คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิรัช ชินวินิจกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 80 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7819/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารมีสิทธิบริหารจัดการเงินฝาก, ความผิด พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์เป็นความผิดรัฐ เอกชนไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ฝากเงินไว้กับธนาคารจำเลยที่ 1 เงินจำนวนดังกล่าวจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์และอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับฝากย่อมมีสิทธิที่จะบริหารจัดการเงินฝากนั้นประการใดก็ได้ คงมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินฝากตามจำนวนที่โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้านำเข้าฝากไว้เท่านั้น โดยไม่จำต้องส่งคืนเป็นเงินจำนวนอันเดียวกับที่ฝากไว้ การที่จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ 1 จึงมิใช่เป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไป ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานลักทรัพย์
พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12 (9) บัญญัติขึ้นเพื่อควบคุมและกำกับการประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ กับเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนรวม อันเป็นความผิดที่รัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเอกชนไม่ใช่ผู้เสียหายในกรณีธนาคารพาณิชย์กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 มาตรา 12 (9) โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7220/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องกรณีถูกโต้แย้งสิทธิในที่ดินจากการชี้แนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ไม่ถูกต้อง
โจทก์เป็นฝ่ายครอบครองที่ดินมาโดยตลอด จำเลยที่ 1 เป็นนายอำเภออาศัยอำนาจตามกฎหมายแต่งตั้งให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นคณะกรรมการร่วมชี้แนวเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าโต๊ะกะ ต่อมาจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 โดยมีจำเลยที่ 1 ที่ 7 และที่ 8 เป็นตัวการนำชี้ได้ร่วมกันชี้เขตที่ดินสาธารณประโยชน์อ้างว่าที่ดินที่โจทก์ครอบครองอยู่ในเขตที่ดินสาธารณประโยชน์ป่าโต๊ะกะ ซึ่งเกินจากเนื้อที่ดินเดิมทำให้เจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินรังวัดที่สาธารณประโยชน์ป่าโต๊ะกะทับที่ดินโจทก์จนเป็นเหตุให้สำนักงานที่ดินได้ประกาศรูปแผนที่สาธารณประโยชน์ดังกล่าวเพื่อออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง (น.ส.ล.) ถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7171-7182/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมทางจำเป็น, การรุกล้ำที่ดิน, สิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย, การครอบครองปรปักษ์
การที่จะถือว่าผู้ซื้อได้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดโดยไม่สุจริตตามนัยแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1330 นั้น จะต้องได้ความว่าผู้ซื้อรู้หรือควรจะรู้ว่าทรัพย์ที่ตนซื้อมามิใช่ของจำเลยหรือของลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบุคคลล้มละลาย คดีนี้ได้ความจากคำแถลงของทนายโจทก์ทั้งสองแถลงรับว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 9 ถึงที่ 11 ได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของตั้งแต่วันที่จำเลยแต่ละคนได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและตึกแถวมาจากเจ้าของเดิม และขณะที่โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาด โจทก์เห็นว่าที่ดินพิพาทมีการรุกล้ำและครอบครองโดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 9 ถึงที่ 11 ซึ่งตามข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่มีส่วนใดที่แสดงให้เห็นว่า ก่อนหรือขณะซื้อที่ดินพิพาทโจทก์ทั้งสองทราบเรื่องที่จำเลยแต่ละคนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ เป็นแต่เพียงรับว่ามีข้อเท็จจริงนั้นอยู่จริงเท่านั้น ดังนั้น จะฟังว่าโจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 และที่ 9 ถึงที่ 11 จึงไม่อาจอ้างสิทธิการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทใช้ยันโจทก์ทั้งสองได้
ปัญหาว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 11 อันจะทำให้โจทก์ทั้งสองไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสิบห้าหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247
ที่ดินพิพาทและที่ดินที่ปลูกสร้างตึกแถวของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 11 ต่างเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินในโครงการหมู่บ้าน บ. โฉนดที่ดินพิพาทและโฉนดที่ดินที่ปลูกสร้างตึกแถวของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 11 รวม 12 ฉบับ ก็ระบุไว้เหมือนกันว่าเป็นที่ดินที่แบ่งแยกมากจากที่ดินแปลงใหญ่แปลงเดียวกันได้ความว่าเจ้าของโครงการผู้จัดสรรที่ดินเจตนากันที่ดินพิพาทไว้เป็นทางเข้าออกตึกแถวน่าเชื่อว่าเจ้าของโครงการผู้จัดสรรที่ดินได้แบ่งแยกที่ดินพิพาทเพื่อกันไว้เป็นสาธารณูปโภคเพื่อประโยชน์ในการขายตึกแถวในโครงการนั้นเอง ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินจัดสรรในโครงการรวมถึงที่ดินที่เป็นที่ตั้งตึกแถวของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 11 ด้วย ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 286 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2515 ข้อ 30 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โดยไม่จำต้องคำนึงว่าเจ้าของโครงการผู้จัดสรรที่ดินได้สละการครอบครองหรือมีเจตนาที่จะให้ที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอมหรือไม่ เมื่อที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอมโดยผลของกฎหมายแล้ว แม้ต่อมาโจทก์ทั้งสองจะได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการซื้อจากการขายทอดตลาดในคดีที่บริษัท ป. เจ้าของโครงการผู้จัดสรรที่ดินถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายก็ตาม ก็ไม่ทำให้ภาระจำยอมในที่ดินพิพาทนั้นสิ้นไป โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่หรือห้ามมิให้จำเลยทั้งสิบห้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทได้ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 11 ในฐานะเจ้าของสามยทรัพย์ก็ไม่มีสิทธิทำการเปลี่ยนแปลงในภารยทรัพย์ซึ่งทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ภารยทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1388 เช่นกัน ยกเว้นกันสาดปูนซีเมนต์ด้านหน้าตึกแถวที่มีมาแต่แรกแล้ว สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่ต่อเติมขึ้นภายหลังและรุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 และที่ 9 ถึงที่ 11 จะต้องรื้อถอนออกไป เพราะเป็นการทำให้เกิดภาระเพิ่มขึ้นแก่ที่ดินพิพาทอันเป็นภารยทรัพย์
ทางนำสืบของโจทก์ทั้งสองเพียงแต่กล่าวอ้างลอยๆ ว่าโจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหายโดยไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าโจทก์ทั้งสองเสียหายอย่างไร อีกทั้งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1390 โจทก์ทั้งสองไม่อาจนำที่ดินพิพาทซึ่งตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินและตึกแถวดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกได้ ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจะเรียกค่าเสียหายจากการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทไม่ได้ จำเลยทั้งสิบห้าจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7027/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความความผิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และองค์ประกอบความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งรื้อถอน
ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ มาตรา 40 เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่จำเลยได้ทราบคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารแล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งติดต่อกันไปจนถึงวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จหาใช่ความผิดต่อเนื่องตลอดระยะเวลาที่จำเลยยังฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นอยู่จนถึงวันฟ้องไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทราบคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2532 แล้วไม่ปฏิบัติตามคำสั่งติดต่อกันไปจนถึงวันที่จำเลยดำเนินการก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม 2533 อายุความจึงเริ่มนับถัดจากวันที่ก่อสร้างอาคารพิพาทแล้วเสร็จ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้วันที่ 7 ตุลาคม 2541 เกินกำหนด 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (5)
ฟ้องของโจทก์บรรยายเพียงว่าจำเลยได้ก่อสร้างอาคารพิพาทรุกล้ำเข้าไปในบริเวณที่ไม่อนุญาตให้ก่อสร้างอันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายเท่านั้น มิได้บรรยายว่าการกระทำของจำเลยเป็นกรณีที่ไม่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ อันเป็นองค์ประกอบความผิดของบทบัญญัติในมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคารฯ ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามบทมาตราดังกล่าว เป็นคำฟ้องที่ไม่สมบูรณ์ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6956/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีเสร็จสมบูรณ์เมื่อเจ้าหนี้ได้รับเงิน การยื่นคำร้องเพิกถอนหลังจากการบังคับคดีเสร็จสิ้นจึงไม่มีสิทธิ
จำเลยในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับเงินค่าขายทรัพย์พิพาทไปเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2548 ต้องถือว่าการบังคับคดีสำหรับทรัพย์สินพิพาทได้เสร็จลงแล้วตั้งแต่วันดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสองและวรรคสาม การที่โจทก์มายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในวันที่ 14 มีนาคม 2548 เป็นการยื่นภายหลังจากการบังคับคดีได้เสร็จลง โจทก์จึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6861/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องเพิกถอนการจดทะเบียนบริษัทอันเป็นเท็จ การกระทำที่เป็นการโต้แย้งสิทธิกรรมการ
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนบริษัทอันเป็นเท็จและนำข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อนายทะเบียนสำนักงานหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรสาคร และเปลี่ยนกรรมการรวมทั้งอำนาจกรรมการตามเอกสารเท็จที่จำเลยทำขึ้น การกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ถูกถอดถอนออกจากการเป็นกรรมการของจำเลย ส่วนจำเลยให้การว่า ข้อความที่ระบุในคำขอจดทะเบียนบริษัทจำกัดถูกต้องตรงความเป็นจริง ดังนั้น ตามข้ออ้างของโจทก์จึงเป็นกรณีที่จำเลยกระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในฐานะกรรมการ ซึ่งการกระทำของจำเลยทำให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรสาครรับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมตามมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นตามที่จำเลยยื่นคำขอ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
การทำรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของนายทะเบียนสำนักงานหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรสาคร และนายทะเบียนดังกล่าวมิได้เป็นผู้จัดทำรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลย แม้จะฟังว่ารายงานการประชุมนั้นเป็นเท็จก็ตาม แต่นายทะเบียนดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายในการรับจดทะเบียนนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายหาเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ไม่ โจทก์จึงไม่จำต้องฟ้องบังคับให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจังหวัดสมุทรสาครดำเนินการเพิกถอนการจดทะเบียน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6731/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาต้องแจ้งจำเลยเพื่อคัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ
โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกา โดยที่ศาลชั้นต้นมิได้ส่งสำเนา
คำฟ้องอุทธรณ์และสำเนาคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแก่จำเลยอุทธรณ์ เพื่อให้มีโอกาสคัดค้านคำร้องก่อน จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้องเพราะเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น หาเป็นข้อยกเว้นให้ไม่ต้องส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และสำเนาคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแก่จำเลยอุทธรณ์แต่อย่างใดไม่ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ส่งอุทธรณ์ของโจทก์ต่อศาลฎีกาจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6731/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาต้องแจ้งจำเลยเพื่อคัดค้านตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ
โจทก์ยื่นคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาพร้อมกับคำฟ้องอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์อุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาโดยที่ศาลชั้นต้นมิได้ส่งสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และสำเนาคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแก่จำเลยอุทธรณ์เพื่อให้มีโอกาสคัดค้านคำร้องก่อน จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องในชั้นตรวจคำฟ้องเพราะเห็นว่าโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยต่อศาลชั้นต้น ไม่เป็นข้อยกเว้นให้ไม่ต้องสำเนาคำฟ้องอุทธรณ์และสำเนาคำร้องขออนุญาตอุทธรณ์โดยตรงต่อศาลฎีกาแก่จำเลยอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6450/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำสืบพยานหลักฐานหนังสือมอบอำนาจที่ไม่ถูกต้องตามวิธีพิจารณา ทำให้ฟ้องไม่ชอบ
จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ ช. เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนเพราะลายมือชื่อของ จ. และ ศ. ผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม เท่ากับจำเลยโต้แย้งคัดค้านว่าหนังสือมอบอำนาจไม่มีต้นฉบับหรือต้นฉบับนั้นปลอมทั้งฉบับหรือบางส่วนหรือสำเนานั้นไม่ถูกต้องกับต้นฉบับอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 125 วรรคหนึ่ง เมื่อต้นฉบับเอกสารที่โจทก์อ้างเป็นพยานดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของโจทก์ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำต้นฉบับเอกสารมาแสดงต่อศาลในวันสืบพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 122 แต่ในชั้นพิจารณาโจทก์กลับนำสืบว่า โจทก์ได้มอบอำนาจให้ ช. เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 3 ซึ่งเป็นหนังสือมอบอำนาจคนละฉบับกับหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 โดยหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ทำขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2538 มี จ. และ ศ. เป็นผู้ลงนามในฐานะกรรมการของโจทก์ แต่หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ทำขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2536 มี จ. และ ป. เป็นผู้ลงนามในฐานะกรรมการของโจทก์ จึงมิใช่เอกสารฉบับเดียวกัน เมื่อโจทก์ไม่มีต้นฉบับหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 มาแสดง โดยไม่ปรากฏว่าต้นฉบับเอกสารหาไม่ได้ เพราะสูญหายหรือถูกทำลายโดยเหตุสุดวิสัยหรือไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่น จึงรับฟังข้อความตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (2) ฟ้องของโจทก์จึงถือว่าเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณามาแต่แรก ถึงแม้จะฟังว่ากรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้ ช. เป็นผู้ฟ้องและดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. 3 ตามข้ออ้างของโจทก์ก็ตาม แต่เป็นหนังสือมอบอำนาจคนละฉบับกับที่โจทก์ใช้ยื่นฟ้องคดีนี้ และมิได้ส่งสำเนาให้แก่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่ง จึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5425/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง: ต้องยื่นคำร้องต่อผู้พิพากษาที่ระบุในคำพิพากษาเท่านั้น
ขั้นตอนในการขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 มิได้มีบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคท้าย มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม ป.วิ.อ. มาตรา 15 กล่าวคือ จำเลยต้องยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ซึ่งตามคำร้องจำเลยระบุชื่อขอให้ พ. ช. และ ป. ผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เท่านั้นเป็นผู้พิจารณาอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้ระบุถึงผู้พิพากษาอื่นในศาลชั้นต้นด้วย การที่นาย ส. ผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งมิใช่ผู้พิพากษาที่จำเลยระบุในคำร้องกลับเป็นผู้มีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเสียเองจึงเป็นการไม่ชอบ ไม่มีผลทำให้ฎีกาของจำเลยขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลฎีกาได้ คำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฎีกาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการไม่ปฎิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. อันว่าด้วยฎีกา ศาลฎีกายกขึ้นอ้างและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 โดยเพิกถอนคำสั่งและส่งคำร้องคืนไปให้ศาลชั้นต้นส่งให้ผู้พิพากษาที่ระบุในคำร้องพิจารณาว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ฎีกาแล้วสั่งฎีกาใหม่
1/1
of 8