พบผลลัพธ์ทั้งหมด 34 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4713/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ: ศาลสั่งเพิกถอนการให้ที่ดินและโอนกรรมสิทธิ์คืนได้
กรณีที่คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลกำหนดให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษากระทำนิติกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดซึ่งอาจถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ ดังที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 357 วรรคหนึ่ง นั้น เมื่อปรากฏว่าการบังคับคดีดังกล่าวจะสำเร็จบริบูรณ์ต่อเมื่อเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงรายการในโฉนดที่ดิน โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิขอให้ศาลสั่งให้ดำเนินการจดทะเบียนให้ได้ ศาลจึงชอบที่จะมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินเพิกถอนรายการจดทะเบียนการให้ระหว่างโจทก์กับจำเลยและให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงดังกล่าวคืนแก่โจทก์ โดยเจ้าพนักงานที่ดินมีหน้าที่ดำเนินการจดทะเบียนไปตามคำสั่งศาลตามมาตรา 357 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4639/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผู้สนับสนุนการกระทำความผิดของเจ้าพนักงาน – ความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันทำเอกสารเท็จ
จำเลยที่ 1 แม้ไม่มีฐานะหรือคุณสมบัติเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ตามกฎหมายโดยตรงในการดูแลและประสานโครงการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟบ้านบ่อน้ำใส ประจำปีงบประมาณ 2557 อันจะร่วมกระทำความผิดเป็นตัวการหรือเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลตรึม และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตได้ แต่การที่จำเลยที่ 1 ให้ ว. ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทำบันทึกตกลงซื้อบั้งไฟและบันทึกตกลงจ้างเหมาวงดนตรีกลองยาวนำขบวนแห่เสนอให้ ร. นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตรึมลงนามในเอกสารดังกล่าว และให้ ว. ทำสัญญายืมเงินอันเป็นเท็จแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำเงินงบประมาณดังกล่าวไปจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นจากเงินงบประมาณ และจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้บังคับบัญชามีอำนาจเหนือสามารถให้คุณให้โทษแก่จำเลยที่ 2 ว. และ ป. ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ได้พูดจาว่าจะเป็นผู้รับผิดชอบด้วยตนเองเพื่อเร่งรัดให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. ซึ่งเป็นคณะกรรมการตรวจรับพัสดุและมีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในใบตรวจรับพัสดุ ได้จัดทำใบตรวจรับพัสดุว่าผู้ขายส่งมอบบั้งไฟตามบันทึกตกลงซื้อคุณภาพถูกต้องครบถ้วน และคณะกรรมการตรวจรับพัสดุได้รับบั้งไฟซึ่งตรวจรับถูกต้องสมควรจ่ายเงินให้แก่ผู้รับจ้างอันเป็นเท็จ และทำใบตรวจรับพัสดุว่าผู้รับจ้างส่งมอบงานจ้างเหมาวงดนตรีกลองยาวนำขบวนแห่งวดสุดท้ายถูกต้องและครบถ้วน จึงสมควรจ่ายค่าจ้างให้แก่ผู้รับจ้างอันเป็นเท็จนั้น เป็นการกระตุ้นส่งเสริมเร่งเร้าหรือโน้มน้าวชักจูงใจจำเลยที่ 2 ว. และ ป. มุ่งกระทำให้หนักแน่นยิ่งขึ้น จนจำเลยที่ 2 ว. และ ป. ยินยอมลงชื่อในใบตรวจรับพัสดุดังกล่าวทั้งสองฉบับ เพื่อรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้นหรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าจำเลยที่ 2 ว. และ ป. อันเป็นเท็จและรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการสนับสนุนให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. กระทำความผิดดังกล่าวก่อนหรือขณะกระทำความผิดซึ่งครบองค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 2 ว. และ ป. เจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์การบริหารส่วนตำบลตรึม และปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์จากเงินงบประมาณในการจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟที่ไม่ควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4538/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
บริษัทร้างถูกขีดชื่อออกจากทะเบียน ไม่ต้องชำระบัญชี ศาลฎีกายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ตั้งผู้ชำระบัญชี
บริษัทผู้ร้องเป็นบริษัทร้างซึ่งนายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียน ตามมาตรา 1273/3 แห่ง ป.พ.พ. บริษัทผู้ร้องย่อมสิ้นสภาพนิติบุคคลตั้งแต่เมื่อนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนโดยผลแห่งกฎหมาย และเป็นกรณีที่ต้องบังคับตาม ป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 22 หมวด 6 ว่าด้วยการถอนทะเบียนบริษัทจำกัดร้างมิใช่การเลิกบริษัทที่จะต้องมีการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 4 ส่วนที่ 8 ซึ่งจะต้องดำเนินการชำระบัญชีตามบทบัญญัติในหมวด 5 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทผู้ร้องจึงไม่ถูกต้อง หลังจากนั้นผู้คัดค้านยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้อ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาผิดระเบียบ ทำให้คดีกลับเข้ามาสู่การพิจารณาของศาลอีก อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ดังกล่าว เมื่อความปรากฏต่อศาลฎีกาว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยกรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย และพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ที่ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้ชำระบัญชีบริษัทผู้ร้องนั้นเสียได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) เมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้ว ผู้คัดค้านย่อมมิใช่ผู้มีส่วนได้เสีย หามีสิทธิยื่นคำร้องเข้ามาในคดีนี้ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4345/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เหตุสุดวิสัยทำให้ขายทอดตลาดไม่ได้ เจ้าหนี้ไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม
เมื่อการขายทอดตลาดเนิ่นช้าเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทย และมาตรการตามข้อกำหนดให้งดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดและงดกิจกรรมคนหมู่มาก เจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดการบังคับคดี ต่อมาเมื่อสถานการณ์ดังกล่าวคลี่คลาย เจ้าพนักงานบังคับได้นำสิทธิการเช่าออกขายทอดตลาดอีกครั้ง ซึ่งสิทธิการเช่าพื้นที่ในอาคาร พ. เหลือระยะเวลาเพียง 2 เดือนเศษ ลดจากระยะเวลา 1 ปี 4 เดือน ในวันที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีเข้ายึด ทำให้ไม่มีผู้สนใจเข้าสู้ราคา จนระยะเวลาเช่าสิ้นสุดลง ดังนี้การเสื่อมราคาและการสูญสิ้นไปแห่งสิทธิการเช่าจึงเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย มิใช่ความผิดหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือความไม่สุจริตของโจทก์ ทั้งมิใช่การถอนการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (2) (3) (4) (6) หรือ (7) ที่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอยึดหรืออายัดทรัพย์สินต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดีตามมาตรา 169/2 วรรคสี่ โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์ซึ่งมิใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3618/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับโทษปรับกรณีจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลตาม พ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าว แม้บริษัทเลิกกิจการแล้ว
คดีเป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีความผิดตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 8 (3), 37 ประกอบ ป.อ. มาตรา 83 โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงมีผลบังคับนับตั้งแต่วันดังกล่าวตาม ป.วิ.อ. มาตรา 188 แต่คำพิพากษาศาลชั้นต้นมิได้กำหนดโทษปรับในกรณีผู้กระทำความผิดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 มาตรา 37 จึงเป็นคำพิพากษาที่ยังไม่ครบถ้วน การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า หากจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลให้ปรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 วันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ ก็เพื่อให้คำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมีผลบังคับแล้วมีเงื่อนไขในการบังคับโทษครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 จึงต้องชำระค่าปรับนับแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2561 จนถึงวันที่ 2 มีนาคม 2563 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2911/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ที่ดินสาธารณประโยชน์: สิทธิครอบครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผลกระทบต่อการฟ้องร้อง
แม้ ผ. จะมีชื่อเป็นผู้รับโอนสิทธิครอบครองที่พิพาทร่วมกับ ม. ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 613/2531 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2531 แต่ต้องถือว่าเป็นการครอบครองทำประโยชน์ในฐานะเจ้าของรวม และ ผ. ใช้สิทธิแห่งการเป็นเจ้าของรวมในที่พิพาทเป็นโจทก์ที่ 3 ฟ้องจังหวัดสงขลาเป็นจำเลยต่อศาลชั้นต้น และต่อสู้คดีจนถึงศาลฎีกา จึงเป็นกรณีเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิจัดการทรัพย์สินอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อรักษาทรัพย์สินโดยเข้าต่อสู้กับบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1358 และมาตรา 1359 อันเป็นการฟ้องคดีแทน ม. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมอีกคนหนึ่งตามบทกฎหมายดังกล่าว จังหวัดสงขลาให้การและนำสืบต่อสู้ว่า ข. นายอำเภอเมืองสงขลาในขณะนั้นได้ประกาศให้ที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์สำหรับประชาชนใช้เลี้ยงสัตว์เมื่อปี 2476 ต่อมาเมื่อปี 2518 มีพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพกลับกลายเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าอยู่ในความครอบครองดูแลของอธิบดีกรมที่ดิน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลามีอำนาจควบคุมดูแล และที่สุดศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 3512-3518/2536 วินิจฉัยว่า ที่พิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2476 ผลแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาย่อมต้องผูกพัน ม. ซึ่งเป็นเจ้าของรวมดุจกัน โจทก์ทั้งสิบเจ็ดเป็นผู้รับโอนสิทธิครอบครองที่ดินอันเป็นส่วนหนึ่งของที่พิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 26 ในคดีดังกล่าวจาก ม. จึงต้องถูกผูกพันตามข้อเท็จจริงที่ได้ความเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง กรณีจึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2476 ให้เป็นที่หวงห้ามสำหรับประชาชนใช้เลี้ยงสัตว์ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ต่อมาแม้มีพระราชกฤษฎีกาเมื่อปี 2518 ให้เพิกถอนสภาพแต่ที่พิพาทก็ยังคงเป็นของรัฐอยู่โดยอธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาและดำเนินการคุ้มครองป้องกันได้ตามควรแก่กรณีตาม ป.ที่ดิน มาตรา 8 การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 26 ของที่พิพาทแก่ ม. จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องเพราะเป็นที่สาธารณประโยชน์ของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน โจทก์ทั้งสิบเจ็ดผู้รับโอนสิทธิจาก ม. จึงไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่า ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน โจทก์ทั้งสิบเจ็ดไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสิบ และปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยถึงจำเลยที่ 3 ที่ 6 และที่ 7 ที่มิได้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ มาตรา 252
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2836/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบังคับคดีและการแจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ทายาทผู้มีส่วนได้เสีย การเพิกถอนการขายทอดตลาด
ที่ดินพิพาทมีชื่อ ป. ท. ส. จำเลยที่ 2 และ น. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมโดยเจ้าของรวมเหล่านั้นมิได้แบ่งการครอบครองที่ดินพิพาทเป็นส่วนสัด เมื่อ น. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทส่วนของ น. ย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมซึ่งมีผู้ร้องที่ 1 ถึงที่ 3 รวมอยู่ด้วย สำหรับที่ดินพิพาทส่วนของ ส. เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมซึ่งรวมถึงผู้ร้องที่ 4 ด้วย บุตรของ น. และ ส. ทุกคนจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีเช่นเดียวกับ น. และ ส. ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาทอยู่แต่เดิม เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหน้าที่ต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้ทายาททุกคนของ น. และ ส. ทราบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 331 วรรคสอง และมาตรา 287 (4)
การที่จำเลยที่ 2 ป. และ ท. ได้รับแจ้งประกาศขายทอดตลาดนั้นไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรับแจ้งประกาศขายทอดตลาดแทนผู้ร้องทั้งสี่ด้วย เพราะมิใช่เป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ทายาทของเจ้ามรดกที่ได้รับแจ้งข้อเท็จจริงใดให้ถือว่าเป็นการได้รับแจ้งแทนทายาทคนอื่นด้วย การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทั้งสี่ทราบจึงเป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 331 วรรคสอง
แม้การส่งหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่ความตอนท้ายมาตรา 295 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ศาลเห็นสมควร ข้อเท็จจริงได้ความแต่เพียงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ โดยไม่ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสี่จะสามารถหาบุคคลภายนอกมาประมูลซื้อที่ดินพิพาทในราคาสูงกว่าที่ผู้คัดค้านที่ 2 ประมูลซื้อได้ เมื่อที่ดินพิพาทมีราคาตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้ 276,300 บาท ผู้คัดค้านที่ 2 ประมูลซื้อได้ในราคา 375,000 บาท สูงกว่าราคาประเมินดังกล่าว ประกอบกับจำเลยที่ 2 และผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นซึ่งได้รับหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดโดยชอบแล้วไม่มาดูแลการขาย จึงเป็นการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทในราคาที่เหมาะสมแล้ว กรณีไม่มีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท
การที่จำเลยที่ 2 ป. และ ท. ได้รับแจ้งประกาศขายทอดตลาดนั้นไม่อาจถือได้ว่าเป็นการรับแจ้งประกาศขายทอดตลาดแทนผู้ร้องทั้งสี่ด้วย เพราะมิใช่เป็นการใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 ทั้งไม่มีบทกฎหมายใดบัญญัติให้ทายาทของเจ้ามรดกที่ได้รับแจ้งข้อเท็จจริงใดให้ถือว่าเป็นการได้รับแจ้งแทนทายาทคนอื่นด้วย การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทั้งสี่ทราบจึงเป็นการดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 331 วรรคสอง
แม้การส่งหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีจะฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่ความตอนท้ายมาตรา 295 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะหรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่ศาลเห็นสมควร ข้อเท็จจริงได้ความแต่เพียงว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทั้งสี่ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียทราบ โดยไม่ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสี่จะสามารถหาบุคคลภายนอกมาประมูลซื้อที่ดินพิพาทในราคาสูงกว่าที่ผู้คัดค้านที่ 2 ประมูลซื้อได้ เมื่อที่ดินพิพาทมีราคาตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาไว้ 276,300 บาท ผู้คัดค้านที่ 2 ประมูลซื้อได้ในราคา 375,000 บาท สูงกว่าราคาประเมินดังกล่าว ประกอบกับจำเลยที่ 2 และผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นซึ่งได้รับหมายแจ้งประกาศขายทอดตลาดโดยชอบแล้วไม่มาดูแลการขาย จึงเป็นการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทในราคาที่เหมาะสมแล้ว กรณีไม่มีเหตุสมควรที่จะเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาท
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2710/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิเจ้าหนี้ค่าส่วนกลางอาคารชุด: การกันเงินจากการบังคับคดี แม้ไม่แจ้งรายการหนี้ตามกำหนด
การที่ผู้ร้องไม่ได้แจ้งรายการหนี้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 41 วรรคท้าย คงทำให้ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าหนี้บุริมสิทธิอันจะได้รับชําระหนี้ก่อนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จํานองเท่านั้น แต่ผู้ร้องยังเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิที่ใช้สิทธิขอกันส่วนได้ในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 วรรคสอง ประกอบมาตรา 41 (2) และที่ผู้ร้องไม่ได้ส่งรายการหนี้ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีภายในกำหนด สิทธิของผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 18 วรรคสอง ซึ่งเป็นบุริมสิทธิลำดับเดียวกับบุริมสิทธิตามมาตรา 273 (1) แห่ง ป.พ.พ. และมีอยู่เหนือทรัพย์ส่วนบุคคลของแต่ละเจ้าของห้องชุดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 41 (2) ก็ไม่ได้เสียไป เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงต้องรับการแจ้งรายการหนี้ค่าใช้จ่ายที่ต้องชําระเพื่อกันเงินที่เหลือจากการขายทอดตลาดห้องชุดหลังจากบังคับจํานองชําระหนี้แก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2623/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การอุทธรณ์คดีค้ามนุษย์ต้องไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์เท่านั้น หากผิดขั้นตอน ศาลฎีกายกคำพิพากษา
บทบัญญัติในมาตรา 38 แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 บัญญัติให้การอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีค้ามนุษย์ต้องอุทธรณ์ไปยังศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์ การที่โจทก์อุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นขอคืนของกลางในคดีค้ามนุษย์ แต่คดีได้รับการพิจารณาพิพากษาจากศาลอุทธรณ์ ซึ่งมิใช่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์ กระบวนพิจารณาในชั้นอุทธรณ์จึงไม่ถูกต้อง และไม่ก่อสิทธิแก่ผู้ร้องที่จะฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องขอคืนของกลาง ศาลฎีกาจึงต้องยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกฎีกาของผู้ร้องเพื่อให้ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์พิจารณาพิพากษาคดีนี้ใหม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2554/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจในการยื่นคำร้องขอทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ฟอกเงิน ต้องเป็นทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ทรัพย์สินรายการที่ 147 ซึ่งเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 3630 ตกเป็นของแผ่นดิน และผู้คัดค้านอุทธรณ์โต้แย้งเกี่ยวกับทรัพย์สินรายการที่ 147 แม้ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านเกี่ยวกับทรัพย์สินรายการที่ 147 เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น เนื่องจากผู้คัดค้านมิได้ยื่นคำคัดค้านว่าไม่ใช่ทรัพย์สินของผู้คัดค้านมาตั้งแต่แรก แต่ตามคำแก้อุทธรณ์ของผู้ร้องได้ยอมรับข้อเท็จจริงแล้วว่า ทรัพย์สินรายการที่ 147 มีชื่อ ธ. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ใช่ของผู้คัดค้านตามที่ผู้ร้องระบุในบัญชีรายการทรัพย์สิน จึงขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไขเกี่ยวกับทรัพย์สินรายการที่ 147 ให้ถูกต้อง เห็นว่า หากข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำแก้อุทธรณ์ ผู้ร้องย่อมไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินรายการที่ 147 ตกเป็นของแผ่นดิน ปัญหาเรื่องอำนาจในการยื่นคำร้องของผู้ร้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยเกี่ยวกับทรัพย์สินรายการที่ 147 ตามคำแก้อุทธรณ์ของผู้ร้อง ซึ่งมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องหรือไม่ จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 56 วรรคท้าย