คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 193/34

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 115 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4922/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความบัตรเครดิต: การชำระหนี้ครั้งสุดท้ายทำให้อายุความสะดุดหยุดนับใหม่ได้
จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2558 อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง ต้องเริ่มนับอายุความใหม่นับจากวันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายถึงวันฟ้องเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ยังไม่เกิน 2 ปี ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยซึ่งเป็นผู้ใช้บัตรเครดิตซึ่งเป็นบัตรเสริมจึงต้องรับผิดซำระหนี้จากการใช้บัตรเครดิตซึ่งเป็นบัตรเสริมในการซื้อสินค้าและบริการพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8546/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญาซื้อขายข้าว, ฟ้องซ้อน, การเป็นผู้ประกอบการค้า
ป.พ.พ. มาตรา 193/34 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรม ผู้ประกอบศิลปอุตสาหกรรม หรือช่างฝีมือ เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ หรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่น รวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง" และมาตรา 193/33 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี" ซึ่งความหมายของผู้ประกอบการค้า นอกจากเป็นผู้ประกอบธุรกิจการค้าโดยทำการซื้อขายสินค้าแล้ว ยังต้องเป็นผู้ที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระเพื่อหวังผลกำไรในทางการค้าด้วย โจทก์เป็นองค์การของรัฐจัดตั้งตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล พ.ศ.2496 และ พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การคลังสินค้า พ.ศ.2498 มีวัตถุประสงค์ทำกิจการทั้งปวงเกี่ยวกับสินค้าเกษตร ฯลฯ ทั้งการซื้อขายข้าวเปลือกระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 สืบเนื่องมาจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2548/2549 ของรัฐบาลในสมัยนั้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยสามารถจำนำข้าวได้ในราคาสูง ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง อีกทางหนึ่งก็คงเป็นเพราะเพื่อลดภาระในการดูแลรักษาข้าวเปลือกดังกล่าวของโจทก์ซึ่งฝากไว้ในโกดังเก็บข้าวของจำเลยที่ 1 ซึ่งเข้าร่วมในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2548/2549 โดยให้จำเลยที่ 1 สามารถขายข้าวเปลือกดังกล่าวไปได้ ดังนั้นการขายข้าวเปลือกดังกล่าวของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 จึงมิได้มุ่งหวังกำไรเพื่อหารายได้เข้ารัฐ โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบการค้าในอันที่จะนำอายุความ 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) มาใช้บังคับ เมื่อกรณีตามสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้มีกฎหมายกำหนดเรื่องอายุความไว้ จึงต้องนำกำหนดอายุความ 10 ปี ซึ่งเป็นอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มาใช้บังคับ
คดีอาญาเป็นเรื่องที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสอง ฐานยักยอกทรัพย์คือข้าวเปลือกที่จำเลยทั้งสองรับฝากไว้ตามสัญญาฝากเก็บ แปรสภาพ และจัดจำหน่ายข้าว และขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยักยอกไป แม้จะถือว่าเป็นการขอแทนโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 43 แต่ก็เป็นกรณีที่เนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาอันเป็นมูลละเมิดเท่านั้น ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซื้อข้าวเปลือกจากโจทก์และยังคงค้างชำระราคาข้าวเปลือก จึงขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระราคาข้าวเปลือกที่ยังคงค้างชำระแก่โจทก์ อันเป็นมูลหนี้มาจากการผิดสัญญา ถึงแม้คำขอบังคับในคดีอาญาและคดีนี้เป็นอย่างเดียวกัน แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหามิใช่เป็นอย่างเดียวกัน นอกจากนี้คำฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นเรื่องผิดสัญญา การโต้แย้งสิทธิที่จะนำคดีมาสู่ศาลเป็นเรื่องของคู่สัญญาโดยเฉพาะ พนักงานอัยการที่เป็นโจทก์ในคดีอาญาไม่อาจอาศัยสิทธิในเรื่องจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาซื้อขายข้าวเปลือกมาเป็นข้ออ้างในคำขอส่วนแพ่งได้ เพราะมิได้เป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับความผิดอาญาตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 43 กรณีจึงมิใช่เป็นการฟ้องคดีในเรื่องเดียวกันอันจะเป็นฟ้องซ้อนตามความหมายของ ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15064/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องค่าจ้างจากสัญญาผู้รับเหมา: 5 ปี หากงานทำเพื่อกิจการลูกหนี้
โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง และงานก่อสร้างทุกชนิด ฟ้องเรียกร้องให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าจ้างส่วนที่ค้างชำระตามสัญญา โดยจำเลยที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างให้โจทก์ส่งช่างพ่นสีและช่างพ่นทรายพร้อมอุปกรณ์ไปทำงานให้จำเลยที่ 1 ซึ่งรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำเทินที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้แก่โจทก์นั้น เป็นค่าแรงงาน ค่าเช่าอุปกรณ์ และค่าทำงานล่วงเวลาของคนงานโจทก์ ย่อมถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าการงานที่ได้ทำ และงานที่ได้ทำก็เพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 อยู่ด้วย กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ดังนั้น อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนด 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) หาใช่อายุความ 2 ปีไม่ โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด 5 ปีนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14319/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีสัญญาเช่าเวลาออกอากาศ สถานีโทรทัศน์มีฐานะผู้ประกอบการค้า
โจทก์โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นผู้ดำเนินการหรือบริการภายใต้ข้อตกลงตามสัญญาและเงื่อนไขตามสัญญาเช่าเวลาเพื่อออกอากาศรายการระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง และในการดำเนินการก็ต้องเป็นไปตามระเบียบกองทัพบกว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2536 ตลอดจนการควบคุมจัดการการตกลงกำหนดวันเวลาที่จะแพร่ภาพออกอากาศที่มีการกำหนดกันไว้เป็นการแน่นอน โดยคิดค่าบริการหรือค่าตอบแทนตามอัตราที่โจทก์กำหนดไว้ ถือได้ว่าโจทก์โดยสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 เป็นผู้ค้ารับทำการงานดังกล่าวให้จำเลยทั้งสองในฐานะผู้รับบริการ โจทก์จึงเป็นผู้ประกอบการค้าซึ่งต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในกำหนดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10904/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ค่ากระแสไฟฟ้า: องค์การบริหารส่วนตำบลให้บริการสาธารณูปโภค ไม่ถือเป็นการค้า
จำเลยทั้งสามซื้อกระแสไฟฟ้าจากโจทก์ไปเพื่อดำเนินการจัดให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตรของประชาชนในท้องถิ่น การดำเนินการของจำเลยทั้งสามจึงมุ่งเน้นในการให้บริการสาธารณูปโภคเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอันเป็นประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเองตามที่กฎหมายกำหนด มิใช่เป็นการดำเนินธุรกิจเพื่อประโยชน์ทางการค้าเป็นสำคัญ การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่อยู่ในข้อยกเว้นของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 749/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าทำงานวันหยุด: ศาลฎีกาพิพากษาว่าอายุความ 2 ปีนับจากวันที่สิทธิเรียกร้องเกิดขึ้น
คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของพนักงานตรวจแรงงาน อันเป็นพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 (4) และการพิจารณาคดีแรงงานนั้นจะต้องอยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอ้างและการยื่นบัญชีระบุพยาน การกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ยังไม่อาจตกลงกันได้ การนำพยานหลักฐานเข้าสืบของคู่ความการพิจารณาคดีในศาลแรงงานและการรับฟังข้อเท็จจริงของผู้พิพากษาในศาลแรงงานไว้โดยเฉพาะแล้ว ซึ่งหาได้มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ว่าหากเป็นคดีที่นายจ้างหรือลูกจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 แล้ว ในการพิจารณาคดีศาลแรงงานต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่พนักงานตรวจแรงงานรับฟังยุติไว้ในสำนวนหรือต้องพิจารณาพยานหลักฐานเฉพาะที่ปรากฏจากการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้นไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2545 ให้แก่ ช. เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เพราะ ช. ยื่นคำร้องต่อจำเลยเพื่อเรียกร้องเอาค่าทำงานในวันหยุดเมื่อล่วงเลยกำหนดอายุความ 2 ปีแล้ว ศาลแรงงานกลางมิได้นำพยานหลักฐานใดที่โจทก์สืบเพิ่มเติมในประเด็นนี้ในชั้นพิจารณาคดีมาพิจารณาประกอบด้วยจึงเป็นการวินิจฉัยคดีที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 แม้ศาลแรงงานกลางจะมิได้วินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดของ ช. ดังกล่าว แต่คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อน ซึ่งสิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดอันเป็นค่าจ้างนั้น ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) ให้มีกำหนดอายุความสองปี และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 (3) บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง ดังนั้นสิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2545 รวม 6 วัน จึงเกินกว่ากำหนด 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้องได้ และไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11735/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้ซื้อขาย: เริ่มนับเมื่อส่งมอบสินค้าครบถ้วน ไม่นับแยกแต่ละครั้ง
สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุว่า เงินค่าซื้อขายส่วนที่เหลือจะจ่ายให้เมื่อจำเลยได้รับมอบสิ่งของที่สั่งซื้อไว้ครบถ้วนแล้ว แสดงว่ามูลหนี้ตามสัญญาซื้อขายนี้ถึงกำหนดชำระต่อเมื่อโจทก์ได้ส่งมอบสิ่งของที่สั่งซื้อให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว เมื่อโจทก์ส่งมอบสิ่งของที่สั่งซื้อให้จำเลย 2 ครั้ง อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่จำเลยได้รับมอบสิ่งของที่สั่งซื้อครบถ้วนในครั้งที่ 2 จะนับอายุความแยกเป็นแต่ละครั้งที่มีการส่งมอบสิ่งของที่สั่งซื้อไม่ได้ จำเลยได้รับมอบสิ่งของที่สั่งซื้อครบถ้วนในครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2541 นับถึงวันฟ้องวันที่ 1 ธันวาคม 2542 ยังไม่เกิน 2 ปี สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ค่าสินค้าที่โจทก์ส่งมอบให้จำเลยในครั้งแรกจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11600/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าประกันผลงาน: สิทธิเรียกร้องเริ่มเมื่อครบกำหนด 2 ปีหลังส่งมอบงาน ฟ้องภายใน 2 ปีไม่ขาดอายุความ
โจทก์ส่งมอบสินค้าแก่จำเลยเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2541 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะบังคับให้จำเลยชำระเงินค่าประกันผลงานซึ่งหักจากค่าสินค้าไว้คืนแก่โจทก์ย่อมเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2543 เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2544 จึงยังไม่ขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9138/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องค่าเสาเข็มและบริการตอกเสาเข็ม: กรณีทำเพื่อกิจการของลูกหนี้
กรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยได้สั่งซื้อเสาเข็มจากโจทก์จำนวน 440 ต้น ในราคาต้นละ 8,600 บาท โดยให้โจทก์บริการตอกเสาเข็มให้ด้วย โจทก์ได้ดำเนินการตอกเสาเข็มให้แก่จำเลยเพื่อก่อสร้างอาคารศูนย์การค้า เวล มาร์เก็ต เพลส เสร็จเรียบร้อยแล้ว ศูนย์การค้าที่จำเลยก่อสร้างนั้นมีทั้งส่วนที่จำเลยจะใช้ทำการค้าขายเป็นของตนเองและส่วนที่จำเลยจะให้ผู้อื่นเช่าทำการค้าขาย ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 บัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความ 2 ปี (1) ผู้ประกอบการค้า... เรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำ... เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง และตามมาตรา 193/33 สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความ 5 ปี (5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1)... ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ดังนั้น การที่โจทก์ผู้ประกอบการค้าเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำซึ่งปกติต้องมีอายุความ 2 ปี เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง และการที่โจทก์ตอกเสาเข็มให้แก่จำเลยเพื่อสร้างศูนย์การค้า เวล มาร์เก็ต เพลส เพื่อการที่จำเลยจะใช้ทำการค้าขายเป็นของตนเองรวมทั้งส่วนที่จำเลยจะเอาให้ผู้อื่นเช่าทำการค้าขายด้วย จึงถือได้ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้ (จำเลย) นั้นเอง แม้เสาเข็มที่จำเลยสั่งโจทก์ตอกลงในที่ดินที่จำเลยก่อสร้างศูนย์การค้า จำเลยมิได้นำเสาเข็มดังกล่าวไปทำการขายต่ออีกทอดหนึ่งก็ตาม แต่การที่จำเลยจ้างโจทก์ตอกเสาเข็มเพื่อประกอบเป็นอาคารศูนย์การค้าแม้จะถือเป็นส่วนหนึ่งของอาคาร และจำเลยมิได้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว คงใช้เพื่อประกอบกิจการของฝ่ายจำเลยด้วย จึงเป็นการทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้ย่อมมีอายุความ 5 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9138/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องค่าก่อสร้าง: พิจารณาจากลักษณะงานและกิจการของลูกหนี้
ป.พ.พ. มาตรา 193/34 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความสองปี (1) ผู้ประกอบการค้าหรืออุตสาหกรรม ผู้ประกอบหัตถกรรมเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบ ค่าการงานที่ได้ทำหรือค่าดูแลกิจการของผู้อื่นรวมทั้งเงินที่ได้ออกทดรองไป เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง" และมาตรา 193/33 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้ให้มีกำหนดอายุความห้าปี (5) สิทธิเรียกร้องตามมาตรา 193/34 (1) (2) และ (5) ที่ไม่อยู่ในบังคับอายุความสองปี" การที่จำเลยสั่งซื้อเสาเข็มจากโจทก์และให้โจทก์บริการตอกเสาเข็มเพื่อก่อสร้างศูนย์การค้าที่จำเลยจะใช้ทำการค้าขายเอกงและบางส่วนให้ผู้อื่นเช่าทำการค้านั้นโจทก์ผู้ประกอบการค้าชอบที่จะเรียกเอาค่าของที่ได้ส่งมอบซึ่งปกติมีอายุความสองปีซึ่งแม้เสาเข็มที่จำเลยสั่งให้โจทก์ตอกลงในดินที่จำเลยจะสร้างศูนย์การค้านั้น จำเลยมิได้นำเสาเข็มดังกล่าวไปขายต่ออีกทอดหนึ่งก็ตาม แต่การที่จำเลยจ้างโจทก์ตอกเสาเข็มเพื่อประกอบเป็นอาคารศูนย์การค้าที่จำเลยมิได้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียวคงใช้เพื่อประกอบกิจการของฝ่ายจำเลย ด้วยการนำพื้นที่บางส่วนให้ผู้อื่นเช่าทำการค้าจึงถือได้ว่าเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเองต้องด้วยข้อยกเว้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีอายุความห้าปี
of 12