คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
อาวุธ ปั้นปรีชา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 89 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13838/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-อำนาจฟ้อง: ศาลพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยเรื่องอำนาจโจทก์ ไม่ใช่ความผิดจำเลย สิทธิฟ้องไม่ระงับ
คดีก่อนศาลชั้นต้นยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า ท. โจทก์มิใช่เป็นผู้ได้รับความเสียหาย จึงมิใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 เห็นได้ว่า คดีดังกล่าวศาลพิพากษายกฟ้อง โดยยังมิได้วินิจฉัยถึงการกระทำของจำเลยทั้งสามตามข้อกล่าวหาของโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำพิพากษาที่ได้วินิจฉัยในความผิดซึ่งได้ฟ้อง อันจะเป็นเหตุให้สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ระงับสิ้นไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13789/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของบิดามารดาต่อละเมิดของบุตรผู้เยาว์ กรณีไม่ได้พิสูจน์ความระมัดระวัง
ป.พ.พ. มาตรา 429 บัญญัติให้บิดามารดาต้องร่วมรับผิดในผลที่ผู้เยาว์กระทำละเมิดต่อบุคคลอื่น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น ตามคำให้การ จำเลยที่ 2 และที่ 3 หาได้ยกความข้อนี้ขึ้นต่อสู้โจทก์ทั้งสองให้ชัดแจ้ง คงให้การเพียงว่าไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวพันกับการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่ความหมายอย่างเดียวกันกับการใช้ความระมัดระวังตามควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น คำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่ชัดแจ้ง ย่อมไม่มีประเด็นที่จะนำสืบพิสูจน์ให้พ้นความรับผิดตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13417/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักทรัพย์: ความสัมพันธ์ระหว่างผู้เสียหายและจำเลยเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณาเจตนา
ผู้เสียหายและจำเลยรู้จักกันก่อนเกิดเหตุ 2 เดือน และเคยทำงานด้วยกัน โดยจำเลยเป็นผู้ว่าจ้างให้ผู้เสียหายนำต้นกล้ายางไปส่งมอบให้เกษตรกร วันเกิดเหตุผู้เสียหายเป็นฝ่ายเชื้อเชิญให้จำเลยเข้าไปในบ้านและไปนั่งพูดคุยกันที่โต๊ะอาหาร บ่งชี้ว่าผู้เสียหายและจำเลยรู้จักและมีความคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ขณะที่จำเลยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไป แม้เป็นเรื่องที่กระทำไปโดยพลการแต่ก็มี ถ. น้องเขยของผู้เสียหายรู้เห็น จึงเป็นการเอาไปอย่างเปิดเผย ถ. ยังให้การในชั้นสอบสวนว่า เห็นจำเลยหยิบอาวุธปืนของผู้เสียหายไปโดยเข้าใจว่าผู้เสียหายอนุญาตจึงไม่ได้ทักท้วง อันแสดงว่า ถ. ก็เห็นว่าผู้เสียหายกับจำเลยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและจำเลยมิได้กระทำการอย่างใดที่มีพิรุธอันแสดงให้เห็นว่า ต้องการลักอาวุธปืนของผู้เสียหาย ครั้นผู้เสียหายทราบจาก ถ. ว่าจำเลยเอาอาวุธปืนไปและติดต่อสอบถามจำเลยทางโทรศัพท์ จำเลยก็รับว่าเอาอาวุธปืนไปจริงและยังบอกว่าจะนำไปคืนให้ ซึ่งผิดวิสัยของผู้ที่ต้องการลักทรัพย์ของผู้อื่นที่ย่อมปฏิเสธการกระทำของตน แม้จำเลยจะนำอาวุธปืนไปคืนล่าช้าจนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายต้องเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน แต่จำเลยมิได้นำอาวุธปืนไปแสวงหาประโยชน์ด้วยการนำไปจำหน่ายหรือก่อหนี้ผูกพันอื่นใด และนำไปคืนผู้เสียหายพร้อมกระสุนปืนครบถ้วน พฤติการณ์น่าเชื่อว่าจำเลยเอาอาวุธปืนของผู้เสียหายไปโดยถือวิสาสะ มิได้มีเจตนาเอาไปโดยทุจริต จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10862/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายจากละเมิดทางทะเลและการขาดอำนาจฟ้องของโจทก์
โจทก์ที่ 1 เป็นเพียงผู้ประสานงานดำเนินการขออนุมัติงบกลาง รายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จากสำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพื่อจัดส่งไปให้หน่วยงานของโจทก์ที่ 1 ใช้ในการดำเนินการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ถูกเจ้าหน้าที่ของประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามจับกุมเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการดำเนินการเรียกเก็บเงินคืนแต่อย่างใด การกระทำของโจทก์ที่ 1 หาได้ก่อให้เกิดสิทธิที่โจทก์ที่ 1 จะฟ้องให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าใช้จ่ายคืนได้ โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ที่ 2 เป็นหน่วยงานที่บังคับใช้ พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 ในการดำเนินการเรียกเก็บเงินกับเจ้าของเรือที่ใช้หรือยอมให้ใช้เรือของตนทำการประมงหรือเพื่อทำการประมงจนเป็นเหตุให้มีการละเมิดน่านน้ำของต่างประเทศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 28 ทวิ แก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.การประมง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2528 เมื่อปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง มีหนังสือลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2535 เสนอให้โจทก์ที่ 2 รับผิดชอบในการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลจ่ายไปในการช่วยเหลือลูกเรือประมงที่เกี่ยวข้องเพื่อชดใช้คืนทางราชการ โจทก์ที่ 2 จึงเป็นผู้มีหน้าที่โดยตรงในการติดตามทวงถามหนี้สิน เมื่อจำเลยปฏิเสธไม่ยอมชำระหนี้จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิที่ 2 โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้อง
ฟ้องโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ที่ 2 ประสงค์จะให้จำเลยชำระคืนเงินที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้นำไปใช้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยกลับจากประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และอายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/12 เมื่อปรากฏว่ารองอธิบดีปฏิบัติราชการแทนอธิบดีโจทก์ที่ 2 มีหนังสือทวงถามฉบับแรกลงวันที่ 15 ธันวาคม 2536 ให้จำเลยชำระเงิน 479,871.40 บาท แก่โจทก์ที่ 2 ย่อมถือได้ว่า โจทก์ที่ 2 ย่อมอาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินดังกล่าวได้ก่อนหรืออย่างช้าที่สุดในวันที่ 15 ธันวาคม 2536 เป็นต้นไป และแม้จะได้ความต่อไปว่าได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณากำหนดค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันเกิดจากการละเมิดน่านน้ำในต่างประเทศตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 28 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 แต่บทกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้เพียงว่า หากเจ้าของเรือไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการภายในสามสิบวัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งคำวินิจฉัย ต้องระวางโทษทางอาญาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 64 ทวิ เท่านั้น การที่คณะกรรมการมีมติเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2542 ให้จำเลยรับผิดชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยกลับจากประเทศสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามจำนวน 479,871.40 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเดียวกับที่โจทก์ที่ 2 เคยมีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระมาตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2536 แล้ว มติคณะกรรมการหามีผลต่อการเริ่มนับอายุความทางแพ่งไม่ เพราะมิเช่นนั้นความล่าช้าในการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การประมง พ.ศ.2490 มาตรา 28 ทวิ จะเป็นเหตุให้อายุความสามารถขยายออกไปโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาได้ เมื่อโจทก์ที่ 2 อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวได้ก่อนหรืออย่างช้าที่สุดในวันที่ 15 ธันวาคม 2536 แต่โจทก์ที่ 2 นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2548 จึงพ้นกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 คดีของโจทก์ที่ 2 จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10859/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดในมูลละเมิดและการจดทะเบียนที่ดิน: การแยกพิจารณาความรับผิดของจำเลยแต่ละราย
โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดในมูลละเมิด เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 หลอกขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ทั้งสอง และฟ้องจำเลยที่ 4 ให้ร่วมรับผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทของ ซ. ให้แก่ บ. โดยประมาทเลินเล่อ มูลเหตุที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดจึงแตกต่างกัน มูลความแห่งคดีมิใช่เป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ การที่จำเลยที่ 4 ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้จึงไม่ถือว่าเป็นการทำแทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้ คดีในส่วนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8980/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้เช่าซื้อร้องทุกข์คดียักยอกรถ และอำนาจฟ้องของโจทก์ร่วม
แม้โจทก์ร่วมเป็นเพียงผู้เช่าซื้อรถ แต่ผู้เช่าซื้อย่อมมีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถที่เช่าซื้อและมีหน้าที่ต้องส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนแก่ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องส่งคืน เมื่อมีผู้ยักยอกรถนั้นไป โจทก์ร่วมย่อมได้รับความเสียหาย โจทก์ร่วมจึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจร้องทุกข์และขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้โดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากผู้ให้เช่าซื้อ และการที่ผู้ให้เช่าซื้อมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ก็ถือได้ว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหายด้วย ดังนั้น ไม่ว่าผู้ลงชื่อในฐานะผู้ให้เช่าซื้อในหนังสือมอบอำนาจให้โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์จะเป็นผู้มีอำนาจลงชื่อหรือเป็นเจ้าของรถที่แท้จริงหรือไม่ และหนังสือมอบอำนาจมีข้อความถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ก็ไม่มีผลลบล้างการที่โจทก์ร่วมร้องทุกข์ในฐานะที่ตนเป็นผู้เสียหาย แม้โจทก์และโจทก์ร่วมมิได้นำบันทึกและหลักฐานการรับคำร้องทุกข์มานำสืบ แต่จำเลยก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์ร่วมไปร้องทุกข์จริง กรณีจึงถือได้ว่า โจทก์ร่วมร้องทุกข์โดยชอบ พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8401/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดียาเสพติดสิ้นสุดลงเมื่อศาลฎีกายกฟ้องคดีอาญา
บทบัญญัติมาตรา 32 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดี หรือมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องผู้ต้องหาหรือจำเลยรายใด ให้การยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้น รวมทั้งทรัพย์สินของผู้อื่นที่ได้ยึดหรืออายัดไว้เนื่องจากเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดของผู้ต้องหาหรือจำเลยรายนั้นสิ้นสุดลง..." ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องในความผิดอันเป็นเหตุให้มีการยึดทรัพย์รายนี้ การยึดทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ผู้ร้องอ้างว่าเกี่ยวเนื่องมาจากการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของผู้คัดค้านย่อมสิ้นสุดลง ศาลย่อมไม่มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินนั้นได้จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า ทรัพย์สินดังกล่าวของผู้คัดค้านนั้นเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือไม่ ตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5803/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีค่าปรับในคดียาเสพติดภายหลัง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับ
ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ได้มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 โดยในบทเฉพาะกาลตามมาตรา 24 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติว่า "บรรดาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลใดก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ศาลนั้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาต่อไป และให้บังคับตามกฎหมายซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติบังคับจนกว่าคดีนั้นจะถึงที่สุด แต่ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 เป็นการบังคับโทษปรับหรือการบังคับให้ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาเป็นชั้นของการบังคับคดี ซึ่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2550 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษปรับ ให้พนักงานอัยการร้องขอ ให้ศาลออกหมายบังคับคดีเพื่อแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีของกรมบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้ต้องโทษแทนค่าปรับได้" และวรรคสองบัญญัติว่า "การบังคับคดีตามวรรคหนึ่ง ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดมีอำนาจตรวจสอบทรัพย์สิน และให้ถือว่าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา" เมื่อพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 21 วรรคหนึ่งและวรรคสองแล้ว เห็นว่า บัญญัติไว้ต่างหากในหมวด 5 การบังคับโทษปรับ ส่วนบทเฉพาะกาลตามมาตรา 24 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาพิพากษาคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดของศาลซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลนั้น จึงเป็นคนละขั้นตอนกัน นอกจากนี้ พนักงานอัยการโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ออกหมายบังคับคดีจำเลยที่ 3 เพื่อแต่งตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของจำเลยที่ 3 แทนค่าปรับ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดี ซึ่งเป็นเวลาภายหลัง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2550 มีผลใช้บังคับแล้ว แม้จำเลยที่ 3 ยื่นฎีกาคำพิพากษาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา เมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ชำระค่าปรับตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ พนักงานอัยการโจทก์จึงมีหน้าที่ต้องยื่นคำร้องขอให้ออกหมายบังคับคดีจำเลยที่ 3 ตาม ป.อ. มาตรา 29 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 21 วรรคหนึ่ง ดังนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ออกหมายบังคับคดีจำเลยที่ 3 ตามคำร้องขอของพนักงานอัยการโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2189/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อมูลจากจำเลยที่นำไปสู่การตรวจค้นและยึดของกลาง ไม่ถือเป็นข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด
หลังจากจับกุมจำเลยที่ 1 ได้แล้ว จำเลยที่ 1 ยอมรับว่ารับเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสามี และจำเลยทั้งสองพักอาศัยอยู่ที่ห้องพักในอพาร์ตเมนต์ ทั้งได้ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ที่ห้องพักดังกล่าวพร้อมกับพาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 2 ที่อพาร์ตเมนต์และตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนมาเป็นของกลางอีก 4,000 เม็ด แต่ของกลางดังกล่าวถูกซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋ากางเกงที่แขวนอยู่และที่ตู้เสื้อผ้าภายในห้องนอนของจำเลยทั้งสองเอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าเจ้าพนักงานตำรวจต้องติดตามไปจับกุมจำเลยที่ 2 กับตรวจค้นที่ห้องพักของจำเลยทั้งสองและตรวจพบของกลางได้โดยไม่ยาก ดังนี้ กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1044/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวความผิดหลายบท: การพิจารณาโทษอาญาจากพฤติการณ์ต่อเนื่อง
แม้โจทก์บรรยายฟ้องในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกในเวลากลางคืนโดยใช้กำลังประทุษร้ายกับความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจิตใจ เป็นความผิดหลายกรรม และจำเลยให้การรับสารภาพในความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว ซึ่งศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้ตามที่จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดหลายกรรมโดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์สืบพยานหลักฐานในข้อหาพยายามฆ่าแล้วปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยกับพวกร่วมกันบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายที่ 4 แล้วทำร้ายผู้เสียหายที่ 1 ทันที ซึ่งเป็นการกระทำต่อเนื่องในคราวเดียวกันอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 90 มิใช่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษา ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาตามที่พิจารณาได้ ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความใดฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
of 9