คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมชัย เกษชุมพล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 292 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11186/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยร่วมกันจำหน่ายยาเสพติด ส่วนจำเลยอื่นมียาเสพติดไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ศาลพิจารณาโทษและลดโทษตามกฎหมาย
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้ว่าพวกของตนจะนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งให้แก่ผู้ซื้อ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์มายังจุดนัดและดักรอผู้ซื้อเพื่อพาไปหาพวกของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ถือเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้การซื้อขายเมทแอมเฟตามีนสำเร็จ จึงเป็นตัวการมิใช่เพียงผู้สนับสนุน
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 3 จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 600 เม็ด ให้แก่ ผ. จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับ ผ. ร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 600 เม็ด ให้แก่สายลับ แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวมีปริมาณสารบริสุทธิ์เท่าใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่า เมทแอมเฟตามีนของกลาง 615 เม็ด ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย มีน้ำหนัก 56.30 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 11.542 กรัม อันเป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 66 วรรคสอง แล้ว และเมทแอมเฟตามีน 600 เม็ด ดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีน 615 เม็ด ซึ่งตามรายงานการตรวจพิสูจน์ของกลางพบปริมาณเมทแอมเฟตามีนคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 11.542 กรัม ปริมาณสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนตามรายงานการตรวจพิสูจน์ดังกล่าวเป็นการนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาตรวจหาสารบริสุทธิ์แล้วจึงนำผลที่ได้มาคำนวณหาปริมาณสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีนของกลาง 600 เม็ด ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ที่กำหนดปริมาณสารบริสุทธิ์ของยาเสพติดให้โทษโดยการคำนวณ จึงคำนวณสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีน 600 เม็ด ดังกล่าวได้เช่นเดียวกันว่ามีปริมาณเป็นสารบริสุทธิ์ 11.260 กรัม โดยไม่มีข้อสงสัยว่าเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวอาจมีส่วนผสมที่แตกต่างกับเมทแอมเฟตามีนส่วนอื่นที่จะทำให้ปริมาณสารบริสุทธิ์คำนวณได้ไม่ถึงหนึ่งร้อยกรัม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1721/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารราชการ ศาลพิจารณาจากข้อหาที่โจทก์ฟ้องแต่ละกระทง
โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 1 ก. และ 1 ข. ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันปลอมหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ และใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชปลอม ส่วนฟ้องในข้อ 1 ค. โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมฉบับเดิมเท่านั้น มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันทำปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการขึ้นใหม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองตามฟ้องข้อ 1 ค. จึงมีความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอมฐานเดียวตามมาตรา 268 วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา 266 (1) เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9244/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีอาญา ผลร้ายเกิดกับผู้ที่ไม่ได้ระบุในฟ้อง ศาลต้องยกฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 ซึ่งเป็นความผิดลหุโทษ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า ผลร้ายเกิดแก่บุคคลอื่นซึ่งเป็นบุคคลที่โจทก์มิได้บรรยายมาในฟ้อง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามทำร้ายผู้เสียหายและฐานทำร้ายบุคคลอื่นโดยพลาดไป เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ซึ่งโจทก์ย่อมฟ้องจำเลยลงโทษได้ทุกบทหรือบทหนึ่งบทใดได้ ดังนั้น ข้อเท็จจริงว่า การกระทำของจำเลยทำให้ผู้ใดได้รับผลร้ายจึงเป็นข้อสำคัญ การที่โจทก์กล่าวมาในฟ้องว่าผลร้ายเกิดเหตุแก่ผู้เสียหายเท่านั้น จึงเป็นข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ มิใช่ข้อแตกต่างที่เป็นเพียงรายละเอียดที่ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง จึงลงโทษจำเลยฐานทำร้ายบุคคลที่โจทก์มิได้บรรยายมาในฟ้องมิได้ และเมื่อฐานพยายามกระทำผิดลหุโทษต่อผู้เสียหายไม่ต้องรับโทษ ศาลก็ต้องยกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1412/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดร่วมกันพยายามฆ่าและมีอาวุธปืน ยินยอมให้ผู้อื่นใช้ปืนถือเป็นเจตนาเข้าร่วม
แม้พยานโจทก์ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ในคืนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ยอมให้ ม. เอาอาวุธปืนซึ่งเป็นของบิดาจำเลยที่ 1 ไปเหน็บไว้ที่เอวก่อนพากันออกจากบ้านจำเลยที่ 1 แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ยินยอมพร้อมใจให้ ม. ใช้อาวุธดังกล่าวกระทำความผิดขณะเดินทางไปด้วยกัน ถือว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาที่จะมีส่วนร่วมกระทำความผิดตั้งแต่ต้น และในขณะ ม. ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายกับพวกนั้น รถจักรยานยนต์ของจำเลยที่ 1 อยู่ห่างจากรถจักรยานยนต์ของ ม. ประมาณ 1 ถึง 2 เมตร ซึ่งเป็นระยะใกล้กันพอที่จะช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ และก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 กับพวกได้พากันขับรถจักรยานยนต์ผ่านผู้เสียหายกับพวกไปแล้ว จึงได้พากันขับรถจักรยานยนต์ย้อนกลับมาและหลังจาก ม. ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายกับพวก จำเลยที่ 1 กับพวกได้ยกมือขึ้นแสดงความดีใจ แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันรู้เห็นและพร้อมใจกันมากระทำความผิด มิใช่เป็นเหตุการณ์ที่ ม. ตัดสินใจกระทำความผิดเฉพาะหน้าเพียงผู้เดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1219/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาทุจริตสั่งห้ามจ่ายเช็ค-อำนาจศาลแขวง-การรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม
จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ร่วมตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 โดยจำเลยออกเช็คตามเอกสารหมาย จ.3 เพื่อชำระหนี้ดังกล่าวบางส่วนให้แก่โจทก์ร่วม ทั้งนี้โจทก์ร่วมยินยอมให้จำเลยเข้าครอบครองใช้สอยประโยชน์ในทรัพย์สินที่ตกลงจะซื้อจะขายนับแต่วันทำสัญญา ซึ่งจำเลยได้ออกเช็คตามเอกสารหมาย จ.9 เพื่อชำระหนี้ค่าใช้สอยดังกล่าวให้แก่โจทก์ร่วม การที่โจทก์ร่วมปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่า โจทก์ร่วมถูกธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ฟ้องและศาลพิพากษาให้ชำระหนี้ 115 ล้านบาทเศษเมื่อวันที่ 9 กันยายน 2539 และสัญญาจะซื้อจะขายในคดีนี้ตามเอกสารหมาย จ.1 ทำกันเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2539 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาให้โจทก์ร่วมชำระหนี้เพียง 12 วัน น่าเชื่อได้ว่าขณะทำสัญญาดังกล่าวจำเลยไม่ทราบว่าโจทก์ร่วมถูกธนาคารฟ้องให้ชำระหนี้และยึดทรัพย์ซึ่งรวมถึงที่ดินที่จะขายให้แก่จำเลยด้วย อันเป็นเหตุที่ทำให้โจทก์ร่วมไม่สามารถโอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จะขายตามสัญญาให้แก่จำเลยได้ ทั้งในวันที่ตกลงจะจดทะเบียนโอนที่ดินตามสัญญานั้น โจทก์ร่วมและเจ้าของร่วมคนอื่นก็มิได้ไปทำการโอนให้จำเลย เมื่อจำเลยทราบเหตุที่โจทก์ร่วมถูกศาลพิพากษาให้โจทก์ร่วมชำระหนี้และโจทก์ร่วมไม่ไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยตามกำหนด การที่จำเลยเห็นว่าการปฏิบัติตามสัญญาระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 นั้น มีปัญหาที่อาจจะทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ ดังนั้น การที่จำเลยไปแจ้งให้ธนาคารระงับการจ่ายเงินตามเช็คเอกสารหมาย จ.9 ซึ่งเป็นการสั่งจ่ายในการที่จำเลยได้ครอบครองหรือใช้สอยทรัพย์สินที่จะซื้อขายกันจึงเป็นการระงับการสั่งจ่ายโดยสุจริต แม้ว่าตามสัญญาจะซื้อจะขายเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 10 วรรคสองจะระบุว่าสำหรับเงินที่ผู้จะซื้อชำระให้แก่ผู้จะขายเป็นรายเดือนเดือนละ 300,000 บาท ตามความในข้อ 6 นั้นไม่อยู่ในข้อบังคับของวรรคแรกคงปล่อยให้ตกเป็นของผู้จะขายตลอดไป เพราะถือว่าเป็นค่าตอบแทนของการเข้าครอบครองและใช้สอยประโยชน์แล้ว ก็หาทำให้จำเลยมีความผิดเพราะแจ้งธนาคารระงับการจ่ายเงินโดยสุจริตไม่
อนึ่ง คดีความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 นั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งจำทั้งปรับ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17, 25 และต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเว้นแต่ผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลแขวงพิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลอุทธรณ์และอนุญาตให้อุทธรณ์ หรืออธิบดีกรมอัยการหรือพนักอัยการซึ่งอธิบดีกรมอัยการได้มอบหมายลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยก็ให้รับอุทธรณ์นั้นไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22, 22 ทวิ ซึ่งใช้บังคับแก่ศาลจังหวัดในท้องที่ซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการด้วยตาม พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดฯ มาตรา 3 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่ากรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยมีคำสั่งห้ามธนาคารใช้เงินตามเช็คโดยเจตนาทุจริต โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ความว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่าจำเลยมีคำสั่งห้ามธนาคารใช้เงินตามเช็คโดยเจตนาทุจริตเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โจทก์อุทธรณ์โดยอธิบดีอัยการเขต 2 รักษาการในตำแหน่งอัยการพิเศษประจำเขต 2 ซึ่งได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุดรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นอุทธรณ์ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบที่จะรับไว้พิจารณาตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22 ทวิ ส่วนอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไม่มีผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งอนุญาตให้อุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 22 แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วม ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ชอบที่จะวินิจฉัยให้ยกเสีย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมมาด้วยเป็นการไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5572/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนที่ดินเพื่อชำระหนี้โดยไม่สุจริต ทำให้เจ้าหนี้เดิมเสียเปรียบ และมีสิทธิเพิกถอนการโอนได้
แม้สิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจะเป็นเพียงบุคคลสิทธิ แต่การที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้โอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 5 เพื่อตีใช้หนี้ค่าวัสดุก่อสร้างให้จำเลยที่ 5 ไปโดยจำเลยที่ 5 รู้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้โจทก์และรับชำระราคาบางส่วนจากโจทก์แล้วนั้น เป็นการทำนิติกรรมที่ทำให้โจทก์เสียเปรียบตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 โจทก์จึงมีสิทธิขอเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้การโอนที่ดินพิพาทจะได้มีการจดทะเบียนแล้ว แต่เมื่อจำเลยที่ 5 รับโอนไว้โดยไม่สุจริต จำเลยที่ 5 ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามบทบัญญัติมาตรา 1300 ซึ่งบัญญัติห้ามมิให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์เฉพาะกรณีผู้รับโอนเสียค่าตอบแทนและรับโอนมาโดยสุจริต เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10852/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายบ้านเป็นโมฆะจากดอกเบี้ยเกินอัตรากฎหมาย ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิขับไล่จำเลย
จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 350,000 บาท และค้างชำระดอกเบี้ยโจทก์ต่อมาสามีจำเลยได้ทำสัญญาขายบ้านพิพาทให้โจทก์ในราคา 590,000 บาท โดยมีการโอนหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระโจทก์จำนวน 590,000 บาท แทนการชำระราคาบ้าน เมื่อพิจารณาดอกเบี้ยเงินกู้ที่จำเลยค้างชำระโจทก์แล้วนำมารวมกับต้นเงินกู้เป็นเงินที่ชำระราคาซื้อขายบ้านพิพาทนั้น เป็นการคิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราที่เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี เป็นดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฯ มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ สัญญาซื้อขายบ้านพิพาทจึงเกิดจากหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ราคาบ้านพิพาทที่กำหนดในสัญญาจะรวมเอาต้นเงินกู้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับไว้ด้วยก็ตาม แต่โจทก์และสามีจำเลยมิได้มีเจตนาจะแบ่งแยกซื้อขายบ้านบางส่วนในราคาต้นเงิน 350,000 บาท ที่จำเลยค้างชำระอยู่ สัญญาซื้อขายบ้านพิพาทระหว่างโจทก์กับสามีจำเลยย่อมเป็นโมฆะทั้งฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 โจทก์จึงฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านพิพาทไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6498/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลวินิจฉัยนอกประเด็นคดีเมื่อวินิจฉัยลดเบี้ยปรับและชดใช้ค่าก่อสร้างทาวน์เฮาส์ ซึ่งขัดต่อประเด็นข้อพิพาทเรื่องค่าเสียหาย
โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญา ขอให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินทั้ง 6 แปลงให้โจทก์และชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 3,000,000 บาท หากไม่สามารถโอนที่ดินได้ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 35,000,000 บาท ซึ่งศาลกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ค่าเสียหายของโจทก์มีหรือไม่เพียงใด ซึ่งมิใช่เป็นการเรียกเบี้ยปรับคืนหรือขอให้ลดเบี้ยปรับแต่อย่างใด เมื่อทาวน์เฮาส์จำนวน 18 ห้อง ที่ ศ. ปลูกสร้างในที่ดินของจำเลยที่ 1 ซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายมีข้อตกลงว่าหาก ศ. ผิดสัญญาให้ริบเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้จะขายโดยไม่ต้องใช้ราคาเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นการที่ผู้จะซื้อให้สัญญาว่าจะทำการชำระหนี้อย่างอื่นที่มิใช่ตัวเงินให้เป็นเบี้ยปรับแก่ผู้จะขายตาม ป.พ.พ. มาตรา 382 เมื่อโจทก์ฟ้องและขอบังคับให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดิน 6 แปลง ตามสัญญาจะซื้อจะขาย หากไม่สามารถโอนได้ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายตามสัญญา ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยลดเบี้ยปรับและให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าปลูกสร้างทาวน์เฮาส์เป็นเงินจำนวน 900,000 บาท ให้แก่โจทก์นั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี คำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 301/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการให้เนื่องจากเนรคุณ ต้องพิสูจน์ขอความช่วยเหลือแต่ไม่ได้รับ
เหตุที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้จะเรียกถอนคืนการให้เพราะเหตุที่จำเลยซึ่งเป็นผู้รับประพฤติเนรคุณตาม ป.พ.พ. มาตรา 531 (3) นั้น จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ให้มีความจำเป็นเพราะขาดแคลนปัจจัยในการดำรงชีวิต แล้วผู้ให้ร้องขอความช่วยเหลือจากผู้รับ และผู้รับอยู่ในฐานะที่จะให้ได้โดยไม่เดือดร้อน แล้วผู้รับปฏิเสธที่จะให้นั้น การที่จำเลยจะขายที่ดินที่โจทก์ยกให้แต่ถูกโจทก์ห้ามปราม จำเลยจึงไปอยู่เสียที่อื่นจนโจทก์ต้องไปอาศัยอยู่กับน้องสาวนั้น จะฟังว่าโจทก์ได้ขอความช่วยเหลือจากจำเลยและจำเลยอยู่ในฐานะที่จะให้ความช่วยเหลือโจทก์ได้โดยไม่เดือดร้อน แล้วจำเลยไม่ช่วยเหลือหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณโจทก์ตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2839/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความ: การมอบอำนาจให้ผู้อื่นทำสัญญา ทำให้เจ้าของสิทธิสิ้นสุดการเรียกร้องในมูลละเมิด
บันทึกตกลงช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมีข้อความว่า จำเลยตกลงนำรถยนต์ของนายมนูที่เกิดอุบัติเหตุในครั้งนี้ไปทำการตรวจซ่อมให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ตามปกติ โดยจะทำการซ่อมให้เสร็จภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่รับรถไปจากพนักงานสอบสวน และตกลงช่วยเหลือเป็นค่าสินไหมให้แก่นายมนูที่ได้รับบาดเจ็บเป็นเงิน 1,000 บาท กับค่าสิ่งของที่นายมนูซื้อนำมากับรถและได้รับความเสียหายเป็นเงิน 10,000 บาท และตอนท้ายมีข้อความว่า คู่กรณีจะไม่มีการเรียกร้องหรือฟ้องร้องค่าเสียหายใด ๆ อันเกิดจากเรื่องนี้อีกทั้งทางแพ่งและอาญา มีลักษณะเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า โจทก์ได้เชิดให้นายมนูเป็นตัวแทนของโจทก์ในการทำบันทึกดังกล่าว โจทก์จึงสิ้นสิทธิที่จะเรียกร้องในมูลละเมิดจากจำเลย คงได้สิทธิเรียกร้องตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 852
of 30