คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ดุสิต ฉิมพลีย์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5437/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการเสนอราคาในคดีล้มละลาย: การบังคับใช้สิทธิของเจ้าหนี้ผู้รับจำนองในการเข้าเสนอราคาและการเพิกถอนการขายทอดตลาด
ประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มิได้ระบุเงื่อนไขการเข้าเสนอราคาให้ชัดแจ้งว่า ผู้เข้าเสนอราคาที่เป็นผู้มีสิทธิขอหักส่วนได้ใช้แทนนั้นต้องเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิเหนือที่ดินที่ขายตามคำชี้ขาดของศาลดังเช่นที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงยุติธรรม ว่าด้วยการบังคับคดีของเจ้าพนักงานบังคับคดี พ.ศ. 2522 ข้อ 79 ทั้งในประกาศขายทอดตลาดมีข้อความระบุไว้ว่า "ที่ดินที่จะขายติดจำนองบริษัทบริหารสินทรัพย์ อ. เจ้าหนี้ตามมาตรา 95" เป็นการแสดงให้เห็นแล้วว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองและเป็นผู้มีสิทธิขอหักส่วนได้ใช้แทนตามประกาศขายทอดตลาดดังกล่าว ที่ผู้ร้องมิได้วางหลักประกันก่อนเข้าเสนอราคาเนื่องจากเห็นว่าตนเป็นผู้มีสิทธิขอหักส่วนได้ใช้แทนจึงชอบแล้ว การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองเข้าสู้ราคาโดยอ้างว่าผู้ร้องมิใช่ผู้สิทธิหักส่วนได้ใช้แทน ย่อมทำให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีไม่มีสิทธิเต็มที่ในการเข้าสู้ราคาไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 331 วรรคสาม การขายทอดตลาดของผู้คัดค้านที่ 1 จึงฝ่าฝืนกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4008/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้ร่วมจากการกู้ยืมเงินและผลของการประนีประนอมยอมความต่อสิทธิของผู้ค้ำประกัน
การที่จำเลยที่ 1 ยื่นแบบคำขอกู้และรับรองสิทธิโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. ระบุวัตถุประสงค์ไว้ในข้อ 3 ว่า เพื่อชำระหนี้และทุนการศึกษาบุตร แสดงว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นหนี้เกี่ยวแก่การศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนแนบท้ายแบบคำขอกู้ดังกล่าว อันแสดงว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาทำสัญญากู้ยืมเงิน ดังนั้น หนี้ที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (1) ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดต่อธนาคาร อ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1489 แต่เมื่อได้ความว่า ในคดีที่ธนาคาร อ. ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ และ ท. กับโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดพะเยานั้น ต่อมา ธนาคาร อ. จำเลยที่ 1 ท. และโจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมและคดีถึงที่สุดแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวระงับสิ้นไป โดยธนาคาร อ. ได้ถือสิทธิใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 852 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับธนาคาร อ. โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมด้วย สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ใช่คู่สัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 693 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3376/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องค่ารักษาพยาบาล: การลงนามรับผิดชอบแทนผู้อื่น ไม่ใช่การผูกพันตนเอง
ตามใบรับผู้ป่วยในจำเลยลงลายมือชื่อในช่องข้อมูลผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลว่าผู้รับผิดชอบแทนผู้ป่วย หมายความว่า จำเลยยินยอมรับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลแทน ก. มารดาในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นผู้รับผิดชอบค่ารักษาพยาบาลแทน ก. โดยตรง มิใช่จำเลยในฐานะบุคคลภายนอกที่ยินยอมผูกพันตนเข้าชำระหนี้ค่ารักษาพยาบาลที่ ก. มารดาจำเลยค้างชำระต่อโจทก์ โจทก์เป็นสถานพยาบาลฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ค่ารักษาพยาบาลที่จำเลยทำสัญญารับผิดชอบ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (11)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1463/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำขอรับชำระหนี้จากเจ้าหนี้ไม่มีประกันเป็นเจ้าหนี้มีประกันต้องแจ้งตั้งแต่แรก หากละเว้นโดยไม่สมเหตุผล ศาลมีสิทธิยกคำร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำขอรับชำระหนี้จากเจ้าหนี้ไม่มีประกันเป็นเจ้าหนี้มีประกันโดยขอเพิ่มเติมหลักประกันที่ดินโฉนดเลขที่ 12446 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง อันเป็นการกล่าวอ้างว่าผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ที่ขอรับชำระหนี้เป็นเจ้าหนี้มีประกันเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 12446 ของจำเลยด้วย แต่ผู้ร้องไม่ได้แจ้งว่าเป็นเจ้าหนี้มีประกันเหนือที่ดินดังกล่าวโดยการละเว้นนั้นเกิดขึ้นโดยพลั้งเผลอ กรณีต้องตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 97 ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องโดยเห็นว่าการละเว้นนั้นไม่น่าเชื่อว่าเกิดจากการพลั้งเผลอและคดีถึงที่สุดแล้ว คำสั่งศาลล้มละลายกลางดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันผู้ร้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 และมีผลให้ผู้ร้องจะต้องคืนทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านและสิทธิเหนือทรัพย์หลักประกันนั้นเป็นอันระงับสิ้นไป ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 97 ผู้ร้องจึงมิใช่เจ้าหนี้มีประกันเหนือที่ดินโฉนดเลขที่ 12446 ที่จะขอใช้สิทธิเหนือทรัพย์หลักประกันดังกล่าวตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 95 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 855/2567

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อ: ความรับผิดของผู้เช่าซื้อกรณีรถหาย และขอบเขตค่าเสียหายที่ตกลงกันไว้
โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่าจำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์แล้วผิดสัญญา โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมเรียกให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนและใช้ค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ตามสัญญา โดยโจทก์แนบสำเนาสัญญาเช่าซื้อพร้อมคำฟ้องและอ้างส่งต่อศาล ทั้งมีคำขอบังคับให้จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาพร้อมค่าเสียหาย แม้โจทก์มิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องจากรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย แต่พอถือได้ว่าโจทก์เรียกค่าเสียหายกรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายตามสัญญาเช่าซื้อด้วย
สัญญาเช่าซื้อข้อ 6.7 กำหนดว่า กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย หากมิใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชำระเบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มคงเหลือ ทั้งนี้เพียงเท่าที่ผู้ให้เช่าซื้อได้จ่ายไปจริงโดยประหยัดตามความจำเป็นและมีเหตุผลอันสมควร ดังนั้น โจทก์และจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาต้องผูกพันตามข้อสัญญาดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายไปโดยไม่ใช่ความผิดของผู้เช่าซื้อ จำเลยผู้เช่าซื้อจึงต้องรับผิดเฉพาะเบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มคงเหลือเท่านั้น ซึ่งในส่วนเบี้ยปรับ แม้เป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่ง แต่มีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่คู่สัญญาได้ตกลงกันไว้ล่วงหน้าให้ชดใช้ให้แก่กันเมื่ออีกฝ่ายไม่ชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 4 กำหนดรายละเอียดของเบี้ยปรับว่า ได้แก่ เบี้ยปรับของค่าเช่าซื้อที่ผิดนัด เบี้ยปรับของค่าใช้จ่ายที่ผู้ให้เช่าซื้อได้ชำระที่ผู้ให้เช่าซื้อเรียกเก็บแทนผู้เช่าซื้อ เบี้ยปรับจึงมีความหมายเฉพาะที่ระบุในข้อสัญญาดังกล่าว มิใช่ค่าเสียหายอย่างอื่นที่โจทก์อาจมีสิทธิเรียกได้กรณีที่รถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหาย เมื่อโจทก์มิได้นำสืบถึงค่าเสียหายอันเป็นเบี้ยปรับ ค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการทวงถามหนี้ค่าเช่าซื้อ ค่าภาษีมูลค่าเพิ่มคงเหลือตามที่ระบุไว้ในข้อสัญญาดังกล่าว ทั้งสัญญาเช่าซื้อไม่มีข้อตกลงให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอย่างอื่น จึงไม่อาจกำหนดให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5163/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงภาระจำยอมทางเข้าออกแม้ไม่มีการจดทะเบียน แต่มีเจตนาและพฤติการณ์สนับสนุน ย่อมมีผลผูกพัน
ผ. และ ม. เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 1625 ได้ยกทางพิพาทให้ทายาทซึ่งเป็นบุตรทั้งแปดคนใช้เข้าออกสู่ทางสาธารณะตั้งแต่ก่อนปี 2534 กับทั้งแบ่งที่ดินให้ทายาทครอบครองและสร้างบ้านพักอาศัย เมื่อ ผ. และ ม. ถึงแก่ความตาย ทายาทก็ได้รับโอนมรดกที่ดินมาครอบครองเป็นของตน โดยยังคงใช้ทางพิพาทในการเข้าออกที่ดินตลอดมา ต่อมาทายาทแบ่งแยกที่ดินออกเป็นโฉนดรวม 9 แปลง โดยมีการรังวัดทางพิพาทซึ่งเป็นทางเข้าออกเดิมไว้ชัดเจน ทายาททั้งแปดซึ่งรวมถึงโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และ ที่ 4 ก็ลงลายมือชื่อในบันทึกถ้อยคำกรณีประสงค์ขอรังวัดแบ่งแยกในนามเดิม หลังจากนั้นทายาทตกลงแบ่งแยกโฉนดจากเดิมที่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันออกเป็นกรรมสิทธิ์ของแต่ละคน โดยทางพิพาทอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 38416 ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินมาก็ได้โอนให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 ขอรังวัดสอบเขต และขอแบ่งทางพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ ซึ่งทายาทเจ้าของที่ดินข้างเคียงก็ไม่ได้ปฏิเสธไม่รับรู้ว่าไม่มีทางพิพาท มีเพียงจำเลยที่ 4 ที่โต้แย้งเฉพาะเรื่องแนวเขตทางพิพาทเท่านั้น ทำให้จำเลยที่ 2 ต้องขอให้รอการรังวัดแบ่งหักที่ดินเป็นทางสาธารณประโยชน์ไว้ก่อน การที่เจ้าของกรรมสิทธิ์รวมใช้ทางพิพาทในที่ดินของตน จึงไม่ได้เป็นการใช้ในลักษณะทางภาระจำยอม การใช้ทางพิพาทของทายาทอื่นในลักษณะภาระจำยอมโดยอายุความจึงเริ่มนับแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2561 ที่มีการแบ่งแยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งมีระยะเวลาเพียง 2 ปีเศษ นับถึงวันฟ้อง ทางพิพาทจึงไม่ได้ตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความ
อย่างไรก็ตาม เมื่อทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะเพื่อประโยชน์สำหรับทายาทที่ครอบครองที่ดินที่ ผ. และ ม. ยกไว้ให้ก่อนที่ทายาทจะได้รับโอนมรดกมาเป็นของตน จนกระทั่งมีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็น 9 แปลง ก็ได้มีการแบ่งแนวเขตทางพิพาทไว้ชัดเจน การที่ทายาทตกลงแบ่งแยกโฉนดที่ดินระหว่างกันโดยมีการระบุทางพิพาทมาตั้งแต่ต้นย่อมถือได้ว่าเป็นข้อตกลงก่อตั้งภาระจำยอมทางพิพาทเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินอื่นตามที่มีการแบ่งแยกไว้ ทางพิพาทจึงเป็นภาระจำยอม จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับโอนที่ดินและทางพิพาทต่อมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งรับโอนมาจากจำเลยที่ 1 อีกทอดหนึ่ง จึงมีภาระที่จะต้องดำเนินการเกี่ยวกับทางพิพาทดังกล่าวให้เป็นไปตามข้อตกลงนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2960/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระหนี้ผ่านบัญชีธนาคาร ถือเป็นการชำระหนี้โดยชอบ แม้ต่างจากวิธีที่ตกลงกันไว้ ย่อมระงับหนี้ได้
การที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของจำเลยที่ 2 เป็นการชำระหนี้ผ่านธนาคารที่จำเลยที่ 2 มีบัญชีเงินฝากเพื่อให้จำเลยที่ 2 ได้รับเงินที่ชำระหนี้โดยมิได้ทำนิติกรรมโดยตรงต่อจำเลยที่ 2 ถือเป็นการชำระอย่างอื่นแทนการชำระหนี้ที่ได้ตกลงกันไว้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมซึ่งจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องนำเงินจำนวน 1,850,000 บาท ไปชำระหนี้แก่จำเลยที่ 2 ณ ภูมิลำเนาของจำเลยที่ 2 เมื่อปรากฏว่าต่อมาจำเลยที่ 2 ได้ทยอยถอนเงินที่จำเลยที่ 1 นำฝากออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารโดยมิได้คืนให้จำเลยที่ 1 มีผลเท่ากับจำเลยที่ 2 ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ด้วยวิธีการชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว หนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระแก่จำเลยที่ 2 ตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมย่อมระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 321 วรรคหนึ่ง จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่มีสิทธิขอให้บังคับคดีให้จำเลยที่ 1 และบริวารออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 53/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้เสียหายเบิกความเท็จ: ราษฎรที่ได้รับความเสียหายโดยตรงมีสิทธิเป็นโจทก์ร่วมได้
ผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จ ตาม ป.อ. มาตรา 177 หาใช่จะมีแต่เฉพาะเจ้าพนักงานเท่านั้นไม่ ราษฎรที่ได้รับความเสียหายโดยตรงเนื่องจากการกระทำความผิดดังกล่าวก็เป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) การที่จำเลยเบิกความเป็นพยานในคดีที่โจทก์ร่วมเป็นผู้ร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ ว. เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และแต่งตั้งโจทก์ร่วมเป็นผู้พิทักษ์ โดยจำเลยเบิกความเป็นใจความว่า ว. มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ สามารถโต้ตอบมีเหตุผลและสามารถตัดสินใจด้วยตนเอง จำบุคคลใกล้ชิดและเรื่องราวต่าง ๆ ช่วยเหลือตนเองได้ ไม่ได้ป่วยเป็นโรคร้ายแรง และไม่มีอาการฟั่นเฟือน อันเป็นข้อสำคัญในคดีดังกล่าว ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิหรือส่วนได้เสียของโจทก์ร่วมโดยตรง โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำของจำเลย จึงเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานเบิกความอันเป็นเท็จในคดีนี้โดยตรง และมีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการในคดีนี้ได้