คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุรศักดิ์ กิตติพงษ์พัฒนา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 50 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3063/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ทำลายเอกสาร ปลอมแปลงเอกสาร และใช้เอกสารปลอม กรณีมอบอำนาจโดยมีเจตนาทุจริต
ผู้บุพการีมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้เฉพาะแต่ในความผิดอาญาซึ่งผู้เสียหายถูกทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 (2) ประกอบมาตรา 5 (2) แต่คดีที่เป็นความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรมและความผิดเกี่ยวกับเอกสารซึ่งผู้เสียหายถึงแก่ความตายด้วยโรคประจำตัวของผู้เสียหายเอง ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว
จำเลยเอาไปเสียซึ่งเอกสารหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความแต่มีลายมือชื่อของผู้เสียหายในช่องผู้มอบอำนาจและโฉนดที่ดินของผู้เสียหายไปโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 188 และร่วมกับพวกกรอกข้อความในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวว่าผู้เสียหายมอบอำนาจให้จำเลยยื่นขอจดทะเบียนการให้โดยเสน่หาที่ดินของผู้เสียหายแก่จำเลย และใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้หลงเชื่อจนจดทะเบียนโอนที่ดินแก่จำเลย อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคสอง และมาตรา 83 แต่การที่จำเลยกระทำความผิดก็เพื่อโอนที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยซึ่งเป็นเจตนาเดียว ความผิดของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2521/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดในความเสียหายต่อทรัพย์สินจากงานก่อสร้างบนพื้นที่สาธารณะ: ความรับผิดของผู้รับเหมาและผู้ร่วมงาน
บริเวณที่เกิดเหตุเป็นทางหลวงอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ถ้ามีการอนุญาตให้ใช้โดยกรมทางหลวงกำหนดเงื่อนไขหรือข้อกำหนดไว้อย่างไร ผู้ได้รับอนุญาตมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขและข้อกำหนดเช่นนั้น ซึ่งหน้าที่เช่นนี้ย่อมครอบคลุมไปถึงบุคคลอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องโดยอาศัยสิทธิของผู้ได้รับอนุญาต ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ในเขตทางหลวงดังกล่าวในฐานะผู้ร่วมการงานและร่วมลงทุนกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้เข้ามาโดยอาศัยสิทธิขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยย่อมต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขหรือข้อกำหนดดังกล่าวดัวย เสมือนดั่งโจทก์เป็นตัวการและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นตัวแทนของโจทก์ในการดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่ในเขตทางหลวงจากกรมทางหลวงแทนโจทก์
ตามบันทึกข้อตกลงข้อ 8 กำหนดว่า ในกรณีที่กรมทางหลวงจะทำการก่อสร้าง บูรณะหรือขยายทางหลวง เมื่อกรมทางหลวงแจ้งเป็นหนังสือให้รื้อย้ายเสาพาดสาย ท่าร้อยสาย บ่อพัก ตั้งตู้สลับสายหรือสิ่งใดๆ เกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ออกไปให้พ้นเขตก่อสร้างทางหลวงภายในเวลาที่กำหนด องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจะทำการรื้อย้ายให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้รับแจ้ง และตามหนังสืออนุญาตที่กรมทางหลวงอนุญาตให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยใช้ทางหลวงดำเนินการเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมไว้ในข้อ 7 (7) ว่า เมื่อกรมทางหลวงต้องสร้างหรือขยายทางหลวงหรือซ่อมแซมบำรุงทางหลวง ถ้าทำให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของผู้ได้รับอนุญาต ผู้ได้รับอนุญาตจะไม่เรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากกรมทางหลวง เมื่อกรมทางหลวงโดยแขวงการทางกาญจนบุรีได้มีหนังสือถึงองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยให้ดำเนินการรื้อย้ายบรรดาสาธารณูปโภคอันเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ในเขตบริเวณทางหลวงที่จะก่อสร้างซึ่งรวมถึงทางบริเวณที่เกิดเหตุแล้ว กรมทางหลวงย่อมไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบอีก
โจทก์ทราบแล้วไม่ย้ายทรัพย์สินออกไปทั้งที่มีเวลาประมาณ 3 เดือน ถ้ามิใช่การตั้งใจเข้าเสี่ยงภัยอันถือได้ว่าเป็นการยินยอมก็เป็นการประมาทของฝ่ายโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 เมื่อได้รับมอบหมายจากกรมทางหลวงให้ดำเนินการก่อสร้างทางโดยกรมทางหลวงได้แจ้งให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยทราบ ซึ่งถือว่าโจทก์ได้ทราบแล้วได้เข้าดำเนินการตามคำสั่งและภายในกรอบเงื่อนไขที่กรมทางหลวงกำหนดไว้ ย่อมถือได้ว่าไม่มีความประมาทในการดำเนินการขุดทำทางและวางท่อระบายน้ำในทางหลวงเป็นเหตุให้ท่อร้อยสายโทรศัพท์ของโจทก์ ซึ่งฝังอยู่ใต้ดินเสียหาย และจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบอีก ทั้งไม่ปรากฎว่าจำเลยที่ 1 จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพราะสามารถอนุมานได้ว่าถึงหากกรมทางหลวงเข้าดำเนินการด้วยตนเอง ก็คงจะทำอย่างจำเลยที่ 1 เช่นกัน ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่โจทก์ย่อมไม่แตกต่างกัน จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่ต้องรับผิดเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2521/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดในความเสียหายจากการก่อสร้างบนทางหลวง: การประมาทของผู้รับเหมาและความรับผิดของเจ้าของสายเคเบิล
โจทก์และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ทำสัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์ โจทก์เป็นเจ้าของผู้ครอบครองสายเคเบิลโทรศัพท์ที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยที่ 1 บริเวณที่เกิดเหตุเป็นทางหลวงโดยกรมทางหลวงเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่และรับผิดชอบในการกำกับ ตรวจตรา ควบคุมและบำรุงรักษา รวมทั้งการบูรณะและการขยายทาง ผู้ใดจะใช้หรือทำสิ่งใดๆ ต่อทางดังกล่าวจะต้องขออนุญาตจากกรมทางหลวง ซึ่งกรมทางหลวงย่อมมีอำนาจพิจารณาอนุญาตหรือไม่ หรืออนุญาตภายใต้เงื่อนไขหรือข้อกำหนดก็ได้ถ้ามีการอนุญาตโดยกำหนดเงื่อนไขหรือข้อกำหนดไว้ ผู้ได้รับอนุญาตมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขและข้อกำหนดเช่นนั้น ซึ่งหน้าที่เช่นนี้ย่อมครอบคลุมไปถึงบุคคลอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องโดยอาศัยสิทธิของผู้ได้รับอนุญาต ดังนั้น เงื่อนไขหรือข้อกำหนดใดที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยจะต้องรักษาหรือปฏิบัติต่อกรมทางหลวง อันเกี่ยวข้องกับการใช้ทางหลวงในบริเวณที่เกิดเหตุ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการในฐานะผู้ร่วมการงานและร่วมลงทุนกับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยซึ่งเป็นผู้เข้ามาโดยอาศัยสิทธิขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยย่อมต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขหรือข้อกำหนดดังกล่าวด้วย เพราะหากปราศจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยแล้วโจทก์ก็ไม่มีสิทธิจะใช้ทางหลวงดังกล่าวได้ เมื่อปรากฏว่ากรมทางหลวงโดยแขวงการทางกาญจนบุรีได้มีหนังสือถึงองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยโดยผ่านทางหัวหน้าชุมสายโทรศัพท์กาญจนบุรีให้ดำเนินการรื้อย้ายบรรดาสาธารณูปโภคอันเกี่ยวกับกิจการโทรศัพท์ในเขตบริเวณทางหลวงที่จะก่อสร้างซึ่งรวมถึงทางบริเวณที่เกิดเหตุแล้ว กรมทางหลวงย่อมไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบอีกเพราะเป็นกรณีที่ถือว่าโจทก์ทราบแล้ว
การที่โจทก์ได้ทราบการขุดถนนของจำเลยที่ 1 แล้วก่อนเกิดเหตุ แต่ก็มิได้ไยดีว่าอาจเกิดความเสียหายขึ้นแก่ทรัพย์สินของตน พฤติการณ์ดังกล่าวถ้ามิใช่การตั้งใจเข้าเสี่ยงภัยอันถือได้ว่าเป็นการยินยอมก็เป็นการประมาทของฝ่ายโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 1 เมื่อได้รับมอบหมายจากกรมทางหลวงให้ดำเนินการก่อสร้างทางพิพาทโดยกรมทางหลวงได้แจ้งให้องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยทราบ ซึ่งถือว่าโจทก์ได้ทราบแล้วได้เข้าดำเนินการตามคำสั่งและภายในกรอบเงื่อนไขที่กรมทางหลวงกำหนดไว้ ย่อมถือได้ว่าไม่มีความประมาทในการดำเนินการดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งให้โจทก์ทราบอีก อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เพราะสามารถอนุมานได้ว่าถึงหากกรมทางหลวงเข้าดำเนินการด้วยตนเองก็คงจะทำอย่างจำเลยที่ 1 เช่นกัน ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่โจทก์ย่อมไม่แตกต่างกันจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1892/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจตัวแทนเกินขอบเขต สัญญาซื้อขายสมบูรณ์เมื่อผู้ซื้อไม่รู้ถึงมติยกเลิกการซื้อ
จำเลยเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ. สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบลฯ มาตรา 43 ซึ่งความประสงค์ของจำเลยย่อมแสดงออกโดยผู้แทนของจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 วรรคสอง จำเลยออกประกาศสอบราคาซื้อรถยนต์ ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2544 โจทก์ยื่นคำเสนอราคารถยนต์เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2544 และทำสัญญาซื้อขายรถยนต์กับ ส. ประธานกรรมการบริหารของจำเลย เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2544 ความเกี่ยวพันระหว่างโจทก์ จำเลย กับ ส. ตัวแทนของจำเลยต้องพิจารณาตามบทบัญญัติว่าด้วยตัวแทนซึ่งนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 การออกประกาศซื้อรถยนต์ของจำเลยซึ่งเป็นตัวการโดย ส. ซึ่งเป็นตัวแทน เป็นเรื่องที่อยู่ในขอบอำนาจที่ตัวแทนทำได้ แต่เมื่อมีมติที่ประชุมจำเลยยกเลิกความต้องการดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2544 ย่อมเป็นเรื่องที่ตัวแทนทำการอันเกินอำนาจตัวแทน กรณีจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ซึ่งสัญญาซื้อขายดังกล่าวจะใช้บังคับระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกกับจำเลยซึ่งเป็นตัวการได้หรือไม่ย่อมขึ้นอยู่กับว่าในทางปฏิบัติของจำเลยทำให้โจทก์มีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการซื้อขายรถยนต์คันพิพาทอยู่ในขอบอำนาจของ ส. ตัวแทนของจำเลยหรือไม่
ขณะต้องการซื้อรถยนต์ได้มีประกาศของจำเลยให้บุคคลภายนอกทั่วไปทราบแล้ว การจะให้บุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องทราบมติยกเลิกความต้องการดังกล่าวย่อมสมควรทำโดยประกาศหรือวิธีการอื่นใดในลักษณะเดียวกัน แต่จำเลยไม่เคยแจ้งมติยกเลิกการสอบราคาไปยังโจทก์ และไม่ปรากฏว่าได้มีการประกาศมติดังกล่าวให้บุคคลภายนอกทราบ การมีมติดังกล่าวมีลักษณะเป็นการภายในอันไม่สามารถถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกควรรู้ และแม้ว่า ส. จะลงชื่อในสัญญาซื้อขายโดยมิได้กำกับไว้ว่าทำการแทนจำเลย แต่ในตอนเริ่มต้นของสัญญาก็ได้กล่าวไว้โดยชัดแจ้งแล้วว่าเป็นการทำสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยสัญญาซื้อขายจึงมีผลสมบูรณ์ผูกพันระหว่างโจทก์จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบมาตรา 820 การที่ ส. มิได้นำรถยนต์คันพิพาทไปขึ้นทะเบียนครุภัณฑ์ของทางราชการและนำรถยนต์ไปใช้ส่วนตัว เป็นเรื่องการภายในของจำเลยที่ต้องไปว่ากล่าวกันเอง หามีผลทำให้ความรับผิดที่มีต่อโจทก์เปลี่ยนแปลงไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 851/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอม: การก่อภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์จากการวางสิ่งของกีดขวางทางเดิน และการตีความบันทึกข้อตกลง
จำเลยเพียงต่อสู้ไว้ในคำให้การว่า โจทก์เป็นเพียงเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับบุคคลอื่น และฟ้องคดีโดยไม่ได้รับมอบอำนาจหรือได้รับความยินยอมจากเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นเท่านั้น ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาว่า ที่ดินโฉนดตราจองเลขที่ 183 ของโจทก์แบ่งแยกมาจากตราจองเลขที่ 22 แล้วตราจองเลขที่ 22 ได้มีการแบ่งแยกในนามเดิมและแบ่งหักเป็นสาธารณประโยชน์อีก จึงมีปัญหาว่าทางภาระจำยอมที่พิพาทกันอยู่ในเขตโฉนดตราจองเลขที่ 183 ของโจทก์หรือไม่ และทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าหลักฐานแน่ชัดว่าทางภาระจำยอมที่พิพาทอยู่ในโฉนดตราจองเลขที่ 183 ของโจทก์ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นเรื่องนอกประเด็น และเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
ตามบันทึกข้อตกลงเรื่องภาระจำยอมระบุไว้ว่า ที่ดินของโจทก์ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยในเรื่องทางเดินซึ่งหมายความว่าจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์มีสิทธิใช้ทางภาระจำยอมซึ่งเป็นทางเท้าติดกับตึกแถวของจำเลยเดินผ่านหรือเดินเข้าออกไปยังถนนสาธารณะหรือที่อื่นใดก็ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิที่จะไปหวงห้ามมิให้เดินผ่าน เมื่อจำเลยนำวัสดุก่อสร้างมาวางจำหน่ายบนทางภาระจำยอม ก่อสร้างกันสาดหลังคาอะลูมิเนียมเป็นการถาวร นำชั้นมาวางของขายและนำรถยนต์มาจอดบนทางเท้าและทำประตูเปิดปิด ทำให้โจทก์และประชาชนอื่นไม่สามารถเดินผ่านทางภาระจำยอมไปได้โดยสะดวก การกระทำของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์เป็นการก่อภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ ตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1388 อันเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงต้องรื้อถอนและขนย้ายทรัพย์สินของจำเลยที่อยู่บนทางภาระจำยอมออกไป
ศาสชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์และต้องรื้อถอนออกไปตามฟ้องหรือไม่ จึงรวมถึงการที่จำเลยนำสิ่งของวัสดุก่อสร้างมาวางไว้บนทางภาระจำยอมและจะต้องขนย้ายออกไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 794/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นค่าเสียหาย เนื่องจากจำนวนทุนทรัพย์พิพาทไม่เกินสองแสนบาท ตามมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ป.วิ.พ.
คดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกอันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วยกันนั้น ในชั้นฎีกาจำเลยฎีกาเฉพาะค่าเสียหายว่าโจทก์ทั้งสี่ไม่ได้เสียหายตามคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาซึ่งเป็นค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสี่จะมีสิทธิเรียกได้ไม่เกินสองแสนบาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 203/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ในที่ดินส่วนหนึ่งของโฉนด การโอนที่ไม่ได้จดทะเบียนไม่สมบูรณ์ การครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ
ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 1311 ซึ่งมีชื่อบุคคลอื่นเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ การที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่าได้เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยรับการยกให้มาจาก จ. มารดา เมื่อการโอนให้ดังกล่าวมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้จึงตกเป็นโมฆะ ที่ผู้ร้องทั้งสองครอบครองทำประโยชน์อยู่ในที่ดินพิพาทต่อมา ผู้ร้องทั้งสองจึงอ้างได้ว่าเป็นการครอบครองอยู่อาศัยในที่ดินพิพาทด้วยความสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของ ซึ่งก็คือการครอบครองปรปักษ์นั่นเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14758/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้ต้องสุทธิ และมีข้อพิพาทเกี่ยวกับเจตนาในการชำระหนี้แทนกัน ทำให้ไม่สามารถหักกลบลบหนี้ได้
แม้โจทก์จะนำสืบรับว่า จำเลยทั้งสองนำเงินจำนวน 370,000 บาท ชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองที่ดินแทนโจทก์ แต่โจทก์ก็นำสืบด้วยว่า จำเลยทั้งสองชำระหนี้และไถ่ถอนจำนองแทนโจทก์เพื่อขอยืมโฉนดดังกล่าวไปจำนองต่อธนาคาร พ. และโจทก์นำเงินจำนวน 606,000 บาท ไปไถ่ถอนจำนองที่ดินดังกล่าวจากธนาคารคืนมาแล้วเป็นการที่โจทก์ปฏิเสธว่าจำเลยทั้งสองมิได้ชำระหนี้ดังกล่าวแทนโจทก์ สิทธิเรียกร้องที่จำเลยทั้งสองอ้างขอหักกลบลบหนี้กับโจทก์จึงยังมีข้อต่อสู้อยู่หาอาจจะเอามาหักกลบลบหนี้ได้ไม่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 344 จำเลยทั้งสองจึงนำสิทธิเรียกร้องในเงินจำนวน 370,000 บาท ที่จำเลยทั้งสองชำระแก่ ส. แทนโจทก์มาหักกลบลบหนี้ของโจทก์จำนวน 268,504.05 บาท ที่โจทก์ฟ้องไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9800-9802/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรวมพิจารณาคดีและการใช้พยานหลักฐาน: พยานที่เบิกความก่อนรวมคดีถือเป็นพยานลับหลังจำเลย
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2073/2542 ฟ้องจำเลยที่ 2 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1738/2543 และฟ้องจำเลยที่ 3 เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2065/2543 ต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน 2544 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมพิจารณาคดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เข้ากับคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเวลาหลังจากที่ได้สืบประจักษ์พยานโจทก์ 2 ปาก คือ จ. และ บ. ในคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ไปก่อนแล้ว หลังจากการสั่งรวมพิจารณาคดีแล้ว โจทก์นำ จ. มาสืบใหม่ได้เพียงคนเดียว บ. ไม่อาจนำมาสืบได้ ดังนั้น คำเบิกความของ บ. ที่เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ก่อนมีการรวมพิจารณาคดีต้องถือว่าเป็นการสืบพยานลับหลัง ไม่อาจนำมาฟังลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ คงใช้ได้แต่เฉพาะคำเบิกความของ จ. เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้มีโอกาสถามค้าน จ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8888/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความละเมิด, ความรับผิดของผู้บริหาร, การประมาทเลินเล่อ, และการตรวจสอบการเงินของหน่วยงาน
จำเลยที่ 3 พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 จำเลยที่ 3 จึงไม่มีหน้าที่ควบคุมดูแลรับผิดชอบบังคับบัญชาการดำเนินกิจการต่างๆ ของโรงเรียนตั้งแต่วันดังกล่าว ไม่ต้องรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2535 เป็นต้นไป แต่กรมสามัญศึกษาโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าเงินที่จำเลยที่ 1 ยักยอกไปจนถึงวันที่จำเลยที่ 3 พ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนมีจำนวนเท่าใด ย่อมไม่อาจกำหนดให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในจำนวนเงินทั้งหมดได้
กรมสามัญศึกษาโจทก์เป็นกรมในรัฐบาลมีอธิบดีกรมสามัญศึกษาเป็นผู้บริหารราชการ อธิบดีกรมสามัญศึกษาจึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์รวมทั้งการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีด้วย ตามระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ไม่อาจนำบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้แก่นิติบุคคลทั่วไปที่ต้องประทับตราของโจทก์ในการลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีมาใช้แก่โจทก์
ในวันที่กรมสามัญศึกษาโจทก์ร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจแม้จะถือได้ว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดแล้ว ก็ยังไม่อาจถือว่าโจทก์รู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าวด้วย เมื่อคณะกรรมการสอบสวนสอบสวนเสร็จและรายงานผลการสอบสวนต่ออธิบดีกรมสามัญศึกษาว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วยจึงถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันดังกล่าว ปรากฏว่ารองอธิบดีรักษาราชการแทนอธิบดีกรมสามัญศึกษาได้รับรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนวันที่ 14 กรกฎาคม 2537 โจทก์ยื่นฟ้องวันที่ 13 กรกฎาคม 2538 จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังในหน้าที่ของอำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ.2520 ข้อ 20 และข้อ 37 โดยจำเลยที่ 3 ไม่แต่งตั้งผู้ตรวจสอบการรับจ่ายเงินประจำวันเพื่อตรวจสอบการรับจ่ายเงินในแต่ละวัน เป็นเหตุให้ไม่สามารถตรวจสอบพบการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 ไม่เกี่ยวกับบทบัญญัติของพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เพราะบทบัญญัติดังกล่าวบังคับใช้ภายหลังเหตุคดีนี้ จะนำบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาปรับใช้แก่คดีนี้ไม่ได้
จำเลยที่ 2 ได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 3 ให้มีหน้าที่ควบคุมดูแลตรวจสอบการับจ่ายเงินและเป็นประธานกรรมการเก็บรักษาตรวจนับเงินประจำวัน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่ผู้ตรวจสอบการรับจ่ายเงินประจำวันตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเก็บรักษาเงินและการนำเงินส่งคลังในหน้าที่ของอำเภอและกิ่งอำเภอ พ.ศ.2520 ข้อ 20 และข้อ 37 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดในผลแห่งการประมาทเลินเล่อดังกล่าวของตน
of 5