คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุรศักดิ์ คีรีวิเชียร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 78 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13353/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยหลังศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีเกี่ยวกับยาเสพติด เนื่องจากไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนการฎีกาตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ถอนการยึดทรัพย์ที่ดินของจำเลยที่ 1 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้เพื่อใช้ค่าปรับ แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้รับประโยชน์จาก พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 ก็ตาม แต่ก็เป็นกรณีที่ขอให้ศาลไม่บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ จึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12668/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่รอการลงโทษเจ้ามือการพนัน: ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจจากพยานหลักฐานและวงเงินพนันได้ชอบด้วยกฎหมาย
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้ามือที่มีวงเงินในการเล่นการพนันเป็นจำนวนมาก เป็นการวินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจากับบัญชีของกลางคดีอาญาท้ายบันทึกการฟ้องดังกล่าวว่า เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสิบสามคนพร้อมเงินสด 28,000 บาท และอุปกรณ์ในการเล่นการพนัน นอกจากนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 5 ด้วย เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงนำบทบัญญัติดังกล่าวมาวินิจฉัยลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 เป็นการให้เหตุผลถึงการใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำเลยที่ 1 ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในบันทึกการฟ้องคดีอาญาด้วยวาจากับบัญชีของกลางคดีอาญาท้ายบันทึกการฟ้องและคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 ประกอบมาตรา 215 พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11985/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาลและการแจ้งความเท็จ: ศาลชั้นต้นประทับฟ้องคดีที่เกินอำนาจ ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาและคืนฟ้อง
คดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่า จำเลยแจ้งความร้องทุกข์และให้การต่อพนักงานสอบสวนตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามความเข้าใจของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะไม่ประทับฟ้องและโอนคดีไปให้ศาลที่มีอำนาจพิพากษาคดี การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีไปนั้นเป็นการไม่ชอบ จำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความ และพิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ประทับรับฟ้อง ให้คืนฟ้องโจทก์เพื่อให้นำไปดำเนินคดีในศาลที่มีอำนาจ มีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง จำเลยฎีกาไม่ได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11720/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจออกหมายจับของผู้พิพากษา และสิทธิอุทธรณ์ฎีกาเมื่อศาลชั้นต้นปฏิเสธยกเลิกหมายจับ
เมื่อมีการกล่าวหาว่าบุคคลใดกระทำความผิดอาญา บุคคลนั้นย่อมตกอยู่ในฐานะเป็นผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (2) พนักงานสอบสวนย่อมยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้ต้องหาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 66 เพื่อให้ได้ตัวมาสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 ซึ่งตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (1) กำหนดให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจออกหมายจับได้ ประกอบกับ ป.วิ.อ. มาตรา 59 วรรคสี่ ตอนท้าย กำหนดให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมายจับได้หากความปรากฏต่อศาลในภายหลังว่า มีการออกหมายจับไปโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และมาตรา 68 กำหนดให้หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน ดังนี้ อำนาจในการออกหมายจับผู้ต้องหาจึงเป็นอำนาจเฉพาะตัวของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นยกเลิกหรือเพิกถอนหมายจับ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องจะอุทธรณ์หรือฎีกาอีกไม่ได้
ปัญหาว่าผู้ร้องมีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาหรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11447/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: จำเลยมิอุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดี แล้วฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
จำเลยทั้งสองฎีกาขอให้กลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง แต่ระหว่างฎีกาโจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ถอนฟ้องเฉพาะความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงและให้จำหน่ายคดีในความผิดฐานดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) และกำหนดโทษจำเลยทั้งสองในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 264 วรรคแรก, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก, 83 ดังนี้ หากจำเลยทั้งสองไม่เห็นด้วยกับคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง โดยเห็นว่าศาลชั้นต้นต้องยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา จำเลยทั้งสองชอบที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 5 แต่จำเลยทั้งสองไม่อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นนั้น กลับฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ซึ่งไม่ได้วินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาที่มิได้คัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11181/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าชดใช้ค่าจอดรถจากการซ่อมรถยนต์เช่าซื้อ: สิทธิเรียกร้องของผู้ซ่อมเมื่อเจ้าของรถไม่ชำระค่าซ่อม
ว. เช่าซื้อรถยนต์จากจำเลยแล้วผิดสัญญา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ ว. ส่งมอบรถยนต์คันที่เช่าซื้อคืนแก่จำเลย แต่ ว. นำรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยมาให้โจทก์ซ่อมแล้วไม่ชำระค่าซ่อม โจทก์จึงต้องเก็บรักษารถยนต์ที่โจทก์ซ่อมซึ่งเป็นของจำเลยไว้ในอู่อีก ย่อมเป็นการที่โจทก์จัดการไปสมประโยชน์ของจำเลยและต้องด้วยความประสงค์ของจำเลยที่พึงสันนิษฐานได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าบำรุงรักษารถยนต์ในส่วนค่าจอดรถจากจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10872/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความ: การชำระหนี้ภายในระยะเวลาอันสมควรและการบังคับคดี
การที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อศาล และศาลพิพากษาตามยอมไปแล้ว โจทก์และจำเลยทั้งสองย่อมมีเจตนาตรงกันที่จะให้สัญญาประนีประนอมยอมความสำเร็จลงสมประสงค์ของทั้งสองฝ่าย ข้อความสำคัญของสัญญาประนีประนอมในข้อ 2 คือ จำเลยทั้งสองจะชำระเงินจำนวน 3,900,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสองปฏิบัติการชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว ย่อมเป็นอันบรรลุวัตถุประสงค์ตามสัญญาข้อ 2 นั้น ส่วนที่มีข้อความว่า โดยจำเลยทั้งสองจะชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองสามารถขายที่ดินโฉนดเลขที่ 6244 เรียบร้อยแล้ว หากผิดนัดยอมให้โจทก์บังคับคดีทันทีนั้นเป็นเพียงการอธิบายขยายความวิธีการชำระหนี้ของจำเลยทั้งสองว่ามีวิธีการหาเงินมาชำระหนี้โดยการขายที่ดิน ข้อความดังกล่าวมิใช่เงื่อนไขการชำระหนี้ และเป็นสัญญาที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการชำระหนี้ไว้ จำเลยทั้งสองต้องชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความภายในระยะเวลาอันสมควร การที่จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความจนเวลาล่วงเลยไปนานถึง 7 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ย่อมเป็นเวลาที่นานเกินสมควร และถือได้ว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเหตุให้โจทก์ขอให้ศาลออกหมายบังคับคดีได้โดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10282/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มโทษทางอาญา: การพิจารณาโทษฐานต่างๆ และข้อยกเว้นการเพิ่มโทษในความผิดร้ายแรง
คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 289 (4), 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 371 พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตาม ป.อ. มาตรา 91 โดยให้เพิ่มโทษทุกฐานความผิดกระทงละหนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 92 แต่ข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนต้องระวางโทษประหารชีวิต ไม่อาจเพิ่มโทษได้ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ทุกฐานความผิดกระทงละกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 โดยฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนให้จำคุกตลอดชีวิตตาม ป.อ. 52 (2) เมื่อรวมโทษทุกฐานกระทงความผิดแล้ว คงลงโทษจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าให้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ทุกฐานความผิด เพียงแต่ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งต้องโทษประหารชีวิตนั้น ไม่อาจเพิ่มโทษได้เท่านั้น จึงไม่ต้องอธิบายคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9368/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหมิ่นประมาทต้องมีการร้องทุกข์ชัดเจนในแต่ละกรรมความผิด หากไม่มีโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชังตามฟ้องข้อ 1.1 ถึง 1.3 แต่ละข้อวันเวลาเกิดเหตุต่างกันและบุคคลที่สามต่างรายกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามฟ้องข้อ 1.1 ซึ่งความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 333 โจทก์ร่วมอ้างว่ามีผู้กระทำความผิดเกิดขึ้น แม้จำเลยผู้เดียวกระทำความผิด แต่กระทำความผิดหลายกรรม โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เมื่อโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ และห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง, 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามฟ้องข้อ 1.1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8639/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยเนื่องจากไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการยื่นคำขอรับฎีกาในคดียาเสพติดตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด
ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2) พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 มาตรา 12 (2) และริบรถกะบะของกลาง การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนรถกระบะของกลางตาม ป.อ. มาตรา 36 เป็นผลสืบเนื่องมาจากคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 คดีของผู้ร้องจึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ดังนั้น เมื่อผู้ร้องฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ที่บัญญัติให้คู่ความยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัย คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีของผู้ร้องจึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง
of 8