คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 ม. 51

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 544/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของนิติบุคคล: การมอบอำนาจฟ้องคดีอาญาต้องเป็นไปตามข้อบังคับและระเบียบ หากไม่ประทับตราถือว่าไม่มีอำนาจฟ้อง
ความผิดอาญาซึ่งกระทำต่อนิติบุคคล ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่น ๆ ของนิติบุคคลมีอำนาจเป็นโจทก์หรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 และมาตรา 5 สำหรับโจทก์ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 51 บัญญัติให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้ ประกอบกับข้อบังคับของโจทก์ระบุให้คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์มีอำนาจหน้าที่ให้ฟ้อง ต่อสู้ หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการของสหกรณ์... ดังนี้ คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์จึงเป็นผู้แทนโจทก์ที่มีอำนาจฟ้องคดีด้วยตนเองหรือมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดฟ้องคดีก็ได้ การกระทำในนามของโจทก์ต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของโจทก์ซึ่งระบุว่าการลงลายมือชื่อแทนสหกรณ์ตามความในวรรคแรกต้องประทับตราของสหกรณ์ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงตามหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ คงมีแต่คณะกรรมการดำเนินการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในนามของโจทก์ลงลายมือชื่อโดยมิได้มีการประทับตราของโจทก์กำกับไว้เช่นนี้ จึงถือไม่ได้ว่าคณะกรรมการดำเนินการได้กระทำการโดยชอบในฐานะผู้แทนสหกรณ์โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคล มีผลเท่ากับโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ ช. ฟ้องคดีนี้ได้โดยชอบ ช. จึงไม่มีอำนาจลงลายมือชื่อในคำฟ้องแทนโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21165/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดี, ความรับผิดของกรรมการ, การจำนอง และการฟ้องเรียกค่าเสียหายจากหนี้
พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 บัญญัติให้สหกรณ์ที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วมีฐานะเป็นนิติบุคคล และมาตรา 51 บัญญัติให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้ ข้อบังคับของโจทก์ข้อ 65 ก็มีข้อความทำนองนี้ โดยในวรรคสอง กำหนดให้คณะกรรมการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ คำสั่ง มติของคณะกรรมการดำเนินการ และมติของที่ประชุมใหญ่ รวมทั้งในเรื่องการฟ้องและดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการของโจทก์ สำหรับหนังสือมอบอำนาจของโจทก์นั้น มีคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 25 จำนวน 15 คน เป็นผู้ลงลายมือชื่อมอบอำนาจ เมื่อพิจารณาประกอบกับ ป.พ.พ. มาตรา 71 พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 และข้อบังคับของโจทก์ที่ใช้บังคับในขณะที่มีการมอบอำนาจ ไม่ปรากฏว่าจะต้องให้กรรมการดำเนินการของโจทก์ทุกคนลงลายมือชื่อเพื่อกระทำการแทนและให้มีผลผูกพันโจทก์ ดังนั้น แม้ต่อมาศาลปกครองขอนแก่นพิพากษาเพิกถอนคำวินิจฉัยของสหกรณ์จังหวัดขอนแก่น ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืน ทำให้ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งยังคงมีผลอยู่ โดยตัดสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งเป็นประธานกรรมการดำเนินการของ บ. ซึ่งส่งผลให้การสมัครรับเลือกตั้งของ บ. ไม่ชอบและไม่มีผลตามกฎหมาย บ. ไม่มีฐานะเป็นประธานกรรมการดำเนินการของโจทก์ในขณะที่ลงลายมือชื่อมอบอำนาจให้ตนเองและหรือ ส. กรรมการดำเนินการของโจทก์อีกคนหนึ่งเป็นตัวแทนรับมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจก็ตาม แต่กรรมการดำเนินการของโจทก์ที่ยังเหลืออยู่อีก 14 คน ยังมีจำนวนเกินกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นเสียงข้างมากที่จะดำเนินการแทนโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 71 และถือว่าโจทก์มอบอำนาจให้ ส. ดำเนินคดีแล้ว การดำเนินการของ ส. ในฐานะผู้รับมอบอำนาจของโจทก์และผู้แต่งตั้งทนายความจึงชอบด้วยกฎหมาย ข้อบังคับ และหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง อายุความในมูลละเมิดมีกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่มาตรา 74 บัญญัติว่า ถ้าประโยชน์ได้เสียของนิติบุคคลขัดกับประโยชน์ได้เสียของผู้แทนของนิติบุคคลในการอันใด ผู้แทนของนิติบุคคลนั้นจะเป็นผู้แทนในการอันนั้นไม่ได้ ดังนั้น กรณีละเมิดทำให้โจทก์รับความเสียหายโดยมีคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 24 ของโจทก์ทั้งคณะถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 3 ถึงที่ 17 ในคดีนี้ แม้จำเลยดังกล่าวจะเป็นผู้แทนของโจทก์อยู่ในขณะนั้น และได้รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนในวันดังกล่าวก็ตาม แต่ไม่อาจถือได้ว่าการรู้นั้นเป็นการรู้ของโจทก์แล้วอันจะทำให้อายุความเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2546 โดยต้องถือว่าโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 25 ของโจทก์ซึ่งเป็นกรรมการชุดใหม่รู้ เมื่อคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 25 ได้รับแต่งตั้งเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2547 และได้ฟ้องเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2547 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5865/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของนิติบุคคล: คณะกรรมการต้องมอบหมายผู้มีอำนาจดำเนินคดีแทน
กรณีความผิดอาญาซึ่งกระทำต่อนิติบุคคล ผู้จัดการหรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลมีอำนาจเป็นโจทก์ฟ้องหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 3 และมาตรา 5 (3) สำหรับโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 51 บัญญัติว่า "ให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์เป็นผู้ดำเนินกิจการและเป็นผู้แทนสหกรณ์ในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก เพื่อการนี้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จะมอบหมายให้กรรมการคนหนึ่งหรือหลายคนหรือผู้จัดการทำการแทนก็ได้" ประกอบกับข้อบังคับของโจทก์ ข้อ 58 (16) ระบุให้คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์มีอำนาจและหน้าที่ให้ฟ้อง ต่อสู้คดี หรือดำเนินคดีเกี่ยวกับกิจการสหกรณ์ฯ ดังนี้ คณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ที่เป็นเสียงข้างมาก จึงเป็นผู้แทนโจทก์ที่มีอำนาจฟ้องคดีด้วยตนเองหรือจะมอบหมายให้ผู้หนึ่งผู้ใดฟ้องคดีแทนก็ได้ เมื่อการฟ้องคดีนี้ไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการดำเนินการของโจทก์ได้มอบหมายให้ ช. และ ก. ดำเนินคดีแทน แม้ ช. และ ก. จะเป็นกรรมการของโจทก์หรือสมาชิกโจทก์ก็ไม่อาจฟ้องคดีแทนโจทก์และไม่มีอำนาจมอบอำนาจให้ บ. ดำเนินคดีแทนโจทก์ได้ แม้กรรมการของโจทก์คนใดคนหนึ่งจะได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก็ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยลำพัง