คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พิทยา บุญชู

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1606/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีต่อศาลแรงงานและการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงาน โดยการขึ้นทะเบียนสำนักจัดหางาน
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 87 วรรคสาม กำหนดให้ผู้อุทธรณ์ที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ให้มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยนั้น กำหนดเวลาสามสิบวันดังกล่าวเป็นเพียงระยะเวลาที่กำหนดให้ฟ้องคดีต่อศาลแรงงานเพื่อโต้แย้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ซึ่งเป็นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26 ที่ศาลแรงงานมีอำนาจย่นหรือขยายได้ตามความจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เมื่อปรากฏว่าโจทก์ไม่พอใจคำวินิจฉัยอุทธรณ์จึงนำคดีไปสู่ศาลแรงงานภาค 3 โดยฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดซึ่งเป็นราชการบริหารส่วนภูมิภาคของจำเลยตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน พ.ศ.2545 เป็นจำเลยภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย จึงเป็นการใช้สิทธิในการโต้แย้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์และได้ดำเนินการนำคดีไปสู่ศาลภายในสามสิบวันตามกฎหมายแล้ว ต่อมาโจทก์ทราบว่าจำเลยมิได้มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์จึงแถลงต่อศาลแรงงานภาค 3 ขอถอนฟ้องเพื่อจะได้ฟ้องจำเลยคดีนี้ให้ถูกต้องต่อไป และศาลแรงงานภาค 3อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องคดีเพื่อฟ้องเป็นคดีนี้ใหม่ และโจทก์ก็ได้นำคดีกลับมาฟ้องจำเลยใหม่ภายในสิบวันนับแต่วันที่ถอนฟ้องคดีเดิมโดยศาลแรงงานภาค 3 ได้รับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาต่อมา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ได้นำคดีไปสู่ศาลแรงงานภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 87 วรรคสาม หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ถอนฟ้องแล้วโจทก์จะต้องฟ้องจำเลยคดีนี้ภายในอายุความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 176 ไม่
ตามบทบัญญัติของพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 79 และข้อกำหนดในกฎกระทรวงที่ให้ลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนการว่างงานเพราะเหตุลาออกจากงานในอัตราร้อยละสามสิบของค่าจ้างรายวันให้ได้รับครั้งละไม่เกินกว่าเก้าสิบวัน โดยลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนนั้น หากได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายในสามสิบวันนับแต่วันว่างงานจะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานตั้งแต่วันที่แปดนับแต่วันว่างงานจากการทำงานกับนายจ้างรายสุดท้าย แต่หากลูกจ้างซึ่งเป็นผู้ประกันตนไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักจัดหางานของรัฐภายในสามสิบวันนับแต่วันว่างงานจะได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานนับแต่วันที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ที่สำนักงานจัดหางานของรัฐเท่านั้น เมื่อโจทก์ขึ้นทะเบียนที่สำนักจัดหางานจังหวัดในวันที่ 14 ตุลาคม 2547 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเป็นเงินทดแทนในกรณีว่างงานในอัตราร้อยละสามสิบของค่าจ้างรายวันไม่เกินเก้าสิบวันนับแต่วันขึ้นทะเบียนตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน พ.ศ.2547 ข้อ 1 (2) และข้อ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1605/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนย้ายลูกจ้างและการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับการทำงาน: สิทธิเกษียณอายุเป็นไปตามข้อบังคับของนายจ้างใหม่เมื่อลูกจ้างยินยอม
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 13 ใช้สำหรับกรณีมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้างไม่ว่านายจ้างนั้นจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล จึงมีผลให้นายจ้างใหม่ต้องรับสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างที่มีอยู่กับนายจ้างเดิมมาด้วยทุกประการ แต่หากเป็นการโอนสิทธิความเป็นนายจ้างให้แก่นายจ้างใหม่นั้นกรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 577 ซึ่งนายจ้างเดิมและนายจ้างใหม่จะทำได้เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย และเมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจในการโอนสิทธิดังกล่าวแล้วลูกจ้างนั้นจึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างใหม่ด้วยเช่นกัน เมื่อปรากฏว่าในระหว่างที่โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดเกษียณอายุเมื่อครบ 65 ปีบริบูรณ์ ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนย้ายโจทก์ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ และจำเลยที่ 2 โอนย้ายโจทก์ไปทำงานกับจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 มีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานกำหนดเกษียณอายุเมื่อครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งการโอนย้ายโจทก์จากการทำงานกับจำเลยที่ 1 ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 577 แม้จะเป็นเหตุให้สิทธิในการเกษียณอายุของโจทก์ต้องลดลงก็ตาม แต่เมื่อการโอนย้ายดังกล่าวโจทก์ยินยอมพร้อมใจ โจทก์จึงต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างใหม่ โจทก์ไม่อาจอ้างสิทธิเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 กับนายจ้างใหม่ได้ การที่จำเลยที่ 3 เลิกจ้างโจทก์มิใช่การเลิกจ้างโดยกลั่นแกล้งแต่เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุผลอันสมควรและเพียงพอ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 795/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับบทลงโทษผิดฐานพรากเด็กและพาเด็กเพื่ออนาจาร ศาลฎีกาแก้ไขให้ถูกต้องตามข้อกฎหมาย
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดา ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยมิได้กระทำเพื่อการอนาจาร จึงปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคแรก โจทก์มิได้อุทธรณ์ ดังนั้น เมื่อฟังไม่ได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษเพื่อการอนาจาร อันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจาร ตาม ป.อ. มาตรา 283 ทวิ วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรานี้มาด้วยและศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้พิพากษาแก้ไขในส่วนนี้เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225
อนึ่ง แม้ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2550 มาตรา 3 ยกเลิกความในมาตรา 277 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน แต่กฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลย จึงต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8628/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิค่าชดเชยพนักงานรัฐวิสาหกิจ: การเลิกจ้างและข้อยกเว้นตามมติคณะรัฐมนตรี
ขณะโจทก์ถูกเลิกจ้าง ธนาคาร ศ. มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์ทำงานเป็นพนักงานของธนาคาร ศ. ติดต่อกัน 11 ปีเศษ โจทก์จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้าย 180 วัน ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 45 (3) มติคณะรัฐมนตรีที่ให้สถาบันการเงินกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 ไม่ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง กฎ ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่ใช้บังคับกับรัฐวิสาหกิจทั่วไป เพียงให้สถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจเนื่องจากกองทุนเพื่อการฟื้นฟูเข้าแทรกแซงได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการในเรื่องเงินเดือน สวัสดิการ และผลประโยชน์ตอบแทนของพนักงาน โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขในการจ้างเดิมของสถาบันการเงินนั้นเท่านั้น มิได้มีข้อความให้ยกเว้นมาตรฐานของสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าชดเชยที่รัฐวิสาหกิจจะต้องจ่ายให้แก่พนักงานซึ่งเลิกจ้างตามที่คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์วางระเบียบไว้โดยอาศัยอำนาจแห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 จำนวนค่าชดเชยที่โจทก์มีสิทธิได้รับเมื่อเลิกจ้างจึงยังคงเป็นไปตามที่คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์วางระเบียบไว้ดังกล่าว ไม่อาจนำบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (5) ที่ว่า ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกัน 10 ปีขึ้นไป ให้จ่ายค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 300 วัน มาใช้แก่กรณีของโจทก์ได้