คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ม. 160 วรรคสาม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4427/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์ความสัมพันธ์ทางสายเลือดและอำนาจฟ้องขอเพิกถอนสูติบัตร
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งให้คู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องไปให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญที่ศาลเห็นสมควรตรวจร่างกาย เก็บตัวอย่างเลือด สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรม หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดี แม้ว่าถือเป็นสิทธิของคู่ความหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องที่จะยินยอมหรือไม่ก็ได้ แต่การไม่ยินยอมก็มีผลตามกฎหมายโดยมาตรา 160 วรรคสาม บัญญัติผลของการไม่ยินยอมให้ตรวจของคู่ความไว้ว่า หากคู่ความฝ่ายใดไม่ยินยอม โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าข้อเท็จจริงที่ต้องการให้ตรวจพิสูจน์เป็นผลร้ายแก่คู่ความฝ่ายนั้น อย่างไรก็ตาม การไม่ยินยอมของคู่ความจะมีผลให้ใช้ข้อสันนิษฐานของกฎหมายที่เป็นผลร้ายแก่คู่ความที่ไม่ยินยอมให้ตรวจได้ จะต้องเกิดจากคำสั่งของศาลที่สั่งตามบทบัญญัติดังกล่าวโดยชอบ กล่าวคือเป็นการสั่งให้ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดีตามมาตรา 160 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้ด้วย แต่เมื่อประเด็นข้อพิพาทที่สำคัญแห่งคดีมีว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของ ส. ตามที่สูติบัตรของจำเลยที่ 1 ระบุไว้หรือไม่ ซึ่งการตรวจพิสูจน์ความเป็นบิดากับบุตรตามปกติต้องตรวจสอบจากตัวบิดากับผู้ที่อ้างว่าเป็นบุตรนั้น เมื่อ ส. เสียชีวิตไปแล้วจึงไม่อยู่ในวิสัยจะทำการตรวจพิสูจน์ ดี เอ็น เอ ได้ กรณีต้องใช้กระบวนการทางเลือก โดยให้ตรวจกับบุคคลที่มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตกับ ส. เช่น เป็นบิดา มารดา บุตรหรือพี่น้องของ ส. แต่คดีนี้คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างโต้แย้งความเป็นบุตร ส. ของอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยตรวจสารพันธุกรรม (D.N.A) เพื่อแสดงความเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกันของโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในขณะที่ต่างยังโต้แย้งกันอยู่ แม้มีการตรวจพิสูจน์แล้วและผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ก็ยังไม่สามารถนำผลการตรวจมาวินิจฉัยเป็นยุติว่า บิดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 คือ ส. ได้ ส่วนคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยตรวจสารพันธุกรรม (D.N.A) เพื่อแสดงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ใช่บุตรของจำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจนำมาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทสำคัญในคดีที่ว่าจำเลยที่ 1 เป็นหรือไม่เป็นบุตรของ ส. ได้ เพราะจำเลยที่ 1 อาจไม่ใช่บุตรของจำเลยที่ 2 แต่อาจเป็นบุตรของ ส. ก็เป็นได้ ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ใช่คำสั่งให้ตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ตามบทบัญญัติมาตรา 160 แม้คู่ความไม่ยินยอมไปตรวจก็ไม่มีผลให้นำข้อสันนิษฐานใด ๆ มาวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทในคดีได้ ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทไปตามพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่ายนำสืบ โดยข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของนาย ส. ตามที่สูติบัตรระบุไว้ กรณีไม่มีเหตุให้เพิกถอนสูติบัตรของจำเลยที่ 1