คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชัยวุฒิ โลหชิตรานนท์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 149 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3315/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์และการสืบสิทธิในที่ดินหลังการขายฝากไม่ไถ่ถอน สิทธิอยู่ที่ผู้รับขายฝาก
ค. บิดาโจทก์จดทะเบียนขายฝากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 139 ซึ่งรวมที่ดินพิพาทด้วยแก่ บ. ภริยาจำเลยแล้วไม่ไถ่คืนภายในกำหนด สิทธิในที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของ บ. แม้ ค. ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาเป็นเวลานานเพียงใดก็เป็นการครอบครองแทนและโดยอาศัยสิทธิของ บ. หาได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทไม่ และหลังจาก ค. ถึงแก่ความตาย โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อมาโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ค. แล้ว โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ค. จึงไปไถ่ถอนจำนองจากธนาคาร และโอนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครอง การครอบครองและรับโอนที่ดินพิพาทเป็นการสืบสิทธิของ ค. โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิดีกว่า ค.ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือไปยัง บ. หรือจำเลยผู้ครอบครองว่าโจทก์ไม่เจตนาจะยึดถือที่ดินพิพาทแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 แต่อย่างใด แม้โจทก์จะยึดถือครอบครองที่ดินพิพาทเป็นเวลานานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2989/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทางจำเป็น: การพิจารณาความเสียหายเจ้าของที่ดิน & ขอบเขตการใช้ทางสำหรับเดินเท้า ไม่ใช่รถยนต์
ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ที่ดินแปลงใดมีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะได้ไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินแปลงนั้นจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ไปสู่ทางสาธารณะได้" กฎหมายบัญญัติให้มุ่งพิจารณาถึงสภาพของที่ดินนั้นจะต้องถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะเป็นสำคัญ เจ้าของที่ดินแปลงนั้นจึงมีสิทธิจะผ่านที่ดินซึ่งล้อมอยู่ออกไปสู่ทางสาธารณะได้ ทั้งมิได้บังคับว่าเจ้าของที่ดินที่ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจะต้องขอผ่านที่ดินที่ล้อมซึ่งอยู่ใกล้ทางสาธารณะมากที่สุด เจ้าของที่ดินซึ่งถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมจึงมีสิทธิขอผ่านที่ดินที่ล้อมแปลงใดก็ได้ เพียงแต่การที่จะผ่านที่ดินที่ล้อมนั้น มาตรา 1349 วรรคสาม บัญญัติว่า "ที่และวิธีทำทางผ่านนั้นต้องเลือกให้พอควรแก่ความจำเป็นของผู้มีสิทธิจะผ่านกับทั้งให้คำนึงถึงที่ดินที่ล้อมอยู่ให้เสียหายแต่น้อยที่สุดที่จะเป็นได้ ถ้าจำเป็นผู้มีสิทธิจะผ่านจะสร้างถนนเป็นทางผ่านก็ได้" เมื่อที่ดินของโจทก์ถูกที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกถึงทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิขอเปิดทางในที่ดินของจำเลยเป็นทางจำเป็น
ทางจำเป็นเกิดขึ้นโดยผลของกฎหมาย ผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นจึงต้องใช้โดยมีขอบเขตด้วยความระมัดระวัง โดยคำนึงถึงผลเสียหายอันเกิดขึ้นแก่ผู้เป็นเจ้าของที่ดินที่ถูกบังคับใช้ทางจำเป็นด้วย เมื่อที่ดินของโจทก์เป็นที่ว่างเปล่ายังไม่ทำประโยชน์ใดๆ ส่วนที่ดินแปลงอื่นที่ล้อมอยู่โดยรอบมีสภาพเป็นทุ่งนา โจทก์ซื้อที่ดินมาตั้งแต่ปี 2517 ขณะนั้นยังไม่มีทางสาธารณะ โจทก์ย่อมรู้อยู่แล้วแต่ในขณะนั้นว่า ที่ดินที่โจทก์ซื้อไม่อาจใช้รถยนต์ผ่านเข้าออกได้ คงใช้ทางได้เฉพาะการเดินเข้าออกเท่านั้น เมื่อโจทก์ยอมรับสภาพการที่จะไม่ใช้รถยนต์เข้าออกในทางขณะที่ซื้อที่ดินมาแต่แรกเท่ากับโจทก์ยอมรับสภาพที่จะต้องจอดรถยนต์ไว้ในสถานที่อื่น โจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าเป็นทางจำเป็นเพื่อการใช้รถยนต์ ประกอบกับที่ดินของจำเลยมีเนื้อที่ประมาณ 3 งานเศษเท่านั้น หากเปิดทางกว้างถึง 2 วา หรือ 4 เมตร ตามที่โจทก์ขอย่อมเสียหายแก่จำเลยเกินสมควร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: คู่ความเดิมไม่ยกเหตุโมฆะในคดีก่อน ศาลไม่รับฟ้องใหม่
คดีก่อนจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองตามสัญญาจำนองฉบับเดียวกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ แต่โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การว่า สัญญาจำนองตกเป็นโมฆะ เพื่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อน เมื่อศาลพิพากษาให้มีการบังคับจำนองและคดีถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์จะกลับมาฟ้องคดีใหม่อ้างว่า สัญญาจำนองตกเป็นโมฆะหาได้ไม่ เพราะเท่ากับเป็นการรื้อร้องฟ้องคดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดทั้งๆ ที่เป็นคู่ความรายเดียวกันซึ่งต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อน ให้ต้องกลับมาวินิจฉัยซ้ำในเหตุเดียวกันอีกว่า โจทก์ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองหรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: สัญญาจำนองที่เคยถูกพิพากษาถึงที่สุดแล้ว โจทก์ฟ้องใหม่อ้างโมฆะทำไม่ได้
คดีก่อนจำเลยฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นจำเลยให้รับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันและผู้จำนองตามสัญญาจำนองฉบับเดียวกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ แต่โจทก์ไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การว่าสัญญาจำนองตกเป็นโมฆะ เพื่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนอันเป็นความบกพร่องไม่รอบคอบของโจทก์เองที่ไม่ได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ไว้ เมื่อศาลพิพากษาให้มีการบังคับจำนองและคดีถึงที่สุดไปแล้ว เช่นนี้ โจทก์จะกลับมาฟ้องคดีใหม่อ้างเหตุว่า สัญญาจำนองตกเป็นโมฆะ เพื่อมิให้คำพิพากษาในคดีก่อนมีผลใช้บังคับแก่โจทก์หาได้ไม่ เพราะเท่ากับเป็นการรื้อร้องฟ้องคดีที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดทั้งๆ ที่เป็นคู่ความรายเดียวกันซึ่งต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อน ให้ต้องกลับมาวินิจฉัยซ้ำในเหตุเดียวกันอีกว่า โจทก์ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองหรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) โดยไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2294/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาตามยอมถึงที่สุด การยื่นคำร้องหลังพ้นกำหนดอุทธรณ์ไม่สามารถโต้แย้งได้
ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2547 หากโจทก์เห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องด้วยข้อยกเว้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ที่โจทก์สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมได้ โจทก์ต้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในกำหนด 1 เดือน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาตามยอมให้คู่ความฟัง คือภายในวันที่ 27 พฤษภาคม 2547 แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ กลับยื่นคำร้องลงวันที่ 13 มกราคม 2549 ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะ ความมุ่งหมายของโจทก์ก็คือต้องการให้คำพิพากษาตามยอมเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้ มีผลเป็นอย่างเดียวกับการขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอม ซึ่งไม่มีบทกฎหมายใดให้โจทก์กระทำเช่นนั้นได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของโจทก์จึงชอบแล้ว ส่วนคำพิพากษาตามยอมย่อมเป็นอันถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง โจทก์ไม่อาจอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2219/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนทรัพย์มรดกและการเพิกถอนนิติกรรม: ทรัพย์ที่ซื้อด้วยเงินจากมรดกไม่ใช่ทรัพย์มรดกเดิม
โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านระหว่างจำเลยกับ ท. บิดาโจทก์ทั้งเจ็ด เป็นการฟ้องเรียกให้ได้ที่ดินและบ้านกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ทั้งเจ็ด จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินและบ้านนั้นและเมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องโดยอ้างว่า โจทก์แต่ละคนมีสิทธิในที่ดินและบ้านคนละ 1 ใน 8 ส่วนเท่ากัน จึงเป็นหนี้อันอาจแบ่งแยกได้ ต้องถือทุนทรัพย์แยกกันตามรายตัวโจทก์ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งเจ็ดมีคำขอให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและบ้านคืนหากไม่สามารถทำได้ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท จำนวนหนี้ตามสิทธิของโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาว่า พยานหลักฐานโจทก์ทั้งเจ็ดฟังได้ว่า ท. ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินและบ้านแทนโจทก์ทั้งเจ็ด การขายที่ดินและบ้านแก่จำเลยเป็นเจตนาลวงและเป็นการฉ้อฉลโจทก์ทั้งเจ็ด โจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินและบ้านได้ และจำเลยต้องชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งเจ็ด ล้วนเป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว
ท. ขายที่ดินมรดกบางส่วนไปในขณะที่ยังไม่มีการแบ่งปันมรดกแล้วนำเงินที่ได้ไปซื้อที่ดินแปลงอื่น ที่ดินที่ซื้อมานั้นไม่ถือว่าเป็นทรัพย์ที่มีสถานะเช่นเดียวกับทรัพย์มรดกที่จะนำมาแบ่งปันแก่ทายาท ดังนั้น การที่ ท. โอนที่ดินที่ซื้อมาดังกล่าวให้แก่จำเลย โจทก์ทั้งเจ็ดไม่อาจฟ้องร้องขอให้เพิกถอนได้ คงมีสิทธิฟ้องร้องขอให้เพิกถอนได้เฉพาะการโอนขายที่ดินที่เป็นมรดกแปลงแรกเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2033/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการทุเลาการบังคับ: คำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 4 เป็นที่สุดและไม่อุทธรณ์ฎีกาได้
การทุเลาการบังคับ กฎหมายกำหนดวิธีการให้อยู่ในอำนาจของศาลเป็นชั้นๆ ไป การทุเลาการบังคับในระหว่างอุทธรณ์เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 มีคำสั่งยกคำร้องขอทุเลาการบังคับแล้วจำเลยที่ 2 จะฎีกาคำสั่งต่อศาลฎีกาอีกไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1815/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งให้พิจารณาคดีใหม่ ถือเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษา ต้องวางค่าธรรมเนียมตามคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลย ค่าคำร้องเป็นพับ การที่จำเลยอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นโดยขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ซึ่งจะทำให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นอันเพิกถอนไป ผลเท่ากับเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ในตัวนั่นเอง ดังนั้น จำเลยต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์โดยศาลชั้นต้นไม่จำต้องมีคำสั่งให้จำเลยปฏิบัติเสียก่อน เมื่อจำเลยมิได้วางเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์เช่นนี้ ในชั้นตรวจอุทธรณ์ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยได้ทันที แต่เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลย การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยโดยไม่ได้กำหนดเวลาให้จำเลยปฏิบัติให้ถูกต้องเสียก่อนจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1679/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษา: ศาลต้องเปิดโอกาสให้คู่ความคัดค้านก่อนมีคำสั่ง
ป.วิ.พ.มิได้บัญญัติว่าคำร้องของจำเลยที่ขอผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาเป็นคำร้องที่ทำได้แต่ฝ่ายเดียว ก่อนที่จะไต่สวนหรือมีคำสั่งศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะให้โอกาสโจทก์คัดค้าน โดยมีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้องเช่นว่านั้นแก่โจทก์ล่วงหน้า หากจะคัดค้านประการใดให้ยื่นเข้ามาภายในเวลาที่กำหนดการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยผ่อนชำระหนี้ตามคำพิพากษาและงดการบังคับคดีไปเลยทีเดียว เป็นการก้าวล่วงข้ามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 21 (2) อันเป็นบทกฎหมายในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม ศาลฎีกาให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียตามมาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1611/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายไม่สมบูรณ์ ผู้ขายไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข ผู้ซื้อมีสิทธิไม่รับโอนกรรมสิทธิ์
โจทก์ที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจะซื้อขายอันเป็นการประพฤติผิดสัญญาซึ่งเป็นเหตุให้จำเลยมีสิทธิที่จะไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามที่โจทก์ที่ 1 ทวงถามได้ จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าในช่วงเวลาดังกล่าวจำเลยมีเงินพร้อมที่จะชำระราคาที่ดินแก่โจทก์ที่ 1 หรือไม่ เพราะไม่ทำให้จำเลยกลายเป็นฝ่ายผิดสัญญาไปได้
สัญญาจะซื้อจะขายระบุว่า เมื่อมีการชำระเงินงวดสุดท้ายและโอนกรรมสิทธิ์แก่กันแล้ว ผู้จะซื้อ (จำเลย) จะต้องปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ตามที่ตกลงบนที่ดินที่ซื้อมาทั้งหมดให้เสร็จโดยเร็วหรือภายใน 3 ปี นับแต่วันโอนกรรมสิทธิ์ เมื่อก่อสร้างเสร็จผู้จะซื้อต้องโอนอาคารพาณิชย์ให้ผู้จะขาย (โจทก์ที่ 1) จำนวน 2 คูหา ในราคากึ่งหนึ่งของราคาขาย หากผู้จะซื้อไม่สามารถปฏิบัติได้จะต้องคืนหรือจ่ายค่าชดเชยทดแทนให้แก่ผู้จะขายเป็นเงิน 2,000,000 บาท ตามข้อตกลงดังกล่าวมีเงื่อนไขสำคัญที่จะต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายจำนวน 4 แปลง ในราคา 10,000,000 บาท ให้เสร็จสิ้นไปก่อน เมื่อการซื้อขายที่ดินแปลงหนึ่งไม่ได้ทำขึ้น โดยเหตุซึ่งเป็นเพราะโจทก์ที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขาย ทั้งไม่อาจถือได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา เงื่อนไขที่ว่าจะต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง 4 แปลงก่อนจึงไม่สำเร็จโดยเหตุซึ่งไม่อาจโทษฝ่ายจำเลยได้จำเลยย่อมไม่มีความผูกพันที่จะต้องปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวอีกต่อไป โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินค่าชดเชยสิ่งปลูกสร้างจำนวน 2,000,000 บาท
of 15