คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 632 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8716/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การต่อเติมอาคารชุดต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของร่วม และต้องไม่กระทบโครงสร้างหรือลักษณะภายนอกของอาคาร
พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ได้บัญญัติให้การใช้กรรมสิทธิ์ห้องชุดมีลักษณะเป็นการจำกัดการใช้แดนกรรมสิทธิ์ของบรรดาเจ้าของร่วมในอาคารชุดให้น้อยลงซึ่งแตกต่างจากหลักกรรมสิทธิ์โดยทั่วไป การที่จำเลยซื้อห้องชุดในอาคารชุด เป็นการสมัครใจของจำเลยเองที่จะต้องรับรู้ข้อจำกัดและต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของโจทก์
ระเบียงเป็นส่วนของห้องชุดที่ยื่นออกไปนอกฝาและเป็นส่วนที่มีการเปิดโล่ง เป็นการออกแบบเพื่อความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์สำหรับอาคารชุดนั้น และผู้ออกแบบประสงค์ให้ใช้ประโยชน์แบบพื้นที่นอกอาคาร ไม่ใช่ส่วนของห้องชุดที่จะมาใช้ประโยชน์แบบเดียวกับส่วนของห้องชุดที่อยู่ภายในหรือจะดำเนินการดัดแปลงต่อเติมโดยพลการได้ เว้นแต่จะปฏิบัติให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด การต่อเติมของจำเลยต้องขอมติต่อเจ้าของร่วมและได้รับอนุญาตเป็นคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดแล้วจึงจะกระทำได้ การต่อเติมห้องชุดของจำเลยจึงมีผลกระทบต่อลักษณะภายนอกและโครงสร้างของอาคารจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์
โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องว่า หากจำเลยไม่รื้อถอนผนังห้องชุด ขอถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการรื้อถอนโดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย กรณีเป็นเรื่องในชั้นบังคับคดีซึ่งโจทก์ชอบที่จะขอต่อศาลให้มีคำสั่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีให้ดำเนินการตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 ทวิ วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่อาจมีคำพิพากษาตามคำขอส่วนนี้ของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8511/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริตจากข้อเท็จจริงในคดีเปิดเผย ไม่ถือเป็นการหมิ่นประมาท
จำเลยลงพิมพ์ข้อความโดยอาศัยข้อเท็จจริงในคดีหมายเลขดำที่ พ.2/2543 ของศาลล้มละลายกลาง และคดีหมายเลขดำที่ 2450/2546 ของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ อันเป็นข้อเท็จจริงที่มีอยู่จริง ทั้งข้อมูลดังกล่าวยังเป็นกระบวนพิจารณาในชั้นศาลที่ดำเนินไปโดยเปิดเผย แม้ในการลงพิมพ์ข้อความของจำเลยจะเป็นการกล่าวสรุปโดยมิได้อ้างว่าเป็นเรื่องของการกล่าวอ้างของคู่ความฝ่ายตรงข้ามกับโจทก์ในชั้นพิจารณาของศาล แต่ก็มิได้เกินเลยไปจากข้อเท็จจริงที่มีอยู่ และความผิดปกติต่าง ๆ ก็ล้วนเป็นเรื่องที่วิญญูชนทั่วไปสามารถรับรู้ได้ แม้จะยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าความจริงเป็นเช่นใดแน่ก็ตาม ประกอบกับเนื้อหาในการลงพิมพ์ข้อความของจำเลยโดยรวมมิได้กล่าวถึงการกระทำของโจทก์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นการกล่าวในเชิงวิเคราะห์วิจารณ์ความล้มเหลวของบรรษัทภิบาลในเอเชียหลังวิกฤตการณ์ด้านการเงินปี 2540 โดยกล่าวถึงการแก้ปัญหาของประเทศไทยเปรียบเทียบกับประเทศอินโดนีเซียและประเทศสิงคโปร์ด้วย ส่วนที่มีการกล่าวถึงบริษัท อ. เนื่องจากเป็นบริษัทได้รับผลกระทบที่เป็นผลร้ายมากที่สุดและมีข้อพิพาทรุนแรงที่สุดในเรื่องล้มละลาย ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตการณ์การเงินจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ อันเป็นเรื่องประชาชนควรรู้ จึงไม่พอถือว่าจำเลยกระทำไปโดยมีเจตนาร้าย หากแต่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำได้ตาม ป.อ. มาตรา 329 (3) จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7945/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนย้ายลูกจ้าง, สิทธิในการเกษียณอายุ, และค่าชดเชย: ข้อบังคับของนายจ้างใหม่มีผลผูกพัน
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 13 ใช้สำหรับกรณีมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง ซึ่งมีผลให้นายจ้างใหม่ต้องรับสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างที่มีอยู่กับนายจ้างเดิมมาด้วยทุกประการ แต่หากเป็นการโอนสิทธิความเป็นนายจ้างให้แก่นายจ้างใหม่นั้นกรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง ซึ่งนายจ้างเดิมและนายจ้างใหม่จะทำได้เมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจด้วย และเมื่อลูกจ้างยินยอมพร้อมใจในการโอนสิทธิดังกล่าวแล้วลูกจ้างนั้นต้องปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างใหม่ด้วยเช่นกัน หากนายจ้างโอนลูกจ้างไปยังนายจ้างใหม่ โดยลูกจ้างไม่ยินยอมก็ต้องถือว่าเป็นการเลิกจ้าง
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 10 วรรคสาม มีผลใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างในแต่ละสถานประกอบกิจการเท่านั้น ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 จึงมีผลใช้บังคับระหว่างจำเลยที่ 1 กับลูกจ้างของจำเลยที่ 1 การโอนย้ายโจทก์จากการทำงานกับจำเลยที่ 1 ไปทำงานกับจำเลยที่ 2 เป็นการปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 577 วรรคหนึ่ง โดยโจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านและทำงานกับจำเลยที่ 2 เป็นเวลาถึง 2 ปี 9 เดือน ถือว่าโจทก์ยินยอมพร้อมใจด้วยโดยปริยาย โจทก์ต้องยอมรับและปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างใหม่คือจำเลยที่ 2 ด้วย แต่จำเลยที่ 2 กับโจทก์ก็มิได้มีข้อตกลงเรื่องกำหนดเกษียณอายุไว้เป็นประการอื่น โจทก์จึงตกอยู่ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 ที่กำหนดเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ โดยไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 1 ที่กำหนดเกษียณอายุเมื่ออายุครบ 65 ปี บริบูรณ์
จำเลยที่ 2 เลิกจ้างโจทก์เมื่อครบกำหนดเกษียณอายุ ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยที่ 2 ที่ปฏิบัติกันทั่วไป มิใช่การเลิกจ้างโดยกลั่นแกล้ง แต่เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควรและเพียงพอ มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7749/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลูกจ้างแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวจากการจัดซื้อ จัดจ้าง โดยเรียกรับเงินจากผู้ขาย เป็นการทุจริตต่อหน้าที่
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 บัญญัติให้ลูกจ้างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติงานให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต ซึ่งหมายความว่า ลูกจ้างมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติงานให้ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรมอันดี เมื่อได้ความว่าโจทก์เป็นผู้จัดการฝ่ายสินค้าและจัดส่ง และได้รับมอบหมายจากนายจ้างให้จัดซื้อรถยกและชั้นวางสินค้าไว้ใช้ในคลังสินค้าของบริษัทนายจ้าง แต่ในการเจรจาซื้อสินค้าดังกล่าวกับจำเลยที่ 1 โจทก์เรียกค่าตอบแทนในการจัดซื้อสินค้าไว้เป็นการส่วนตัว และจำเลยที่ 1 ออกเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ ดังนี้ พฤติการณ์ของโจทก์เป็นการประพฤติทุจริตเบียดบังสิทธิและผลประโยชน์อันมิควรได้ โดยอาศัยตำแหน่งหน้าที่การงานและความไว้วางใจของนายจ้างที่ให้อำนาจในการจัดซื้อจัดจ้าง ข้อตกลงเรียกเงินค่าตอบแทนในการเจรจาซื้อขายสินค้าดังกล่าวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 เช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 ออกให้แก่โจทก์จึงไม่มีมูลหนี้ที่จะบังคับได้ตามกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7703/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังคำให้การในคดีอาญาที่อัตราโทษถึงประหารชีวิต ต้องจัดหาทนายความให้ผู้ต้องหาก่อนสอบสวน มิฉะนั้นคำให้การนั้นใช้ไม่ได้
คดีที่มีอัตราโทษประหารชีวิต ก่อนเริ่มถามคำให้การให้พนักงานสอบสวนถามผู้ต้องหาว่ามีทนายความหรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายความให้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 เมื่อพนักงานสอบสวนไม่ได้จัดหาทนายความให้จำเลยที่ 2 อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม มาตรา 134/1 ถ้อยคำใดๆ ที่จำเลยที่ 2 ให้ไว้ในชั้นสอบสวน ย่อมจะรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ตามมาตรา 134/4 วรรคท้าย ดังนี้ จึงไม่อาจฟังคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 ที่ให้การว่าขณะจำเลยที่ 1 ตรวจนับเมทแอมเฟตามีนในห้องพัก จำเลยที่ 2 อยู่ด้วย มารับฟังเป็นพยานหลักฐานโจทก์เพื่อลงโทษจำเลยที่ 2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7509/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธุระจัดหาการค้าประเวณี: การตีความคำขอท้ายฟ้องและการลงโทษตามกฎหมายที่ถูกต้อง
โจทก์บรรยายฟ้องถึงการกระทำของจำเลยฐานเป็นธุระจัดหาให้ผู้อื่นกระทำการค้าประเวณี ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ส่วนคำขอท้ายฟ้องแม้จะอ้างพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี แต่ความผิดฐานเป็นธุระจัดหาให้ผู้อื่นกระทำการค้าประเวณีตามที่โจทก์บรรยายมาในฟ้อง มีบัญญัติเป็นความผิดอยู่ในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ส่วนตาม พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 บัญญัติเป็นความผิดอยู่ในมาตรา 8 มิใช่มาตรา 9 ดังนี้ การที่ระบุขอให้ลงโทษตามมาตรา 9 ย่อมแปลได้ว่าเป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 นั่นเอง มิใช่ประสงค์ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503 แต่อย่างใด จึงหาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างกฎหมายที่ถูกยกเลิกแล้วมาขอให้ลงโทษจำเลย อันจะมีผลเท่ากับโจทก์มิได้อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) ไม่ ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7501/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ต้องเป็นการลดทอนความเข้มแข็งขององค์กรลูกจ้างจากเหตุที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมสหภาพแรงงาน
การกระทำอันไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่นายจ้างกระทำการใดๆ ที่เป็นการลดทอนความเข้มแข็งขององค์กรลูกจ้างซึ่งจัดตั้งขึ้นมาเพื่อแสวงหาและคุ้มครองประโยชน์เกี่ยวกับการจ้าง การจัดสวัสดิการและการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง ไม่ว่าจะเลิกจ้างหรือกระทำการใดๆ อันเป็นผลให้ลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงานหรือกรรมการสหพันธ์แรงงานไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้ ซึ่งการกระทำดังกล่าวต้องมาจากเหตุที่ลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานได้ดำเนินการตามมาตรา 121 (1) (2) หรือขัดขวางการเข้าหรือออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ขัดขวางการดำเนินการของสหภาพแรงงาน หรือขัดขวางการใช้สิทธิ์ของลูกจ้างในการเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน หรือแทรกแซงในการดำเนินการของสหภาพแรงงานโดยไม่มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 121 (3) (4) และ (5) การที่ลูกจ้างเคยร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานและยื่นฟ้องนายจ้างต่อศาลแรงงานกลาง และการที่นายจ้างมีคำสั่งให้ลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานขับรถประจำที่สถานประกอบการโดยไม่ต้องทำหน้าที่ขับรถรับส่งนักท่องเที่ยว ก็มิได้เนื่องมาจากเหตุที่ลูกจ้างกระทำการสืบเนื่องเกี่ยวข้องในฐานะส่วนหนึ่งของสมาชิกสหภาพแรงงาน นายจ้างจึงมิได้กระทำการใดๆ ต่อลูกจ้างเพื่อลดความเข้มแข็งขององค์กรลูกจ้างดังที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 แต่อย่างใด จึงมิใช่การกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 121 แห่งบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7455/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีอาญา: การได้ตัวจำเลยมาศาลต้องเป็นไปตามกระบวนการ และการแต่งตั้งทนายความยังไม่ถือเป็นการได้ตัว
คดีโจทก์ขาดอายุความวันที่ 6 ธันวาคม 2549 ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสองภายในกำหนดอายุความแล้วก็ตาม แต่โจทก์จะต้องได้ตัวจำเลยทั้งสองมาศาลภายในวันสุดท้ายของกำหนดอายุความคือ ภายในวันที่ 6 ธันวาคม 2549 ด้วย การที่จำเลยแต่งตั้งทนายความเข้าซักค้านพยานโจทก์ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง เป็นการใช้สิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 165 วรรคท้าย และจำเลยยังไม่อยู่ในฐานะจำเลย จึงมิใช่เป็นการได้ตัวจำเลยมาศาล
จำเลยที่ 1 มาศาลโดยการนำมาของทนายโจทก์ มิใช่มาศาลเพราะทราบว่าถูกฟ้องและมาตามหมายเรียกโดยมีเจตนาที่จะมาให้การรับหรือปฏิเสธข้อกล่าวหาของโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการได้ตัวจำเลยที่ 1 มาศาล และการที่ศาลออกหมายจับจำเลยที่ 2 ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการได้ตัวจำเลยที่ 2 มาศาลแล้วเช่นกันเพราะมิฉะนั้นจะมีผลทำให้อายุความในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ฟ้องคดีเอง ขยายออกไปยาวนานกว่าคดีที่ราษฎรร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7343-7345/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินจากคดียาเสพติด: จำเลยที่ไม่คัดค้านมีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ และประเด็นความผิดฐานครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย
สำนวนคดีที่สองและที่สามที่โจทก์ในสำนวนแรกเป็นผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินของกลางรวม 4 รายการ ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 27, 29, 30, 31 นั้น ศาลชั้นต้นได้ประกาศหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายให้บุคคลซึ่งอาจอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินดังกล่าวมายื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอให้ริบทรัพย์สินเข้ามาในคดีแล้ว แต่ไม่มีผู้ใดยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามา รวมทั้งจำเลยที่ 1 และที่ 3 ด้วย ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินทั้งสี่รายการให้ตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติด จำเลยที่ 1 และที่ 3 ซึ่งมิได้ยื่นคำร้องคัดค้านเข้ามาในคดีทั้งสองสำนวนดังกล่าว จึงมิใช่คู่ความ ไม่อาจยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อมาในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์และฎีกาในส่วนนี้และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในปัญหานี้ให้นั้น ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7047/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายที่ดินรุกล้ำที่สาธารณะ/ที่ป่า เจ้าพนักงานที่ดินออกเอกสารสิทธิมิชอบ ผู้ขายต้องรับผิดค่าเสียหาย
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยสมคบกับเจ้าพนักงานที่ดินกระทำการโดยทุจริต ใช้วิธีการให้จำเลยยื่นคำร้องขอรังวัดตรวจสอบเนื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลย และรังวัดรวมเอาที่ดินนอกเขตหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่จำเลยไม่มีสิทธิครอบครอง มารวมกับที่ดินเดิมแล้วแก้ไขเพิ่มจำนวนเนื้อที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้มากขึ้นโดยไม่ชอบ จากนั้นจำเลยนำที่ดินมาขายให้แก่โจทก์โดยหลอกลวงว่าเป็นที่ดินที่จำเลยเป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์หลงเชื่อจึงรับซื้อไว้และจ่ายเงินค่าที่ดินให้จำเลยไปแล้วเป็นการฉ้อโกงโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยคืนเงินค่าที่ดินแก่โจทก์ ดังนี้เป็นการฟ้องว่าจำเลยทำละเมิดต่อโจทก์และเรียกค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิด มิใช่การฟ้องให้จำเลยรับผิดตามสัญญาซื้อขายที่ดิน จึงไม่มีข้อต้องพิจารณาว่าโจทก์มีส่วนผิดในการทำสัญญาหรือเข้าทำสัญญาซื้อขายที่ดินจากจำเลยโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ เมื่อการทำละเมิดเกิดจากการทุจริตฉ้อโกงของจำเลยฝ่ายเดียวโดยโจทก์มิได้มีส่วนสมรู้หรือยินยอมให้จำเลยกระทำการทุจริตดังกล่าว จึงไม่อาจถือว่าโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยไม่สุจริต ทั้งจำเลยไม่อาจอ้างเหตุผลใดที่จะไม่ต้องคืนทรัพย์สินที่หลอกลวงไปคืนแก่โจทก์เพราะบุคคลผู้ทุจริตหามีสิทธิที่จะได้ประโยชน์จากการทุจริตหรือการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของตนไม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยมีเนื้อที่จริงเพียง 22 ไร่ 1 งาน จำเลยสมคบกับเจ้าพนักงานที่ดินทำการรังวัดตรวจสอบเนื้อที่ดินของจำเลยโดยรังวัดรวมเอาที่ป่าที่จำเลยไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์เนื้อที่ 33 ไร่ 2 งาน 40 ตารางวา รวมเข้าเป็นเนื้อที่ดินที่รังวัดได้ใหม่แล้วแก้ไขรูปแผนที่และจำนวนเนื้อที่ดินในหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็น 55 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา การรังวัดและแก้ไขเนื้อที่ดินดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะที่ดินส่วนที่รังวัดเพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นที่ป่าตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 4 (1) เนื่องจากเป็นที่ดินที่ยังมิได้มีบุคคลได้มาตามกฎหมายที่ดินหรือยังไม่มีการออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้แก่บุคคลใด และเป็นที่ดินที่จำเลยไม่มีสิทธิครอบครองอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย ทั้งไม่ได้เข้าทำประโยชน์อยู่จริง จึงไม่มีสิทธิที่จะขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินส่วนนี้ได้ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ วรรคสอง การรังวัดและแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ไม่ชอบดังกล่าวย่อมไม่ทำให้จำเลยได้สิทธิครอบครองหรือก่อให้เกิดกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ที่ดินส่วนดังกล่าวยังคงเป็นที่ดินของรัฐอยู่เช่นเดิม การที่จำเลยอ้างต่อโจทก์ว่าจำเลยเป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินส่วนนี้ด้วยทั้งที่รู้อยู่ว่าไม่เป็นความจริงและนำมาหลอกขายให้โจทก์ จึงเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยคืนเงินค่าที่ดินเฉพาะส่วนที่รังวัดเพิ่มขึ้นโดยไม่ชอบนั้นแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
of 64