คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 193/34

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 115 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9251/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความบัตรเครดิต: การชำระหนี้บางส่วนหลังอายุความขาดแล้วถือเป็นการละเสียซึ่งสิทธิในการอ้างอายุความ
จำเลยนำบัตรเครดิตไปใช้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2538และโจทก์ได้กำหนดเวลาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ภายในวันที่ 5เมษายน 2538 ครบกำหนดชำระแล้วจำเลยไม่ชำระ โจทก์จึงอาจบังคับสิทธิเรียกร้องในหนี้ดังกล่าวภายในอายุความ 2 ปี นับแต่วันที่ 6 เมษายน2538 ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 6 เมษายน 2540 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 มิใช่ว่าโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่โจทก์ยกเลิกการเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของจำเลย
เมื่อโจทก์แจ้งยกเลิกการเป็นสมาชิกบัตรเครดิตและบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้ที่ค้างแล้ว จำเลยได้ยินยอมชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 30 มิถุนายน 2540 ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 12 กันยายน2540 ซึ่งถือมิได้ว่าเป็นการรับสภาพหนี้ แต่แสดงว่าจำเลยมิได้ยกอายุความขึ้นมาปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ตามที่เรียกร้อง ดังนั้นแม้สิทธิเรียกร้องของโจทก์จะขาดอายุความแล้วก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยที่ยินยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ถึง 2 ครั้งดังกล่าว ย่อมถือเป็นการแสดงออกโดยปริยายว่าได้ละเสียซึ่งประโยชน์แห่งอายุความนั้นแล้วจำเลยจึงไม่อาจอ้างอายุความมาเป็นข้อตัดฟ้องเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/24 และการนับอายุความจึงเริ่มนับต่อไปใหม่เสมือนไม่เคยนับอายุความมาก่อนโดยถืออายุความแห่งมูลหนี้เดิม กล่าวคือ นับอายุความเริ่มต่อไปใหม่ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2540 โจทก์ยื่นคำฟ้องเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม2541 ยังไม่ล่วงพ้นกำหนดเวลา 2 ปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8805/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกหนี้บัตรเครดิต: เริ่มนับจากผิดนัดชำระ และการชำระหลังขาดอายุความไม่เป็นการรับสภาพหนี้
การที่โจทก์ให้บริการประเภทบัตรเครดิตแก่สมาชิกทำให้สมาชิกสามารถใช้บัตรเครดิตที่โจทก์ออกให้ไปชำระค่าสินค้าหรือบริการโดยไม่ต้องนำเงินไปชำระทันที โจทก์เป็นผู้ชำระแทนสมาชิกไปก่อนแล้วจึงเรียกเก็บจากสมาชิกภายหลังหรือสมาชิกสามารถนำบัตรไปถอนเงินสดล่วงหน้าจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ โดยผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ โดยโจทก์เรียกค่าธรรมเนียมจากสมาชิกเป็นกรณีที่โจทก์ผู้ประกอบธุรกิจในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาเงินที่ได้ออกทดรองไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(7) การฟ้องเรียกเงินทดรองของโจทก์ จึงมีอายุความ2 ปี โจทก์แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตรเครดิตภายในวันที่ 7 พฤษภาคม 2540 แต่จำเลยไม่ชำระตามกำหนด ถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัด โจทก์ย่อมบังคับสิทธิเรียกร้องของตนได้ตั้งแต่วันที่ 8พฤษภาคม 2540 ซึ่งจะครบกำหนดอายุความในวันที่ 7 พฤษภาคม2542 การที่จำเลยชำระหนี้บางส่วนเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2542 นั้นเป็นการชำระหนี้ภายหลังจากขาดอายุความแล้ว จึงเพียงแต่ทำให้ลูกหนี้เรียกคืนไม่ได้ตามมาตรา 193/28 วรรคหนึ่ง เท่านั้น ไม่เป็นการรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามมาตรา 193/14(1)เมื่อโจทก์ฟ้องคดีวันที่ 9 สิงหาคม 2543 ซึ่งหลังครบกำหนดอายุความแล้วฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8340-8341/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องร้องคดีค่ากระแสไฟฟ้า, ลักษณะหนี้, ดอกเบี้ยผิดนัด, และการจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า
โจทก์และจำเลยต้องปรับปรุงสัญญาขุดขนดินและถ่านลิกไนต์ในประเด็นราคาค่าจ้าง เพราะมีการยกเลิกระบบภาษีการค้ามาเป็นระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงจำเป็นต้องหักภาษีการค้าซึ่งเดิมรวมอยู่ในราคาค่าจ้างออกจากราคาค่าจ้างเดิม เพื่อให้เหลือราคาค่าจ้างที่แท้จริง การที่โจทก์และจำเลยไม่ได้แก้ไขสัญญาในเรื่องการจ่ายกระแสไฟฟ้าเหมือนดังที่แก้ไขราคาค่าจ้างเช่นนี้ ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์และจำเลยยังคงยึดถือข้อตกลงเดิมไม่เปลี่ยนแปลง จำเลยจึงต้องปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ คือมีหน้าที่ชำระค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์ในอัตรากิโลวัตต์- ชั่วโมงละ 1.20 บาท การที่โจทก์แยกคิดกระแสไฟฟ้าจากจำเลยโดยแยกเป็นค่ากระแสไฟฟ้ากิโลวัตต์ - ชั่วโมงละ 1.121495 บาท และค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม 0.078505 บาทนั้น ทำให้โจทก์ได้รับเงินค่ากระแสไฟฟ้าไม่ครบ โดยขาดหายไปเท่ากับจำนวนค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม จำเลยจึงต้องชำระเงินจำนวนนี้แก่โจทก์
โจทก์ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่บุคคลทั่วไป ดังเช่นการไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคการที่โจทก์จ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยโดยคิดค่ากระแสไฟฟ้าในราคาที่ต่ำมาก แสดงว่าโจทก์ไม่ได้จ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยในเชิงการค้าหากแต่เป็นการจ่ายกระแสไฟฟ้าตามเงื่อนไขของสัญญาจ้างเหมาขุดขนดินและถ่านลิกไนต์ระหว่างโจทก์และจำเลย ซึ่งนอกจากโจทก์จะต้องจ่ายกระแสไฟฟ้าให้แก่จำเลยดังกล่าวแล้ว โจทก์ยังต้องจัดหาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วส่งถึงบริเวณถังน้ำมันของเหมืองแม่เมาะให้แก่จำเลยตามสัญญาด้วยข้อตกลงเรื่องกระแสไฟฟ้าระหว่างโจทก์กับจำเลยตามเงื่อนไขของสัญญาจึงเป็นเรื่องเฉพาะกิจ ไม่ได้ทำเป็นปกติธุระเช่นจำหน่ายให้แก่บุคคลทั่วไปถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) ประกอบกับหนี้คดีนี้เกิดจากโจทก์สำคัญผิดว่าโจทก์ต้องเป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มแทนจำเลย จึงคิดค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยขาดตกบกพร่องเท่ากับจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อหนี้ส่วนนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30
ตามสัญญาจ้างเหมาขุดขนดินและถ่านลิกไนต์ โจทก์เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยเป็นงวด ตามงวดของการทำงานที่จำเลยส่งมอบให้แก่โจทก์ และจำเลยจะต้องชำระค่ากระแสไฟฟ้าให้แก่โจทก์หลังจากได้รับแจ้งจากโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรภายใน 30 วัน ถ้าผิดนัดจำเลยจะต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เท่ากับอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เสียให้แก่ธนาคาร แต่หนี้ในคดีนี้ไม่ใช่ค่ากระแสไฟฟ้าที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยตามงวดของการทำงานดังที่ระบุไว้ในสัญญา หากแต่เป็นหนี้ที่เกิดจากโจทก์สำคัญผิดว่าโจทก์ต้องเป็นผู้รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มแทนจำเลย ทำให้คิดค่ากระแสไฟฟ้าจากจำเลยขาดจำนวนไป จำเลยจึงไม่ต้องเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ตามอัตราที่โจทก์เสียให้แก่ธนาคารตามสัญญา แต่เมื่อเป็นหนี้เงินจำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7115/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องซื้อขายสินค้า: การซื้อเพื่อผลิตต่อเพื่อขาย ทำให้มีอายุความ 5 ปี
จำเลยประกอบกิจการโรงงานผลิตสี น้ำมันวานิชแลคเกอร์ หมึกพิมพ์ทุกชนิด และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจำหน่ายการที่จำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์ครั้งละมาก ๆ และเป็นเงินจำนวนมากแสดงว่าจำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์ไปเพื่อผลิตสินค้าดังกล่าวเพื่อจำหน่ายและขาย มิใช่ซื้อไปเพื่อใช้เป็นการเฉพาะภายในบริษัทจำเลย กรณีย่อมตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1)ตอนท้ายที่ว่าเว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง และอายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมมีกำหนด 5 ปี ตามมาตรา 193/33(5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6737/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความบัตรเครดิต: เริ่มนับจากวันที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องเมื่อมีการชำระหนี้บางส่วนหรือไม่ชำระ
จำเลยได้ใช้บัตรเครดิตซิตี้แบงก์วีซ่าครั้งสุดท้ายวันที่ 13สิงหาคม 2540 จากนั้นมิได้ใช้อีกต่อไป แต่ได้ชำระหนี้บางส่วนให้แก่โจทก์รวม 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2540 และวันที่ 6ตุลาคม 2540 โดยยอดหนี้ที่เหลือ จำเลยจะต้องชำระภายในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2540 ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิใช้สิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2540 ส่วนหนี้ตามบัตรเครดิตซิตี้แบงก์มาสเตอร์การ์ด จำเลยใช้ครั้งสุดท้ายวันที่ 4 ตุลาคม 2510 และไม่เคยผ่อนชำระหนี้ที่เหลือแก่โจทก์ หนี้ถึงกำหนดชำระวันที่ 1ธันวาคม 2540 ดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันที่ 2ธันวาคม 2540 อายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(7) ย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวได้
ข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัญญาซึ่งระบุว่าหากลูกหนี้ไม่ชำระตามใบแจ้งยอดบัญชีถือว่าลูกหนี้ขอผัดผ่อนการชำระหนี้ เป็นเพียงการที่โจทก์ผ่อนปรนยังไม่ใช้สิทธิเรียกร้องแก่จำเลยเท่านั้น แต่หาเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6589/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การงดสืบพยาน, อายุความค่าจ้าง, และดอกเบี้ยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
บทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 ต้องนำมาใช้บังคับโดยอนุโลมในคดีแรงงานตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31
ในวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ ภายหลังจากศาลแรงงานกลางสอบข้อเท็จจริงจากคู่ความและคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าคดีไม่มีความจำเป็นจะต้องสืบพยาน จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานจำเลยกับพยานโจทก์ และให้นัดฟังคำพิพากษาในวันซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานจำเลยเกือบ 2 เดือน จำเลยมีโอกาสที่จะโต้แย้งคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ให้งดสืบพยานจำเลยซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาได้ แต่จำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาที่ว่า คำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ให้งดสืบพยานจำเลยเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือไม่
โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ต่อมาจำเลยได้ลดค่าจ้างผู้บริหารรวมทั้งโจทก์ลง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2540 การลดเงินเดือนโจทก์และไม่จ่ายค่าจ้างส่วนที่ลดแก่โจทก์ดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ เป็นการผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง และผิดสัญญาจ้าง โจทก์จึงมีสิทธิได้ค่าจ้างส่วนที่ถูกลด โจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าจ้างที่จำเลยไม่มีอำนาจจะลดดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2543 ดังนั้นเฉพาะค่าจ้างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2540 ซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกเอาจากจำเลยจึงขาดอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34
ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง กรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 70 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี จำเลยผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6589/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดค่าจ้างโดยไม่ชอบธรรมและอายุความฟ้องร้องคดีแรงงาน ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
วันที่ 9 มีนาคม 2543 ซึ่งเป็นวันนัดพิจารณาและสืบพยานโจทก์ภายหลังจากศาลแรงงานกลางสอบข้อเท็จจริงจากคู่ความแล้ว เห็นว่าคดีไม่จำเป็นต้องสืบพยาน จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 2 พฤษภาคม 2543 ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากศาลแรงงานกลางมีคำสั่งงดสืบพยานเกือบ 2 เดือน จำเลยมีโอกาสที่จะโต้แย้งคำสั่งที่ให้งดสืบพยานซึ่งเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาได้ แต่จำเลยไม่ได้โต้แย้ง จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226 ประกอบพระราชบัญญัติการจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 31
โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลย ต่อมาจำเลยได้ลดค่าจ้างผู้บริหารรวมทั้งโจทก์ เฉพาะของโจทก์ลดลงไปเดือนละ 2,022 บาท ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2540 รวม 26 เดือน เป็นเงิน 52,572 บาท การลดเงินเดือนและไม่จ่ายค่าจ้างส่วนที่ลดแก่โจทก์เป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจ เป็นการผิดข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและผิดสัญญาจ้าง โจทก์มีสิทธิได้ค่าจ้างส่วนที่ถูกลด เมื่อโจทก์ฟ้องเรียกเอาค่าจ้างที่จำเลยไม่มีอำนาจจะลดดังกล่าวเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2543 ดังนั้นเฉพาะค่าจ้างเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2540 จึงขาดอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 9 วรรคหนึ่งกำหนดว่า ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้างภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 70 ให้นายจ้างเสียดอกเบี้ยให้แก่ลูกจ้างในระหว่างเวลาผิดนัดร้อยละสิบห้าต่อปี เมื่อจำเลยผิดนัดไม่จ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ จำเลยจึงต้องเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามบทบัญญัติข้างต้น มิใช่เสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5795/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีซื้อขายปุ๋ย: องค์การของรัฐบาลไม่ใช่ผู้ประกอบการค้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34(1) ใช้ อายุความ 10 ปี
โจทก์เป็นองค์การของรัฐบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรฯ มาตรา 6(1) ถึง (8) แม้ตาม (8) จะระบุว่าเพื่อจัดหาปัจจัยในการผลิตและเครื่องอุปโภคและบริโภคอันจำเป็นจำหน่ายให้แก่เกษตรกร แต่ก็กำหนดไว้ว่าต้องเป็นราคาอันสมควร จึงมิใช่เป็นการประกอบการค้าซึ่งมุ่งแสวงหากำไรเป็นปกติธุระ ส่วนที่ตามสัญญาซื้อขายปุ๋ยกำหนดราคาปุ๋ยสูงขึ้นในกรณีที่จำเลยชำระราคาล่าช้านั้น หาได้แสดงว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรแต่ประการใดไม่โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบการค้าตามความหมายของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
จำเลยชำระราคาปุ๋ยหลายครั้ง มีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เวลาชำระราคาปุ๋ยครั้งสุดท้ายตามมาตรา 193/15 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5319/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องหนี้บัตรเครดิต: การให้บริการบัตรเครดิตถือเป็นการรับทำงาน สิทธิเรียกร้องมีอายุความ 2 ปี
การให้บริการบัตรเครดิตเป็นวัตถุประสงค์ของโจทก์ การที่โจทก์ให้บริการการใช้บัตรเครดิตแก่สมาชิกโดยเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมโจทก์จึงเป็นผู้ประกอบกิจการในการรับทำงานต่าง ๆ ให้แก่สมาชิกและการที่โจทก์ได้ชำระเงินให้แก่เจ้าหนี้ของสมาชิกไปก่อน รวมทั้งการที่โจทก์ยอมให้จำเลยนำบัตรเครดิตไปถอนเงินสดจากเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติ แล้วจึงเรียกเก็บเงินจากสมาชิกในภายหลังเป็นการเรียกเอาค่าทดรองที่ได้ออกไปก่อน กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการในการรับทำการงานต่าง ๆ เรียกเอาเงินที่ได้ทดรองไปก่อน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในมูลหนี้ดังกล่าวจึงมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/34(7) เมื่อทางนำสืบปรากฏว่าโจทก์แจ้งงดใช้บัตรเครดิตตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2535 และมีการแจ้งให้ชำระหนี้ครั้งสุดท้ายก่อนวันดังกล่าวนี้แล้ว โจทก์จึงอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่ต้นปี 2535 มิใช่วันที่คำบอกกล่าวเลิกสัญญามีผลดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัย เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 9 สิงหาคม 2539 พ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์ได้ ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2326/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความการเรียกร้องค่าจ้างจากสัญญาจ้างทำของ เริ่มนับเมื่อส่งมอบงาน และการเปลี่ยนแปลงสัญญา
สัญญาจ้างทำของไม่ต้องกระทำตามแบบหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือ เพียงแต่ผู้รับจ้างตกลงรับจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่ผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้นก็เป็นการเพียงพอที่จะฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ ในรายการเพิ่มเติมมีการเปลี่ยนแปลงวัสดุก่อสร้างที่มีคุณภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิมและมีการเพิ่มงานมากขึ้น ซึ่งก็หมายความว่าราคาค่าก่อสร้างจะต้องเพิ่มขึ้นกว่าราคาเดิมอย่างมาก ประกอบกับเจ้าของห้องชุดที่มีความประสงค์จะเปลี่ยนแปลงแบบจะต้องได้รับอนุญาตจากโจทก์เสียก่อน จึงฟังได้อย่างแน่ชัดว่าจำเลยได้ตกลงให้โจทก์ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงห้องชุดตามรายการเพิ่มเติมโครงการจริง จำเลยจึงต้องรับผิดในค่าใช้จ่ายส่วนนี้ต่อโจทก์
งานติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าได้ดำเนินการเสร็จในเดือนพฤษภาคม2534 แต่เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับ บ. ในเมื่อขณะนั้นการก่อสร้างงานส่วนที่ 17 ยังไม่แล้วเสร็จ ย่อมมีเหตุผลอันควรที่โจทก์จะรอส่งมอบงานทั้งสองอย่างนี้พร้อมกัน แต่ตราบใดที่ยังไม่มีการส่งมอบงานระหว่างโจทก์กับจำเลย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในการจะเรียกสินจ้างจากจำเลยก็ยังไม่เกิดซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/12 บัญญัติว่า"อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป..."และสิทธิเรียกร้องสินจ้างของโจทก์จะเกิดขึ้นเมื่อได้ส่งมอบการที่ทำตามมาตรา 602 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "สินจ้างนั้นพึงใช้ให้เมื่อรับมอบการที่ทำ" เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบและจำเลยไม่ได้โต้แย้งในข้อนี้ว่า โจทก์ได้ส่งมอบการที่ทำแก่จำเลยในวันที่ 5 มิถุนายน 2534และโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2536 เช่นนี้ สิทธิเรียกร้องตามคำฟ้องของโจทก์ส่วนนี้จึงหาขาดอายุความไม่
of 12