คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 ม. 7

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4244/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหลังถูกไล่ออก: เงินตกเป็นของผู้รับผลประโยชน์อื่นตามข้อบังคับกองทุน
เงิน OV ซึ่งเป็นของโจทก์ได้สูญหายไปในระหว่างจำเลยดำรงตำแหน่งรักษาการกรรมการผู้จัดการ จำเลยมีหน้าที่ควบคุมดูแลเงินของโจทก์ และตามพฤติการณ์เชื่อว่าเงิน OV สูญหายไปเกิดจากจำเลยจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง โจทก์จึงมีคำสั่งที่ ธ. 177/2559 ลงโทษไล่จำเลยออกจากการเป็นพนักงาน จำเลยจึงไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจำนวน 487,965.51 บาท ตามข้อบังคับกองทุน หมวดที่ 8 ข้อ 3 แต่อย่างไรก็ตาม แม้จำเลยไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบดังกล่าว เมื่อในระหว่างที่จำเลยเป็นลูกจ้างโจทก์ มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพื่อสะสมและสมทบเงินแก่ลูกจ้างโดยใช้ชื่อว่า "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคาร อ. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว" และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2555 จำเลยสมัครเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าว ตามข้อบังคับกองทุนนั้น ในข้อ 4 กำหนดไว้ว่า "ในกรณีที่มีเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่สมาชิกซึ่งสิ้นสมาชิกภาพไม่มีสิทธิได้รับจากกองทุน ให้กระจายเงินดังกล่าวแก่สมาชิกทุกรายในกองทุนตามส่วนได้เสียของสมาชิกแต่ละราย...ฯลฯ..." เมื่อได้ความดังกล่าวข้างต้นแล้วว่า ก่อนโจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างฟ้องคดีได้มีการจัดตั้ง "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคาร อ. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว" แล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจึงเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากกับโจทก์ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 ประกอบกับตามข้อบังคับกองทุนได้กำหนดในกรณีที่สมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนไว้ในข้อ 4 ที่กำหนดไว้ว่า "ในกรณีที่มีเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่สมาชิกซึ่งสิ้นสมาชิกภาพไม่มีสิทธิได้รับจากกองทุน ให้กระจายเงินดังกล่าวแก่สมาชิกทุกรายในกองทุนตามส่วนได้เสียของสมาชิกแต่ละราย...ฯลฯ" นอกจากนี้ พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 ยังได้กำหนดให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีคณะกรรมการกองทุน มีหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของกองทุนและให้มีอำนาจแต่งตั้งผู้จัดการกองทุน และเป็นผู้แทนของกองทุนในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกตามมาตรา 11 ได้กำหนดให้การจัดการกองทุนจะต้องดำเนินการโดยบุคคลซึ่งมิใช่นายจ้างตามมาตรา 13 ได้กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่ในการจัดการกองทุนตามมาตรา 14 และได้กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่จ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกกองทุน หากมีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนตามมาตรา 23 เช่นนี้ โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างจึงไม่มีอำนาจหรือหน้าที่เกี่ยวข้องในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแต่อย่างใด จำเลยจึงต้องคืนเงินดังกล่าวที่ได้รับไว้โดยไม่มีสิทธิแก่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคาร อ. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ดังนั้น สิทธิในการเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบที่จำเลยได้รับไว้โดยไม่มีสิทธิ จึงเป็นของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคาร อ. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว มิใช่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อให้คืนเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบตามคำฟ้องให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7120/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การจ่ายค่าชดเชย และสิทธิในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
โจทก์เป็นวิศวกรมีหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างอาคารของจำเลยที่ได้จ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. ดำเนินการก่อสร้าง การที่โจทก์รับเงินจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. เนื่องจากห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวจ่ายเงินให้โจทก์เป็นค่าตอบแทนในการจ้างโจทก์ออกแบบงานระบบประปา ไฟฟ้า สุขาภิบาล ทำช็อปดรออิ้งขยายรายละเอียดในการก่อสร้าง และควบคุมงานก่อสร้างบ้านของเรืออากาศ อ. ซึ่งเป็นการรับเงินตามปกติของการว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. และแม้โจทก์มีหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างอาคารของจำเลยที่จ้างให้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. ดำเนินการก่อสร้าง แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์เบียดบังเวลาการทำงานของจำเลยไปใช้ทำงานก่อสร้างบ้านของเรืออากาศ อ. ตามที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. จ้างให้โจทก์ทำงาน ดังนั้น การที่โจทก์ได้รับเงินจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ย. ด้วยเหตุข้างต้นจึงไม่ใช่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เพื่อแสวงหาประโยชน์อันมิควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น ถือไม่ได้ว่าเป็นการทุจริตต่อหน้าที่
ตามประกาศเรื่องการจ่ายเงินรางวัลพิเศษเพิ่มเติมระบุว่าจำเลยจะจ่ายเงินรางวัลพิเศษประจำปี 2548 ให้แก่ลูกจ้างจำเลย จึงแปลว่า จำเลยมีเจตนาจ่ายเงินรางวัลพิเศษและเงินรางวัลพิเศษเพิ่มเติมแก่ผู้มีสถานะเป็นลูกจ้างของจำเลยเท่านั้น
การที่โจทก์พ้นสภาพการเป็นลูกจ้างของจำเลยไปก่อนจำเลยจ่ายเงินรางวัลพิเศษประจำปี 2548 โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินรางวัลพิเศษประจำปี 2548
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทยซึ่งจดทะเบียนแล้ว เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 คณะกรรมการกองทุนหรือผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่จ่ายเงินให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้าง หากโจทก์มีสิทธิได้รับเงินจากกองทุนตามมาตรา 23 จำเลยไม่มีอำนาจจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อให้จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้นได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15113/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานและอำนาจฟ้องคดีเกี่ยวกับเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง" และวรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด ให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด" ดังนั้น เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2550 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีคำสั่งที่ 28/2550 ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทราบคำสั่งนั้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2550 แล้วโจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2550 จึงเป็นกรณีแปลความได้ว่า โจทก์ไม่พอใจคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานและนำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนดระยะเวลาสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 วรรคหนึ่ง แล้ว ซึ่งศาลแรงงานกลางย่อมต้องเรียกพนักงานตรวจแรงงาน ซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งเข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) (ข) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 การที่ศาลแรงงานกลางมิได้เรียกพนักงานตรวจแรงงานเข้ามาในคดี จึงทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีไม่เป็นไปเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาเห็นสมควรยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแก่โจทก์ ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งกองทุนชื่อ "กองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนชาติทวีค่า ซึ่งจดทะเบียนแล้ว" กองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจึงเป็นนิติบุคคลต่างหากจากจำเลย ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 กำหนดให้ผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่จ่ายเงินจากกองทุนให้โจทก์ จำเลยจึงไม่มีอำนาจจัดการกองทุน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในส่วนนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19436/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิลูกจ้างกรณีเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การโอนเงินและการรับผิดชอบของนายจ้างและผู้จัดการกองทุน
เดิมโจทก์เป็นลูกจ้างของบริษัท ย. ต่อมาบริษัท ย. ขายแผนกไดเวอร์ซี่ลีเวอร์ให้จำเลยที่ 1 ทำให้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับบริษัท ย. สิ้นสุดลงโดยไม่ได้มีสาเหตุอันเกิดจากโจทก์ บริษัท ย. จึงจ่ายเงินผลประโยชน์ เมื่อออกจากงานในช่วงก่อนดำรงตำแหน่งผู้จัดการและเงินสมทบที่บริษัท ย. จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน ย. พร้อมดอกผลให้โจทก์ตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับบริษัท ย. เงินทั้งสองจำนวนจึงเป็นทรัพย์สินของโจทก์ที่ได้รับเมื่อออกจากการเป็นลูกจ้างของบริษัท ย. เมื่อโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์มีคำสั่งให้บริษัท ย. โอนเงินผลประโยชน์เมื่อออกจากงานในช่วงก่อนดำรงตำแหน่งผู้จัดการไปยังจำเลยที่ 1 และโอนเงินสมทบพร้อมดอกผลที่บริษัท ย. จ่ายให้ตามสัญญาจ้างไปยังกองทุนจำเลยที่ 2 (กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จำเลยที่ 1 และลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จัดตั้งขึ้น) เพื่อนำเงินทั้งสองจำนวนมาใช้ประกอบการคำนวณผลประโยชน์เมื่อโจทก์ออกจากงาน จึงไม่ใช่การโอนทรัพย์สินที่เป็นเงินทั้งสองจำนวนให้เป็นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต้นเงินทั้งสองจำนวนยังคงเป็นทรัพย์สินของโจทก์
เมื่อจำเลยที่ 1 ลงโทษเลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินผลประโยชน์เมื่อออกจากงานในช่วงก่อนดำรงตำแหน่งผู้จัดการให้โจทก์ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนของจำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดคืนเงินจำนวนนี้ให้โจทก์
เงินสมทบพร้อมดอกผลที่บริษัท ย. จ่ายให้โจทก์ตามสัญญาจ้างและโจทก์มีคำสั่งให้บริษัท ย. โอนมายังกองทุนจำเลยที่ 2 เป็นเงินที่โจทก์จ่ายเข้ากองทุนจำเลยที่ 2 ไม่ใช่เงินที่จำเลยที่ 1 จ่ายเข้ากองทุนจำเลยที่ 2 เงินจำนวนนี้จึงอยู่ในส่วนเงินสะสมของโจทก์ผู้เป็นลูกจ้าง ไม่ใช่ส่วนเงินสมทบของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้าง เมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 3 จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินจำนวนนี้พร้อมดอกผลแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 3 ส่งคืนเงินนั้นให้จำเลยที่ 1 ไปแล้วก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิด
กองทุนจำเลยที่ 2 จดทะเบียนแล้วจึงเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 การเรียกเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้วต้องฟ้องกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งจดทะเบียนแล้วเป็นจำเลยให้จ่ายเงินสะสม เงินสมทบ และดอกผลให้ไม่ว่าได้มีการจ่ายเงินและดอกผลคืนให้แก่นายจ้างไปแล้วหรือไม่ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินพร้อมดอกผลให้โจทก์
พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุคดีนี้บัญญัติว่า "เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในข้อบังคับของกองทุน โดยให้จ่าย..." จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้จัดการกองทุนของจำเลยที่ 2 จึงต้องนำเงินสมทบพร้อมดอกผลที่โจทก์มีคำสั่งให้บริษัท ย. โอนมายังกองทุนจำเลยที่ 2 จากกองทุนจำเลยที่ 2 มาจ่ายให้โจทก์ เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้จำนวนนี้ จำเลยที่ 2 จึงยังไม่หลุดพ้นจากหนี้นั้น การที่จำเลยที่ 2 ไม่จ่ายเงินจำนวนนี้อันเป็นเงินสะสมพร้อมดอกผลให้โจทก์ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันสิ้นสุดสมาชิกภาพตามข้อบังคับของกองทุนจำเลยที่ 2 กองทุนจำเลยที่ 2 จึงตกเป็นผู้ผิดนัดซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยระหว่างผิดนัด การจ่ายเงินออกจากกองทุนจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้จัดการกองทุนจำเลยที่ 2 ต้องดำเนินการจ่ายเงินออกจากกองทุนจำเลยที่ 2 ให้โจทก์เป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงให้คำพิพากษามีผลระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ที่ไม่ได้อุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13937/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างทางพฤติการณ์ และสิทธิการรับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อมีการเลิกจ้าง
การวินิจฉัยว่ามีการเลิกจ้างแล้วหรือไม่ต้องพิจารณาถึงการกระทำของนายจ้างประกอบด้วย จะพิจารณาเพียงว่ามีการบอกกล่าวเลิกจ้างด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือแล้วหรือไม่ย่อมไม่ได้ แม้ในการประชุม ธ. ประธานกรรมการบริหารบริษัทในกลุ่มแพนจะขอให้โจทก์ลาออกโดยจะให้เวลาโจทก์ปรึกษากับครอบครัวก่อน 3 วัน แต่ในวันดังกล่าว ธ. ขอรถยนต์ประจำตำแหน่งที่โจทก์ใช้อยู่คืน และในช่วงระยะเวลา 3 วันนี้โจทก์ไม่ต้องไปทำงาน การกระทำของ ธ. มีลักษณะไม่ยอมให้โจทก์ทำงานให้จำเลยที่ 1 อีกต่อไป ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2545 อันเป็นวันที่เรียกเอารถยนต์ประจำตำแหน่งคืนจากโจทก์ ไม่ใช่เลิกจ้างในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 ซึ่งเป็นวันที่คัดชื่อโจทก์ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1
เมื่อพิจารณารายงานการสิ้นสุดสมาชิกภาพของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแล้วโจทก์มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบรวม 164,101.10 บาท แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสามจ่ายเงินดังกล่าวเพียง 162,851.24 บาท แต่เพื่อให้โจทก์ได้รับเงินตามสิทธิของโจทก์และเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความเห็นสมควรพิพากษาเกินคำขอให้โจทก์
พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 บัญญัติว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล และมาตรา 23 บัญญัติว่าเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้ลูกจ้าง กองทุนที่ดำเนินการให้แก่จำเลยที่ 1 คือ จำเลยที่ 2 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่บริหารจัดการจ่ายเงินจากจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์เท่านั้น จำเลยที่ 3 จึงไม่จำต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้าง ไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการกองทุน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินสมทบของนายจ้างแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11100/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนเงินบำเหน็จเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพและการสิ้นสุดสิทธิประโยชน์กรณีถูกลงโทษปลดออก
โรงงานยาสูบเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงการคลัง (จำเลยที่ 1) ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง มีระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ.2500 ต่อมาปี 2538 โรงงานยาสูบจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานยาสูบซึ่งจดทะเบียนแล้ว (จำเลยที่ 2) ขึ้น มีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ทำให้พนักงานยาสูบซึ่งเป็นพนักงานอยู่ก่อนการจัดตั้งจำเลยที่ 2 มีสิทธิเลือกรับเงินบำเหน็จตามระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ.2500 หรือสมัครเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 แต่เมื่อสมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 แล้วจะไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ พ.ศ.2500 ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ระบุให้มีการโอนเงินกองทุนบำเหน็จพนักงานยาสูบที่สมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 นำมาเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนของจำเลยที่ 2
โจทก์เป็นลูกจ้างของโรงงานยาสูบก่อนการจัดตั้งจำเลยที่ 2 โจทก์สมัครเข้าเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 เท่ากับโจทก์ยินยอมให้โรงงานยาสูบผู้เป็นนายจ้างโอนเงินกองทุนบำเหน็จของโจทก์ไปให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการ จำเลยที่ 2 ย่อมมีอำนาจและหน้าที่จัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีอำนาจออกข้อบังคับใช้ในการจัดการกองทุนของจำเลยที่ 2 ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยมีข้อบังคับในเรื่องนี้ใช้บังคับมาก่อน ไม่ใช่กรณีการออกข้อบังคับเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ห้ามนายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง เว้นแต่สัญญาจ้างแรงงานนั้นจะเป็นคุณแก่ลูกจ้างยิ่งกว่าตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 29 วรรคสอง นั้นหมายถึงเฉพาะข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องและตกลงกันได้ตามมาตรา 25 ถึงมาตรา 27 และต้องเป็นกรณีการทำสัญญาจ้างกับลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานเท่านั้น ข้อบังคับของจำเลยที่ 2 ไม่ได้เกิดจากการยื่นข้อเรียกร้องและตกลงกันได้จึงไม่อยู่ในบังคับของมาตรา 29 วรรคสอง ข้อบังคับของจำเลยที่ 2 จึงมีผลผูกพันสมาชิกของจำเลยที่ 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 976/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ชอบธรรมจากความจงใจทำร้ายประโยชน์นายจ้าง และสิทธิในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
งานเชื่อมโครงหลังคาเหล็กบ้านพักคนงานของจำเลยเป็นหน้าที่ของ ก. ผู้รับเหมาจากจำเลยต้องดำเนินการ โจทก์ไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง การที่โจทก์สั่งคนงานของจำเลย 44 คน ไปช่วยผู้รับเหมาทำงานเชื่อมโครงสร้างเหล็กหลังคาโดยที่จำเลยเป็นผู้จ่ายค่าจ้างให้คนงานรวม 172,040 บาท เป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของโจทก์ ทำให้จำเลยขาดประโยชน์จากแรงงานของคนงานเหล่านั้น เป็นกรณีโจทก์จงใจทำให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 67, 119 (2), 17 วรรคห้า ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุคดีนี้ และ ป.พ.พ. มาตรา 583
ก่อนโจทก์ฟ้องคดีมีการจดทะเบียนก่อตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบริษัทอิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด และบริษัทในเครือซึ่งได้จดทะเบียนแล้ว กองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 ผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่จ่ายเงินจากกองทุนให้โจทก์หากโจทก์มีสิทธิได้รับตามมาตรา 23 จำเลยไม่มีอำนาจจัดการกองทุน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้จ่ายเงินสมทบส่วนของจำเลยในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4712/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกค่าดำเนินการจากผู้รับเหมาช่วงโดยลูกจ้างบริษัท เป็นเหตุเลิกจ้างได้ และจำเลยไม่ต้องรับผิดชอบเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
การที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่ 1 เรียกค่าดำเนินการสำหรับการจะเข้ามารับงานก่อสร้างสถานีเครือข่ายโทรคมนาคมของจำเลยที่ 1 จากนาย ณ. พนักงานบริษัท ท. ให้แก่บริษัท ค. ซึ่งจะเข้ามาประมูลงานก่อสร้างจากจำเลยที่ 1 และได้จัดส่งราคากลางแล้วยืนยันแนวโน้มจะได้รับงานจากจำเลยที่ 1 เป็นการอาศัยตำแหน่งความเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แอบอ้างเรียกเอาผลประโยชน์จากบุคคลภายนอกให้แก่บริษัท ค. การกระทำดังกล่าวแม้ว่าจะเพื่อให้มีบุคคลภายนอกเข้ามาประมูลงานหรือร่วมงานกับจำเลยที่ 1 แต่ก็ทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจได้ว่าการจะเข้ามาร่วมงานกับจำเลยที่ 1 จะต้องมีการวิ่งเต้นเสียเงินตอบแทนทำให้จำเลยที่ 1 เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง และอาจทำให้บุคคลภายนอกที่เข้าใจว่าจะต้องเสียเงินเป็นค่าดำเนินการและไม่เข้ามาร่วมงานกับจำเลยที่ 1 ได้ การกระทำของโจทก์จึงเป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องในการประกอบธุรกิจของบริษัท ค. อันอาจมีผลกระทบเสียหายถึงผลประโยชน์ของจำเลยที่ 1 เป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4), 67
สำหรับค่าเสียหายจากการที่โจทก์ไม่ได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพนั้น แม้ว่าโจทก์จะฟ้องเรียกอ้างว่าเป็นค่าเสียหายแต่ก็เป็นการเรียกให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบซึ่งตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 7 บัญญัติให้กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ได้จดทะเบียนแล้วให้เป็นนิติบุคคล และตามมาตรา 23 บัญญัติให้เมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพเพราะเหตุอื่นซึ่งมิใช่กองทุนเลิก ผู้จัดการกองทุนต้องจ่ายเงินจากกองทุนให้แก่ลูกจ้าง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ดำเนินการให้แก่จำเลยที่ 1 คือ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก. ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ดังนั้น ผู้จัดการของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจึงมีหน้าที่จ่ายเงินให้ลูกจ้าง จำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์ของเงินสมทบจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ แต่อำนาจฟ้องเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 719/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการจ่ายเงินสมทบเมื่อลูกจ้างลาออก
เมื่อจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกลุ่มบริษัท อ. ซึ่งจดทะเบียนแล้วคือจำเลยที่ 2 ขึ้น จำเลยที่ 2 จึงเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ มาตรา 7 คณะกรรมการกองทุนจำเลยที่ 2 หรือผู้จัดการกองทุนมีหน้าที่จ่ายเงินให้ลูกจ้างเมื่อลูกจ้างสิ้นสมาชิกภาพตามมาตรา 23 โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจและหน้าที่ในการจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์ ปัญหานี้แม้จำเลยจะมิได้ยกมาอุทธรณ์ แต่อำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 31
แม้จำเลยที่ 2 จะมีข้อบังคับฯ ข้อ 9.15 ระบุว่า "ข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดขึ้นไม่ว่าระหว่างนายจ้างกับบริษัทจัดการ หรือบริษัทจัดการกับสมาชิก ทายาท ตัวแทนของสมาชิก หรือผู้รับสิทธิประโยชน์ของสมาชิกผู้นั้น ในเรื่องเกี่ยวกับกองทุนหรือการบริหารกองทุนหรือสิทธิหรือผลประโยชน์อันสืบเนื่องมาจากกองทุนนี้ คณะกรรมการกองทุนจะเป็นผู้ตัดสินข้อพิพาทนั้นโดยคะแนนเสียงข้างมากตามที่ได้ระบุไว้ในวรรคแรกของข้อ 4.2.9" ก็ตาม แต่แนวทางระงับข้อพิพาทตามข้อบังคับฯ ดังกล่าวมิใช่ขั้นตอนและวิธีการที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติก่อนจึงจะดำเนินการในศาลแรงงานได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 8 วรรคสอง แต่อย่างใด ดังนั้น แม้โจทก์จะมิได้นำข้อพิพาทให้คณะกรรมการกองทุนตัดสินก่อนก็มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ได้
จำเลยที่ 2 มีข้อบังคับฯ ระบุข้อยกเว้นที่สมาชิกไม่มีสิทธิได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบเพียง 6 ประการ ซึ่งข้อยกเว้นดังกล่าวไม่รวมถึงกรณีลูกจ้างลาออกหรือการตกลงเลิกสัญญาจ้างแรงงานด้วย เมื่อโจทก์ลาออกจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 โดยมิได้กระทำผิดประการใดใน 6 ประการที่กำหนดไว้ จำเลยที่ 2 จึงต้องจ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์จากเงินสมทบให้แก่โจทก์