พบผลลัพธ์ทั้งหมด 727 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 229/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
พฤติการณ์หลอกลวงประชาชนให้เล่นหวยโดยอ้างว่าเป็นเลขจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเข้าข่ายความผิดฐานพยายามฉ้อโกง
จำเลยทำใบปลิวโฆษณาชักชวนบุคคลทั่วไปให้มาเล่นหวย (สลากกินรวบ) โดยให้ติดต่อไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่ระบุในใบปลิวเพื่อขอรับเลข ซึ่งอ้างว่าได้มาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล หากถูกรางวัลจำเลยขอค่าตอบแทน 10,000 บาท โดยจำเลยไม่มีเลขที่ได้มาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล แต่จำเลยมีเจตนาหลอกลวงเอาเงินจากประชาชนทั่วไปที่ได้รับใบปลิวของจำเลยมาแต่ต้น การที่มีประชาชนโทรศัพท์หาจำเลยและจำเลยแจ้งเลขซึ่งไม่ได้มาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล มิใช่การให้หรือตอบแทนสิ่งใดแก่ประชาชน จึงไม่เป็นสัญญาต่างตอบแทน จำเลยลงมือกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนแล้ว แต่ประชาชนที่ถูกจำเลยหลอกลวงตรวจสอบพบว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริงมิได้หลงเชื่อตามที่ถูกหลอกลวง การกระทำของจำเลยจึงไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ จึงเป็นความผิดฐานพยายามกระทำความผิด ตาม ป.อ.มาตรา 81
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 101/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกเฉยโจทก์ไม่ดำเนินคดีหลังตกลงชดใช้ค่าเสียหาย ศาลมีอำนาจจำหน่ายคดี
การที่ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาในวันนัดโดยให้ส่งหมายนัดให้โจทก์อีกครั้งพร้อมแนบสำเนาคำร้องของจำเลย โดยให้ระบุในหมายนัดว่า หากโจทก์จะคัดค้านให้คัดค้านก่อนหรือภายในวันนัด มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ไม่คัดค้าน ถือได้ว่าเป็นกรณีที่ศาลต้องการนัดพร้อมเพื่อให้โจทก์และจำเลยมาศาลเพื่อแถลงร่วมกันเกี่ยวกับการชำระเงินของจำเลยในนัดต่อไป เมื่อโจทก์ไม่มาศาลเพื่อแถลงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว เพื่อศาลจะได้ใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยให้เหมาะสมแก่รูปคดี อันจะทำให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปได้อย่างเที่ยงธรรม การละเลยของโจทก์เช่นนี้ถือว่า โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนดไว้เพื่อการนั้นแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8591/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดหลายกรรมต่างกัน: อั้งยี่, สมคบฟอกเงิน, และฉ้อโกง/ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์
ป.อ. มาตรา 91 ไม่ได้บัญญัติว่า การกระทำความผิดหลายกรรมนั้นจะเกิดขึ้นในวาระเดียวกันไม่ได้ การกระทำความผิดเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันก็อาจเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ ซึ่งย่อมขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงในแต่ละกรณีไป เมื่อสภาพแห่งความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร และฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ กับความผิดฐานร่วมกันสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและฐานร่วมกันฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบ มีความมุ่งหมายให้เกิดผลต่อผู้กระทำความผิดที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละฐานความผิดแยกออกจากกันได้ชัดเจนทั้งในแง่องค์ประกอบความผิด เจตนาในการกระทำ สภาพและลักษณะของการกระทำความผิดสำเร็จ ตลอดจนบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ต่างฉบับกัน แม้การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดในความผิดฐานดังกล่าวเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน แต่การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดมีเจตนาจะทำให้ผลของการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นต่างกัน การกระทำของจำเลยทั้งเจ็ดในความผิดฐานร่วมกันสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานฟอกเงินและฐานร่วมกันฟอกเงินเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบจึงเป็นความผิดต่างกรรมกับการกระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร และฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติความผิดฐานร่วมกันใช้และมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน โดยเป็นการกระทำเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการชำระค่าสินค้า ค่าบริการหรือหนี้อื่นแทนการชำระด้วยเงินสด หรือใช้เบิกถอนเงินสด กับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่นนั้น เมื่อจำเลยทั้งเจ็ดหลอกลวงผู้เสียหายจนหลงเชื่อและโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารที่จำเลยทั้งเจ็ดเตรียมไว้แล้ว จำเลยทั้งเจ็ดเบิกถอนเงินจำนวนดังกล่าวจากตู้เบิกถอนเงินสดอัตโนมัติไป แม้การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบฯ จะกระทำภายหลังจากจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันฉ้อโกงผู้เสียหายสำเร็จแล้ว แต่ก็เป็นการกระทำที่เกี่ยวเนื่องกัน โดยจำเลยทั้งเจ็ดมีเจตนาที่จะใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน โดยเป็นการกระทำเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่ผู้ออกได้ออกให้แก่ผู้มีสิทธิใช้ เพื่อใช้ประโยชน์ในการเบิกถอนเงินสดที่ผู้เสียหายโอนให้จำเลยทั้งเจ็ด ความผิดฐานร่วมกันใช้และมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งบัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบฯ กับความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชนโดยแสดงตนเป็นคนอื่น จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาเดียว เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4125/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การหลอกลวงลงทุนและเจตนาทุจริต การคืนเงินลงทุนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยทั้งสองหลอกลวงผู้เสียหายทั้งสามให้นำเงินไปลงทุนในโครงการจำหน่ายนมผง ซึ่งไม่มีอยู่จริง แล้วจำเลยทั้งสองโอนเงินให้แก่ผู้เสียหายทั้งสาม โดยอ้างว่าเป็นผลตอบแทนจากการลงทุน ก็เพื่อที่จะหลอกลวงให้ผู้เสียหายทั้งสามลงทุนต่อไป เงินที่โอนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสามดังกล่าว จึงเป็นเงินที่จำเลยทั้งสองใช้กระทำความผิดโดยเจตนาทุจริตหลอกให้ผู้เสียหายทั้งสามหลงเชื่อและวางใจเพื่อที่จะได้นำเงินมาลงทุนกับจำเลยทั้งสองเพิ่มอีก มิใช่เป็นการคืนเงินลงทุนให้แก่ผู้เสียหายทั้งสาม อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงไม่มีสิทธินำเงินที่ใช้กระทำความผิดดังกล่าวมาขอหักกลบลบหนี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3079/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เขตอำนาจศาล: การไม่โต้แย้งของจำเลยถือเป็นการยอมรับอำนาจศาลชั้นต้น
ขณะโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลพลเรือนนั้น แม้จำเลยรับราชการเป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลทหารตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 16 (1) แต่จำเลยมิได้ยื่นคำร้องโต้แย้งต่อศาลชั้นต้นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะคดีอยู่ในเขตอำนาจศาลทหารเพื่อศาลชั้นต้นจะได้ดำเนินการต่อไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 แสดงว่าจำเลยยอมรับเขตอำนาจศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นเองก็มิได้ยกเรื่องเขตอำนาจศาลส่งไปให้ศาลทหารทำความเห็นกลับมาเช่นกัน กรณีเช่นนี้ ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องบรรยายชัดแจ้งว่าขณะเกิดเหตุจำเลยรับราชการเป็นทหารอันเป็นการยืนยันว่าขณะเกิดเหตุและขณะฟ้องจำเลยรับราชการเป็นทหารชั้นสัญญาบัตรประจำการ จำเลยจึงเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 มาตรา 16 (1) ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา ให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้น และเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตั้งแต่วันที่ศาลตรวจคำฟ้องและมีคำสั่งนัดไต่สวนมูลฟ้องเป็นต้นไป โดยศาลอุทธรณ์ไม่ได้พิจารณาหลักเกณฑ์ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 ซึ่งใช้บังคับขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง จึงไม่ถูกต้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 496/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฎีกาไม่รับวินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยแล้ว และคำขอคืนเงินไม่เป็นฟ้องซ้อน
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นตัวแทนของบริษัท ศ. หลอกลวงผู้เสียหายซึ่งเป็นลูกค้าและทำสัญญาประกันชีวิตไว้กับบริษัท ศ. ว่าบริษัท ศ. มีนโยบายสมนาคุณให้แก่ลูกค้าพิเศษ มีโครงการรับฝากเงินแบบออมทรัพย์พิเศษจากลูกค้าโดยจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนอัตราร้อยละ 10 ต่อปี จ่ายผลประโยชน์ให้แก่ลูกค้าทุก 6 เดือน อันเป็นความเท็จ โจทก์ร่วมหลงเชื่อสั่งจ่ายเช็ค 21 ฉบับ ให้จำเลยแล้วจำเลยนำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินนำไปเป็นประโยชน์ส่วนตน ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือไม่ ศาลต้องย้อนไปวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมมีเจตนาฝากเงินแต่ละครั้งตามวันเดือนปีที่โจทก์ร่วมสั่งจ่ายเช็คแต่ละฉบับให้แก่จำเลยหรือโจทก์ร่วมมีเจตนาฝากเงินเพียงครั้งเดียว ฎีกาของจำเลยจึงเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อคดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่งประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ขอให้คืนเงินแม้ถือว่าเป็นการขอแทนโจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 แต่เป็นกรณีที่เนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาอันเป็นมูลละเมิดเท่านั้น ส่วนคดีแพ่งโจทก์ร่วมฟ้องว่าจำเลยและบริษัท ศ. ฐานผิดสัญญาฝากทรัพย์และเรียกทรัพย์คืนอันเป็นมูลหนี้มาจากการผิดสัญญา ถึงแม้คำขอบังคับส่วนแพ่งในคดีนี้และคดีแพ่งเป็นอย่างเดียวกัน แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามิใช่เป็นอย่างเดียวกัน กรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้อนตามความหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 คำขอให้จำเลยคืนเงินแก่โจทก์ร่วม จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งที่โจทก์ร่วมฟ้องจำเลยและบริษัท ศ. ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ พิพากษายืน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7435/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจฟ้องของผู้เสียหายจากการลงทุน: การพิสูจน์ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยจากการถูกหลอกลวง
แม้ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ชักชวนสมาชิกมาร่วมลงทุนกับจำเลยประมาณสิบกว่าคน โดยให้คำรับรองว่า บริษัท M. จะคืนเงินลงทุนให้ภายใน 3 เดือน หากบริษัทดังกล่าวไม่คืนเงินให้ โจทก์จะใช้เงินส่วนตัวคืนเงินลงทุนให้แก่ทุกคน อันแสดงให้เห็นว่าโจทก์มีพฤติการณ์ในการชักชวนผู้อื่นให้มาลงทุนเช่นเดียวกับจำเลยก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ในขณะที่โจทก์ชักชวนผู้อื่นมาร่วมลงทุนนั้น โจทก์ทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัทดังกล่าวไม่สามารถให้ผลตอบแทนได้ดังที่โฆษณา แล้วไปหลอกลวงให้ผู้อื่นมาร่วมลงทุนด้วย นอกจากนี้ข้อเท็จจริงยังได้ความอีกว่า หลังจากโจทก์ทราบว่าบริษัทดังกล่าวหลอกลวงไม่สามารถให้ผลตอบแทนดังที่โฆษณาแล้ว โจทก์ได้คืนเงินให้แก่บุคคลที่โจทก์ชักชวนให้มาร่วมลงทุนไปแล้ว รูปคดีจึงยังฟังไม่ได้ว่า โจทก์มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย ซึ่งมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5069/2562
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำหน่ายยา-ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต ร่วมกันฉีดสารเข้าร่างกายผู้อื่น
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) นั้น นอกจากจำเลยจะต้องเป็นบุคคลคนเดียวกันและศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่ได้ฟ้องแล้ว คดีต้องมีประเด็นข้อกล่าวหาในมูลเหตุอย่างเดียวกันด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของบุคคลไม่ให้ถูกดำเนินคดีถึงสองครั้งในการกระทำความผิดครั้งเดียว คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามโดยอ้างว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันหลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 ที่ 2 และผู้เสียหายที่ 4 ให้ซื้อและฉีดสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีเข้าสู่ร่างกาย โดยสารดังกล่าวไม่ใช่สเต็มเซลล์และไม่ได้มีสรรพคุณตามที่จำเลยทั้งสามกล่าวอ้าง แต่ข้อเท็จจริงในคดีก่อนเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 หลอกลวงโจทก์ร่วมที่ 1 โดยชักชวนให้ร่วมลงทุนในธุรกิจสเต็มเซลล์แต่ไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้จริงตามที่กล่าวอ้าง ประเด็นข้อกล่าวหาของแต่ละคดีจึงต่างกันและเป็นการกระทำต่างกรรมกัน แม้จะเป็นการฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในข้อหาฉ้อโกงเหมือนกันก็ตาม แต่เมื่อประเด็นข้อกล่าวหาในคดีนี้เป็นคนละมูลเหตุกับประเด็นข้อกล่าวหาในคดีก่อน ฟ้องคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับฟ้องคดีก่อน
ในการขายสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีนั้น จำเลยที่ 1 จะบริการฉีดสารดังกล่าวให้ภายหลังการขาย โดยจะติดตามไปฉีดให้แก่ลูกค้าที่สถานที่ที่ลูกค้าสะดวกในลักษณะเป็นการบริการหลังการขาย อันถือเป็นส่วนหนึ่งของการขาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ขายสารดังกล่าว ย่อมต้องทราบทางปฏิบัติว่าจะต้องมีบริการฉีดสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายลูกค้าด้วยเสมอ พฤติการณ์ที่มีเพียงจำเลยที่ 1 เป็นผู้ฉีดนั้นจึงถือเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันในการฉีดสารดังกล่าวให้แก่ลูกค้า เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีเจตนาร่วมกันจึงต้องรับผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ด้วย จึงมีความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกันนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 การที่จำเลยทั้งสามหลอกลวงผู้เสียหายว่าสารที่ตนนำมาขายให้แก่ผู้เสียหายคือสเต็มเซลล์ที่แท้จริง ก็เพื่อประสงค์จะขายสารดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายเป็นสำคัญ การหลอกลวงกับการขายจึงเกลื่อนกลืนกันไปเป็นเจตนาเดียว ความผิดฐานฉ้อโกง พยายามฉ้อโกง ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่การหลอกขายสเต็มเซลล์ให้แก่ผู้เสียหายนั้น มีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผู้เสียหายแต่ละรายแตกต่างกันไป ทั้งยังต่างวัน เวลา และสถานที่ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น กฎหมายมุ่งคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนให้ปลอดภัยจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน ในทุก ๆ ครั้งที่ประชาชนได้รับบริการดังกล่าว จำเลยที่ 1 ฉีดยาให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 เสร็จสิ้นในแต่ละครั้งเป็นการกระทำต่างวันเวลา จึงเป็นความผิดที่แยกต่างหากจากกัน เป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนครั้งที่ฉีด แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามมาเพียงกรรมเดียวและโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ จึงไม่อาจพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสามได้
ในการขายสารที่อ้างว่าเป็นสเต็มเซลล์ โปรตีนและวิตามินซีนั้น จำเลยที่ 1 จะบริการฉีดสารดังกล่าวให้ภายหลังการขาย โดยจะติดตามไปฉีดให้แก่ลูกค้าที่สถานที่ที่ลูกค้าสะดวกในลักษณะเป็นการบริการหลังการขาย อันถือเป็นส่วนหนึ่งของการขาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ขายสารดังกล่าว ย่อมต้องทราบทางปฏิบัติว่าจะต้องมีบริการฉีดสารดังกล่าวเข้าสู่ร่างกายลูกค้าด้วยเสมอ พฤติการณ์ที่มีเพียงจำเลยที่ 1 เป็นผู้ฉีดนั้นจึงถือเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยจำเลยทั้งสามมีเจตนาร่วมกันในการฉีดสารดังกล่าวให้แก่ลูกค้า เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมีเจตนาร่วมกันจึงต้องรับผลแห่งการกระทำของจำเลยที่ 1 ด้วย จึงมีความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทหรือหลายกรรมต่างกันนั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 การที่จำเลยทั้งสามหลอกลวงผู้เสียหายว่าสารที่ตนนำมาขายให้แก่ผู้เสียหายคือสเต็มเซลล์ที่แท้จริง ก็เพื่อประสงค์จะขายสารดังกล่าวให้แก่ผู้เสียหายเป็นสำคัญ การหลอกลวงกับการขายจึงเกลื่อนกลืนกันไปเป็นเจตนาเดียว ความผิดฐานฉ้อโกง พยายามฉ้อโกง ขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และขายยาที่มิได้ขึ้นทะเบียนตำรับยาจึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่การหลอกขายสเต็มเซลล์ให้แก่ผู้เสียหายนั้น มีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผู้เสียหายแต่ละรายแตกต่างกันไป ทั้งยังต่างวัน เวลา และสถานที่ จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ความผิดฐานร่วมกันประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น กฎหมายมุ่งคุ้มครองสวัสดิภาพของประชาชนให้ปลอดภัยจากการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน ในทุก ๆ ครั้งที่ประชาชนได้รับบริการดังกล่าว จำเลยที่ 1 ฉีดยาให้แก่โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 ผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 เสร็จสิ้นในแต่ละครั้งเป็นการกระทำต่างวันเวลา จึงเป็นความผิดที่แยกต่างหากจากกัน เป็นความผิดหลายกรรมตามจำนวนครั้งที่ฉีด แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามมาเพียงกรรมเดียวและโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ จึงไม่อาจพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสามได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7054/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฉ้อโกง: การกระทำผิดสำเร็จแล้ว การขยายหนี้ไม่ใช่ความผิดฐานฉ้อโกงซ้ำ
เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 จำเลยที่ 1 หลอกลวงโจทก์ด้วยการปลอมโฉนดที่ดินของจำเลยที่ 2 ว่า เป็นของตนและนำสำเนาโฉนดที่ดินมาวางเป็นประกันหนี้ โจทก์หลงเชื่อจึงให้จำเลยที่ 1 กู้เงินโดยทำสัญญากู้เงินและมอบเงิน 140,000 บาท ให้แก่จำเลยที่ 1 ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงสำเร็จในวันดังกล่าวแล้ว แม้ต่อมาในวันที่ 28 สิงหาคม 2558 จำเลยทั้งสองร่วมกันหลอกลวงโจทก์อีกว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินและขอใช้โฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ต่อไป โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้ไว้ให้แก่โจทก์ด้วย โจทก์จึงหลงเชื่อยอมรับหลักประกันดังกล่าวและขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 ก็เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นใหม่หลังจากที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2557 สำเร็จไปแล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าในการหลอกลวงครั้งหลังจำเลยทั้งสองได้รับทรัพย์สินจากโจทก์เพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินกู้ 140,000 บาท ที่ได้รับไปแล้ว แม้ว่าโจทก์จะทำสัญญากู้เงินฉบับใหม่กับจำเลยที่ 1 แต่ก็เป็นเพียงขยายระยะเวลาชำระหนี้เงินกู้ให้แก่จำเลยที่ 1 เท่านั้น หาได้ทำให้โจทก์เสื่อมเสียสิทธิในสัญญากู้เงินฉบับเดิมแต่อย่างใดไม่ ทั้งปรากฏว่าโจทก์ได้นำสัญญากู้เงินดังกล่าวไปฟ้องคดีแพ่งและศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์แล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองในวันที่ 28 สิงหาคม 2558 จึงมิได้มีผลให้โจทก์หรือทำให้โจทก์ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิอันจะเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้อง