คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชวลิต สุจริตกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 60 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3803/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปิดประกาศยึดทรัพย์และขายทอดตลาดที่ชอบด้วยกฎหมาย และการแจ้งการบังคับคดีแก่ลูกหนี้ทั้งสองฐานะ
ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติว่า การปิดหมายหรือปิดประกาศจะต้องปฏิบัติอย่างไร ทั้งไม่มีระเบียบในเรื่องนี้ไว้ จึงอยู่ในดุลพินิจของเจ้าพนักงานที่จะปิดให้เหมาะสมกับสถานที่ที่จะปิดซึ่งเป็นที่เปิดเผยให้เห็นได้ง่าย และไม่จำต้องปิดโดยติดกับตัวทรัพย์ไว้เสมอไป การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ปิดประกาศยึดทรัพย์และประกาศขายทอดตลาดทรัพย์โดยใช้กิ่งไม้เสียบไว้กับต้นไม้บนคูนาในที่ดินพิพาทและปิดที่บ้านของจำเลยโดยผูกไว้กับลูกบิดประตูหน้าบ้านของจำเลยล้วนแต่เป็นการปิดในที่เปิดเผยแลเห็นได้ง่ายทั้งสิ้น กรณีถือได้ว่าเป็นการปิดประกาศโดยชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคหนึ่ง แล้ว
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 เมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดแล้วการดำเนินการบังคับคดีให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายนั้นให้ทราบด้วย บุคคลผู้มีส่วนได้เสียตามความหมายของมาตราดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 280 (1) ให้ถือว่าลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้หนึ่งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดนั้นรวมอยู่ด้วย สำหรับคดีนี้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องถือว่ามี 2 ราย คือ จำเลยและ ส. ผู้ตายซึ่งจำเลยถูกฟ้องให้รับผิดแทนในฐานะทายาทผู้ตายด้วย จึงเห็นได้ว่าจำเลยมี 2 ฐานะ คือเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในฐานะส่วนตัว และเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในฐานะทายาทของผู้ตายด้วย กระบวนพิจารณาใดที่กระทำต่อจำเลยถือได้ว่ากระทำต่อผู้ตายด้วย ซึ่งในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีนี้จำเลยก็ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาแทนผู้ตายมาโดยตลอด ทั้งยังปรากฏว่าผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2545 ก่อนจำเลยถูกฟ้องคดี และผู้ร้องก็ไปขอประนอมหนี้กับโจทก์ด้วย แต่ผู้ร้องก็มิได้แจ้งให้ทราบว่าเป็นผู้จัดการมรดกและไม่ได้ดำเนินการใดๆ ทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินของผู้ตาย ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้จำเลยทราบโดยมิได้แจ้งแก่ผู้ร้องหรือทายาทอื่น ย่อมเป็นการแจ้งแก่จำเลยและแจ้งแก่ผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาทั้งสองรายครบถ้วนแล้ว การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงเป็นการขายทอดตลาดที่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3351/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลคำพิพากษาคดีอาญาผูกพันคดีแพ่ง: เพิกถอนนิติกรรมต้องอาศัยเหตุผลที่ศาลอาญาวินิจฉัย
คดีนี้โจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดิน เพื่อเรียกที่ดินคืนจากจำเลย โดยอ้างเหตุว่า จำเลยฉ้อโกงโจทก์ทั้งห้าว่าจะยืมที่ดินของโจทก์ทั้งห้าไปจำนองต่อสถาบันการเงิน แต่จำเลยกลับกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจผิดไปจากความประสงค์ที่แท้จริง โดยปลอมว่า โจทก์ทั้งห้ายกที่ดินให้แก่จำเลย และโจทก์ทั้งห้ายังได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาข้อหาปลอมเอกสารสิทธิและฉ้อโกง คดีอาญาดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า พยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งห้านำสืบมายังไม่พอฟังว่าคดีมีมูล พิพากษายกฟ้อง แม้จะเป็นการวินิจฉัยในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ตาม แต่คดีถึงที่สุดแล้ว อีกทั้งได้วินิจฉัยในประเด็นเกี่ยวข้องโดยตรงกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้แล้วว่า พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งห้าไม่มีมูลให้ฟังว่า จำเลยกระทำความผิด ฉะนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3100/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: สัญญาและหนังสือรับสภาพหนี้ที่ทำในจังหวัดอื่น ศาลแขวงดุสิตไม่มีอำนาจพิจารณา
คำว่า มูลคดี ตามที่บัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 4 นั้น หมายถึง มูลเหตุซึ่งเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้เกิดอำนาจฟ้องแก่โจทก์ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองเรียกค่าสินค้าฝากขายที่จำเลยทั้งสองค้างชำระอันเนื่องจากโจทก์ตั้งให้จำเลยทั้งสองเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าที่โจทก์ผลิตในจังหวัดพัทลุง โดยพนักงานของโจทก์เป็นผู้ติดต่อกับจำเลยทั้งสองที่จังหวัดพัทลุง แม้มิได้ทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ แต่จำเลยทั้งสองก็ได้แสดงเจตนาสนองรับเป็นตัวแทนที่จังหวัดพัทลุงนั้นเอง ดังนั้น สัญญาที่เป็นมูลเหตุให้เกิดสิทธิฟ้องร้องของโจทก์จึงเกิดขึ้นที่จังหวัดพัทลุง ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดพัทลุง ส่วนที่ตั้งของสำนักงานโจทก์เป็นเพียงสถานที่ที่พนักงานโจทก์ทำงานอยู่ในเวลาที่จำเลยทั้งสองโทรศัพท์มาติดต่อเพื่อให้ส่งสินค้าเท่านั้น ซึ่งสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อส่งสินค้าไม่ใช่ติดต่อทำสัญญา ย่อมไม่ใช่สถานที่ที่มูลคดีเกิด
การรับสภาพหนี้โดยการทำเป็นหนังสือเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวที่ลูกหนี้กระทำได้เองโดยสมบูรณ์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ที่จังหวัดพัทลุง หนังสือรับสภาพหนี้ก็มีผลโดยสมบรูณ์ทันที ศาลแขวงดุสิตจึงไม่ใช่ศาลที่มีเขตอำนาจ ศาลแขวงดุสิตจึงชอบที่จะพิพากษายกฟ้องเพื่อให้โจทก์นำคดีไปฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจต่อไป
การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลแพ่งและศาลแพ่งมีคำสั่งรับฟ้องไว้แล้ว ต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งให้โอนคดีมายังศาลแขวงดุสิตตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคสี่ และศาลแขวงดุสิตรับคดีไว้พิจารณา ไม่ถือว่าศาลแพ่งใช้ดุลพินิจรับคดีที่ไม่ได้อยู่ในเขตอำนาจไว้พิจารณาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคสาม เพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าคดีนี้ไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลแพ่ง ส่วนที่ศาลแขวงดุสิตรับคดีนี้ไว้พิจารณาก็เป็นไปตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 16 วรรคสี่ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ศาลแขวงดุสิตใช้ดุลพินิจรับคดีนี้ไว้พิจารณาเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3050/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: คดีมีทุนทรัพย์เกิน 300,000 บาท แม้คำขอท้ายฟ้องระบุจำนวนเงินน้อยกว่า ศาลแขวงไม่มีอำนาจพิจารณา
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญากู้เงินซึ่งเป็นโมฆะ และขอเรียกเงินคืน 275,957 บาท อันเป็นจำนวนเงินที่ไม่เกิน 300,000 บาท แต่เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ยังคงค้างชำระต้นเงินตามสัญญากู้ดังกล่าวจำนวน 445,502.50 บาท ดังนี้ การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนสัญญากู้เงินฉบับดังกล่าว ผลของคำพิพากษาก็คือเมื่อโจทก์ชนะคดีทำให้โจทก์ไม่ต้องชำระต้นเงินที่ค้างจำนวน 445,502.50 บาท กรณีจึงเป็นคำฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 150 เป็นคดีมีทุนทรัพย์เกินกว่า 300,000 บาท ศาลแขวงจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 และ 25 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2513/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเล่นแชร์เลิกสัญญา นายวงแชร์หลบหนี จำเลยผู้ประมูลมีหน้าที่คืนเงินให้ผู้ที่ยังไม่ได้ประมูล
การเล่นแชร์เป็นสัญญาชนิดหนึ่งเกิดขึ้นจากความตกลงระหว่างผู้เล่น จำเลยทั้งสี่และโจทก์ทั้งสองเป็นลูกวงแชร์ที่ ป. เป็นนายวงแชร์ต่างก็เข้าร่วมเล่นแชร์ด้วยกันถือได้ว่าจำเลยทั้งสี่กับโจทก์ทั้งสองและลูกวงแชร์คนอื่นๆ มีความผูกพันต้องส่งเงินตามที่ตกลงกันในการเล่นและมีสิทธิในการเข้าประมูลระหว่างลูกวงแชร์ด้วยกันจึงต้องมีความผูกพันต่อกันด้วยหาใช่จะผูกพันเฉพาะแต่นายวงแชร์ไม่ สำหรับ ป. ที่เป็นนายวงแชร์ เป็นการกำหนดตัวบุคคลให้เป็นผู้รับภาระรับผิดชอบรวบรวมเงินจากลูกวงแชร์ทุกคนเพื่อส่งมอบแก่สมาชิกอื่นผู้ประมูลได้ตามที่ตกลงกันไว้ เมื่อจำเลยทั้งสี่เป็นผู้ประมูลได้และรับเงินไปแล้ว นายวงแชร์ได้เก็บเงินค่าแชร์จากโจทก์ทั้งสองและลูกวงแชร์ไปเพื่อชำระให้จำเลยทั้งสี่แล้ว ยังจะต้องหมุนเวียนเปลี่ยนกันไปจนกว่าจะครบ ดังนั้น จำเลยทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้ประมูลเงินแชร์ไปได้แล้วจึงมีหน้าที่ผูกพันจะต้องส่งเงินคืนแก่ผู้ที่ยังไม่ได้ประมูล เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ประมูลและ ป. นายวงแชร์หลบหนีไป สัญญาแชร์วงนี้จึงเลิกเล่นกันก่อนที่จะมีการประมูลกันในงวดต่อไป คู่กรณีจึงกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยทั้งสี่ต้องส่งเงินที่รับไปคืนโจทก์ทั้งสอง เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมคืน โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่ให้คืนเงินนั้นได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2503/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสะดุดหยุดจากหนังสือรับรองยอดหนี้ และการกระทำแทนของพนักงาน
สำเนาเอกสารไม่มีเจ้าหน้าที่รับรอง แต่ขณะที่โจทก์นำสืบพยานเอกสารดังกล่าว จำเลยมิได้โต้แย้งคัดค้านไว้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 จึงต้องถือว่าสำเนาเอกสารดังกล่าวมีข้อความถูกต้องตรงกับต้นฉบับและรับฟังเป็นหลักฐานพยานได้
ข้อความในหนังสือขอตรวจสอบยอดค้างชำระและเงินตามที่ พ. รับรองความถูกต้องของยอดหนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัยให้เป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีผลให้อายุความสะดุดหยุดลงในวันที่ พ. กระทำการรับรองถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 เมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 3 กันยายน 2541 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1), 193/15 และ 193/34 (1)
จำเลยผู้เห็นยินยอมให้ พ. เชิดตนเองกระทำการรับรองความถูกต้องของหนังสือตรวจสอบยอดหนี้ของโจทก์ จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์เสมือน พ. เป็นตัวแทนของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 821

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2450/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญาจ้างบำรุงรักษาสาธารณูปโภค: สัญญาประจำเป็นปกติธุระมีอายุความ 2 ปี
จำเลยให้การว่า คำฟ้องของโจทก์ที่เรียกค่าจ้างตามสัญญาจ้างบำรุงรักษาสาธารณูปโภคส่วนกลางของโครงการหมู่บ้านที่เกินกว่าสองปีนับถึงวันฟ้องนั้นขาดอายุความ โจทก์ไม่สามารถฟ้องได้เป็นการขัดต่อกฎหมาย โจทก์จะฟ้องเรียกค่าจ้างได้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2542 จนถึงวันฟ้องได้เป็นเวลา 24 เดือน ถือเป็นการให้การโดยละเอียดแล้วว่า กรณีเป็นสัญญาจ้างบำรุงรักษามีอายุความ 2 ปี มีค่าจ้างส่วนที่ขาดอายุความไปแล้ว และส่วนที่ยังไม่ขาดอายุความเหลืออยู่เพียงใด จึงเป็นคำให้การที่ชัดแจ้งแสดงถึงเหตุแห่งคดีขาดอายุความแล้ว
สัญญาจ้างบำรุงรักษาเป็นข้อตกลงที่โจทก์จัดให้มีบริการต่างๆ ภายในหมู่บ้านโดยโจทก์จะได้รับผลตอบแทนจากสมาชิกในหมู่บ้านรวมทั้งจำเลยเป็นค่าธรรมเนียมตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญา อันเป็นการดำเนินการประจำเป็นปกติธุระ ถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่างๆ เรียกเอาสินจ้างจะพึงได้รับในการนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (7) มีอายุความ 2 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2390-2391/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงท้าทายผลคดี: การยอมรับข้อเท็จจริงตามคำตอบของพยานผู้เชี่ยวชาญ ถือเป็นการยอมแพ้คดี
โจทก์ จำเลยทั้งสองและผู้ร้องสอดตกลงท้ากันให้ถือเอาการตอบคำถามศาลของ น. เป็นข้อแพ้ชนะเป็นการยอมรับข้อเท็จจริงที่อีกฝ่ายหนึ่งอ้างตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (1) โดยมีเงื่อนไขว่าต้องมีการดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างหนึ่งอย่างใดเสียก่อน ถ้าผลแห่งการดำเนินกระบวนพิจารณานั้นเป็นประโยชน์ต่อคู่ความฝ่ายใด อีกฝ่ายหนึ่งก็ต้องยอมรับข้อเท็จจริงตามข้ออ้างของอีกฝ่ายหนึ่งนั้นทั้งหมด เมื่อ น. ตอบคำถามศาลว่า ที่ดินพิพาทหมายเลข 1 ถึง 3 เป็นของจำเลยที่ 1 ส่วนที่ดินพิพาทหมายเลข 4 เป็นของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของคำท้าทุกประการ แม้ว่าประเด็นของคดีไม่มีว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 หรือไม่ โจทก์และผู้ร้องสอดก็ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดีตามคำท้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2388/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลผูกพันคำพิพากษาเดิม: คำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินผูกพันคดีขับไล่ภายหลังได้
ในคดีก่อนโจทก์บังคับคดีขับไล่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเป็นบริวารของ บ. ให้ออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่พิพาทเดียวกันกับคดีนี้ โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้ร้องยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษว่าไม่ใช่บริวารของจำเลยเพราะที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง เมื่อคำร้องดังกล่าวตั้งประเด็นว่าที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง ประเด็นข้อพิพาทในคดีดังกล่าวจึงมีว่า ที่ดินเนื้อที่ 30 ไร่ ตามที่ผู้ร้องอ้างว่าเป็นของผู้ร้องนั้นเป็นของโจทก์หรือไม่ ซึ่งต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าที่พิพาทเป็นของผู้ร้องและผู้ร้องมิใช่บริวารจำเลยโจทก์ไม่มีสิทธิขับไล่ผู้ร้อง ดังนี้ คำวินิจฉัยที่รับฟังว่าที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง ไม่ใช่ของโจทก์จึงเป็นคำวินิจฉัยที่มีประเด็นแห่งคดีเดียวกันกับคดีนี้ ผลแห่งคำวินิจฉัยย่อมผูกพันโจทก์และผู้ร้องซึ่งเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นให้แตกต่างไปจากผลแห่งคำวินิจฉัยของคำพิพากษาดังกล่าวได้ ข้อเท็จจริงจึงต้องถือตามว่าที่พิพาทไม่ใช่ของโจทก์ แต่เป็นของผู้ร้อง หรือจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1
เมื่อคดีแพ่งของศาลชั้นต้น มี บ. เป็นโจทก์ ว. และ ด. เป็นจำเลย โดยโจทก์และจำเลยที่ 1 ในคดีนี้มิได้เป็นคู่ความด้วย คำวินิจฉัยที่ให้ บ. ชนะคดีในคดีดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ ส่วนที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มาด้วยโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่ในที่พิพาทโดยความยิมยอมของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิในที่พิพาทนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ถือว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 อยู่ในที่พิพาทโดยความยินยอมของเจ้าของที่พิพาทแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยที่ 2 และที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2122/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของนิติบุคคล และการครอบครองปรปักษ์ที่ต้องห้ามฎีกาตามทุนทรัพย์
เทศบาลตำบลโจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีนายกเทศมนตรีเป็นผู้แทนนิติบุคคลมีอำนาจกระทำกิจการแทนโจทก์ การที่ ว. ซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีมอบอำนาจให้ทนายความฟ้องจำเลยซึ่งบุกรุกที่ดินของโจทก์เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามบทบัญญัติของกฎหมาย จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของนายกเทศมนตรีเพื่อประโยชน์ของโจทก์และเป็นการดำเนินการของฝ่ายบริหาร โดยไม่จำเป็นต้องได้รับอนุมัติจากสภาเทศบาล โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
โจทก์ฟ้องขับไล่ขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งก่อสร้างและขนย้ายสัมภาระสิ่งของออกจากที่ดินของโจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทเกินกว่า 10 ปี จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อทุนทรัพย์ตามฟ้องและฟ้องแย้งราคาที่ดินพิพาทไม่เกิน 200,000 บาท และที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้กรรมสิทธิในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
of 6