คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิรัช ชินวินิจกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 80 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13930/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีอากร: การประเมินต้นทุนซื้อทอง, การลดเบี้ยปรับ, และเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี
กำหนดเวลาให้อุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลภายใน 30 วัน ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 (2) เป็นการกำหนดเวลาให้ฟ้องคดี แม้ไม่เป็นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ แต่ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 30 (2) เป็นระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ใน ป.รัษฎากร ศาลย่อมมีอำนาจขยายได้โดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 17
บันทึกคำให้การที่โจทก์ขอคัดถ่ายสำเนาปรากฏรายละเอียดและเหตุผลในการตรวจสอบ รวมทั้งข้อมูลที่เจ้าพนักงานประเมินใช้ในการประเมิน ดังนี้ ย่อมฟังได้ว่าเหตุผลแห่งการประเมินเป็นที่รู้กันอยู่แล้วแก่โจทก์ จึงไม่จำต้องระบุในหนังสือแจ้งการประเมินถึงรายละเอียดและเหตุผลอีก ต้องด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 37 วรรคสาม (2) แล้ว
โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์รับซื้อทองคำเก่าโดยใช้ราคาตลาดโลก แต่โจทก์ไม่สามารถชี้แจงที่มาของราคาตลาดโลกตามที่โจทก์อ้างซึ่งมีหลายราคา ทั้งโจทก์ไม่สามารถนำสืบอัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐที่ใช้อ้างอิงในการรับซื้อ ตลอดจนไม่สามารถชี้แจงถึงค่าความเสี่ยงที่โจทก์อ้างคืออะไร และเป็นจำนวนเท่าใด การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ใช้ราคาประกาศของสมาคมค้าทองคำในการคำนวณต้นทุนจึงมีเหตุผลและเป็นธรรม
แม้ ป.รัษฎากร มาตรา 27 ทวิ ให้อำนาจอธิบดีกรมสรรพากรวางระเบียบในการงดหรือลดเบี้ยปรับออกมาใช้ แต่ก็เป็นเพียงระเบียบที่เจ้าพนักงานประเมินจะต้องถือปฏิบัติ ไม่มีผลผูกพันศาลให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบเช่นว่านั้น ศาลมีอำนาจพิจารณาว่าการลดหรืองดเบี้ยปรับนั้นถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ และมีอำนาจที่จะงดหรือลดได้เองในกรณีมีเหตุสมควรอีกด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8764/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายอสังหาริมทรัพย์ภายใน 5 ปี หลังรับโอนกรรมสิทธิ์จากสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ตามมาตรา 16 แห่ง ป. รัษฎากร บัญญัติว่า "เจ้าพนักงานประเมินหมายความว่าบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง" ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 35) เรื่อง แต่งตั้งเจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร ข้อ 1 กำหนดว่า "ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็นเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 แห่งประมวลรัษฎากร เฉพาะกรณีรับชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ และแบบแสดงรายการภาษีของผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับกิจการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 91/2 แห่งประมวลรัษฎากร" ดังนี้พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์มีอำนาจประเมินรายการที่ยื่นเพื่อเสียภาษีตามมาตรา 18 แห่ง ป.รัษฎากร เท่านั้น พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ไม่มีอำนาจออกหมายเรียกผู้ยื่นรายการนั้นมาไต่สวน หรือประเมินภาษีโดยใช้บทบัญญัติมาตราอื่น ๆ และตามคำฟ้องที่โจทก์อ้างว่าไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีส่วนท้องถิ่น จึงขอให้เพิกถอนการเรียกเก็บค่าภาษีดังกล่าวซึ่งลงชื่อโดยเจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีของสำนักงานที่ดินจังหวัด มิใช่กรณีฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โจทก์จึงไม่ต้องอุทธรณ์การประเมิน โจทก์มีอำนาจฟ้อง
ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ธนาคารตกลงรับโอนหลักทรัพย์โฉนดที่ดินเลขที่ 7670, 7671, 7672 และ 7673 ตำบลสารภี อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อชำระหนี้เงินกู้ของโจทก์ และให้สิทธิโจทก์ซื้อกลับคืนจากธนาคารภายใน 4 ปี นับแต่วันโอนชำระหนี้ เข้าลักษณะเป็นกรณีธนาคารให้คำมั่นไว้ก่อนว่าจะขายที่ดินนั้นคืนให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 454 ทั้งรูปแบบนิติกรรมการโอนที่ดินทั้งสี่โฉนดจากธนาคาร ก. แก่โจทก์ ได้ทำเป็นสัญญาซื้อขายที่ดิน หาใช่เป็นการไถ่ทรัพย์ขายฝากคืนแต่อย่างใดไม่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ใช้สิทธิขอซื้อที่ดินคืนจากธนาคารตามข้อตกลงในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวข้างต้น ดังนั้นจำนวนปีที่โจทก์ถือครองกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งสามแปลง นับตั้งแต่วันที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนี้คือวันที่ 31 ตุลาคม 2548 และในวันเดียวกันนั้น โจทก์ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7671, 7672 และ 7673 ให้แก่บริษัท ล. จำนวนปีที่โจทก์ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดทั้งสามแปลงนับได้เพียง 1 ปี จึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้กระทำภายใน 5 ปี นับแต่วันที่โจทก์ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตาม มาตรา 91/2 แห่ง ประมวลรัษฎากร ประกอบมาตรา 4 (6) แห่ง พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ.2541 โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 643/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษี การอุทธรณ์ และการปฏิบัติตามกฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง โดยศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง
หนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายทั้งสองฉบับที่พิพาทกันในคดีนี้ แม้จะมีความบกพร่องโดยไม่ชัดเจนว่า โจทก์มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ไว้ทุกคราวที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่ง ป.รัษฎากร ตามมาตรา 50 มิใช่ตามมาตรา 3 เตรส แต่ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินจำเลยมีหนังสือแจ้งขอเพิ่มเติมเหตุผลในหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย โดยใบแนบหนังสือให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ประกอบกับหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายมีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญว่า โจทก์ได้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่ง ป.รัษฎากร โดยมิได้หักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงต้องชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และเงินเพิ่มตามกฎหมายได้ระบุปีภาษี จำนวนเงิน เข้าลักษณะมีข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจตามมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 โดยที่ใบแนบหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย เป็นการจัดให้มีเหตุผลดังกล่าวในภายหลังตามมาตรา 41 (2) แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการปกครอง พ.ศ.2539 เมื่อพิจารณาหนังสือดังกล่าวประกอบกันถือได้ว่าเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย
สำหรับหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล การจัดเก็บภาษีจากบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่ง ป.รัษฎากร โจทก์ต้องชำระภาษีจากกำไรสุทธิซึ่งคำนวณจากรายได้จากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี แห่ง ป.รัษฎากร ตามหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลได้แสดงข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญแห่งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่โจทก์ โดยเป็นกรณีแสดงรายได้ขาดไป มีรายจ่ายซึ่งไม่สามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ และบันทึกต้นทุนต่ำไป จึงมีการปรับปรุงกำไรสุทธิใหม่ตามเงื่อนไขของมาตรา 65 ทวิ และ 65 ตรี จากนั้นคำนวณภาษีที่ต้องเสียโดยหักภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่โจทก์ได้ชำระไว้แล้ว ทั้งมีการนำภาษีที่โจทก์ชำระเกินสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีก่อนนำมาหักกลบลบให้ ต่อมาจึงคำนวณเบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฎิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แล้ว โดยไม่จำต้องมีหนังสือเรื่อง ขอเพิ่มเติมเหตุผลในหนังสือแจ้งการประเมินแต่อย่างใด
หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะมีข้อความรายการคำนวณภาษีตามผลการตรวจสอบ ประเภทการประกอบกิจการ กิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ประเภทรายรับ ดอกเบี้ยรับ จำนวนรายรับทั้งสิ้น อัตราร้อยละ 3 จากนั้นมีรายการภาษีที่ต้องชำระ เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม ตลอดจนภาษีส่งท้องถิ่น และรวมภาษีต้องชำระ มีข้อความให้โจทก์นำภาษีไปชำระที่ใด ภายในเวลาเท่าใด และระบุเหตุผลในการประเมินว่า โจทก์มีดอกเบี้ยรับจากการให้กรรมการกู้ยืมโดยไม่นำรายรับไปยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ จึงต้องชำระภาษีธุรกิจเฉพาะ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่นเพิ่มเติมตามกฎหมาย จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยมาตรา 37 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แล้ว โดยไม่จำต้องมีหนังสือเรื่อง ขอเพิ่มเติมเหตุผลในหนังสือแจ้งการประเมินแต่อย่างใด
เมื่อได้วินิจฉัยว่า หนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบ โดยไม่จำต้องมีหนังสือขอเพิ่มเติมเหตุผลในหนังสือแจ้งการประเมิน คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์โจทก์ว่า หนังสือเรื่อง ขอเพิ่มเติมเหตุผลในหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และใบแนบหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หัก ณ ที่จ่าย ได้กระทำก่อนสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์หรือไม่ หนังสือเรื่อง ขอเพิ่มเติมเหตุในหนังสือแจ้งให้นำส่งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2547 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2548 แต่ยังมิได้ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์แก่โจทก์ตามมาตรา 34 แห่ง ป.รัษฎากร จึงยังไม่สิ้นสุดกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า เป็นการจัดให้มีเหตุผลในภายหลัง โดยกระทำก่อนสิ้นสุดกระบวนพิจารณาอุทธรณ์ ตามมาตรา 41 วรรคท้าย แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แล้ว สำหรับโจทก์จะมีโอกาสคัดค้านได้ภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือแจ้งเพิ่มเติมเหตุผลหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ได้รับหนังสือแจ้งเพิ่มเติมเหตุผลในหนังสือแจ้งการประเมินเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2548 ซึ่งหากโจทก์ประสงค์จะโต้แย้งและแสดงหลักฐานเพิ่มเติมก็ต้องยื่นอุทธรณ์และแสดงพยานหลักฐานภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือดังกล่าวซึ่งครบกำหนดที่จะอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 แม้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2548 แต่ก็ได้ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2548 แต่โจทก์มิได้โต้แย้งภายใน 30 วัน ดังนั้นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่จำต้องพิจารณาทบทวนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 642/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอำนาจการลดเบี้ยปรับ
ธนาคาร ก. ตกลงให้นำหนี้ของบริษัท น. และบริษัท ท. มารวม และให้โจทก์เป็นผู้ชำระหนี้ ตามสัญญากู้เงินโดยมีโจทก์เป็นผู้กู้ ส่วนบริษัท น. และบริษัท ท. เป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อพิเคราะห์บัญชีที่โจทก์จัดทำขึ้น โจทก์ได้บันทึกบัญชีว่า บริษัท น. และบริษัท ท. เป็นลูกหนี้เงินกู้ระยะยาว แต่ไม่ได้บันทึกดอกเบี้ยรับไว้ในบัญชี ตามสมุดรายวันทั่วไปของโจทก์ มีรายได้ดอกเบี้ยรับเงินกู้ระยะยาวจากบริษัท น. และบริษัท ท. อันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสัญญากู้ยืมเงินและข้อมูลทางบัญชีเกี่ยวกับฐานะทางการเงินของกิจการของโจทก์ พยานหลักฐานดังกล่าวย่อมฟังได้ว่าโจทก์ให้บริษัท น. และบริษัท ท. ซึ่งมีความสัมพันธ์กับบริษัทโจทก์กู้ยืมเงิน เข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (5)
กรณีมีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับและหรือเงินเพิ่มให้แก่โจทก์หรือไม่ เป็นข้อที่โจทก์ต้องอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 จึงจะมีสิทธิอุทธรณ์เรื่องนี้ต่อศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15901/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีที่ดินที่มีสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารชุด ยังไม่จดทะเบียนอาคารชุด ศาลฎีกายกคำร้องเพิกถอนการยึด
เมื่อหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้เงิน โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ หากทรัพย์สินดังกล่าวมิได้มีกฎหมายบัญญัติยกเว้นมิให้อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. 278, 282 และมาตรา 285 การยึดเฉพาะที่ดินในคดีนี้จึงเป็นการยึดโดยชอบด้วยกฎหมาย
การใช้สิทธิบังคับคดีจะต้องอยู่ในขอบเขตแห่งกฎหมายที่ห้ามมิให้ยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้มีจำนวนต้นเงินรวมดอกเบี้ยที่พึงได้รับตามอัตราที่ระบุในคำพิพากษาแล้วเพียงหนึ่งล้านบาทเศษ ราคาที่ดินตามที่เจ้าพนักงานที่ดินประเมินไว้คือ 2,421,000 บาท จึงยังอยู่ในกรอบแห่งเจตนารมณ์ของกฎหมายในการใช้สิทธิบังคับคดีตามมาตรา 284 วรรคหนึ่ง ปรากฏว่าจำเลยยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์อาคาร 5 ชั้น เป็นส่วนควบของที่ดินมีมูลค่าถึง 36,000,000 บาท หากโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดสิ่งปลูกสร้างด้วย ก็ย่อมเป็นการบังคับคดีที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติ มาตรา 284 วรรคหนึ่ง และทำให้บุคคลที่ซื้อห้องชุดในอาคารดังกล่าวซึ่งมีเพียงบุคคลสิทธิที่จะบังคับได้เฉพาะคู่สัญญาจะซื้อจะขายคือจำเลยต้องได้รับความเดือดร้อนในการบังคับคดีไปด้วย
ข้ออ้างตามคำร้องของจำเลยว่าเป็นการบังคับคดีขัดต่อบทบัญญัติใน ป.วิ.พ. มาตรา 282 (2) นั้น หาตรงต่อข้อเท็จจริงในการบังคับคดีนี้ไม่ เพราะบทมาตรานั้นใช้บังคับเฉพาะการอายัดสิทธิเรียกร้องซึ่งลูกหนี้ตามคำพิพากษาพึงมีสิทธิได้รับโอนสังหาริมทรัพย์ หรืออสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสิทธิทั้งปวงอันมีอยู่ในทรัพย์เหล่านั้น มิใช่การบังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งโจทก์มีสิทธิโดยชอบตามมาตรา 282 (1)
ส่วนที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้เพิกถอนการยึดโดยให้เหตุผลว่าที่ดินตามคำร้องมิใช่ทรัพย์สินของจำเลย แต่เป็นทรัพย์ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 นั้น การที่จะเป็นทรัพย์ส่วนกลางตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จะต้องมีการดำเนินการจดทะเบียนอาคารชุดเสียก่อน อันเป็นเงื่อนไขสำคัญดังบัญญัติไว้ในมาตรา 6 เมื่อยังมิได้จดทะเบียนเป็นอาคารชุดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ที่ดินตามคำร้องจึงยังมิได้เป็นทรัพย์ส่วนกลางซึ่งอยู่ในข้อห้ามมิให้ถูกบังคับขายทอดตลาดตามพระราชบัญญัตินั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8702/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิการเช่าและการให้บริการส่วนกลาง ทำให้เกิดหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าบริการ
โจทก์รับโอนสิทธิการเช่าพื้นที่อาคารมาจากบริษัท บ. โดยผู้โอนตกลงโอนและผู้รับโอนตกลงรับโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าระหว่างผู้โอนกับบริษัท อ. โจทก์จึงต้องรับไปทั้งสิทธิที่จะได้รับค่าเช่า ค่าบริการที่บริษัท บ. ได้รับจากผู้เช่า และมีหน้าที่ต้องให้เช่าพื้นที่และให้บริการส่วนกลางแก่ผู้เช่าพื้นที่แทนบริษัท บ. ตามที่ผู้โอนสิทธิการเช่าให้โจทก์ต้องปฏิบัติกับผู้เช่าก่อนมีการโอนสิทธิการเช่า ดังนั้น เงินค่าตอบแทนที่โจทก์ได้รับจึงมิใช่เป็นค่าตอบแทนจากการให้เช่าพื้นที่แต่เพียงอย่างเดียวแต่เป็นค่าตอบแทนจากการให้บริการส่วนกลางด้วย โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อได้รับชำระค่าบริการส่วนกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6037/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกร้องค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ และการแบ่งความรับผิดตามสัดส่วนของผู้กระทำผิด
แม้ขณะฟ้องคดีโจทก์ยังมิได้ชำระเงินค่าซ่อมรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ซึ่งโจทก์รับประกันภัยไว้ เนื่องจากรถยนต์ได้รับความเสียหายมากต้องซ่อมทั้งคันใช้เวลาซ่อมนานแต่การที่เมื่อหลังเกิดเหตุแล้วโจทก์ได้นำรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ไปให้อู่ซ่อมรถดังกล่าวทำการซ่อมและอู่ซ่อมรถดังกล่าวได้รับทำการซ่อมให้ในราคาที่ตกลงกันไว้นั้น โจทก์ย่อมมีความผูกพันที่จะต้องชำระค่าซ่อมรถยนต์ตามจำนวนเงินที่ตกลงกันไว้ ทั้งต่อมาเมื่ออู่ซ่อมรถดังกล่าวซ่อมรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์เสร็จแล้วได้มอบรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์คืนให้ผู้เอาประกันภัยไป จึงถือได้ว่าโจทก์ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปแล้วตามจำนวนเงินค่าจ้างที่ได้ตกลงไว้กับอู่ซ่อมรถดังกล่าว โจทก์ย่อมเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยเรียกร้องค่าซ่อมรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์จากจำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง ส่วนในการกำหนดค่าเสียหายนั้น ถึงแม้ความเสียหายทั้งหมดจะเป็นผลจากการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยทั้งสองจะปฏิเสธความรับผิดไม่ได้ก็ตาม แต่ศาลก็ย่อมต้องพิจารณาพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด และกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสองรับผิดตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งความผิดของจำเลยที่ 1 ในการทำให้เกิดความเสียหายขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 438 วรรคหนึ่ง เมื่อคนขับรถหมายเลขทะเบียน 9ง-2234 กรุงเทพมหานคร มีส่วนประมาทก่อให้เกิดผลร้ายแรงขึ้นด้วย ซึ่งมีเหตุที่ไม่ควรให้จำเลยทั้งสองต้องรับผิดเต็มตามความเสียหายทั้งหมดแต่ฝ่ายเดียวแล้ว ศาลจึงไม่จำต้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดเต็มตามความเสียหายนั้นเสมอไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2527/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากเจ้าหน้าที่รัฐ - ความรับผิดของผู้กระทำละเมิด - การประเมินค่าเสียหาย - ดอกเบี้ย
กรมพิธีการทูตจำเลยที่ 2 ปล่อยปละละเลย ย่อหย่อน ไม่ควบคุมการใช้รถให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ จนจำเลยที่ 1 เคยนำรถไปจอดค้างคืนที่บ้านของตนเอง รวมทั้งสามารถนำรถออกไปใช้ในกิจธุระส่วนตัวโดยพลการทั้งที่ขัดต่อระเบียบกฎเกณฑ์การใช้รถราชการ เข้าลักษณะที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้รถอันเป็นหน้าที่ของพนักงานขับรถได้แม้เป็นเวลานอกราชการการ การที่จำเลยที่ 1 ขับรถไปเฉี่ยวชนจนทำให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บโดยประมาท จึงถือได้ว่าเป็นผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
โจทก์ไม่สามารถเดินได้ตามปกติโดยหลังเกิดเหตุภายหลังการรักษาทำให้ขาข้างขวาสั้นกว่าขาข้างซ้าย ถือว่าเป็นความเสียหายอย่างอื่นที่ไม่ใช่ตัวเงินซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับชดใช้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 446

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2346/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: การเปลี่ยนแปลงคำให้การขัดแย้งกัน ทำให้ประเด็นการครอบครองปรปักษ์ไม่ได้รับการวินิจฉัย
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งในตอนแรกมีใจความสำคัญว่า ที่ดินพิพาทส่วนที่จำเลยที่ 2 ครอบครองเดิมเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ส. บิดาภริยาของจำเลยที่ 2 ได้หักล้างถางพงเข้าครอบครองอย่างเป็นเจ้าของโดยปลูกบ้านอยู่อาศัยมาตั้งแต่ปี 2450 จนกระทั่งปี 2502 ส. จึงยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ครอบครองต่อมา คำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทต่อจาก ส. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทคนก่อน โดย ส. เป็นผู้แผ้วถางที่ดินพิพาทซึ่งในขณะนั้นยังเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า แล้วเข้าครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2450 ก่อนที่ทางการจะออกโฉนดที่ดินในปี 2464 การที่จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งในตอนหลังว่าที่ดินพิพาทส่วนดังกล่าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 โดยการครอบครองปรปักษ์จึงขัดกับคำให้การและฟ้องแย้งในตอนแรก รูปคดีตามที่โจทก์ทั้งสามฟ้องและจำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 จะรับวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1555-1558/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รวมสำนวนคดีกู้ยืมเงินเกินอำนาจศาลแขวง: พิจารณาทุนทรัพย์รายสำนวน
โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมไปจากโจทก์ในวาระต่างๆ แยกเป็นรายสำนวน การพิจารณาว่าคดีใดอยู่ในอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา จึงต้องพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทเป็นรายสำนวน แม้ภายหลังศาลชั้นต้นจะสั่งให้รวมการพิจารณาคดีเข้าด้วยกัน จนเป็นเหตุทำให้จำนวนทุนทรัพย์ที่รวมเข้าด้วยกันเกิน 300,000 บาท ก็ต้องถือว่าคดียังอยู่ในอำนาจของศาลแขวงหรือผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4)
of 8