คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เฉลียว พลวิเศษ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 61 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12650/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการขอเพิกถอนเครื่องหมายการค้า แม้มิได้คัดค้านการจดทะเบียน และการพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมาย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการการขอจดทะเบียนและการคัดค้านการขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและการเพิกถอนเครื่องหมายการค้าไว้เป็นลำดับ ตั้งแต่หมวดที่ 1 ส่วนที่ 1 การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ที่ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาคำขอต่าง ๆ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย เมื่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นว่าเครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอรายนั้นไม่มีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ก็จะรับจดทะเบียนให้และลงประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายนั้น ตามมาตรา 29 อันเป็นการเสร็จสิ้นขั้นตอนการพิจารณาคำขอของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า จากนั้นก็เปิดโอกาสให้มีการคัดค้านคำขอที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนไว้เป็นเวลา 90 วัน นับแต่วันประกาศโฆษณา ตามมาตรา 35 ซึ่งเป็นขั้นตอนในลำดับถัดไปที่บัญญัติไว้ในส่วนที่ 2 การรับจดทะเบียนและผลแห่งการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หากไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดคัดค้านหรือมีผู้คัดค้าน แต่ได้มีคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้ผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิจดทะเบียนตามมาตรา 40 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าก็จะมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ อันเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า หลังจากนั้นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับจดทะเบียนแล้วดังกล่าว อาจมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงการจดทะเบียนตามที่บัญญัติไว้ในส่วนที่ 3 และอาจมีการต่ออายุและอาจถูกเพิกถอนเครื่องหมายการค้าตามที่บัญญัติไว้ในส่วนที่ 4 ซึ่งเป็นคนละขั้นตอนกับการพิจารณาคำขอเครื่องหมายการค้าของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามที่บัญญัติไว้ในส่วนที่ 1 ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าอ้างว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ในขณะจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของผู้ร้องที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าสั่งให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนแล้วได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61 (4) ซึ่งเป็นการใช้สิทธิขอให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าคนละขั้นตอนโดยอาศัยอำนาจตามบทมาตราของกฎหมายแตกต่างกัน แม้ผู้ร้องไม่เคยคัดค้านคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไว้ตามมาตรา 35 ผู้ร้องย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องดังกล่าวได้
เมื่อพิจารณาการยื่นคำขอใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตั้งแต่ต้น และหลังจากนั้นโจทก์ได้นำเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไปใช้กับสินค้าของโจทก์เรื่อยมาตั้งแต่ ปี 2547 โดยไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านหรือมีความเห็นเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ว่าต้องห้ามจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามกฎหมายแต่ประการใด ทั้งหลังจากโจทก์ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของโจทก์นำออกจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไปมาเป็นเวลานานเกินกว่า 5 ปี ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปี 2552 จนเป็นที่รู้จักแก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่ปรากฏว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์สร้างความสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าของโจทก์กับสินค้าของผู้ร้องหรือบุคคลอื่น ย่อมเป็นข้อสนับสนุนว่า โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยสุจริตโดยสาธารณชนสามารถแยกความแตกต่างระหว่างสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของผู้ร้องหรือของบุคคลอื่นได้ แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของผู้ร้องจะใช้อักษรโรมันและมีเสียงเรียกขานอย่างเดียวกัน กับได้จดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน ถือไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในขณะที่จดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจะสั่งให้เพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วตามมาตรา 61 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1814/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์จากการฉ้อฉล การกระทำโดยสุจริต และการปรับบทกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นการเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิแก่ตนได้อยู่ก่อน ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ขณะทำนิติกรรมขายฝากจำเลยที่ 2 รู้ข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นผู้จะซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 และได้ครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนอันเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 เสียเปรียบ แม้จำเลยที่ 1 จะเสียค่าตอบแทนก็เป็นการร่วมกันฉ้อฉล โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 ไม่ถือเป็นการนอกฟ้อง เกินกว่าคำขอดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเพิกถอนการฉ้อฉลไว้ครบถ้วน เพียงแต่ปรับบทกฎหมายแตกต่างไปเป็นเรื่องเพิกถอนการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนของตนได้อยู่ก่อน ซึ่งเป็นอำนาจศาลที่จะปรับบทให้ตรงกับคำบรรยายฟ้องและข้อเท็จจริงที่ยังได้จากการพิจารณาคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19463/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ไม่สุจริต และความคล้ายคลึงจนสับสนของเครื่องหมายการค้า
เครื่องหมายการค้า ของโจทก์และเครื่องหมายการค้า COMSTAR ของจำเลยต่างมีภาคส่วนเครื่องหมายคำเป็นอักษรโรมันคำว่า COM เช่นเดียวกัน แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีภาคส่วนดาวซึ่งแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งเป็นเครื่องหมายคำไม่มีภาพประกอบ แต่รูปดาวของโจทก์นั้นบุคคลทั่วไปย่อมทราบว่าหมายถึงคำว่า ดาว หรือคำว่า STAR ซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของจำเลย ทั้งตามคำขอจดทะเบียนโจทก์ได้ระบุคำอ่านรูปดาวในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ว่า "สตาร์" ซึ่งเมื่อเรียกขานรวมทั้งเครื่องหมายจะเรียกขานได้ว่า "คอมสตาร์" ซึ่งพ้องกับเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าของจำเลย เมื่อโจทก์และจำเลยต่างจดทะเบียนใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันรายการสินค้าเดียวกัน เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
จำเลยเป็นเพียงผู้จำหน่ายสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้า และสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้า COMSTAR ซึ่งเป็นของบริษัท ซ. ที่จำเลยซื้อจากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมาจำหน่ายในประเทศไทย เมื่อโจทก์ได้นำเครื่องหมายการค้า ไปจดทะเบียนเป็นของตน จำเลยไม่อาจจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ จำเลยจึงจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า COMSTAR แทนเพื่อจำหน่ายสินค้าให้แก่กลุ่มลูกค้าเดิม จึงเป็นการที่จำเลยนำเครื่องหมายการค้าของบริษัท ซ. มาจดทะเบียนเป็นของตนโดยไม่สุจริต
โจทก์เป็นเพียงผู้ซื้อสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้า ของบริษัท ซ. จากประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนมาจำหน่ายในประเทศไทยเช่นเดียวกับจำเลย แล้วโจทก์นำเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาจดทะเบียนเป็นของตนโดยไม่สุจริตเช่นเดียวกับจำเลย ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิในเครื่องหมายการค้า และเครื่องหมายการค้า COMSTAR สำหรับสินค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้ดีกว่าจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19305/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์ต้องเกิดจากความวิริยะอุตสาหะ ไม่ใช่การลอกเลียนแบบงานเดิม แม้มีการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ก็ไม่ใช่การรับรองสิทธิ
การจะเป็นผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์นั้นความสำคัญมิได้อยู่ที่ว่างานที่อ้างว่าได้สร้างสรรค์นั้นเป็นงานใหม่หรือไม่ แต่อยู่ที่ว่าบุคคลนั้นได้ทำหรือก่อให้เกิดงานโดยได้ใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์ และงานดังกล่าวมีที่มาหรือต้นกำเนิดจากบุคคลผู้นั้น มิได้คัดลอกหรือทำซ้ำหรือดัดแปลงมาจากงานอันมีลิขสิทธิ์อื่น
เมื่อพิจารณาตุ๊กตารูปช้างของโจทก์ร่วมเปรียบเทียบกับภาพธงราชนาวีไทยและธงชาติไทยในอดีตที่มีรูปช้างทรงเครื่องอยู่กลางธง ซึ่งมีมาช้านานแล้ว มีการตกแต่งเครื่องทรงตัวช้างที่คล้ายคลึงกัน แสดงว่างานที่โจทก์ร่วมอ้างว่าโจทก์ร่วมมีลิขสิทธิ์ตามฟ้องนั้นเป็นการปรับปรุงเล็กน้อยโดยลอกเลียนแบบมาจากรูปช้างทรงเครื่องที่มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณเช่นที่ปรากฏอยู่ในธงราชนาวีไทยและธงชาติไทยในอดีต งานของโจทก์ร่วมจึงถือไม่ได้ว่าเป็นงานที่โจทก์ร่วมได้ทำขึ้นโดยใช้ความวิริยะอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานของโจทก์ร่วมเอง โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้สร้างสรรค์ตามความหมายแห่งมาตรา 4 ของ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537
การรับแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ของกรมทรัพย์สินทางปัญญามิใช่เป็นการจดทะเบียนรับรองสิทธิหรือยืนยันลิขสิทธิ์ของผู้แจ้ง แต่เป็นเพียงหลักฐานเบื้องต้นของผู้แจ้งว่าเป็นเจ้าของของลิขสิทธิ์เท่านั้น หากมีการโต้แย้งว่าผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์หรือไม่ต้องมีการพิสูจน์
โจทก์ฟ้องจำเลยว่าละเมิดลิขสิทธิ์โดยมิได้กล่าวถึงเรื่องสิทธิบัตรมาด้วย ตามทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อที่โจทก์ร่วมอ้างมาในอุทธรณ์จึงไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18738-18740/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความเหมือน/คล้ายคลึง, การใช้โดยสุจริต, และการคุ้มครองตามกฎหมาย
เครื่องหมายการค้าคำว่า ของโจทก์ เมื่อเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายเป็นอักษรโรมันและมีลักษณะการประดิษฐ์ที่แตกต่างกันน้อยมาก เมื่อใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันจึงอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ แต่เมื่อโจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวในทางการค้าของโจทก์กับสินค้าจำพวกที่ 16 ได้แก่ เครื่องใช้สำนักงาน เครื่องเขียน โดยใช้สินค้าดังกล่าวภายในกิจการของกลุ่มโจทก์ และนำไปแจกจ่ายเป็นของแจก แลก ของสมนาคุณ เพื่อส่งเสริมการขายต่อกลุ่มโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการใช้เพื่อแสดงว่าสินค้าดังกล่าวมีความแตกต่างกับสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น อันเป็นการใช้อย่างเครื่องหมายการค้าแล้ว เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีที่มาจากนามสกุลของผู้ก่อตั้งโจทก์ และโจทก์ใช้คำนี้เป็นชื่อของโจทก์ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายสาธารณรัฐอินเดียตั้งแต่ปี 2460 ทั้งโจทก์ก็ยังเคยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเพื่อใช้กับสินค้าหลายจำพวกรวมทั้งสินค้าจำพวกที่ 16 มาแล้วในหลายประเทศ จึงเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยสุจริตมิได้มีเจตนาแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากความมีชื่อเสียงของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27 นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีดุลพินิจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันได้ โดยจะมีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้านั้น เพื่อป้องกันมิให้สาธารณชนสับสนหลงผิดไว้ด้วยก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12746/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ แม้ไม่สุจริต ก็ทำได้ตามกฎหมาย
ผู้คัดค้านขายที่ดินโฉนดเลขที่ 31186 ให้ผู้ร้องแล้ว โดยมิได้สนใจที่ดินพิพาทอีกแปลงหนึ่งของผู้คัดค้านซึ่งอยู่ติดกับที่ดินโฉนดเลขที่ 31186 อีกเลย คงปล่อยให้ผู้ร้องเข้าครอบครองโดยเก็บค่าเช่าจากผู้เช่าบ้านที่ปลูกไว้ในที่ดินพิพาทรวมทั้งรื้อถอนบ้านเช่าออกไป แล้วถมดินปรับปรุงพื้นที่และปลูกสร้างอาคารอู่ซ่อมรถให้ผู้อื่นเช่าเสมือนหนึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทติดต่อกันเรื่อยมาโดยผู้คัดค้านไม่เคยโต้แย้ง แม้ผู้คัดค้านได้นำเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อรังวัดสอบเขตที่ดินพิพาท แต่ก็เป็นการกระทำหลังจากที่ผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 10 ปี แล้ว ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ โดยไม่คำนึงว่าผู้ร้องจะครอบครองที่ดินพิพาทโดยสุจริตหรือไม่ เพราะการได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์มิได้กำหนดเงื่อนไขว่าต้องเป็นการครอบครองโดยสุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12602/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตรออกแบบผลิตภัณฑ์: การพิจารณาความใหม่และลักษณะแตกต่างจากงานที่มีอยู่แล้ว
การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จะขอรับสิทธิบัตรได้นั้น ต้องเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรม โดยไม่จำต้องมีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า แบบผลิตภัณฑ์โคมไฟของจำเลยที่ 2 เป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีรูปร่างลักษณะแตกต่างไปจากแบบผลิตภัณฑ์โคมไฟที่มีหรือใช้แพร่หลายอยู่แล้วในประเทศ ไม่มีการเปิดเผยภาพ สาระสำคัญหรือรายละเอียดในเอกสารหรือสิ่งพิมพ์ที่ได้เผยแพร่อยู่แล้วไม่ว่าในหรือนอกประเทศ และไม่เคยมีการโฆษณาประกาศมาแล้วก่อนวันขอรับสิทธิบัตร จึงเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่ออุตสาหกรรมรวมทั้งหัตถกรรมที่จะขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12338/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิด: การสับเปลี่ยนห่อผ้าเพื่อชิงทรัพย์สิน
จำเลยทำทีเป็นเก็บกระเป๋าสตางค์ได้ โดยพวกของจำเลยถามจำเลยว่าในกระเป๋ามีทองเต็มใช่หรือไม่ จำเลยเปิดกระเป๋าสตางค์ออกดู ผู้เสียหายมองเห็นทองรูปพรรณในกระเป๋า 3 ถึง 4 เส้น จำเลยพูดว่าจะให้เงินผู้เสียหาย 10,000 บาท แต่อย่าบอกผู้ใด และบอกให้ผู้เสียหายถอดสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องเอามารวมไว้ในห่อผ้าเช็ดหน้า แล้วผูกผ้าเช็ดหน้าให้ผู้เสียหายถือไว้และให้ยืนรอ โดยจำเลยจะนำเงินมาให้ ผู้เสียหายรออยู่ 1 ชั่วโมง จำเลยไม่กลับมา ผู้เสียหายแกะห่อผ้าเช็ดหน้าออกดู พบว่ามีเงินเหรียญบาท 32 เหรียญ ดังนี้จำเลยกับพวกมีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่แรก การที่จำเลยหลอกลวงว่าจะให้เงินผู้เสียหาย 10,000 บาท และให้ถอดสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องเอามารวมไว้ ล้วนเป็นการใช้กลอุบายเพื่อให้ได้ไปซึ่งสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องของผู้เสียหาย แม้ผู้เสียหายจะหลงเชื่อ แต่ผู้เสียหายก็ไม่ได้มีเจตนาส่งมอบสร้อยคอทองคำพร้อมพระเครื่องให้แก่จำเลย สาเหตุที่จำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปได้ เชื่อว่าเกิดจากการสับเปลี่ยนห่อผ้าเช็ดหน้า ซึ่งเป็นการแย่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์ของผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) วรรคแรก แม้ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาจะต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงและลักทรัพย์ก็ไม่ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญและจำเลยก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลฎีกามีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปได้ แต่ไม่อาจลงโทษจำเลยให้เป็นไปตามอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11036/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน: บุคคลภายนอกสุจริตได้สิทธิเหนือผู้ครอบครองก่อน หากจดทะเบียนสิทธิแล้ว
โจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ซึ่งมีอาณาเขตติดกับที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของ จ. ต่อมาที่ดินทั้งสองแปลงถูกเวนคืนไปบางส่วนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาล ทำให้ที่ดินของ จ. ถูกแบ่งแยก บางส่วนที่ดินพิพาทยังเหลือติดอยู่กับที่ดินของโจทก์ และโจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินของ จ. บริเวณดังกล่าวเรื่อยมาจนได้สิทธิครอบครอง ต่อมา จ. โอนขายที่ดินพิพาทให้ ก. ต่อมา ก. ขายที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง สิทธิของผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ถ้ายังไม่ได้จดทะเบียน จะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหาได้ไม่ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทต่อจาก ก. ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจาก จ. เป็นคนแรก และได้จดทะเบียนรับโอนที่ดินดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 จึงเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิในที่ดินพิพาทมาโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิแล้ว เมื่อโจทก์มิได้กล่าวอ้างในคำฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทและจดทะเบียนสิทธิโดยไม่สุจริต ซึ่งนอกจากไม่มีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตหรือไม่แล้ว จำเลยที่ 1 ยังได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ด้วยว่ากระทำการโดยสุจริต การที่โจทก์เป็นผู้ได้ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองซึ่งเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมและยังมิได้จดทะเบียน จึงไม่อาจยกสิทธิที่ได้มาโดยการครอบครองขึ้นต่อสู้กับจำเลยที่ 1 ได้ จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9815/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 (บริษัท) เกิดจากกรรมการ (จำเลยที่ 1) ปฏิเสธการคืนโฉนดที่ดินแทนบริษัท
ตามคำฟ้องในตอนต้น ได้ระบุชื่อจำเลยที่ 2 ไว้ว่า บริษัท ส. โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการของบริษัทจำเลยที่ 2 การกระทำใดๆ ของจำเลยที่ 2 จึงต้องแสดงออกโดยจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ดังนั้น เมื่อคำฟ้องได้ระบุว่า เมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยที่ 1 คืนโฉนดที่ดิน แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยอมคืนกลับอ้างว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 2 ในขณะที่จำเลยที่ 1 เองเป็นกรรมการของจำเลยที่ 2 อยู่ด้วย เท่ากับจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ผู้แทนปฏิเสธไม่ยอมคืนโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์นั่นเอง จึงถือว่าโจทก์ถูกจำเลยที่ 2 โต้แย้งสิทธิและมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ได้
of 7