คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 632 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4162/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินจากคดียาเสพติด แม้จำเลยเสียชีวิต สิทธิริบทรัพย์สินยังคงมีอยู่ตามกฎหมายพิเศษ
คดีอาญาโดยทั่วไปเมื่อจำเลยถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปก็ตาม แต่ในการริบทรัพย์สินตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 นั้นเป็นบทบัญญัติของกฎหมายพิเศษที่บัญญัติใช้เป็นการเฉพาะว่า คดีไม่ระงับแต่ต้องดำเนินคดีต่อไปภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ฉะนั้นเมื่อจำเลยซึ่งเป็นผู้คัดค้านในคดีนี้ถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินตามคำร้องย่อมตกเป็นของกองทุนป้องกันและปราบปรามยาเสพติดโดยผลของกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4105/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบำเหน็จชราภาพ: การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหลังยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทน
แม้ในขณะที่โจทก์ยื่นแบบขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีชราภาพต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 5 โจทก์ยังไม่มีฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ส. ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (1) แต่ต่อมาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของ ส. ซึ่งเป็นผู้ประกันตน และในขณะนั้นก่อนมี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 19) พ.ศ.2551 มาตรา 6 ความเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายจึงยังคงมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด อันเป็นเวลาก่อนการพิจารณาวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ สิทธิของโจทก์ที่ขอจะรับบำเหน็จชราภาพกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตายในฐานะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนจึงสมบูรณ์ก่อนคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยแล้ว โจทก์ในฐานะทายาทจึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จชราภาพกรณี ส. ผู้ประกันตนจึงแก่ความตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3939/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังคำสารภาพของจำเลยชาวเขาที่ไม่เข้าใจภาษาไทย ต้องมีล่ามแปลตามกฎหมาย หากไม่มี ถ้อยคำรับสารภาพนั้นใช้เป็นหลักฐานไม่ได้
จำเลยเป็นชาวเขาเผ่าว้าไม่เข้าใจภาษาไทยและต้องสื่อสารกันด้วยภาษามือ กับจำเลยต้องเบิกความผ่านล่าม เชื่อว่าจำเลยไม่รู้และเข้าใจภาษาไทย การที่พันตำรวจโท ช. สอบปากคำจำเลยโดยไม่ได้จัดหาล่ามแปลให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 13 จึงยังถือไม่ได้ว่า จำเลยเข้าใจข้อหาและให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ ถ้อยคำรับสารภาพของจำเลยจึงไม่สามารถรับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3748/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของกองทุนรวมซื้อหนี้สถาบันการเงินที่ถูกระงับ – การลงทุนไม่ขัดกฎหมายหลักทรัพย์
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ได้ออกหนังสือรับรองว่า ได้รับจดทะเบียนกองทรัพย์สินของโครงการจัดการกองทุนรวมโจทก์เป็นกองทุนรวมตามมาตรา 124 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2542 กองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยมีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการกองทุนรวมดังกล่าว โดยหนังสือรับรองนี้ได้ออก ณ วันที่ 11 กรกฎาคม 2543 อันแสดงให้เห็นชัดแจ้งว่ากองทุนรวมโจทก์เพิ่งจดทะเบียนหลังจากที่ พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 มีผลใช้บังคับแล้ว หาใช่จัดตั้งขึ้นก่อนที่พระราชกำหนดดังกล่าวใช้บังคับไม่ โจทก์มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงิน ส่วนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด เป็นนิติบุคคลซึ่งได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประเภทกิจการจัดการการลงทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ การที่โจทก์โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ซื้อสินทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจต่าง ๆ ของบริษัทเงินทุนจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) นั้นก็อยู่ในวัตถุประสงค์ของบริษัทและการบริหารหนี้ดังกล่าวของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ก็อยู่ในวัตถุประสงค์ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ที่จะดำเนินการได้เพราะตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ก็ระบุวัตถุประสงค์ไว้ว่าเพื่อประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการจัดการการลงทุนและประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทกิจการการจัดการกองทุนรวมส่วนบุคคล และตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 124 วรรคสอง ก็ระบุวัตถุประสงค์ของกองทุนรวมไว้ว่า กองทุนรวมที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วให้เป็นนิติบุคคล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์นำทรัพย์สินของกองทุนรวมไปลงทุน โดยในการจัดการกองทุนรวมได้บัญญัติไว้ในมาตรา 125 ว่า บริษัทหลักทรัพย์จะต้องดำเนินการจัดการกองทุนรวมอย่างไรบ้าง โดยมีข้อห้ามมิให้บริษัทหลักทรัพย์กระทำการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 126 ดังนี้ การจัดตั้งกองทุนรวมโจทก์จึงเป็นการจัดตั้งขึ้นภายหลังจากที่ พ.ร.ก.การปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 ใช้บังคับแล้ว เพื่อซื้อและรับโอนทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนและบริษัทหลักทรัพย์ต่าง ๆ ที่ถูกระงับการดำเนินกิจการตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือดำเนินการได้และทรัพย์สินถูกนำออกขายทอดตลาดโดยองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เพื่อชำระบัญชี การที่โจทก์โดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ซื้อสินทรัพย์ สินเชื่อธุรกิจซึ่งเป็นสิทธิเรียกร้องตามสัญญาสินเชื่อ สัญญากู้ ตราสารหนี้ และสิทธิเรียกร้องอื่น ๆ ของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ต่าง ๆ ที่ถูกระงับการดำเนินการตามคำสั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังดังกล่าวซึ่งมีบริษัทเงินทุนธนสินธุ์ จำกัด อยู่ด้วย จากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2542 เพื่อนำหนี้ที่ซื้อมานั้นมาบริหารจัดการโดยให้บริษัทบางกอกแคปปิตอลอันไลแอนซ์ จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการ จึงอยู่ในวัตถุประสงค์ของโจทก์เพราะการซื้อสินทรัพย์และสินเชื่อธุรกิจดังกล่าวนั้นจัดว่าเป็นการลงทุนอย่างหนึ่งและการดำเนินของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมวรรณ จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินของกองทุนรวมโจทก์ก็มิได้กระทำการอันเป็นการขัดต่อมาตรา 126 แห่ง พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ที่บัญญัติห้ามไว้แต่อย่างใด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3335/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองไม้หวงห้าม: ครอบครองแทนผู้อื่นก็เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้
คำว่า "ครอบครอง" ตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ ฯ นั้น หาได้มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่า "สิทธิครอบครอง" ตาม ป.พ.พ. ไม่ หากแต่มีความหมายกว้างกว่าโดยหมายความรวมถึงครอบครองเพื่อตนเองและครอบครองแทนผู้อื่นด้วย ทั้งนี้เพราะไม่มีบทกฎหมายใดให้ความหมายจำกัดว่าต้องเป็นการครอบครองเพื่อตนเองเท่านั้นจึงจะเป็นความผิดอีกทั้งในทางอาญาการร่วมกันครอบครองไม้หวงห้ามก็เป็นความผิดเช่นเดียวกัน ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสามรับจ้างผู้อื่นมาชัดลากไม้สักของกลางก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นการครอบครองไม้สักของกลางแทนเจ้าของผู้ว่าจ้าง การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันมีไม้สักของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2806/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานมีเมทแอมเฟตามีนครอบครองเพื่อจำหน่าย ต้องโทษสามเท่า ตาม พ.ร.บ.มาตรการปราบปรามยาเสพติด
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองตาม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน จึงเป็นเจ้าพนักงานตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 10 เมื่อจำเลยกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย อันเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด จึงต้องระวางโทษเป็นสามเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามบทกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นวางโทษจำเลยสามเท่าตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100 จึงไม่ถูกต้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ชอบที่จะปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ไม่ถือว่าเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2642-2643/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสนับสนุนการจำหน่ายยาเสพติด พยานซัดทอดน่าเชื่อถือ ศาลลงโทษได้แม้มิได้ขอ
คำให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนของ ส. , จ. และ ช. ล้วนสอดคล้องต้องกัน แม้เป็นพยานบอกเล่าและพยานซัดทอดระหว่างผู้กระทำความผิดก็ตาม แต่การที่ ส. , จ. และ ช. ให้การไปดังกล่าว เพียงเป็นการบอกเล่าเรื่องราวถึงที่มาของเมทแอมเฟตามีนมิใช่กระทำไปโดยมุ่งต่อผลเพื่อให้ตนเองพ้นผิดแล้ว ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 รับผิดเพียงลำพังนอกจากนั้น ส. กับ จ. ยังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจำเลยที่ 1 โดย ส. เป็นน้องชายและ จ. เป็นภริยา จึงไม่มีเหตุผลใดที่ต้องการกลั่นแกล้งใส่ร้ายจำเลยที่ 1 พยานบอกเล่าและพยานซัดทอดเช่นนี้ถือได้ว่ามีลักษณะและแหล่งที่มา ซึ่งน่าเชื่อว่าจะสามารถพิสูจน์ความจริงได้ จึงนำมารับฟังเพื่อลงโทษจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักมั่นคงฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับ ส. และ จ. ครอบครองเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
ส่วนจำเลยที่ 2 เพียงร่วมกันนำเมทแอมเฟตามีนมาส่งขายให้แก่จำเลยที่ 1 โดยในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ จำเลยที่ 2 มิได้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องด้วย จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่การที่จำเลยที่ 2 นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งขายให้แก่จำเลยที่ 1 เพื่อให้จำเลยที่ 1 มีไว้จำหน่ายอีกทอดหนึ่งนั้น ย่อมถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่การที่จำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อจำหน่ายแล้ว จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าว
โจทก์มิได้ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุน ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการ จึงมิได้เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องอันต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2396/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์รถแทรกเตอร์: ศาลไม่ผูกพันคำวินิจฉัยคดีอาญา ต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวน
คำวินิจฉัยในคดีอาญาอีกคดีหนึ่งของศาลชั้นต้น ที่วินิจฉัยว่ารถแทรกเตอร์เป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. (จำเลยคดีนี้) เป็นคำวินิจฉัยชี้ขาดในชั้นไต่สวนมูลฟ้องคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการและไม่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีนั้น ยังถือไม่ได้ว่าเป็นคำพิพากษาที่วินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์รถแทรกเตอร์ว่าเป็นของจำเลย จึงไม่ผูกพันโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 คดีนี้ศาลล่างทั้งสองจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนคดีเป็นสำคัญ จะถือเอาข้อเท็จจริงซึ่งยุติในคดีก่อนมาผูกมัดให้ศาลวินิจฉัยคดีนี้ตามนั้นหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวเป็นเพียงพยานหลักฐานส่วนหนึ่งซึ่งศาลอาจใช้ประกอบการพิจารณาคดีนี้เท่านั้น การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยคดีนี้โดยไม่ถือตามข้อเท็จจริงในคดีอาญาดังกล่าวจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1928/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐละเมิด: ฟ้องหน่วยงานได้ แต่ฟ้องเจ้าหน้าที่โดยตรงไม่ได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 เป็นเจ้าหน้าที่ขนส่ง กระทำการโดยทุจริต โดยร่วมกับคนร้ายเพื่อจะนำรถยนต์นั้นไปหลอกขายให้แก่ผู้อื่นหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงไม่ตรวจสอบหลักฐานให้ละเอียดว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงหรือเอกสารปลอม และรับจดทะเบียนรถยนต์คันดังกล่าวทั้งสองคราว เห็นได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 ดังกล่าวเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการทั้งสิ้นไม่ว่าจะกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ หากเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์กรณีต้องด้วยมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ฯ โจทก์จะฟ้องเจ้าหน้าที่ไม่ได้ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ได้เท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 ให้ร่วมกันรับผิดในมูลละเมิดที่กระทำไปในการปฏิบัติหน้าที่ได้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246
ฎีกาของโจทก์มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ คงฟ้องได้แต่จำเลยที่ 10 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่จำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 สังกัดอยู่นั้น ไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบด้วยเหตุผลใดและที่ถูกต้องเป็นอย่างไร จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 752-780/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าล่วงเวลา-การทำงานนอกเวลาปกติ-การบังคับคดี-สิทธิเรียกร้องค่าเช่า: ศาลยืนตามคำพิพากษาเดิม
คดีนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาวินิจฉัยไปครั้งหนึ่งแล้วว่าลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้ง 29 คน ไม่ใช่งานขนส่งตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) คำวินิจฉัยของศาลฎีกาในปัญหานี้ย่อมเป็นอันยุติ จำเลยจะรื้อฟื้นในประเด็นข้อกฎหมายนี้มาให้วินิจฉัยอีกไม่ได้ อุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาข้อนี้จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 ประกอบมาตรา 246 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31
ป.วิ.พ. มาตรา 104 ซึ่งอนุโลมใช้แก่คดีแรงงานด้วยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วว่าข้อเท็จจริงที่คู่ความนำสืบพยานมาก่อนมีคำพิพากษานั้นเพียงพอให้ฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นยุติและพอวินิจฉัยได้แล้วจึงวินิจฉัยคดีโดยไม่อนุญาตให้จำเลยนำสืบพยานเพิ่มเติม ถือได้ว่าศาลแรงงานกลางได้ใช้ดุลพินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานในการรับฟังข้อเท็จจริงแล้ว
จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานล่วงเวลาในวันปกติและในวันหยุดในวันและเวลาแน่นอน โจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานล่วงเวลาตามคำสั่งครบถ้วนหรือไม่มีเอกสารลงเวลาทำงานเป็นหลักฐานแน่ชัดอยู่แล้วซึ่งเป็นไปตามระเบียบการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายค่าล่วงเวลา ดังนั้น ในบางวันบางเดือนโจทก์บางคนอาจจะต้องเข้าเวรทำงานตามคำสั่งของจำเลยรวมเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ได้ตามที่ปรากฏจริง อันเป็นการทำงานนอกเวลาทำงานปกติ เมื่อโจทก์ทั้ง 29 คน เข้าเวรทำงานตามคำสั่งของจำเลยแล้ว จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้โจทก์ทั้ง 29 คน เต็มตามระยะเวลาที่เข้าเวรเพื่อทำงานล่วงเวลา
ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 ด้วยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ซึ่งใช้บังคับแก่ทุกรัฐวิสาหกิจ คำสั่งทั้งสามฉบับของจำเลยที่กำหนดอัตราค่าล่วงเวลาของพนักงาน จำเลยจึงต้องอยู่ในบังคับของระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ดังกล่าว เมื่อลักษณะการทำงานของโจทก์ทั้ง 29 คน ไม่ใช่งานขนส่งที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลา ตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 28 (2) จำเลยจึงต้องจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้ง 29 คน
สิทธิตามสัญญาเช่าเป็นทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 138 ดังนั้นสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าที่ดินตามสัญญาเช่าของจำเลยซึ่งเป็นสิทธิตามสัญญาเช่าอย่างหนึ่งจึงเป็นทรัพย์สินของจำเลย แม้จะยังไม่เป็นรายได้ของรัฐตาม พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 มาตรา 39 แต่ก็เป็นรายได้อันเป็นทรัพย์สินของจำเลย จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
of 64