คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ม. 77

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4139/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฝ่าฝืนคำสั่งรื้อถอนอาคารหลังได้รับแจ้งโดยชอบ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้ครอบครองและดำเนินกิจการจึงมีความผิด
แม้อาคารที่เกิดเหตุจะปลูกสร้างภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479 ซึ่งต่อมามี พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 บังคับใช้ โดยที่มาตรา 3 บัญญัติให้ยกเลิกพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ก็ได้บัญญัติบทเฉพาะกาลไว้ในมาตรา 75 ถึงมาตรา 80 โดยมาตรา 80 บัญญัติว่า ท้องที่ใดได้มี พ.ร.ฎ.ให้ใช้บังคับพระราชบัญญัติควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479... อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ถือว่าได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ใช้บังคับพระราชบัญญัตินี้ในท้องที่นั้นแล้ว อันเป็นบทบัญญัติของกฎหมายที่มีผลบังคับต่อเนื่องกับ พ.ร.บ.ควบคุมการก่อสร้างอาคาร พ.ศ.2479 จึงหาได้มีผลทำให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารที่มีการก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตก่อนที่ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มีผลบังคับใช้ ไม่จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นแต่อย่างใด ซึ่งในส่วนของความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 คดีก่อน เมื่อพิจารณาจากสำเนาคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลฎีกา เห็นได้ว่า เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยกับ พ. โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 77 ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นบทเฉพาะกาล โดยเหตุว่าบริเวณชายหาดหัวหินที่เกิดเหตุมีอาคารก่อสร้างขึ้นเป็นจำนวนมากในที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก่อนที่พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลบังคับใช้ และเป็นท้องที่ที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารแล้ว ซึ่งเทศบาลเมืองหัวหินได้มีคำสั่งให้เจ้าของอาคารมาทำสัญญาเช่าที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินกับทางเทศบาล ตามความในมาตรา 77 (4) วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นเพียงมาตรการผ่อนปรนชั่วคราว โดยเมื่อครบกำหนดสัญญาเช่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารต้องรื้อถอนและขนย้ายสิ่งปลูกสร้างของตนออกจากบริเวณที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา คดีดังกล่าวศาลจึงต้องพิจารณาจากหลักฐานสัญญาเช่าที่ดินเป็นหลักและรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ทำสัญญาเช่าที่ดินกับเจ้าพนักงานท้องถิ่น ไม่ใช่คู่สัญญา จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องรื้อถอนอาคารตามมาตรา 77 วรรคสี่ แต่คดีนี้เห็นได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องโดยอาศัยอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามที่บัญญัติในหมวด 4 ของ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 40 (2) และมาตรา 42 ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานท้องถิ่นดำเนินการแจ้งคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารห้ามใช้อาคารและให้รื้อถอน หากไม่ปฏิบัติตาม ผู้ฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกันและเป็นความผิดคนละข้อหากับคดีก่อน คำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในคดีนี้จึงเป็นการกระทำตามกรอบอำนาจของกฎหมาย มิได้ซ้ำซ้อนกับคดีก่อนและข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีก่อนก็ไม่ผูกพันศาลในคดีนี้ให้ต้องถือตาม แต่ต้องรับฟังพยานหลักฐานจากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏจากทางนำสืบในสำนวนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4785/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเช่าที่ดินสาธารณสมบัติหมดอายุสัญญาแล้วไม่รื้อถอนถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร
จำเลยเช่าที่ดินสาธารณสมบัติซึ่งอยู่ในบริเวณเขตปรับปรุงอาคารมีกำหนด 10 ปี เมื่อครบกำหนดอายุสัญญาเช่าแล้วจำเลยไม่รื้อถอนขนย้ายอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดิน จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 77 วรรคสี่ กรณีไม่จำต้องให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นแจ้งคำสั่งให้จำเลยรื้อถอนอาคารก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6569-6571/2531

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต, การฝ่าฝืนคำสั่งรื้อถอน, และขอบเขตการอุทธรณ์ของโจทก์
การปลูกสร้างอาคารตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 77 ต้องเป็นกรณีปลูกสร้างอาคารในท้องที่ที่มีอาคารเป็นจำนวนมากปลูกสร้างอยู่ในที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่น ดินก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ และมีสภาพหรืออาจทำให้เกิดสภาพที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัยการป้องกันอัคคีภัยการสาธารณสุข การรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม การผังเมือง และการอำนวยความสะดวแก่การจราจร และจะต้องมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปรับปรุงอาคารในท้องที่นั้นด้วยข้อเท็จจริงเหล่านี้จำเลยมิได้ยกขึ้นอ้าง หรือนำสืบในศาลชั้นต้นและไม่ปรากฏในสำนวนจึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบด้วยมาตรา 225
จำเลยปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาต และเป็นเจ้าของอาคารซึ่งตามมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ถือว่าเป็นผู้ดำเนินการจึงต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ปรับวันละ 1,000 บาท และเมื่ออาคารที่ปลูกสร้างเป็นอาคารเพื่อพาณิชยกรรมจึงเป็นอาคารตามมาตรา 70 อีกมาตราหนึ่ง ศาลอุทธรณ์มีอำนาจปรับจำเลยเพิ่มอีกสิบเท่าเป็นปรับวันละ 10,000 บาท
ชั้นอุทธรณ์โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 42 วรรคสอง, 65 วรรคสอง และ 70 ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยทั้งสามวันละ 5,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนซึ่งเท่ากับว่าโจทก์ไม่ติดใจขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา 69 อีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับจำเลยวันละ 10,000 บาท จึงเป็นการพิพากษาเกินกว่าอุทธรณ์ของโจทก์ เป็นการไม่ชอบ