พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 416/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผู้จัดการมรดกเจรจาลดหนี้และขายทรัพย์สินเพื่อชำระหนี้ให้เจ้ามรดก การกระทำเข้าข่ายยักยอกทรัพย์หรือไม่
เมื่อศาลตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกไม่มีพินัยกรรมของ ช. และ ป. ตามลำดับ แล้ว จำเลยจักต้องทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกภายใต้กรอบและหลักเกณฑ์ตามที่ ป.พ.พ. กำหนดไว้หลายประการ เช่น ต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกของ ช. และ ป. ภายใน 15 วัน นับแต่วันฟังคำสั่งศาลตามมาตรา 1728 (2) ประกอบมาตรา 1716 ทั้งต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกต่อหน้าพยานที่มีส่วนได้เสียในกองมรดกอย่างน้อย 2 คน ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน นับแต่วันฟังคำสั่งศาลตามมาตรา 1729 และประการสำคัญ จำเลยมีหน้าที่ต้องรวบรวมทรัพย์มรดกทั้งหลายของ ช. และ ป. แล้วนำมาจัดการมรดกโดยทั่วไป และจัดสรรแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิทุกคนให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันฟังคำสั่งศาลตามมาตรา 1719 และมาตรา 1732 โดยการแบ่งปันทรัพย์มรดก จำเลยหามีอำนาจจัดการตามอำเภอใจไม่ แต่ต้องกระทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใสและตรงไปตรงมาอย่างเปิดเผยเพื่อไม่ให้เป็นที่คลางแคลงใจอันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งต่อความสัมพันธ์อันดีงามในระหว่างทายาทผู้มีสิทธิทุกคนในครอบครัว มิฉะนั้นจำเลยจักต้องรับผิดในทางแพ่งต่อทายาทตามมาตรา 1720 หากกระทำการโดยทุจริต จำเลยจักต้องรับผิดในทางอาญาในความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352 และมาตรา 354 ได้ ฟ้อง ข้อ 2.1 ชื่อ ป. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลังโฉนดมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายในขณะที่ดินยังอยู่ในข้อกำหนดห้ามโอนและยังมีชื่อ ป. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยมิได้ทำพินัยกรรม ที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.1 จึงเป็นทรัพย์มรดกของ ป. ที่ตกทอดแก่ทายาทของ ป. จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ต้องแบ่งปันที่ดินมรดกแปลงนี้แก่ทายาทของ ป. ตามสิทธิของแต่ละคนให้เป็นไปตามกฎหมาย การที่จำเลยดำเนินการโอนที่ดินมรดกแปลงนี้มาเป็นชื่อของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ก่อน แล้วโอนไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเป็นการส่วนตัวแต่เพียงผู้เดียวในวันเดียวกัน ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอน การกระทำของจำเลยนอกจากจะเป็นการโอนที่ดินมรดกที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายแล้ว ยังบ่งชี้ว่าจำเลยที่เป็นเพียงทายาทผู้มีสิทธิคนหนึ่งไม่ต้องการให้ทายาทของ ป. คนอื่นรวมทั้งโจทก์ร่วมเป็นผู้ได้รับที่ดินมรดกร่วมกับจำเลยโดยถือเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่ด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนโดยทุจริตจึงเป็นความผิดฐานยักยอกคำมั่นของ ป. ว่า จะให้ที่ดินแปลงนี้แก่จำเลยไม่ได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 526 จึงไม่อาจรับฟังให้มีผลใช้บังคับเป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ ทั้งหากจำเลยต้องการได้ที่ดินมรดกแปลงนี้เป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว จำเลยก็สามารถประชุมตกลงกับทายาทผู้มีสิทธิทุกคนแล้วทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความให้ทายาทผู้มีสิทธิคนอื่นรับรู้และลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานตามมาตรา 1750 วรรคสองที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.2 ถึง ข้อ 2.7 เคยเป็นที่ดินของ ป. ที่ ป. นำไปจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ของ ช. ต่อเจ้าหนี้ เมื่อต่อมาเจ้าหนี้ฟ้อง ช. และ ป. ให้ชำระหนี้และขอบังคับจำนอง แต่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. ได้เจรจาขอลดยอดหนี้เหลือ 15,000,000 บาท และนำเงินส่วนตัวของจำเลยไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจนเสร็จสิ้นครบถ้วน จำเลยจึงย่อมได้ชื่อว่าเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของ ช. และ ป. โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินมรดกที่เคยเป็นทรัพย์จำนอง ขณะเดียวกันจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ป. และเป็นตัวแทนของทายาทที่มีสิทธิทุกคนก็มีหน้าที่เช่นเดียวกับลูกหนี้ที่จะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ด้วยการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ป. ให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิให้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อจำเลยเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของ ป. คิดเป็นเงินจำนวนมากและจำเลยมีสองสถานะคือเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ การจัดการมรดกของจำเลยจึงอาจมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของทายาทอื่นโดยตรง ในเรื่องนี้ ป.พ.พ. ได้บัญญัติทางแก้ไขไว้ในมาตรา 1722 มีใจความว่า ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ดังนั้น การที่จำเลยนำสืบต่อสู้โดยมี ว. ส. จ. เป็นพยานเบิกความสนับสนุนทำนองว่า เมื่อจำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเสร็จสิ้นแล้ว ที่ดินมรดกของ ป. อันเคยเป็นทรัพย์จำนองต้องตกเป็นของจำเลย และจำเลยมีสิทธิที่จะโอนที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยหรือบุคคลใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายโดยไม่ต้องพิจารณาว่าที่ดินมรดกอันเคยเป็นทรัพย์จำนองมีราคาเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับเงิน 15,000,000 บาท ที่จำเลยชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไปหรือไม่ อีกทั้งการจัดสรรทรัพย์สินของเจ้ามรดกเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กองมรดกก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 1740 ด้วยการเอาทรัพย์สินของเจ้ามรดกออกขายทอดตลาดแล้ว นำเงินที่ได้ไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กองมรดก แม้จะได้ความในตอนต่อมาว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2553 จำเลยเคยยื่นคำร้อง ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ขายที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.2 ถึง ข้อ 2.6 ให้แก่จำเลยในฐานะผู้ซื้อ แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยส่งสำเนาคำร้องแก่ทายาทของ ป. เพื่อให้มีโอกาสโต้แย้งคัดค้าน กลับปรากฏว่า วันที่ 1 ตุลาคม 2553 อันเป็นเวลาหลังจากจำเลยยื่นคำร้องดังกล่าวเพียง 4 วัน จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. ได้ดำเนินการโอนที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.2 ถึง ข้อ 2.6 ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยกับโอนที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.7 ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. พี่สาวของจำเลยโดยไม่นำพาต่อข้อห้ามตามมาตรา 1722 อีกทั้งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2553 จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอถอนคำร้องฉบับลงวันที่ 27 กันยายน 2553 ซึ่งการกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่เพียงเป็นการทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกในทางแพ่งแต่เป็นการกระทำที่มีเจตนาร้ายทางอาญา โดยหลักฐานบ่งชี้ว่าจำเลยต้องการปกปิดไม่ให้โจทก์ร่วมรับรู้การจัดการมรดกของจำเลย และไม่ต้องการให้โจทก์ร่วมมีส่วนได้รับทรัพย์มรดกของ ป. ตามกฎหมาย อันเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำนิติกรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกตามฟ้องข้อ 2.2 ถึง ข้อ 2.7 ที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.8 มีชื่อ ช. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาตั้งแต่ปี 2527 จนกระทั่ง ช. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 โดยไม่ได้ทำพินัยกรรม ที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.8 จึงเป็นทรัพย์มรดกของ ช. ที่ตกทอดแก่ทายาทของ ช. รวม 8 คน ได้แก่ ท. คู่สมรสของ ช. บุตรของ ช. 5 คน จ. มารดาของ ช. และ ป. บิดาของ ช. โดยในเบื้องต้น โจทก์ร่วมซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับ ช. และเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (3) ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของ ช. ตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง แต่ต่อมาระหว่างที่การจัดการมรดกของ ช. ยังไม่เสร็จสิ้น ป. ได้ถึงแก่ความตาย ที่ดินมรดกของ ช. ตามฟ้อง ข้อ 2.8 เฉพาะส่วนที่จะตกได้แก่ ป. จึงตกทอดมายังโจทก์ร่วม จำเลยและทายาทคนอื่น ๆ ของ ป. โดยคำนวณหักส่วนแบ่งสินสมรสกึ่งหนึ่งให้แก่ ท. คู่สมรสของ ช. ตามมาตรา 1625 มาตรา 1532 และมาตรา 1533 แล้ว ที่ดินมรดกของ ช. ส่วนที่เหลือต้องแบ่งปันแก่ทายาทของ ช. รวม 8 คน คนละ 1 ใน 8 ส่วนตามมาตรา 1630 วรรคสอง มาตรา 1633 และมาตรา 1635 (1) สำหรับที่ดินมรดกของ ช. เฉพาะส่วนที่จะตกได้แก่ ป. เมื่อตกทอดมายังผู้สืบสันดานของ ป. ได้แก่โจทก์ร่วม จำเลย บุตรคนอื่นและผู้รับมรดกแทนที่รวม 6 ส่วน ซึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเท่ากันแล้วจะปรากฏว่าโจทก์ร่วมมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งที่ดินส่วนนี้ 1 ใน 6 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 3.95 ตารางวา ซึ่งนับว่าน้อยมาก รูปคดีจึงไม่มีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอให้เชื่อได้ว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. จะทำหน้าที่จัดการมรดกของ ป. เฉพาะส่วนนี้ด้วยเจตนาทุจริตประกอบกับการที่จำเลยดำเนินการโอนที่ดินมรดกของ ช. แปลงนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของ จ. มารดาของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว เป็นกรณีที่จำเลยกระทำการในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช. มิใช่กระทำการในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. แม้การโอนที่ดินมรดกของ ช. ดังกล่าว จะเป็นการโอนรวมเอาส่วนที่จะตกได้แก่ ป. เข้าไปด้วย แต่ข้อเท็จจริงดังที่วินิจฉัยมาก็มีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกเกี่ยวกับที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.8 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ป. หรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสองอนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 352 วรรคแรก และมาตรา 354 ให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฎว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9317/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในการยื่นคำร้องถอนผู้จัดการมรดกต้องมีเหตุตามกฎหมาย และต้องเกิดขึ้นหลังครบกำหนดเวลาที่ผู้จัดการมรดกต้องปฏิบัติหน้าที่
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 วรรคหนึ่งอ้างเหตุเพียงประการเดียวว่า ผู้ร้องไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายในเวลาอันสมควร ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1732 บัญญัติว่า "ผู้จัดการมรดกต้องจัดการตามหน้าที่และทำรายงานแสดงบัญชีและแบ่งปันมรดกให้เสร็จสิ้นภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ระบุไว้ในมาตรา 1728" แสดงว่า ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่จัดการแบ่งปันมรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปี หากไม่ดำเนินการในเวลาดังกล่าวอาจถูกศาลถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องแบ่งปันมรดกให้แก่ทายาทให้เสร็จภายในหนึ่งปี การที่ผู้คัดค้านมายื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกก่อนที่จะครบกำหนดเวลาหนึ่งปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1732 ซึ่งยังถือไม่ได้ว่าผู้ร้องกระทำผิดหน้าที่ไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดอันจะเป็นเหตุให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1727 และจะถือว่าผู้ร้องไม่มีความสามารถตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713 (2) อันจะตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้เช่นกัน ดังนั้น ในวันที่ผู้คัดค้านยื่นร้องขอ จึงยังไม่มีเหตุตามคำร้องขอ ที่จะถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหรือจำต้องใช้สิทธิทางศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย แม้ต่อมาระหว่างการพิจารณาผู้ร้องยังไม่แบ่งทรัพย์มรดกก็เป็นเหตุการณ์ภายหลังอันจะถือว่าเป็นเหตุตามคำร้องขอหาได้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4692/2552
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การถอนผู้จัดการมรดก: เหตุผลความจำเป็นในการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินกองมรดก
ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลยังมีภาระหน้าที่ที่จะต้องรวบรวมทรัพย์มรดกซึ่งมีจำนวนมากมายหลายรายการ ต่อสู้คดีที่ถูกเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องให้ชำระหนี้แทนกองมรดก รวมทั้งบริหารจัดการบริษัทกล้วยไม้สืบแทนเจ้ามรดก เมื่อภาระหน้าที่ดังกล่าวยังไม่ลุล่วง ผู้ร้องย่อมจะไม่สามารถลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ฟังคำสั่งศาลตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1728 (2) ประกอบมาตรา 1716 โดยให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนตามมาตรา 1729 นับแต่เวลาที่ระบุไว้ในมาตรา 1728 เพราะมีอุปสรรคขัดขวาง มิใช่ผู้ร้องละเลย ส่วนข้อที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเพราะผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ผู้คัดค้านล่วงรู้ว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกมากเพื่อปิดบังทรัพย์มรดกนั้น ผู้คัดค้านมิได้นำสืบพยานใดสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตนตามภาระการพิสูจน์ใน ป.วิ.พ. มาตรา 84 (1) พยานหลักฐานของผู้คัดค้านจึงไม่พอรับฟัง แม้ผู้ร้องไปขอรับเงินฝากอันเป็นมรดกของเจ้ามรดกจากธนาคาร ตามหนังสือทายาทขอรับมรดก แต่ความก็ปรากฏจากเอกสารฉบับนั้นว่าผู้ร้องขอรับเงินในฐานะผู้จัดการมรดก มิได้กระทำเป็นการส่วนตัว ส่วนการรับโอนที่ดินมรดกก็ปรากฏจากคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านเองว่าผู้ร้องดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดกเช่นกัน จึงไม่ใช่การกระทำที่ส่อว่าเป็นการทุจริตหรือปิดบังทรัพย์มรดก ที่ผู้ร้องยังมิได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทก็เนื่องจากกองมรดกมีหนี้สิน ดังนั้น ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ โดยในวรรคสองกำหนดว่าในระหว่างเวลาเช่นว่านั้นผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่น แก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกได้รับชำระหนี้แล้วผู้จัดการมรดกต้องทำการแบ่งปันมรดก แม้กระนั้นมาตรา 1744 ยังบัญญัติรับรองต่อไปว่า ผู้จัดการมรดกไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์มรดกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทก่อนปีหนึ่งนับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เว้นแต่เจ้าหนี้กองมรดกที่ปรากฏตัวได้รับชำระหนี้แล้วทุกคน ดังนั้น การกระทำของผู้ร้องจึงมิใช่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดก
ป.พ.พ. มาตรา 1713 เพียงแต่กำหนดเหตุที่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งพนักงานอัยการอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีต่างๆ เท่านั้น และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกมิได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องเสนอบัญชีทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกต่อศาลด้วยในคราวเดียวกัน หากแต่แยกกำหนดไว้ในมาตรา 1725 ว่า ผู้จัดการมรดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้นั้นภายในเวลาอันสมควร การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก เช่นนั้นในขณะที่ยังไม่มีภาระหน้าที่ผู้จัดการมรดก จึงมิใช่การปกปิดข้อเท็จจริงในเรื่องทายาทของเจ้ามรดกและไม่เป็นเหตุที่ศาลอาจถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก
ป.พ.พ. มาตรา 1713 เพียงแต่กำหนดเหตุที่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งพนักงานอัยการอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีต่างๆ เท่านั้น และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกมิได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องเสนอบัญชีทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกต่อศาลด้วยในคราวเดียวกัน หากแต่แยกกำหนดไว้ในมาตรา 1725 ว่า ผู้จัดการมรดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้นั้นภายในเวลาอันสมควร การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก เช่นนั้นในขณะที่ยังไม่มีภาระหน้าที่ผู้จัดการมรดก จึงมิใช่การปกปิดข้อเท็จจริงในเรื่องทายาทของเจ้ามรดกและไม่เป็นเหตุที่ศาลอาจถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5967/2540
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การถอน/แต่งตั้งผู้จัดการมรดก: เหตุผลที่ศาลอาจไม่ถอนผู้จัดการมรดก แม้จะล่าช้าในการทำบัญชีทรัพย์สิน
แม้ทรัพย์มรดกบางอย่าง เช่น ที่ดินจะมีการเปลี่ยนชื่อจากชื่อของเจ้ามรดกที่มีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือถือกรรมสิทธิ์ร่วมอยู่มาเป็นชื่อผู้ร้องก็เป็นการถือกรรมสิทธิ์แทนเจ้ามรดกในฐานะที่ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกไม่ได้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในฐานะเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ร้องแต่อย่างใด การมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในฐานะผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกก็เท่ากับมีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทนทายาททุกคนของเจ้ามรดก พฤติการณ์ดังกล่าวถือไม่ได้ว่าผู้ร้องปกปิดหรือเบียดบังทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกส่วนทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องไม่ได้ระบุไว้ในบัญชีทรัพย์มรดกผู้ร้องก็ได้ต่อสู้ว่าเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ร้องซึ่งผู้คัดค้านต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นแบ่งปันมรดกผู้คัดค้านจะยกเอาเหตุดังกล่าวข้างต้นทั้งสองกรณีมาเป็นเหตุร้องขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกไม่ได้ การที่ผู้ร้องมีเอกสารถึง ว. ให้จดทะเบียนโอนหุ้นของบริษัทที่เจ้ามรดกมีหุ้นอยู่ทั้งหมดและจัดการรวบรวมที่ดินที่มีชื่อของเจ้ามรดกเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือถือกรรมสิทธิ์ร่วมมาเป็นชื่อของผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกการดำเนินการดังกล่าวถือว่าผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดก ของเจ้ามรดกได้ดำเนินการรวบรวมทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกเพื่อ แบ่งปันแก่ทายาทของเจ้ามรดกทุกคนภายในเวลาที่กฎหมาย กำหนดแล้วแม้จะยังรวบรวมไม่เสร็จก็ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องละเลยไม่ยอมดำเนินการรวบรวมทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกมาแบ่งปันแก่ทายาท ผู้ร้องไม่ได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกภายในกำหนดเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1728(2) และ 1729 วรรคหนึ่ง แต่ผู้ร้องก็นำสืบได้ถึงเหตุที่ไม่ได้ทำบัญชีทรัพย์มรดกนั้นว่าไม่ได้เกิดเพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือการทุจริต หรือความไม่สามารถ อันเห็นประจักษ์ของผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1731 ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวก็ไม่ได้บังคับให้ต้องถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกหากแต่ให้อยู่ในดุลพินิจของศาลดังนั้น เพื่อประโยชน์แก่กองมรดกที่จะต้องมีผู้จัดการมรดกทำการรวบรวมทรัพย์มรดกต่อไปและผู้คัดค้านเป็นบุคคลผู้สูงอายุมากแล้ว จึงไม่ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก