คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประเสริฐ โอนพรัตน์วิบูล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 632 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 749/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าทำงานวันหยุด: ศาลฎีกาพิพากษาว่าอายุความ 2 ปีนับจากวันที่สิทธิเรียกร้องเกิดขึ้น
คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของพนักงานตรวจแรงงาน อันเป็นพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 (4) และการพิจารณาคดีแรงงานนั้นจะต้องอยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการอ้างและการยื่นบัญชีระบุพยาน การกำหนดประเด็นข้อพิพาทที่ยังไม่อาจตกลงกันได้ การนำพยานหลักฐานเข้าสืบของคู่ความการพิจารณาคดีในศาลแรงงานและการรับฟังข้อเท็จจริงของผู้พิพากษาในศาลแรงงานไว้โดยเฉพาะแล้ว ซึ่งหาได้มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ว่าหากเป็นคดีที่นายจ้างหรือลูกจ้างนำคดีมาสู่ศาลแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 125 แล้ว ในการพิจารณาคดีศาลแรงงานต้องพิจารณาข้อเท็จจริงตามที่พนักงานตรวจแรงงานรับฟังยุติไว้ในสำนวนหรือต้องพิจารณาพยานหลักฐานเฉพาะที่ปรากฏจากการสอบสวนของพนักงานตรวจแรงงานเท่านั้นไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องว่าจำเลยซึ่งเป็นพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าทำงานในวันหยุดระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2545 ให้แก่ ช. เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบ เพราะ ช. ยื่นคำร้องต่อจำเลยเพื่อเรียกร้องเอาค่าทำงานในวันหยุดเมื่อล่วงเลยกำหนดอายุความ 2 ปีแล้ว ศาลแรงงานกลางมิได้นำพยานหลักฐานใดที่โจทก์สืบเพิ่มเติมในประเด็นนี้ในชั้นพิจารณาคดีมาพิจารณาประกอบด้วยจึงเป็นการวินิจฉัยคดีที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 แม้ศาลแรงงานกลางจะมิได้วินิจฉัยว่าสิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดของ ช. ดังกล่าว แต่คดีพอวินิจฉัยได้แล้ว จึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเสียก่อน ซึ่งสิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดอันเป็นค่าจ้างนั้น ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9) ให้มีกำหนดอายุความสองปี และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 70 (3) บัญญัติให้นายจ้างจ่ายค่าทำงานในวันหยุดเดือนหนึ่งไม่น้อยกว่าหนึ่งครั้ง ดังนั้นสิทธิเรียกร้องค่าทำงานในวันหยุดระหว่างวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2545 ถึงวันที่ 22 มิถุนายน 2545 รวม 6 วัน จึงเกินกว่ากำหนด 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจจะบังคับสิทธิเรียกร้องได้ และไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง จึงขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (9)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 153/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องอาญาในศาลแขวงต้องระบุองค์ประกอบความผิดครบถ้วน แม้เป็นคดีฟ้องด้วยวาจาก็ตาม
โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนำไม้เคลื่อนที่โดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีใบเบิกทางกำกับจากพนักงานเจ้าหน้าที่อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 39 ซึ่งการนำไม้เคลื่อนที่จะต้องมีใบเบิกทางตามความใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 39 นั้น ต้องเป็นการนำไม้เคลื่อนที่เข้าในลักษณะใดลักษณะหนึ่งตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 38 (1) ถึง (4) ดังนั้น เมื่อโจทก์เพียงแต่บรรยายฟ้องว่าจำเลยนำไม้กระถินเคลื่อนที่ไปตามถนนวังม่วง - พัฒนานิคม โดยไม่ได้รับอนุญาตและโดยไม่มีใบเบิกทางกำกับเท่านั้นโดยมิได้บรรยายฟ้องข้อความตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 38 อนุมาตราใดอนุมาตราหนึ่งแล้ว ฟ้องโจทก์จึงขาดองค์ประกอบความผิดของ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 39 แม้คดีนี้จะเป็นการฟ้องด้วยวาจาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 ซึ่งไม่เคร่งครัดเรื่องฟ้องเคลือบคลุมเหมือนการบรรยายฟ้องเป็นหนังสือในคดีอาญาทั่วไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ก็ตาม แต่เรื่ององค์ประกอบความผิดนั้นยังเป็นหลักการสำคัญที่โจทก์จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ดังนั้น เมื่อบันทึกฟ้องคดีอาญาด้วยวาจาของโจทก์บรรยายไม่ครบองค์ประกอบความผิดแล้ว จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 19 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15973/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษความผิดพยายามกระทำชำเราและกระทำอนาจารเด็ก ศาลต้องลงโทษฐานความผิดที่มีโทษหนักที่สุด
การที่ศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีและฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยให้ลงโทษบทหนักฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะความผิดฐานพยายามกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 80 มีโทษจำคุกขั้นสูง 33 ปี 4 เดือน ส่วนความผิดฐานกระทำอนาจารแก่เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายมีโทษจำคุกขั้นสูงเพียง 15 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงพิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องเป็นให้ลงโทษบทหนักตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสอง (เดิม) ประกอบมาตรา 80 โดยไม่ได้แก้ไขบทความผิดและกำหนดโทษกับลดโทษให้จำเลยอีกกระทงละหนึ่งในสาม ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยกระทงละ 3 ปี 4 เดือน อันถือได้ว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ส่วนความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีเพื่อการอนาจาร พิพากษาแก้เฉพาะโทษ เป็นการแก้ไขเล็กน้อยและให้จำคุกไม่เกินห้าปี คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์มีพิรุธและปรักปรำจำเลย กับขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้จำเลย เป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและการกำหนดโทษ จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งต้องห้ามมิให้ฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15907/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีละเมิดจากสัญญาจ้างแรงงาน และการสะดุดหยุดของอายุความจากการรับสภาพหนี้
จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างโดยขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของบุคคลภายนอกเป็นเหตุให้รถยนต์โดยสารของโจทก์และรถยนต์ของบุคคลภายนอกเสียหาย เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดในส่วนค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดกับรถยนต์โดยสารของโจทก์ จึงเป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความสิบปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 โดยนับจากวันที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้รถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหาย มิใช่นับจากวันที่โจทก์จ่ายค่าซ่อมรถยนต์โดยสารของโจทก์ให้แก่บุคคลอื่นที่โจทก์ได้ว่าจ้างให้ซ่อมรถยนต์โดยสารดังกล่าว เมื่อนับจากวันที่จำเลยที่ 1 กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงานทำให้รถยนต์โดยสารของโจทก์เสียหายถึงวันฟ้องเกินสิบปีแล้ว สิทธิเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์โดยสารของโจทก์จึงขาดอายุความ
สำหรับความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดแก่บุคคลภายนอกซึ่งโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายแทนจำเลยที่ 1 ไปแล้วนั้น แม้จำเลยที่ 1 จะทำหนังสือรับสภาพหนี้ยินยอมให้โจทก์หักค่าจ้างชำระค่าเสียหายดังกล่าวคืนอันเป็นผลให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/14 (1) ก็ตาม แต่เมื่อเริ่มนับอายุความใหม่นับแต่วันถัดจากวันรับสภาพหนี้ถึงวันฟ้องก็พ้นกำหนดสิบปีแล้ว และแม้ว่าโจทก์จะมีสิทธิหักค่าจ้างของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ แต่เมื่อโจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน โจทก์ย่อมมีสิทธิหักค่าจ้างของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้อย่างช้าที่สุดคือวันที่โจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน อายุความสะดุดหยุดลงอันเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ชำระหนี้บางส่วนแก่โจทก์ครั้งสุดท้ายก็คือวันที่โจทก์ไล่จำเลยที่ 1 ออกจากงาน เมื่อนับถัดจากวันดังกล่าวถึงวันฟ้องก็เกินสิบปีแล้วเช่นกัน สิทธิเรียกร้องของโจทก์ในส่วนเงินค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ชำระแก่บุคคลภายนอกแทนจำเลยที่ 1 จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15630/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสนับสนุนการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์และใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์โดยมิชอบ แม้ไม่มีเจตนาตั้งแต่ต้น ศาลพิจารณาเป็นหลายกรรม
จำเลยมิได้ร่วมกับคนร้ายในการลักบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหาย การใช้บัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายทำรายการเพื่อโอนเงินคงเป็นเรื่องของคนร้ายซึ่งทราบรหัสบัตรเอทีเอ็มของผู้เสียหายมิใช่จำเลยเป็นผู้กระทำ ไม่พอฟังว่าเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ แต่การที่จำเลยยอมให้คนร้ายโอนเงินจากบัญชีผู้เสียหายเข้าบัญชีของจำเลยและยอมให้คนร้ายใช้บัตรเอทีเอ็มของจำเลยเพื่อให้การลักทรัพย์เป็นผลสำเร็จดังกล่าว ถือเป็นเพียงการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิด จำเลยจึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86
การลักเงินของผู้เสียหายโดยใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์เบิกถอนเงินผ่านเครื่องฝากถอนเงินอัตโนมัติในแต่ละครั้ง ก็เป็นความผิดสำเร็จในตัวต่างกรรมต่างวาระกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15626/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานบอกเล่าและการพิสูจน์ความผิดฐานลักทรัพย์ โดยมีพฤติการณ์พิเศษและพยานหลักฐานสนับสนุน
พฤติการณ์การกระทำของจำเลยกับข้อเท็จจริงที่ได้จากเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมซึ่งกระทำการตามหน้าที่และไม่มีเหตุให้กลั่นแกล้งจำเลย น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงไม่ต้องห้ามที่จะนำมารับฟังเป็นพยานแวดล้อมกรณี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 (1)
บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนและพยานหลักฐานอื่นของผู้เสียหายในการยืนยันตัวจำเลย อันเป็นเพียงพยานบอกเล่าซึ่งโดยหลักต้องห้ามมิให้รับฟัง เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น และแม้จะเข้าข้อยกเว้น ในการรับฟัง ศาลจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง แต่เมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายมาศาลและพร้อมที่จะเข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ ระหว่างรอการพิจารณาคดี มีญาติของจำเลยสองคนเข้าไปพูดคุยกับผู้เสียหาย จากนั้นผู้เสียหายออกไปจากศาลโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้เสียหายเพื่อนำตัวมาเป็นพยานหลายนัด แต่ไม่ได้ตัวมาจนต้องงดสืบพยานปากผู้เสียหาย การหลบหนีและไม่ยอมมาเบิกความของผู้เสียหายน่าเชื่อว่าเพื่อช่วยเหลือจำเลย ถือเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นไม่อาจเอาผู้เสียหายมาเบิกความได้อันเป็นข้อยกเว้นให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่าได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 (2) และยังถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี ศาลย่อมรับฟังพยานบอกเล่าดังกล่าวเพื่อลงโทษจำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15496/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาพิพากษานอกฟ้องอุทธรณ์ในคดีพยายามฆ่า และอำนาจศาลฎีกาในการอ้างเหตุเพื่อความสงบเรียบร้อย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น เป็น 2 กรรม ต่างกรรมต่างวาระ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นในกรรมหลังเพียงกระทงเดียว จึงเป็นการยกฟ้องกรรมแรกและลงโทษกรรมหลัง โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เห็นว่าจำเลยไม่ได้ร่วมกับพวกกระทำความผิดกรรมหลัง จึงชอบที่จะยกฟ้องความผิดกรรมหลังด้วย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 หยิบยกข้อเท็จจริงถึงการกระทำของจำเลยกรรมแรกซึ่งยุติไปแล้วขึ้นมาวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำความผิดและพิพากษาลงโทษจำเลยดังกล่าว จึงเป็นการพิจารณาพิพากษานอกฟ้องอุทธรณ์ อันเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14919-14978/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อนในคดีแรงงาน: สหภาพแรงงานฟ้องแทนลูกจ้างแล้ว ลูกจ้างฟ้องซ้ำถือเป็นฟ้องซ้อน
โจทก์ทั้งหกสิบเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานขนส่งโตโยต้าประเทศไทย สมาชิกมีมติเอกฉันท์ให้สหภาพแรงงานขนส่งโตโยต้าประเทศไทยฟ้องจำเลยคดีนี้ให้ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างและเรียกค่าเสียหายแทนสมาชิกสหภาพแรงงานด้วย จึงเป็นการดำเนินการโดยถูกต้องตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 103 (2) และมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ทั้งหกสิบรวมทั้งลูกจ้างอื่นที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานขนส่งโตโยต้าประเทศไทยซึ่งผลของคำพิพากษาในคดีดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์ทั้งหกสิบในคดีนี้ด้วย ดังนั้นสหภาพแรงงานขนส่งโตโยต้าประเทศไทยจึงเป็นผู้อยู่ในฐานะเดียวกับโจทก์ทั้งหกสิบและเป็นผู้ใช้สิทธิแทนโจทก์ทั้งหกสิบฟ้องคดี เมื่อโจทก์ทั้งหกสิบมาฟ้องคดีนี้โดยอ้างว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ทำให้โจทก์ทั้งหกสิบเสียหาย ขอเรียกค่าเสียหายนับแต่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าวมีผลบังคับจนถึงวันฟ้อง อันเป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกันกับที่สหภาพแรงงานขนส่งโตโยต้าประเทศไทยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางและคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของศาลฎีกา คำฟ้องคดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน มาตรา 31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14550-14707/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องเคลือบคลุมในคดีแรงงาน และการกำหนดหน้าที่นำสืบของศาลแรงงาน
การพิจารณาว่าคำฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ต้องพิจารณาจากคำฟ้อง โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดบรรยายฟ้องว่า โจทก์แต่ละคนเข้าทำงานกับจำเลยตามวัน เดือน ปี ที่ระบุในคำฟ้องจนถึงวันสุดท้ายที่อ้างว่าถูกจำเลยเลิกจ้าง และเรียกค่าจ้าง ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลา โดยนับจากวันที่โจทก์แต่ละคนเข้าทำงานจนถึงวันสุดท้ายที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุแล้วคำนวณเป็นยอดเงินรวมของค่าจ้าง ค่าทำงานวันหยุด และค่าล่วงเวลา โดยมิได้บรรยายให้แจ้งชัดว่าจำเลยค้างจ่ายเงินดังกล่าวในงวดใด วัน เดือน ปีใด และค้างจ่ายแต่ละครั้งเป็นจำนวนเท่าใด โดยเฉพาะวันหยุดนั้น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 มีถึง 3 ประเภท คือวันหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี และวันหยุดพักผ่อนประจำปี ซึ่งตามมาตรา 61 บัญญัติค่าทำงานในวันหยุดสำหรับลูกจ้างซึ่งมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดกับลูกจ้างซึ่งไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันหยุดไว้แตกต่างกัน แต่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดมิได้บรรยายคำฟ้องให้ชัดแจ้งว่าจำเลยค้างชำระค่าทำงานในวันหยุดประเภทใด อัตราค่าทำงานในวันหยุดเท่าไร คำฟ้องของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดจึงมิได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุม
การกำหนดประเด็นพิพาทและหน้าที่นำสืบในคดีแรงงานไม่จำต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เนื่องจาก พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะได้บัญญัติไว้แล้วในมาตรา 39 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่แสดงให้เห็นชัดเจนว่าการกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดในคดีแรงงานนำพยานมาสืบก่อนหรือหลังเป็นอำนาจและดุลพินิจของศาลแรงงานโดยเฉพาะ
เดิมโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดซึ่งเป็นคนต่างด้าวพักอาศัยในโรงงานของจำเลย ต่อมาขอออกไปพักอาศัยนอกโรงงานโดยทำข้อตกลงร่วมกับจำเลยว่าโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดมีหน้าที่ต้องดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดลงโดยเสียค่าใช้จ่ายเอง การที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดไม่ดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานทั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าหากไม่มีใบอนุญาตทำงานจะไม่สามารถทำงานกับจำเลยต่อไปได้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดไม่ประสงค์จะทำงานกับจำเลยต่อไป การที่จำเลยไม่ให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดทำงานเป็นการดำเนินการให้ต้องตามความประสงค์ของโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปด หาใช่เกิดจากความประสงค์ของจำเลยแต่ต้นที่จะไม่ให้โจทก์ทั้งหนึ่งร้อยห้าสิบแปดทำงานไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14450-14482/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฐานคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการเกษียณอายุ ต้องรวมเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้น แม้มีข้อตกลงขัดแย้ง
ตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 มาตรา 13 (1) บัญญัติให้คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์มีอำนาจหน้าที่กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้าง โดยสภาพการจ้างหมายความรวมถึงค่าจ้างด้วย คณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ใช้อำนาจกำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าตอบแทนความชอบในการทำงานเมื่อเกษียณอายุสำหรับลูกจ้างที่ทำงานก่อนเกษียณอายุเกิน 15 ปี เท่ากับค่าจ้างที่ได้รับก่อนเกษียณอายุเป็นจำนวน 300 วัน ดังนั้น ค่าจ้างทุกประเภทไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไรย่อมเป็นค่าจ้างที่จะนำมาใช้ในการคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงานเมื่อเกษียณทั้งสิ้น การที่นายจ้างจัดทำบัญชีเงินเดือนแยกประเภทค่าจ้างเป็นหลายบัญชีและเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปไม่เป็นผลให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำค่าจ้างในบัญชีใดบัญชีหนึ่งมาคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงาน
สำหรับเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นมีลักษณะเป็นเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่ลูกจ้างเพื่อตอบแทนการทำงานปกติในวันทำงานของลูกจ้าง เงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้าง ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์กำหนดให้ถือเอาอัตราค่าจ้างเป็นเกณฑ์ในการคำนวณจ่ายค่าตอบแทนความชอบในการทำงานเมื่อเกษียณอายุ ดังนั้น ในการจ่ายค่าตอบแทนความชอบในการทำงานนายจ้างต้องจ่ายให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายซึ่งต้องรวมเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นมาเป็นฐานคำนวณด้วย การที่จำเลยกับสหภาพแรงงานทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยมีเงื่อนไขมิให้นำเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นไปรวมกับค่าจ้างเพื่อคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงาน จึงเป็นการฝ่าฝืนประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสหภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลผูกพันลูกจ้าง จำเลยจึงต้องนำเงินเพิ่มพิเศษเต็มขั้นไปรวมคำนวณค่าตอบแทนความชอบในการทำงานด้วย
of 64