คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ตรีวุฒิ สาขากร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 100 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4047/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระบุเวลาในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ที่ไม่ได้ทำต่อหน้าคู่ความ
ป.วิ.พ. มาตรา 48 (3) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของศาลต้องจดแจ้งสถานที่ วัน เวลา ที่ศาลนั่งพิจารณาหรือดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา แต่กระบวนพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ได้กระทำต่อหน้าคู่ความ และต้องส่งรายงานกระบวนพิจารณาให้ศาลชั้นต้นทำการอ่านแทน ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงไม่ต้องระบุเวลาไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาในช่องที่ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3792/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความ: กำหนดเวลาชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ การบังคับคดีชอบด้วยกฎหมาย
สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง ได้กำหนดเวลาชำระหนี้แต่ละงวดไว้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน ซึ่งหากจำเลยทั้งสองผิดนัดการชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดการชำระหนี้ทุกงวด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาที่ประสงค์ให้ถือเอาเวลาชำระหนี้ที่กำหนดไว้เป็นสาระสำคัญ และศาลชั้นต้นได้พิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จึงผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคแรก แม้โจทก์จะรับชำระหนี้งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 ซึ่งชำระไม่ตรงตามกำหนด โดยโจทก์ไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดจากจำเลยทั้งสองก็เป็นเรื่องที่โจทก์ยังไม่ประสงค์จะบังคับคดีในขณะนั้นเท่านั้น ไม่ทำให้จำเลยทั้งสองพ้นจากความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้งวดต่อไปให้ตรงตามกำหนด เมื่อจำเลยทั้งสองยังคงชำระหนี้งวดที่ 5 ไม่ตรงตามกำหนดอีก จึงเป็นผู้ผิดนัด
จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้บังคับคดีด้วยการยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แม้โจทก์จะทราบมาก่อนว่าที่ดินดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้เสนอขายต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุพรรณบุรี จำกัด และคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุพรรณบุรี จำกัด มีมติให้ซื้อจากจำเลยที่ 2 แล้ว ก็ไม่เป็นการใช้สิทธิบังคับคดีโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2742/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม – การยกเหตุใหม่ในชั้นฎีกาหลังศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัย
ฎีกาของจำเลยที่ 2 เป็นฎีกาทำนองปฏิเสธว่ามิได้กระทำความผิด เมื่อคดีนี้จำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดตามฟ้อง แม้จำเลยที่ 2 ได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่วินิจฉัย จำเลยก็ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่าศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่วินิจฉัยนั้นไม่ชอบอย่างไร ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงมิใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานเบิกเงินเดือนซ้ำซ้อนจากสองหน่วยงานโดยเจตนาทุจริต มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147
หลังจากจำเลยยื่นฎีกาว่ามิได้กระทำความผิดตามฟ้องและขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย จำเลยยื่นคำร้องขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา แต่ในคำร้องขอให้การรับสารภาพมีข้อความว่า มูลเหตุที่จำเลยกระทำความผิดเกิดขึ้นเนื่องจากจำเลยย้ายสถานที่ทำงานใหม่และเป็นหน่วยงานใหม่ จึงเข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิเบิกเงินเดือนได้ในที่ทำงานใหม่ และไม่ทราบว่าสามีจำเลยเบิกเงินเดือนของจำเลยจากที่ทำการปกครองจังหวัดขอนแก่นด้วย จึงเท่ากับจำเลยยังปฏิเสธต่อสู้คดีอยู่ และไม่อาจถือว่าการที่จำเลยยื่นคำร้องนี้เป็นการยื่นคำร้องขอถอนฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 202 ประกอบมาตรา 225
พ.ร.ฎ.ระเบียนพนักงานส่วนตำบล พ.ศ.2539 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การโอนข้าราชการ...มาบรรจุเป็นพนักงานส่วนตำบลอาจทำได้ถ้าเจ้าตัวสมัครใจโดยองค์การบริหารส่วนตำบลที่จะรับโอนทำความตกลงกับ...หรือหน่วยงานต้นสังกัดแล้วรายงานประธาน อ.ก.ท. จังหวัดเพื่อพิจารณาเสนอความเห็นไปยัง ก.ท. เมื่อ ก.ท. อนุมัติแล้ว ให้โอนและบรรจุได้ ทั้งนี้จะบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งระดับใดและจะรับเงินเดือนเท่าใดให้ ก.ท. เป็นผู้พิจารณากำหนด..." แสดงว่าการจะรับโอนบรรจุและแต่งตั้งจำเลยให้ดำรงตำแหน่งใดและรับเงินเดือนเท่าใดในองค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระต้องให้คณะกรรมการพนักงานเทศบาง (ก.ท.) เป็นผู้อนุมัติและพิจารณา ดังนี้ เมื่อยังไม่มีหนังสือแจ้งการรับโอนจากคณะกรรมการพนักงานเทศบาล จำเลยจึงยังคงดำรงตำแหน่งเดิมอยู่ที่ทำการปกครองอำเภอหนองเรือ เพียงแต่ถูกยืมตัวไปปฏิบัติหน้าที่โดยยังไม่ขาดจากต้นสังกัดเดิม
จำเลยมาช่วยราชการที่องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระ โดยยังไม่ขาดจากตำแหน่งเดิมที่อำเภอหนองเรือ จึงต้องรับเงินเดือนจากต้นสังกัดเดิม กลับตั้งฎีกาเบิกเงินเดือนของจำเลย ณ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าพระอีก อันเป็นการเบิกซ้ำซ้อนรวม 7 เดือน แล้วเบียดบังไปเป็นประโยชน์ส่วนตน การกระทำของจำเลยเข้าลักษณะเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รักษาทรัพย์แล้วเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนโดยทุจริต จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 464/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษความผิดหลายกรรมต่างกัน ลักทรัพย์และใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ ศาลฎีกาแก้ไขโทษและรอการลงโทษ
จำเลยลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปจากผู้เสียหายแล้วนำไปลักเงินของผู้เสียหายโดยผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติ ทรัพย์ที่จำเลยลักเป็นทรัพย์คนละประเภทและเป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระ และอาศัยเจตนาแตกต่างแยกจากกันได้ ดังนั้น การลักบัตรอิเล็กทรอนิกส์ไปจากผู้เสียหายกับลักเงินของผู้เสียหายโดยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินผ่านเครื่องฝาก-ถอนเงินอัตโนมัติในแต่ละครั้งจึงเป็นความผิดสองกรรมต่างกัน แต่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าการกระทำแต่ละครั้งดังกล่าวเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 269/5 ประกอบมาตรา 269/7 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด และโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาขอให้เพิ่มโทษ ศาลฎีกาจึงไม่อาจลงโทษจำเลยรวม 14 กระทง ได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 135/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องและข้อเท็จจริงที่ต้องยกขึ้นโต้แย้งในอุทธรณ์ ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์
จำเลยให้การเพียงว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งมารดายกให้จำเลยทั้งแปลง ครั้นจำเลยอนุญาตให้โจทก์เข้าทำกิน โจทก์กลับละโมบจึงนำคดีมาฟ้อง โดยจำเลยมิได้ให้การโต้แย้งคัดค้านเรื่องคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้อง รวมทั้งอำนาจฟ้องจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 มิได้รับวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ซึ่งต้องห้ามตามมาตรา 225 วรรคหนึ่ง แม้ต่อมาศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาข้อนี้ของจำเลย และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ศาลฎีกาเห็นไม่สมควรที่ยกขึ้นวินิจฉัยให้
การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น คู่ความผู้อุทธรณ์ต้องยกประเด็นข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายขึ้นอ้างเพื่อโต้แย้งคัดค้านเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นโดยชัดแจ้งว่าไม่ถูกต้องอย่างไร เพราะเหตุใด ตามที่กำหนดไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง เสมอ เพื่อให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยข้อโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่ออุทธรณ์จำเลยกล่าวแต่เพียงว่าโจทก์เบิกความอย่างไร และหากเป็นเช่นนั้น โจทก์ควรทำอย่างไรต่อไป ทำนองว่าที่ถูกแล้วข้อเท็จจริงควรเป็นเช่นไรเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8920/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องขอคืนที่ดิน: ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นใหม่ที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์
ตามคำให้การและฟ้องแย้งจำเลยอ้างแต่เพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์ฟ้องเอาที่ดินพิพาทคืนเกิน 1 ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองเท่านั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความเรื่องลาภมิควรได้ ศาลชั้นต้นจึงมิได้หยิบยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัย แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 7 จำเลยฎีกาต่อมาไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
of 10