของคำฟ้อง เพียงแต่โจทก์ระบุเงินบางรายการผิดไปจากหลักฐานที่ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องทำให้ยอดเงินไม่ตรงกันเท่านั้น ดังนั้นหากคำนวณจากเอกสารท้ายฟ้องก็จะได้ยอดเงินที่ถูกต้อง ส่วนยอดหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ก็มีจำนวนตรงตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้องว่าได้มีการทำข้อตกลงกันเช่นใด แต่สุดท้ายแล้วโจทก์ก็เรียกร้องให้จำเลยรับผิดตามใบส่งของและใบกำกับสินค้าทั้ง 34 ครั้งนั่นเอง ซึ่งจำเลยสามารถตรวจสอบและต่อสู้คดีได้ถูกต้องว่าสินค้ารายการใดบ้างที่จำเลยไม่ได้สั่งซื้อหรือไม่ได้รับสินค้า ฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสองแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ไม่เคลือบคลุม
จำเลยซื้ออาหารโคมาเพื่อใช้ในฟาร์มของจำเลย ไม่ได้ซื้อเป็นอาหารโคที่เลี้ยงไว้เพื่อบริโภคเอง แต่จำเลยมีกิจการเลี้ยงโคเพื่อจำหน่ายนมโคหรือจำหน่ายเนื้อโค จึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่าเว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง จึงมีอายุความ 5 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2976/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพราง: สัญญาซื้อขายที่ดินบังหน้าสัญญาเงินกู้ การนำสืบพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์เจตนาที่แท้จริง
แม้จำเลยจะได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์กับโจทก์และได้ยื่นคำขอจดทะเบียนไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินก็ตาม เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาฉบับดังกล่าว จำเลยก็สามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่า ความจริงเป็นการทำสัญญากู้เงินกัน ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคสอง เพราะเป็นการนำสืบว่า สัญญาซื้อขายนั้นเป็นนิติกรรมอำพราง ต้องบังคับตามสัญญาที่แท้จริงคือสัญญากู้เงิน
การที่จำเลยไปยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมต่อเจ้าพนักงานที่ดินและให้ปากคำว่าต้องการซื้อขายกันจริงโดยยินยอมเสียค่าธรรมเนียมต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามระเบียบ เป็นการยืนยันเจตนาแท้จริงของจำเลยที่ต้องการขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ต้องการขายที่ดินพิพาทให้โจทก์จริงดังจำเลยอ้าง ก็น่าจะทำสัญญาจะซื้อขายกันไว้เป็นหลักฐานก็พอ ดังนั้น จึงฟังไม่ได้ว่าสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2976/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพราง: สัญญาซื้อขายที่ดินเป็นเพียงเปลือกนอกของสัญญาการกู้ยืมเงิน การนำสืบหลักฐานทำได้
โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและได้ยื่นคำขอจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินแล้ว จำเลยก็สามารถนำพยานบุคคลมาสืบได้ว่าความจริงเป็นการทำสัญญากู้เงินกัน ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 วรรคสอง เพราะเป็นการนำสืบว่าสัญญาซื้อขายนั้นเป็นนิติกรรมอำพราง ต้องบังคับตามสัญญาที่แท้จริงคือสัญญากู้เงิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2762/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องในคดีอาญา: การริบของกลาง
ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์มีคำขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามกฎหมายและสั่งริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์ กับโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง ของกลาง และบวกโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษจำเลยที่ 1 ด้วยเท่านั้น โดยไม่ได้มีคำขอให้ริบเงินจำนวน 82,500 บาท ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ริบของกลางโดยไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าให้ริบของกลางอะไรบ้าง จึงย่อมหมายถึงเฉพาะของกลางที่โจทก์กล่าวมาในคำขอท้ายฟ้อง การที่ศาลอุทธรณ์เข้าใจว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบเงินจำนวน 82,500 บาท ด้วยจึงได้หยิบยกปัญหาว่าเงินของกลางจำนวน 82,500 บาท มิได้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ซึ่งได้ใช้เฉพาะความผิดในคดีนี้ขึ้นวินิจฉัยและพิพากษาแก้เป็นว่าไม่ริบเงินจำนวน 82,500 บาท โดยให้คืนเจ้าของ จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 292 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2430/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องถอนคืนการให้เนื่องจากประพฤติเนรคุณต้องฟ้องภายใน 6 เดือนนับแต่ทราบเหตุ
โจทก์ได้ทำสัญญายกที่ดินให้แก่จำเลยซึ่งเป็นบุตรสาว ต่อมาโจทก์ได้เรียกร้องให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินบางส่วนให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าเมื่อเดือนตุลาคม 2540 จำเลยบันดาลโทสะพูดกับโจทก์ว่า จำเลยไม่จัดการโอนที่ดินให้โจทก์เพราะโจทก์ได้ยกที่ดินให้จำเลยแล้ว ถ้าอยากได้เก่งจริงก็ให้ไปฟ้องศาลเองเป็นการประพฤติเนรคุณต่อโจทก์ ขอให้ถอนคืนการให้ที่ดินพิพาทที่โจทก์ยกให้จำเลย แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 ซึ่งเป็นเวลาล่วงพ้นกำหนดหกเดือนไปแล้ว ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 533 วรรคหนึ่ง การจะฟ้องถอนคืนการให้เพราะเหตุผู้รับประพฤติเนรคุณนั้น ต้องฟ้องภายในกำหนดหกเดือนนับแต่เหตุประพฤติเนรคุณได้ทราบถึงบุคคลผู้ชอบที่จะเรียกถอนคืนการให้คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2056/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการบังคับคดีและการเพิกถอนการยึดทรัพย์เมื่อมีคำพิพากษาให้โอนกรรมสิทธิ์ก่อน
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้ดำเนินการบังคับคดีไปก่อนที่ผู้ร้องจะเป็นเจ้าหนี้จำเลยตามคำพิพากษา แต่เมื่อศาลแพ่งพิพากษาตามยอมให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิตามคำพิพากษาดังกล่าวที่จะบังคับให้จำเลยจดทะเบียนสิทธิเหนือทรัพย์พิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ดังนั้น เมื่อยังมิได้มีการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาท ผู้ร้องก็ย่อมใช้สิทธิร้องขอให้เพิกถอนการยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2056/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิของผู้รับโอนตามคำพิพากษา vs สิทธิเจ้าหนี้บังคับคดี: การเพิกถอนการยึดทรัพย์ก่อนขายทอดตลาด
แม้โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของจำเลยเพื่อบังคับคดีตามคำพิพากษาแล้วก็ตาม แต่เมื่อยังไม่มีการขายทอดตลาด และต่อมาศาลอีกคดีหนึ่งได้พิพากษาตามยอมให้จำเลยโอนทรัพย์ดังกล่าวแก่ผู้ร้อง ผู้ร้องย่อมมีสิทธิตามคำพิพากษาที่จะบังคับจำเลยให้จดทะเบียนสิทธิเหนือทรัพย์ดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 และมีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการยึดทรัพย์ดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287
of 11