คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ตรีวุฒิ สาขากร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 100 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8429/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องกรณีการออกโฉนดที่ดินใหม่คลาดเคลื่อน ไม่กระทบสิทธิครอบครองเดิม โจทก์ต้องพิสูจน์สิทธิเอง
ที่ดินของ ป. กับที่ดินของ อ. อยู่ติดกันโดยที่ดินของ ป. ทางด้านทิศตะวันตกติดที่ดินของ อ. ต่อมาเจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้แก่ ป. และระบุรูปแผนที่ที่ดินของ ป. ว่าทางด้านทิศตะวันตกติดบ่อน้ำสาธารณประโยชน์ ทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ อ. และมีส่วนได้เสียในที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 94 ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถขอรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินได้ แต่ปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์ไปขอตรวจสอบตำแหน่งที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 94 ต่อสำนักงานจัดรูปที่ดินจังหวัดเพชรบุรี และโจทก์ก็เบิกความตอบทนายโจทก์รับว่า โจทก์ยังไม่เคยไปยื่นคำขอรังวัดเพื่อออกโฉนดที่ดินในที่ดิน ส.ค.1 เลขที่ 94 ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน ทั้งการขอแบ่งแยกโฉนดที่ดินของนางสาวปทุมก็เป็นเรื่องการแบ่งแยกโฉนดที่ดินในที่ดินของ ป. เองโดยเฉพาะ แม้การระบุอาณาเขตที่ดินในโฉนดที่ดินที่แบ่งแยกออกมาจะคลาดเคลื่อนไป ก็ไม่มีผลโดยตรงต่อที่ดินของ อ. กล่าวคือมิได้ออกโฉนดที่ดินรุกล้ำทับที่ดินของ อ. หรือกระทำการอันมีลักษณะเป็นการรบกวนการครอบครองหรือแย่งสิทธิครอบครองที่ดินของ อ. สิทธิครอบครองที่ดินของ อ. (หากมี) จะมีอยู่อย่างไรก็คงมีอยู่เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง และเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปพิสูจน์สิทธิครอบครองต่อเจ้าพนักงานที่ดินในการขอออกโฉนดที่ดินของ อ. หากโจทก์ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินได้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกับเจ้าพนักงานที่ดิน การออกโฉนดที่ดินให้ ป. ตามที่โจทก์บรรยายมาในคำฟ้องยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8000/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยสัญญาเงินกู้ที่สูงเกินไปเป็นโมฆะ การหักชำระดอกเบี้ยที่เคยชำระแล้วออกจากต้นเงิน และการแก้ไขคำพิพากษา
การที่ธนาคาร ธ. ระบุดอกเบี้ยไว้ในสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญา โดยในขณะดังกล่าวนั้นลูกหนี้ยังไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาแต่อย่างใด จึงเป็นการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของธนาคาร ธ. อันเป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ มาตรา 14 ซึ่งต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา มาตรา 3 (ก) ถือเป็นโมฆะ แม้ว่าตามความจริงแล้วจะยังไม่มีการคิดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวในขณะที่ลูกหนี้ยังมิได้ผิดนัดชำระหนี้หรือผิดสัญญาก็ตาม ก็หาเป็นเหตุให้ข้อกำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะกลับกลายไปเป็นชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใดไม่ จึงเท่ากับว่าตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับไม่อาจมีการคิดดอกเบี้ยกันได้
การที่ธนาคาร ธ. เป็นเจ้าหนี้สถาบันการเงินย่อมต้องทราบรายละเอียดหลักเกณฑ์รวมถึงอัตราในการเรียกเก็บดอกเบี้ยเป็นอย่างดี ส่วนลูกหนี้นั้นโดยสภาพและข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจะทราบถึงหลักเกณฑ์ดังกล่าวแต่อย่างใด การดำเนินการของสถาบันการเงินซึ่งประกอบกิจการอันเป็นที่เชื่อถือของประชาชน ย่อมมีเหตุให้ลูกหนี้เข้าใจและเชื่อโดยสุจริตว่ามีการคิดดอกเบี้ยโดยถูกต้องแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าการชำระดอกเบี้ยเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระและเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 กรณีจึงต้องนำเงินดอกเบี้ยที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดไปหักชำระออกจากต้นเงินที่ยังคงค้างชำระตามสัญญากู้เงินทั้งสองฉบับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7124/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจทนายความในการถอนฟ้องคดีอาญา – การถอนฟ้องโดยชอบด้วยกฎหมาย
ตามใบแต่งทนายความของโจทก์ ทนายโจทก์มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในทางจำหน่ายสิทธิของโจทก์ ซึ่งรวมถึงการถอนฟ้อง และการสละสิทธิหรือใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาด้วย เมื่อทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องตามอำนาจที่ระบุไว้ในใบแต่งทนายความ ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนฟ้องจึงเป็นการชอบด้วยกระบวนพิจารณาแล้ว ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเป็นการถอนฟ้องโดยสำคัญผิด ก็เป็นความบกพร่องของฝ่ายโจทก์เอง ย่อมไม่กระทบถึงคำสั่งที่อนุญาตให้ถอนฟ้องโดยชอบของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6778/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอตั้งวัดและการมีอำนาจฟ้องของวัด: การแต่งตั้งโดยปริยายและการไม่เป็นฟ้องซ้ำ
ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 1 (พ.ศ.2507) ออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ ข้อ 4 วรรคหนึ่ง ผู้มีอำนาจเสนอรายงานขอตั้งวัดคือผู้ได้รับอนุญาตสร้างวัด ทายาท หรือผู้แทน แม้ พ. ผู้เสนอรายงานขอตั้งวัดจะไม่ใช่ทายาทของจำเลยผู้ได้รับอนุญาตสร้างวัด และจำเลยไม่ได้แต่งตั้งโดยชัดแจ้งให้ พ. เป็นผู้แทนเสนอรายงานขอตั้งวัดก็ตาม แต่ในระหว่างสร้างวัดและขอตั้งวัดจำเลยไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้านการดำเนินการของ พ. พฤติการณ์ของจำเลยแสดงให้เห็นว่าจำเลยแต่งตั้งโดยปริยายให้ พ. เป็นผู้แทนของจำเลยในการเสนอรายงานขอตั้งวัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 วรรคสอง แล้ว เมื่อกระทรวงศึกษาธิการโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมได้ประการตั้งวัดโจทก์ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2542 โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 22 มิถุนายน 2542 แล้ว การขอตั้งวัดโจทก์ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาจึงดำเนินการโดยชอบแล้ว โจทก์ย่อมมีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฯ มาตรา 31 วรรคสอง และมีอำนาจฟ้อง
ขณะยื่นฟ้องคดีก่อน กระทรวงศึกษาธิการยังไม่ได้ประกาศตั้งวัดโจทก์ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลจึงไม่มีอำนาจฟ้องและยกฟ้องโจทก์ แต่ขณะโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งวัดโจทก์ให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนาโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โจทก์ย่อมมีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีอำนาจฟ้อง ประเด็นที่วินิจฉัยในทั้งสองคดีมิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6700/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากหน้าที่-ปล่อยปละละเลย-การควบคุมดูแล-ความรับผิดทางละเมิด-อายุความ
จำเลยที่ 1 หัวหน้างานบริหารการฝึกอบรมของวิทยาลัยการปกครองมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าหมวดอาคารและสถานที่ งานบริหารการฝึกอบรมของวิทยาลัยการปกครองและเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุ อันเป็นการบริหารงานภายในของวิทยาลัยการปกครองมิใช่การใช้อำนาจตามกฎหมายระดับพระราชบัญญัติหรือกฎหมายลำดับรองอื่น ๆ ที่หากจำเลยที่ 1 จะมอบอำนาจให้จำเลยที่ 2 วินิจฉัยสั่งการ จะต้องทำเป็นหนังสือตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 38 จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหัวหน้าหมวดอาคารและสถานที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุโดยชอบแล้ว แม้การมอบหมายจะกระทำด้วยวาจาก็ตาม
จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้างานบริหารการฝึกอบรม แม้จะมอบหมายให้จำเลยที่ 2 ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุแล้ว จำเลยที่ 1 ก็ยังคงมีหน้าที่ต้องควบคุมการปฎิบัติหน้าที่ของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 1 กลับปล่อยปละละเลยหน้าที่ควบคุมของตน ส่วนจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ดูแลและใช้ประโยชน์รถยนต์คันเกิดเหตุโดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ช่วย แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลการใช้ประโยชน์รถยนต์คันพิพาท โดยไม่จัดให้มีสมุดบันทึกการใช้และรายการซ่อมบำรุงรถยนต์คันพิพาทตามระเบียบของราชทัณฑ์ขับรถยนต์คันดังกล่าวซึ่งมีสภาพไม่สมบูรณ์ออกจากวิทยาลัยการปกครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชนรถยนต์ของบุคคลอื่นได้รับความเสียหายที่หน้าวิทยาลัยการปกครองกรมการปกครองโจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายแล้ว แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะไม่ใช่ผู้ขับรถยนต์คันเกิดเหตุในขณะเกิดเหตุ การละเว้นไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนในกรณีเช่นนี้ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นการละเมิดต่อโจทก์แล้ว
จำเลยที่ 4 เป็นลูกจ้างประจำของวิทยาลัยการปกครอง ตำแหน่งคนงานมีหน้าที่ตัดหญ้าและทำความสะอาดบริเวณวิทยาลัย จำเลยที่ 4 ไม่ได้อนุญาตให้ อ. ขับรถยนต์คันเกิดเหตุออกจากวิทยาลัยแต่ อ. ขอให้จำเลยที่ 4 นั่งไปในรถยนต์เพื่อขับรถยนต์กลับ การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต่างคนต่างทำละเมิดต่อโจทก์ มิได้ร่วมกันทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 432 วรรคหนึ่ง ทั้งเมื่อคำนึงถึงพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนทำอันก่อให้เกิดการละเมิดต่อโจทก์ดังกล่าวและความร้ายแรงแห่งละเมิดตามมาตรา 438 วรรคหนึ่งแล้ว ศาลฎีกาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดคนละส่วนเท่า ๆ กัน
จำเลยที่ 2 ให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความ 2 ปี ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 10 เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยไม่ได้วินิจฉัยปัญหาเรื่องอายุความ โจทก์อุทธรณ์ จำเลยที่ 2 ไม่ได้ยกปัญหาเรื่องฟ้องโจทก์ขาดอายุความตั้งเป็นประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ จึงไม่มีประเด็นในเรื่องอายุความ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ 10 ปี ในการใช้สิทธิไล่เบี้ยไว้ ก็ไม่ทำให้เกิดประเด็นเรื่องอายุความ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ทั้งไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6491/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดตาม พ.ร.บ.สมาคมฯ มาตรา 56 องค์ประกอบความผิด การดำเนินกิจการผิดวัตถุประสงค์ และภยันตรายต่อความสงบสุข
ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ว่า ไม่ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่าจำเลยทั้งหกร่วมกันออกสำรวจที่ดินในนามของสมาคมเกษตรก้าวหน้า การกระทำของจำเลยทั้งหกเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนซึ่งเป็นความรับผิดทางแพ่งเท่านั้น คำฟ้องของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนหรือความมั่นคงของรัฐ และไม่ปรากฏว่ามีผู้เสียหายร้องทุกข์ไว้ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ โจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น มีความหมายทำนองว่าการกระทำของจำเลยทั้งหกตามคำฟ้องไม่เป็นความผิดทางอาญาที่ศาลจะมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งหกได้ แม้ปัญหาข้อนี้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะไม่ได้ต่อสู้ไว้ในศาลล่างทั้งสอง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 สามารถยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งหกตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 56 แม้คำฟ้องของโจทก์จะไม่มีข้อความโดยตรงว่า จำเลยทั้งหกได้ดำเนินกิจการในนามของสมาคมเกษตรกรก้าวหน้า แต่เมื่ออ่านคำฟ้องทั้งหมดแล้วก็สามารถเข้าใจได้ว่าจำเลยทั้งหกดำเนินกิจการดังกล่าวในนามของสมาคมเกษตรกรก้าวหน้านั้นเอง เมื่อสมาคมเกษตรกรก้าวหน้าไม่มีวัตถุประสงค์ในการดำเนินกิจการดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งหกซึ่งเป็นกรรมการสมาคมเกษตรกรก้าวหน้า ย่อมเป็นการดำเนินกิจการอันผิดวัตถุประสงค์ของสมาคม คำฟ้องของโจทก์ครบถ้วนในองค์ประกอบความผิดส่วนแรกแล้ว นอกจากนี้ โจทก์ยังได้บรรยายฟ้องต่อไปว่า หากรัฐบาลมีโครงการซื้อที่ดินตามที่จำเลยทั้งหกกล่าวอ้างแล้ว จะทำให้รัฐบาลต้องซื้อที่ดินราคาที่สูงกว่าความเป็นจริง ทำให้จำเลยทั้งหกได้รับเงินส่วนที่เกินจากราคาที่ประชาชนเสนอขาย และหากรัฐบาลไม่มีโครงการรับซื้อที่ดินจากประชาชนตามที่จำเลยทั้งหกกล่าวอ้างแล้ว จะทำให้ประชาชนไม่มั่นใจในนโยบายของรัฐบาลกับเข้าใจว่ารัฐบาลและราชการหลอกลวงประชาชน นำไปสู่ความไม่สงบสุขกับเป็นภยันตรายต่อความสงบสุขของประชาชนและความมั่นคงของรัฐได้ คำฟ้องของโจทก์ย่อมครบถ้วนในองค์ประกอบความผิดส่วนหลังแล้ว โดยโจทก์ไม่ต้องบรรยายฟ้องว่ามีผู้ร้องทุกข์ไว้ด้วย เพราะไม่ใช่เรื่องที่ ป.วิ.อ. มาตรา 158 บัญญัติให้ต้องมีในคำฟ้อง
ที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกาขอให้รอการลงโทษ โดยอ้างว่าเมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 ใช้ดุลพินิจรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 แล้ว ต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 โดยการรอการลงโทษเช่นกัน จำเลยทั้งหกไม่เคยกระทำความผิดอาญาอื่นใดมาก่อน และตามประวัติส่วนตัวมีเหตุที่จะรอการลงโทษได้ ทั้งการกำหนดโทษให้แก่จำเลยซึ่งร่วมกระทำความผิด ไม่สามารถแบ่งแยกได้ เห็นว่า ตาม ป.อ. มาตรา 56 ศาลมีอำนาจกำหนดโทษของจำเลย โดยพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับจำเลยผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคล หาใช่ต้องยกประโยชน์หรือต้องกำหนดโทษให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วยแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5904/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การป้องกันเกินสมควรแก่เหตุในการทำร้ายร่างกายและพยายามฆ่า: พิจารณาเจตนา, เหตุป้องกัน, และการใช้ดุลพินิจของศาล
จำเลยใช้อาวุธปืนยิงสวนผู้เสียหายไปในทันทีทันใดในท่านอนตะแคง โดยไม่มีโอกาสเลือกยิงจุดสำคัญของร่างกายผู้เสียหาย เมื่ออาวุธปืนโดยสภาพย่อมเป็นอาวุธที่ใช้ทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ในทันทีทันใด ประกอบกับกระสุนปืนก็ถูกที่บริเวณใบหน้าซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงไปที่ผู้เสียหายในระยะใกล้ประชิดติดตัวก็ย่อมเล็งเห็นผลได้ว่ากระสุนปืนจะต้องถูกผู้เสียหายให้ได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เมื่อผู้เสียหายไม่ถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย หาใช่ไม่มีเจตนาฆ่า และเป็นเพียงความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัสไม่ อย่างไรก็ตามเมื่อจำเลยถูกผู้เสียหายใช้ไม้ตีทำร้ายก่อนซึ่งจำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตัวได้ แต่เมื่อไม้ดังกล่าวมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 นิ้ว และเมื่อตีถูกจำเลยแล้วไม้ดังกล่าว ก็หักทันที อีกทั้งไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายจะกระทำการอย่างใดอื่นอีกที่ส่อแสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดว่ามีเจตนาจะทำร้ายจำเลยเพิ่มเติมให้หนักขึ้นกว่าเดิม การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงสวนไปที่ผู้เสียหายในขณะนั้น โดยมีโอกาสที่จะหยุดยั้งการกระทำของผู้เสียหายได้โดยวิธีอื่นอีก พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมถือได้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุอันจะเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา 69 แต่เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4521-4522/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจองสิทธิการเช่า, เหตุสุดวิสัย, การบอกเลิกสัญญา, เบี้ยปรับ, และอำนาจศาลในการวินิจฉัยข้อตกลงที่กระทบต่อสาธารณชน
การที่เกิดเหตุเพลิงไหม้อาคาร พ. ทาวเวอร์ ซึ่งมีโครงสร้างรากฐานเดียวกันกับอาคาร พ. เพลส ที่พิพาทและใช้ใบอนุญาตก่อสร้างฉบับเดียวกัน หลังเกิดเหตุสำนักงานเขตมีคำสั่งห้ามมิให้บุคคลใดใช้หรือเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุเพลิงไหม้จนกว่าจะมีการตรวจสอบแก้ไข การที่จำเลยไม่สามารถเข้าไปทำการก่อสร้างอาคารในช่วงเวลาที่มีคำสั่งห้ามดังกล่าวจึงเป็นเหตุจำเป็นอันสมควรที่จำเลยไม่สามารถก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จตามระยะเวลาที่ประมาณไว้ในสัญญาจองสิทธิการเช่าที่ทำกับโจทก์ การที่อาคารพิพาทไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่ประมาณไว้ในสัญญาจึงถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดของจำเลย ต่อมาหลังจากจำเลยก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จจำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์รับมอบห้องพักที่จองไว้และเข้าทำสัญญาจดทะเบียนการเช่าหลายครั้งแต่โจทก์เพิกเฉย จึงต้องถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญากับโจทก์ได้
แม้ข้อตกลงตามสัญญาจองสิทธิการเช่าจะผูกพันโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาแต่ข้อตกลงในส่วนที่เกี่ยวกับเบี้ยปรับกระทบต่อผู้คนจำนวนมากที่เข้าทำสัญญากับจำเลยข้อตกลงดังกล่าวจึงถือเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้โจทก์จะเพิ่งยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4521-4522/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจองซื้อขาย - การบอกเลิกสัญญา - เบี้ยปรับ - การคืนเงิน - สิทธิและหน้าที่คู่สัญญา
จำเลยบอกเลิกสัญญาจองสิทธิการเช่าห้องพักอาศัยในอาคารชุดของจำเลยแก่โจทก์เพราะเหตุโจทก์ผิดสัญญา ทำให้สัญญาเลิกกัน คู่สัญญาจึงต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตามป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์และจำเลยตกลงกันว่าถ้าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยบอกเลิกสัญญาให้เงินที่โจทก์ชำระมาแล้วทั้งหมดตกเป็นของจำเลยจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรัตามมาตรา 379 ซึ่งถ้าสูงเกินสมควรศาลมีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามมาตรา 383 โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนได้ทั้งหมด จำเลยก็ไม่มีสิทธิริบเอาทั้งหมดเว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าจากการผิดสัญญาของโจทก์ทำให้จำเลยได้รับเสียหายไม่น้อยกว่าเบี้ยปรับที่รับไว้
สัญญาจองสิทธิการเช่าห้องพักอาศัยในอาคารชุดของจำเลยผูกพันเฉพาะโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญา แต่ข้อตกลงในส่วนที่เกี่ยวกับเบี้ยปรับกระทบต่อผู้คนจำนวนมากที่เข้าทำสัญญากับจำเลยซึ่งต้องกำหนดไว้ในทำนองเดียวกัน จึงถือเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียกร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะเพิ่งยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3302/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีบริษัท กรณีมีทรัพย์สินคงเหลือ และผลกระทบต่อสิทธิผู้ถือหุ้น
ผู้ร้องเคยเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท ย. และได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1270 ให้ถือว่าเป็นที่สุดแห่งการชำระบัญชี แต่ก็มิได้หมายความว่าหากได้จดทะเบียนแล้ว หากมีเหตุจำเป็นขัดข้องจากการชำระบัญชีกิจการของบริษัทแต่เดิมแล้วจะมีการชำระบัญชีเพิ่มเติมใหม่อีกไม่ได้ ซึ่งก็ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายกำหนดห้ามไว้ นอกจากนี้หากกรณีมีมูลเหตุข้อเท็จจริงเป็นไปตามคำร้องขอของผู้ร้องว่าหลังจากจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีแล้ว ผู้ร้องตรวจสอบพบว่ายังมีที่ดินที่บริษัท ย. ถือกรรมสิทธิ์อยู่อีก 2 แปลง กรณีจะดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินดังกล่าว ซึ่งเป็นสินทรัพย์ของบริษัทที่ยังคงหลงเหลืออยู่โดยมิได้มีการชำระบัญชีด้วยวิธีการเช่นใด ในเมื่อบริษัทมิได้ยังคงตั้งอยู่แต่สิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคลไปแล้ว และย่อมกระทบกับสิทธิที่จะได้รับแบ่งคืนทรัพย์สินของผู้ถือหุ้นอีกด้วย ดังนั้น คดีมีเหตุที่ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลโดยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีและแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ชำระบัญชีของบริษัท ย. ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55
of 10