พบผลลัพธ์ทั้งหมด 78 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11337/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เบิกความเท็จในชั้นไต่สวนและพิจารณาเป็นกรรมเดียว คดีอาญา
การที่จำเลยเบิกความเท็จสองครั้งในคดีเดียวกันคือชั้นไต่สวนมูลฟ้องครั้งหนึ่งกับชั้นพิจารณาอีกครั้งหนึ่งเป็นเพียงการนำสาระสำคัญของข้อความในเรื่องเดียวกันมูลเหตุเดียวกันมากล่าวซ้ำตามครรลองของเรื่องโดยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวคือให้โจทก์ต้องรับโทษทางอาญาในคดีนั้นเท่านั้น แม้จะเป็นการเบิกความคนละคราวคนละวาระกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10471/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การลงชื่อในคำฟ้องอาญา: โจทก์ต้องลงชื่อด้วยตนเอง หรือทนายความลงชื่อแทนไม่ได้
การที่โจทก์ทั้งสองมิได้ลงชื่อในคำฟ้องคดีอาญา แต่ให้ทนายโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ลงชื่อในฐานะโจทก์ทั้งสอง จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10020/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันในหนี้ค่าเบี้ยประกันภัยที่แยกจากหนี้เงินกู้หลัก
จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม และจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้ด้วย โดยจำเลยที่ 1 ต้องเอาประกันภัยทรัพย์จำนอง โจทก์ได้ออกเงินทดรองจ่ายเบี้ยประกันแทนจำเลยที่ 1 ไปก่อน หนี้ค่าเบี้ยประกันภัยทรัพย์จำนองเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากสัญญาจำนอง จึงไม่เกี่ยวกับหนี้เงินกู้ที่จำเลยที่ 2 ค้ำประกันและหลุดพ้นจากความรับผิดเนื่องจากหนี้ดังกล่าวขาดอายุความ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความรับผิดในหนี้ค่าเบี้ยประกันภัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9230/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลอุทธรณ์คดีริบของกลางที่ไม่ใช่คดียาเสพติด ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นสั่งริบรถจักรยานยนต์ของกลางสืบเนื่องจากจำเลยทั้งสองกระทำความผิดในข้อหาความผิดต่อเจ้าพนักงาน จึงมิใช่คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและไม่อยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ดังนี้ เมื่อผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ร้องจึงเป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาอุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7013/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
พยานหลักฐานไม่เพียงพอลงโทษจำเลย จำเลยปฏิเสธ ผู้เสียหายไม่เบิกความต่อศาล
ผู้เสียหายยังมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะสามารถติดตามตัวผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยานได้ แต่หาได้ดำเนินการไม่จึงมิใช่กรณีที่มีเหตุจำเป็น เนื่องจากไม่สามารถนำบุคคลซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้ และมีเหตุผลสมควร เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (2) แม้โจทก์จะมี จ. ที่ทราบเหตุการณ์จากผู้เสียหาย และพันตำรวจโท ส. พนักงานสอบสวนที่เบิกความยืนยันตามเหตุการณ์ที่ได้ทราบจากผู้เสียหายประกอบคำให้การของผู้เสียหายล้วนแต่เป็นเพียงพยานบอกเล่า เมื่อจำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ พยานหลักฐานของโจทก์ย่อมไม่พอให้รับฟังลงโทษจำเลยทั้งสามได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6530/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่จากความผิดขับรถเมาแล้วเกิดอุบัติเหตุ ไม่เข้าข่ายการใช้ ม.50 ป.อ. ที่เกี่ยวข้องกับอาชีพ
การที่ศาลจะนำ ป.อ. มาตรา 50 มาใช้บังคับต้องได้ความว่า จำเลยประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ และได้กระทำความผิดโดยอาศัยโอกาสจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ หรือเนื่องจากการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพ และศาลเห็นว่าหากจำเลยประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นต่อไป อาจกระทำความผิดเช่นนั้นขึ้นอีก ศาลจะสั่งไว้ในคำพิพากษาห้ามประกอบอาชีพหรือวิชาชีพนั้นมีกำหนดเวลาไม่เกินห้าปีนับแต่วันพ้นโทษไปแล้วก็ได้ แต่ความผิดของจำเลยเป็นความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสี่ ไม่เกี่ยวกับอาชีพหรือวิชาชีพที่จำเลยประกอบอยู่ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองที่ให้เพิกถอนใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลของจำเลย จึงหาใช่คำสั่งตาม ป.อ. มาตรา 50 ไม่ แต่เป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย กรณีจึงไม่อาจนำ ป.อ. มาตรา 50 มาใช้บังคับได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3136/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การนับโทษต่อในคดีความผิดเกี่ยวพันกัน โทษรวมต้องไม่เกิน 50 ปี ศาลฎีกาแก้ไขหมายจำคุก
ในวันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 2,000 เม็ด และเฮโรอีน 1 หลอดบิ๊ก ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจนำจำเลยที่ 1 ไปตรวจค้นที่บ้านพักพบเมทแอมเฟตามีน 4,800 เม็ด และเฮโรอีน 2 หลอดบิ๊ก กับอาวุธปืนลูกซอง 1 กระบอก โจทก์แยกฟ้องเป็น 2 คดี ทั้งที่ลักษณะความผิดของจำเลยที่ 1 ทั้งสองคดีเกี่ยวพันกัน ซึ่งโจทก์อาจฟ้องจำเลยที่ 1 ทุกกระทงความผิดเป็นคดีเดียวกัน และอาจพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกันได้ คดีนี้และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1111/2548 ของศาลชั้นต้น จึงมีความเกี่ยวพันกันจนอาจฟ้องเป็นคดีเดียวกันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 160 วรรคหนึ่ง การนับโทษต่อของจำเลยที่ 1 จึงต้องอยู่ในบังคับของ ป.อ. มาตรา 91 (3) คือ เมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้วจะเกินกว่า 50 ปี ไม่ได้ เมื่อคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1111/2548 ของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุกมีกำหนด 33 ปี 4 เดือน จึงนำโทษจำคุกในคดีนี้ไปนับต่อจากโทษในคดีดังกล่าวมีกำหนด 16 ปี 6 เดือน เท่านั้น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2906/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในกระบวนการยุติธรรมและการใช้ดุลพินิจของศาลในการสืบพยานคดีควบคุมตัวโดยมิชอบ
การที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครบถ้วนอันเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่จะใช้อำนาจสืบพยานเองโดยพลการ ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 228 ให้อำนาจไว้ ทั้งศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบมานั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้หรือไม่ และพิพากษาคดีไปตามนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 104 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องลงวันที่ 4 ธันวาคม 2551 ของผู้ร้องที่ขอให้หมายเรียกพยานอันดับที่ 3 และอันดับที่ 6 ตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ของผู้ร้องเพราะเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีจึงชอบแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1798/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การถอนฟ้องของโจทก์ร่วมและการวินิจฉัยความผิดฐานพยายามฆ่า จำเลยต้องรับผิดตามเจตนา
โจทก์ร่วมทั้งสองลงลายมือชื่อท้ายคำร้องจำเลยวันที่ 28 ธันวาคม 2549 ว่า โจทก์ร่วมทั้งสองตกลงยอมรับค่าเสียหายดังกล่าวข้างต้นและได้รับไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ติดใจเรียกร้องอย่างอื่นอีกและไม่ติดใจที่จะดำเนินคดีกับจำเลยทั้งทางแพ่งและทางอาญาอีกต่อไป แปลความหมายได้ว่าโจทก์ร่วมทั้งสองไม่ติดใจหรือประสงค์ขอเข้าร่วมเป็นโจทก์อีกต่อไป โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่อาจฎีกาได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองมาไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ และมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมทั้งสองถอนคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 532/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมที่ศาลชั้นต้นรับไว้ ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่าเหตุอุทธรณ์ไม่เข้าข้อยกเว้นตามกฎหมาย จึงยกฎีกา
คำว่า "ฉ้อฉล" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายว่า ใช้อุบายหลอกลวงโดยเอาความเท็จมากล่าวเพื่อให้เขาหลงผิด ดังนั้นข้ออ้างตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ว่า จำเลยร้องไห้โอดครวญ ก้มลงกราบเท้าโจทก์ที่ 1 และพูดจาหว่านล้อมโจทก์ที่ 1 ให้ช่วยพูดขอร้องโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 และที่ 6 ให้ยกที่ดินพิพาทแก่จำเลย และจำเลยจะจ่ายเงิน 5,000,000 บาท เป็นค่าตอบแทน หากไม่ยอมทำตามจำเลยจะฆ่าตัวตายทันทีนั้น จึงมิใช่เป็นการฉ้อฉล โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ไม่อาจอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ที่ว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 6 มิได้เข้าร่วมไกล่เกลี่ยด้วย เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น ก็หาใช่เป็นการกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาตามยอมของศาลชั้นต้นละเมิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ จึงไม่เข้าเหตุหนึ่งเหตุใดตามข้อยกเว้นใน ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง ที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 มา และศาลอุทธรณ์ภาค 5 รับวินิจฉัยให้เป็นการไม่ชอบ ถือว่าปัญหาดังกล่าวเป็นข้อที่ไม่ได้ว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 โจทก์ที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ย่อมไม่มีสิทธิฎีกาปัญหาดังกล่าวต่อมาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง