คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชัยวุฒิ โลหชิตรานนท์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 149 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 353/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองไม้หวงห้ามรวมถึงการควบคุมการขนย้าย แม้ไม่ใช่เจ้าของโดยตรง ก็ถือเป็นความผิดร่วมกันได้
คำว่า "ครอบครอง" ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 หมายความรวมถึงครอบครองเพื่อตนเองและครอบครองแทนผู้อื่นด้วย ทั้งนี้ เพราะไม่มีบทกฎหมายใดจำกัดว่าต้องเป็นการครอบครองเพื่อตนเองเท่านั้นจึงจะเป็นความผิด ทั้งในทางอาญาการร่วมกันครอบครองไม้หวงห้ามก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน เมื่อได้ความจากการพิจารณาว่าจำเลยทั้งสองมาควบคุมการขนไม้หวงห้ามของกลางให้แม่เลี้ยง ต. อันเป็นการกระทำผิดร่วมกันจึงถือว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กับพวกครอบครองไม้ของกลางแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 277/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยต้องลงมือก่อสร้างบ้านตามสัญญา แม้บริษัทเงินทุนฯ จะมีปัญหา หญิงชราฟ้องได้
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่าง ด. ผู้บริโภคกับจำเลย เป็นปัญหาพิพาทเกี่ยวกับโครงการบ้านจัดสรรของจำเลยซึ่งคณะกรรมการคุ้มครองบริโภคโจทก์เคยประชุมและมีมติไว้แล้วว่า การกระทำของจำเลยที่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้บริโภคจำนวน 9 รายในโครงการดังกล่าวของจำเลย เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคเหล่านั้น เมื่อ ด. ยื่นเรื่องราวต่อโจทก์อันเป็นปัญหาพิพาทในโครงการเดียวกันของจำเลย เป็นเรื่องในลักษณะเดียวกับที่โจทก์เคยมีมติไว้แล้ว โจทก์จึงไม่จำต้องนำเรื่องราวของ ด. เข้าประชุมอีก เนื่องจากโจทก์ได้มีมติไว้แล้วว่าในการดำเนินคดีแก่จำเลยนั้นให้รวมถึงผู้บริโภครายอื่นที่จะมาร้องเรียนเพิ่มเติมในลักษณะเดียวกันในภายหลังด้วย การฟ้องร้องของโจทก์ในคดีนี้จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 10 (1) (7) และมาตรา 39
สัญญาจะซื้อจะขายมิได้กำหนดเวลาการเริ่มลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาการก่อสร้างแล้วเสร็จไว้ แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยต้องรีบลงมือก่อสร้างและก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันสมควรอันเป็นไปตามหลักสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 มิใช่ขึ้นอยู่กับความพอใจจำเลยว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อใดก็ได้ แต่จำเลยมีหน้าที่ต้องรีบลงมือก่อสร้างโดยพลันตามมาตรา 203 เมื่อ ด. ผู้บริโภคได้ชำระเงินแก่จำเลยเป็นจำนวนถึง 130,000 บาท แต่จำเลยยังมิได้เริ่มลงมือก่อสร้างบ้าน ด. จึงมีสิทธิที่จะไม่ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยได้เนื่องจากเป็นสัญญาต่างตอบแทนตามมาตรา 369 ดังนั้น การที่ ด. ไม่ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยตั้งแต่งวดที่ 6 เป็นต้นไป ด. จึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา
การดำเนินคดีในศาลของเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2422 มาตรา 39 วรรคสอง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นค่าส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้อง และค่าส่งคำบังคับ ซึ่งเป็นค่าฤชาธรรมเนียมที่ชำระมาให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การป้องกันตนเกินขนาด: การกระทำเกินสมควรหลังจากภัยอันตรายหมดไปแล้ว
พฤติการณ์ที่ผู้ตายทำร้าย ส. ล้มลงแล้วจะตามไปทำร้าย ส. อีก เมื่อจำเลยเข้าห้ามปราม ผู้ตายก็ใช้มีดแทงจำเลย ถือว่ามีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ส. และจำเลยแล้ว การที่จำเลยใช้ด้ามพร้าตีผู้ตายจนล้มลงนั้น เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อผู้ตายพยายามจะลุกขึ้นอีก แต่จำเลยใช้เท้าขวาเหยียบมือผู้ตายที่กำลังถือมีดอยู่แสดงว่าภยันตรายที่เกิดจากการกระทำของผู้ตายนั้นถูกจำเลยควบคุมมิให้ก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นอีกได้ ถือว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่ ส. และจำเลยหมดไปแล้ว จำเลยไม่จำเป็นต้องทำร้ายผู้ตายอย่างใดอีก ดังนั้น การที่จำเลยใช้มือซ้ายจับคางผู้ตายใช้มือขวาซึ่งถือมีดเชือดคอผู้ตาย 1 ครั้ง และเมื่อผู้ตายยังดิ้นรนอยู่จำเลยยังเอามีดพกส่วนตัวของจำเลยอีกเล่มหนึ่งมาแทงผู้ตายถึง 2 แผลอีก นับเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69 เพราะหากจำเลยไม่เชือดคอผู้ตาย ผู้ตายก็คงไม่ถึงแก่ความตาย คดีจึงฟังไม่ได้ว่าการที่จำเลยฆ่าผู้ตายเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดโทษให้จำคุกจำเลย 6 ปี เมื่อเปรียบเทียบกับพฤติการณ์ที่จำเลยฆ่าผู้ตายโดยวิธีเชือดคอซึ่งเป็นวิธีการที่สยดสยองอย่างยิ่ง กับจำเลยยังเอามีดพกส่วนตัวของจำเลยมาแทงผู้ตายอีก 2 แผลแล้ว นับเป็นกำหนดโทษที่เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งการกระทำแล้ว คดีไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะกำหนดโทษให้ต่ำไปกว่านี้อีก และเมื่อจำเลยต้องโทษจำคุกเกินสามปี คดีจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่ศาลจะรอการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8342/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องละเมิดของผู้ชำระบัญชี: ประเด็นการตีความมูลหนี้ตามคำฟ้อง
โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท พ. มีหน้าที่ต้องแจ้งเรื่องที่บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนเลิกบริษัทให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัททราบ เพื่อโจทก์จะได้ยื่นทวงหนี้แก่จำเลยในฐานะผู้ชำระบัญชี แต่จำเลยกลับละเลยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงเรื่องดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินเท่ากับจำนวนที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากบริษัท พ. พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งตามข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์จะฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิด หาใช่ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชีตามมาตรา 1272

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8342/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องละเมิดจากผู้ชำระบัญชีที่ไม่แจ้งการเลิกบริษัทแก่เจ้าหนี้ คดีไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยซึ่งเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท พ. มีหน้าที่ต้องแจ้งเรื่องที่บริษัทดังกล่าวจดทะเบียนเลิกบริษัทให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของบริษัททราบเพื่อโจทก์จะได้ยื่นทวงหนี้แก่จำเลยในฐานะผู้ชำระบัญชี แต่จำเลยกลับละเลยไม่แจ้งเรื่องดังกล่าวให้โจทก์ทราบการกระทำของจำเลยเป็นการจงใจหรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยรับผิดชำระเงินเท่ากับจำนวนที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากบริษัท พ. คำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวเป็นการฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลละเมิด มิใช่ฟ้องให้รับผิดในฐานะผู้ชำระบัญชีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1272 ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าจำเลยกระทำละเมิด จึงไม่ใช่การวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7234/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 235 และผลกระทบต่อการพิจารณาคดี
หลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ตรวจคืนหลักประกันแก่ผู้ค้ำประกัน และมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำเงินจำนวน 71,000 บาท มาคืนต่อศาลชั้นต้นแล้ว โจทก์ยื่นคำร้องโต้แย้งคัดค้านคำสั่งดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์คำพิพากษาแก้คำสั่งศาลชั้นต้น โดยให้เรียกโฉนดที่ดินอันเป็นหลักประกันคืนจากผู้ค้ำประกัน เพื่อโจทก์จะได้ดำเนินการบังคับคดีต่อไป และให้นำเงินจำนวน 71,000 บาท ที่โจทก์รับไปแล้วมาหักทอนกับค่าเสียหายตามคำพิพากษาอุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ค้ำประกัน ต้องถือว่าผู้ค้ำประกันเป็นจำเลยอุทธรณ์ด้วย การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ โดยไม่สั่งให้ส่งนำเนาอุทธรณ์แก่ผู้ค้ำประกัน จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 235 ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาคดีไปโดยไม่สั่งให้ศาลชั้นต้นแก้ไขให้ถูกต้อง ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณา ศาลฎีกาจึงต้องยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เสียตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบด้วยมาตรา 243 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7002/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นอุทธรณ์ภายในเวลา แม้จะใกล้หมดเวลาทำการ ศาลรับคำฟ้องตามเวลาที่เจ้าหน้าที่รับไว้
ทนายจำเลยยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ในวันครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยาย เมื่อเวลา 16.46 นาฬิกา ซึ่งเจ้าหน้าที่งานรับฟ้องอุทธรณ์-ฎีกาของศาลชั้นต้นได้รับคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยไว้โดยมิได้แจ้งเหตุขัดข้องต่อทนายจำเลยว่าพ้นเวลาราชการแล้ว แต่ได้ทำบันทึกเสนอศาลถึงเวลาที่ทนายจำเลยยื่นอุทธรณ์ ในวันรุ่งขึ้นศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับเป็นอุทธรณ์ของจำเลยโดยมิได้มีข้อขัดแย้งแต่ประการใด แสดงว่าศาลชั้นต้นได้พิจารณาบันทึกของเจ้าหน้าที่ศาลแล้วว่า ขณะที่ทนายจำเลยนำคำฟ้องอุทธรณ์ยื่นนั้นศาลชั้นต้นยังไม่ปิดทำการ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว จึงถือว่าจำเลยยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6908/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคุ้มครองชั่วคราวเพื่อระงับการโอนทรัพย์มรดกที่พิพาท ก่อนมีคำพิพากษา
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามแบ่งปันทรัพย์มรดกของ จ. ให้แก่โจทก์ตามพินัยกรรม โดยมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินและหุ้นบริษัทงานทวีพี่น้อง จำกัด ซึ่งหุ้นดังกล่าวเจ้ามรดกได้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ไว้ ระหว่างพิจารณาจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ต่อมาจำเลยที่ 2 ประสงค์ขอโอนหุ้นให้แก่ทายาทตามพินัยกรรมของจำเลยที่ 1 และที่ประชุมบริษัทมีมติอนุมัติโจทก์จึงยื่นคำร้องขอให้กำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาต่อศาล คำร้องขอของโจทก์เป็นกรณีที่ต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 254 (3) ซึ่งโจทก์กล่าวอ้างมาในคำร้องแล้วว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะดำเนินการให้มีการจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนเกี่ยวกับทรัพย์สินที่พิพาทให้แก่ทายาทจำเลยที่ 1 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทายาทของจำเลยที่ 1 โอนทรัพย์สินที่พิพาทให้แก่บุคคลภายนอกต่อไป การบังคับคดีของโจทก์จะเกิดความยุ่งยากซับซ้อน หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่โจทก์กล่าวอ้างย่อมมีเหตุผลเพียงพอ ที่จะนำวิธีการคุ้มครองตามที่ขอนั้นมาใช้ได้ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 255 (3) (ก) การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของโจทก์โดยไม่ไต่สวนให้ได้ความจริงว่าเป็นเช่นไรก่อน จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6485/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีภายใน 10 ปีนับจากคำพิพากษา แม้การยึดทรัพย์เกินกำหนด โจทก์ยังคงมีสิทธิบังคับคดีได้
การร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาต้องขอให้ศาลออกหมายบังคับคดี และต้องแจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบว่าศาลได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว จากนั้นต้องแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความวันที่ 21 มิถุนายน 2539 และศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2542 โดยโจทก์มีสำเนาคำแถลง สำเนาคำขอยึดทรัพย์และสำเนาหนังสือมอบอำนาจยึดทรัพย์ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีลงลายมือชื่อรับรองถูกต้องแสดงให้เห็นว่า หลังจากศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีแล้ว โจทก์ได้แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบและแถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 7959 ซึ่งเป็นทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2542 อันเป็นการดำเนินคดีตามขั้นตอนในการขอให้บังคับคดีครบถ้วนภายใน 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แล้ว แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะไปทำการยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2550 ซึ่งเกินกำหนด 10 ปี นับแต่มีคำพิพากษาโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาก็สิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์ที่ยึดไว้ให้เสร็จได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6471/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยในเช็คพิพาท ศาลฎีกามีอำนาจคำนวณและกำหนดจำนวนเงินต้นที่ชอบได้ แม้โจทก์มิได้บรรยายฟ้องแยก
โจทก์ฎีกาว่า ดอกเบี้ยจำนวน 81,250 บาท ที่โจทก์คิดไว้ล่วงหน้า เป็นดอกเบี้ยที่ชอบ ไม่เกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่โจทก์มิได้กล่าวมาในคำฟ้องหรือนำสืบให้เห็นถึงการคิดดอกเบี้ยล่วงหน้าดังกล่าวมาก่อน โดยโจทก์เบิกความเพียงว่าเงินดังกล่าวเป็นค่าเดินทางและค่าตอบแทนในการที่โจทก์เข้าทำสัญญากับจำเลยที่ 1 เท่านั้น ฎีกาของโจทก์เป็นการฎีกาในข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสองย่อมต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
แม้โจทก์จะไม่นำสืบให้ได้ความชัดว่ามูลหนี้ตามเช็คพิพาทจำนวน 7 ฉบับ ประกอบไปด้วยเงินต้นและดอกเบี้ยซึ่งตกเป็นโมฆะอย่างละเท่าใดก็ตาม แต่เมื่อเป็นเรื่องของการกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์อันเนื่องมาจากเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการชำระเงิน ศาลก็ย่อมมีดุลพินิจที่จะกำหนดให้ตามที่เห็นสมควรโดยพิจารณาจากข้อเท็จจริงในสำนวนประกอบพฤติการณ์แห่งคดีและทางได้เสียของคู่ความทุกฝ่าย เมื่อพิจารณาถึงจำนวนเงินต้นตามสัญญากู้ยืมเงินซึ่งเป็นที่มาของมูลหนี้ตามเช็ค จำนวนเงินในเช็คพิพาทจำนวน 7 ฉบับ และจำนวนเงินในเช็คที่เหลืออีก 8 ฉบับแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่าเงินจำนวน 881,250 บาท ตามที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงินนั้นแบ่งเป็นดอกเบี้ยที่โจทก์คิดล่วงหน้าและเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจำนวน 81,250 บาท ซึ่งคิดเป็นต้นเงินจำนวน 800,000 บาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 90.78 ของจำนวนเงินที่ระบุในสัญญากู้ยืมเงินจึงสามารถคำนวณต้นเงินของเช็คแต่ละฉบับไว้ว่าเป็นจำนวนเท่ากับร้อยละ 90.78 ของยอดเงินตามเช็คฉบับนั้นๆ ตามฟ้อง พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่เช็คพิพาทแต่ละฉบับถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
of 15