คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 ม. 42

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 14 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2813/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องอาญาไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 กรณีไม่ระบุรายละเอียดการกระทำความผิด และฟ้องไม่ต่อเนื่อง
เมื่อพิจารณาคำฟ้องโจทก์ข้อ 2 แล้ว โจทก์ไม่บรรยายว่า ข้อความเท็จในบัญชีผู้ถือหุ้นของจําเลยที่ 1 ที่โจทก์อ้างเป็นมูลเพื่อขอให้ลงโทษจําเลยทั้งสี่ในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารมหาชนหรือเอกสารราชการ และฐานลงข้อความเท็จในเอกสารของบริษัทเพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้นั้น มีข้อความอย่างไร หรือเป็นความเท็จด้วยเหตุใดและความจริงเป็นอย่างไร ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จําเลยทั้งสี่ไม่ยอมออกใบหุ้นให้แก่โจทก์ โจทก์ก็มิได้อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดและจําเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยมีหนังสือเรียกประชุมผู้ถือหุ้นให้แก่โจทก์ทราบมาก่อน ก็ไม่มีรายละเอียดของการกระทำว่าเป็นการเรียกประชุมครั้งใด เมื่อวันที่เท่าใด อันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ฯ มาตรา 41 และ 42 อีกทั้งคำขอท้ายฟ้องก็ไม่ได้อ้างบทบัญญัติความผิดอื่นมาด้วย ฟ้องโจทก์จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) (6) ไม่อาจลงโทษจําเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้ ส่วนจําเลยที่ 1 แม้ตามป.วิ.อ. มาตรา 170 บัญญัติว่า คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด ซึ่งหมายถึง คู่กรณีไม่อาจอุทธรณ์ฎีกาโต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้คดีมีมูลได้ แต่หากคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาและศาลฎีกาเห็นว่าฟ้องไม่ชอบ ซึ่งต้องพิพากษายกฟ้อง ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3038/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฎีกาจำเลยผู้ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์: ต้องมีผลกระทบต่อสิทธิของตนจึงฎีกาได้
แม้คู่ความฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาในชั้นอุทธรณ์จะมีสิทธิฎีกาต่อศาลฎีกาได้ หากไม่มีบทกฎหมายให้คำพิพากษานั้นเป็นที่สุดหรือบัญญัติห้ามมิให้ฎีกา แต่คดีนี้จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองจะมีสิทธิฎีกาได้ต่อเมื่อคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิของจำเลยทั้งสอง สำหรับที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า ร. ผู้จัดการมรดกของ ก. โจทก์ และ น. ทายาท ไม่ทราบเรื่องและไม่ยินยอมให้กระทำการดังกล่าว คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง เนื่องจากจำเลยทั้งสองยังมีข้อโต้แย้งอยู่ จำเลยทั้งสองก็ให้เหตุผลในการฎีกาประเด็นนี้ว่า จำเลยทั้งสองเกรงว่าจะมีการนำเอาข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังได้ในเบื้องต้นโดยผิดพลาดคลาดเคลื่อนดังกล่าวไปใช้อ้างในทางที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบว่าข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟัง เพราะนอกจากคดีนี้แล้วยังมีคดีอื่น ๆ อีกหลายคดีที่เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งจะสร้างความวุ่นวายยุ่งยากให้จำเลยทั้งสองนำสืบอธิบายข้อเท็จจริง ก็เป็นเพียงการคาดคะเนของจำเลยทั้งสอง การรับฟังข้อเท็จจริงในเบื้องต้นของศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงหาได้กระทบกระเทือนหรือมีผลทำให้จำเลยทั้งสองอาจได้รับความเสียหายแต่ประการใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 815/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดตาม พ.ร.บ.บริษัทฯ และความผิดทางแพ่ง การฟ้องที่ไม่ชัดเจนและข้อเท็จจริงที่ไม่ครบถ้วน
จำเลยที่ 6 เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท น. จำเลยที่ 6 ย่อมมีสิทธิเข้าประชุมในที่ประชุมใหญ่ได้เสมอไม่ว่าจะเป็นประชุมชนิดใดคราวใด แต่หากจำเลยที่ 6 มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในข้ออันใดซึ่งที่ประชุมจะลงมติแล้ว จำเลยที่ 6 ย่อมไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนด้วยในข้อนั้น ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1176 และ 1185 แห่ง ป.พ.พ. ดังนั้น การที่จำเลยที่ 6 ได้ออกเสียงลงคะแนนในกรณีดังกล่าว จึงมีผลเพียงทำให้มีข้อพิจารณาว่ามติพิเศษของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นดังกล่าวเป็นมติพิเศษชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่หาได้เป็นการลวงว่าตนเป็นผู้ถือหุ้นแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 6 จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 47
การกระทำความผิดตามมาตรา 42 และมาตรา 46 แห่ง พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 ผู้กระทำความผิดจะต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อลวงให้ผู้ถือหุ้นหรือผู้มีส่วนได้เสียในบริษัทขาดประโยชน์อันควรได้ แต่โจทก์ทั้งสิบเอ็ดมิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ทั้งสิบเอ็ดซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้อย่างไรบ้าง จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
การทำให้เสียหาย เปลี่ยนแปลง หรือตัดทอนหลักประกันของบริษัทตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 42 (1) นั้น หมายถึงหลักประกันที่บริษัทได้รับเข้ามา หาใช่ทรัพย์สินของบริษัทที่นำไปใช้เป็นหลักประกันแก่เจ้าหนี้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ตามฟ้องข้อนี้จึงไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8482/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งเท็จ/เปลี่ยนแปลงกรรมการบริษัท: จำเลยไม่มีส่วนรู้เห็น/ผู้เสียหายให้ความยินยอม ศาลยืนตามอุทธรณ์
จำเลยที่ 1 กรรมการคนหนึ่งของบริษัท ช. ลงลายมือชื่อในรายการจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมและ/หรือมติพิเศษ (แบบ บอจ.4) โดยระบุชื่อโจทก์เป็นกรรมการที่ออกจากตำแหน่ง เป็นการลงลายมือชื่อในนามของจำเลยที่ 1 เอง มิได้เป็นการปลอมลายมือชื่อผู้อื่นในเอกสารและไม่ใช่การเพิ่มเติมข้อความในเอกสารที่แท้จริง เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารปลอม แม้ไม่มีตราประทับของบริษัท ช. ก็ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำในนามของบุคคลอื่น จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานปลอมเอกสาร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2252/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คนต่างด้าวประกอบธุรกิจค้าที่ดินที่ต้องห้าม ไม่มีอำนาจฟ้องคดีอาญา
โจทก์เป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย จึงเป็นคนต่างด้าวตามความหมายใน พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 มาตรา 4 แม้โจทก์ถือหุ้นไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามบัญชีผู้ถือหุ้นของบริษัท พ. แต่เงินทุนในบริษัท พ. ที่แท้จริงเป็นของโจทก์เกินกึ่งหนึ่งของเงินลงทุน ซึ่งไม่เป็นไปตามทุนที่จดทะเบียน ถือว่าบริษัท พ. และโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่ดิน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ไม่อนุญาตให้คนต่างด้าวประกอบกิจการด้วยเหตุผลพิเศษตามบัญชีหนึ่งท้ายพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยในความผิดต่อ พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 353 เพราะข้อหาความผิดดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องจากการประกอบธุรกิจที่ต้องห้ามของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8426/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเข้าร่วมเป็นโจทก์ของผู้ถือหุ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลผู้ถือหุ้นที่เป็นเท็จและการกระทำความผิดต่อบริษัท
แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าในการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นของผู้เสียหายที่ 1 ไม่กระทบต่อจำนวนหุ้นของโจทก์ร่วมที่ยังคงมีอยู่ 1 หุ้น เช่นเดิม แต่การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้นดังกล่าวหากกระทำไปโดยไม่ชอบ เป็นความเท็จ และมีการนำสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นอันเป็นเท็จนั้นไปแสดงต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเพื่อให้รับจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงลงไว้ในสารบบรายการจดทะเบียนของบริษัทย่อมมีผลกระทบต่อการบริหารจัดการของผู้เสียหายที่ 1 ไม่มากก็น้อย เมื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ถือหุ้นคนหนึ่งในบริษัทผู้เสียหายที่ 1 ย่อมได้รับผลกระทบด้วย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายในการกระทำดังกล่าว และมีสิทธิที่จะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในความผิดนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9677/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนหุ้นต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อบังคับบริษัท ผู้ถือหุ้นต้องแจ้งการโอนเพื่อมีสิทธิฟ้องร้อง
ใบหุ้นเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อและข้อบังคับของบริษัท ม. ระบุว่า การโอนหุ้นจะต้องทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน โดยมีพยานสองคนลงชื่อรับรอง และจะนำมาใช้แก่บริษัทหรือบุคคลภายนอกได้ ต่อเมื่อบริษัทจดแจ้งการโอนนั้นลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว แม้โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญาซื้อขายหุ้นดังกล่าวก็ตาม แต่เมื่อข้อบังคับของบริษัทมิได้กำหนดเกี่ยวกับการโอนหุ้นชนิดระบุชื่อไว้เป็นอย่างอื่น โจทก์และจำเลยที่ 1 จึงต้องปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง และข้อบังคับของบริษัทดังกล่าว เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังมิได้ทำการโอนให้ถูกต้องตามบทบัญญัติและข้อบังคับดังกล่าว โจทก์จึงไม่อาจอ้างว่าเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท ม. ดังนั้น โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยและไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3672/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดตาม พรบ.บริษัทจำกัด กรณีผู้จัดการสาขาละเว้นการลงบัญชีและรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินโดยมิชอบ
จำเลยเป็นผู้จัดการสาขาของธนาคารโจทก์ร่วมไม่จัดให้มีหลักประกันคุ้มกับจำนวนเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินโดยปกปิดไม่ขออนุมัติโจทก์ร่วมและปฏิเสธว่าไม่ได้ลงชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงิน ไม่จัดให้มีการจดแจ้งการรับอาวัลลงในสมุดทะเบียนไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการรับอาวัล ไม่ใช่เป็นการทำให้เสียหาย เปลี่ยนแปลงตัดทอน หรือปลอมบัญชีเอกสารหรือหลักประกันของโจทก์ร่วม จำเลยจึงไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42(1)
สมุดทะเบียนหนังสือค้ำประกัน และสมุดบัญชีภาระในการรับรองตั๋วเงินของธนาคารโจทก์ร่วม เป็นเอกสารบัญชีหรือเอกสารของโจทก์ร่วม เมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการสาขาของโจทก์ร่วมมีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการและดำเนินธุรกิจในสาขาซึ่งรวมถึงการสั่งให้พนักงานลงบัญชีหรือเรียกบัญชีมาตรวจสอบ จึงถือได้ว่าจำเลยมีหน้าที่ลงบัญชีด้วยการที่จำเลยลงชื่อรับอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินโดยไม่มีหลักประกัน ไม่ขออนุมัติจากโจทก์ร่วมตามระเบียบ ไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการรับอาวัลและไม่ลงบัญชีเพื่อไม่ให้โจทก์ร่วมสามารถตรวจสอบได้ จึงเป็นการละเว้นไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีโดยมีเจตนาเพื่อลวงให้โจทก์ร่วมขาดประโยชน์อันควรได้ มีความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิพ.ศ. 2499 มาตรา 42(2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาทุจริตเพื่อลวงให้ขาดประโยชน์เป็นองค์ประกอบสำคัญของความผิดตาม พ.ร.บ.บริษัทจำกัด
การไม่ลงข้อความสำคัญในเอกสารของบริษัทอันจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42นั้น จะต้องกระทำเพื่อลวงให้บริษัทหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้ เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมาไม่ปรากฏรายละเอียดชัดแจ้งว่า การที่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสมุห์บัญชีของธนาคารโจทก์ร่วมรายงานรายละเอียดบัญชีของลูกค้าโดยไม่ลงข้อความสำคัญที่ธนาคารโจทก์ร่วมได้มีคำสั่งบังคับไว้นั้น จำเลยที่ 2 มีเจตนาพิเศษเพื่อลวงให้ธนาคารโจทก์ร่วมขาดประโยชน์อันควรได้อย่างไร การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 758/2535 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมการละเว้นการนำเช็คของบริษัทเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินและบันทึกรายได้ ทำให้บริษัทและผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์ ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.บริษัทจำกัด
ลูกค้าจ่ายเช็คเพื่อชำระหนี้ให้แก่บริษัท จำเลยซึ่งเป็นผู้ครอบครองเช็คในฐานะกรรมการของบริษัทมีหน้าที่ต้องนำเช็คเข้าบัญชีของบริษัทเพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บเงินตามเช็ค แต่จำเลยไม่นำเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงินและไม่นำเงินมาลงบัญชีเป็นรายได้ของบริษัทเพื่อลวงให้บริษัทและผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้จึงมีมูลความผิดตามพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัดบริษัทจำกัดสมาคมและมูลนิธิ พ.ศ. 2499 มาตรา 42(2)
of 2