พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8337/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การคืนหลักประกันหลังการฟื้นฟูกิจการ: เมื่อเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนจากการฟื้นฟูกิจการ จำเลยมีสิทธิขอคืนหลักประกันได้
คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันรับผิดคืนเงินค่าหุ้นพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ได้รับไปจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดห้องชุดเลขที่ 1095/161 ของจำเลยที่ 3 และที่ดิน 4 แปลงในจังหวัดภูเก็ต ของจำเลยที่ 1 ไว้ แต่ระหว่างที่มีการอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีสำหรับห้องชุดของจำเลยที่ 3 และที่ดินของจำเลยที่ 1 ไว้เป็นการชั่วคราว ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเปลี่ยนหลักประกันที่โจทก์ได้นำยึดไว้ โดยขอให้ถอนการยึดที่ดิน 4 แปลง และจำเลยที่ 1 ยินยอมทำหนังสือค้ำประกันในคดีแพ่ง โดยนำห้องชุดเลขที่ 252/252 และเลขที่ 252/11 รวม 2 ห้อง มาวางเป็นหลักประกันแทนโดยมีข้อตกลงว่า ถ้าจำเลยที่ 1 และที่ 3 แพ้คดี และไม่ชำระเงินตามคำพิพากษา จำเลยที่ 1 ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินที่นำมาวางไว้เป็นหลักประกันต่อศาลทันที ต่อมาศาลชั้นต้นมีหนังสือแจ้งอายัดกรรมสิทธิ์ห้องชุดทั้งสองห้องไปยังเจ้าพนักงานที่ดิน เพื่อให้ระงับการจดทะเบียน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน หรือเพิกถอนการจดทะเบียนห้องชุดทั้งสองห้อง จึงถือได้ว่า ห้องชุดเลขที่ 252/252 และเลขที่ 252/11 รวม 2 ห้อง ของจำเลยที่ 1 เป็นหลักประกันที่จำเลยที่ 1 วางต่อศาลสำหรับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ตามคำพิพากษา เพื่อให้ศาลงดการบังคับคดี หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในการฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง โจทก์จะต้องไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 ซึ่งโจทก์ก็ได้นำมูลหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้ที่จำเลยที่ 1 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ไปยื่นคำขอรับชำระหนี้ และได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 ตามแผนฟื้นฟูกิจการจนครบถ้วน เมื่อศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการของจำเลยที่ 1 แล้ว จึงส่งผลให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ อันรวมถึงหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 3 ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/75 โจทก์จึงไม่อาจบังคับคดีกับทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 อันรวมถึงทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 นำมาวางเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้ได้อีก จึงต้องคืนหลักประกันที่วางประกันให้แก่จำเลยที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5748/2559
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟื้นฟูกิจการ: เจ้าหนี้มีสิทธิรับชำระหนี้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเท่านั้น การชำระหนี้ก่อนหรือนอกแผนเป็นโมฆะ
เมื่อศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้และตั้งผู้ทำแผน เจ้าหนี้ในมูลหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ก็แต่โดยยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดเวลา 1 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตามมาตรา 90/26 วรรคหนึ่ง และการที่เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้นั้นจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ คือ เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการเป็นจำนวนเท่าใดจะต้องนำหนี้ดังกล่าวมาปรับกับแผนฟื้นฟูกิจการก่อน เจ้าหนี้ไม่อาจที่จะได้รับชำระหนี้โดยวิธีอื่นนอกจากตามจำนวนและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธิได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้หรือผู้ทำแผนซึ่งได้นำเงินมาชำระหนี้หรือนำเงินมาวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์แต่อย่างใด และการที่ลูกหนี้นำเงินไปชำระหนี้ภายหลังศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการแล้ว หรือผู้ทำแผนนำเงินไปวางเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่สำนักงานวางทรัพย์อันมิใช่วิธีที่กฎหมายกำหนดเพื่อชำระหนี้ซึ่งมูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จึงเป็นการกระทำที่ไม่อาจกระทำได้เพราะขัดต่อ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (9) ย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 90/12 วรรคท้าย หนี้จึงยังไม่ระงับ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้ เมื่อกฎหมายล้มละลายในส่วนของการฟื้นฟูกิจการกำหนดวิธีการในการขอรับชำระหนี้ในมูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ไว้โดยชัดแจ้งแล้ว ลูกหนี้หรือผู้ทำแผนจะดำเนินการชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ในมูลหนี้ดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นการค้าตามปกตินั้นหาได้ไม่ เจ้าหนี้จึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8746/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการส่งพนักงานไปปฏิบัติงานที่บริษัทลูกหนี้: การให้บริการตามกฎหมาย
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/2 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การกระทำกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักร ให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามบทบัญญัติในหมวดนี้ (1) การขายสินค้าหรือการให้บริการโดยผู้ประกอบการ..." ตามมาตรา 77/1 (10) คำว่า "บริการ" หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า และให้หมายความรวมถึงการใช้บริการของตนเองไม่ว่าประการใด ๆ ..." ปรากฏว่าพนักงานที่เจ้าหนี้ส่งไปทำงานในบริษัทลูกหนี้ซึ่งเจ้าหนี้ถือหุ้นอยู่ยังคงเป็นลูกจ้างของเจ้าหนี้เนื่องจากเจ้าหนี้เป็นผู้จ่ายเงินเดือนและค่าสวัสดิการต่าง ๆ ทั้งยังคงต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหนี้ การที่เจ้าหนี้ส่งพนักงานไปปฏิบัติหน้าที่ในบริษัทลูกหนี้ โดยลูกหนี้เป็นผู้รับผิดชอบชดใช้เงินเดือนและค่าสวัสดิการซึ่งเจ้าหนี้จ่ายให้แก่พนักงานของเจ้าหนี้ไป แม้จะไม่เป็นการกระทำใด ๆ ซึ่งเป็นการหาประโยชน์อันมีมูลค่าจากลูกหนี้โดยตรง แต่การที่เจ้าหนี้เรียกเก็บเงินจากลูกหนี้เท่ากับที่จ่ายให้แก่พนักงานก็ยังต้องด้วยคำนิยามของคำว่า "บริการ" จึงถือว่าเจ้าหนี้ให้บริการแก่ลูกหนี้แล้ว เจ้าหนี้ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากลูกหนี้ผู้รับบริการตาม ป.รัษฎากร มาตรา 82/4 วรรคหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เมื่อลูกหนี้ต้องชำระค่าบริการสำหรับเงินเดือนและสวัสดิการพนักงานของเจ้าหนี้ที่เรียกเก็บจากลูกหนี้ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิได้รับค่าภาษีมูลค่าเพิ่มจากเงินดังกล่าวด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7219/2554
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผลของการฟื้นฟูกิจการต่อหนี้ค้ำประกัน: การปลดเปลื้องหนี้และการไม่มีอำนาจฟ้อง
กฎหมายฟื้นฟูกิจการกำหนดให้เจ้าหนี้ในมูลหนี้เงินทั้งหลายของลูกหนี้ที่มีอยู่ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการทุกประเภทไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระแล้วหรือไม่ หรือมีเงื่อนไขก็ตามได้เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ทั้งนี้เพื่อให้หนี้สินทั้งปวงของลูกหนี้ที่มีอยู่แล้วก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการนั้นได้รับการชำระสะสางไปภายในกรอบของกฎหมายฟื้นฟูกิจการ และเมื่อศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว จะทำให้ลูกหนี้และเจ้าหนี้มาผูกพันกันตามที่กำหนดไว้ตามแผนฟื้นฟูกิจการเท่านั้น ส่วนหนี้อื่น ๆ ในมูลหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้นั้นลูกหนี้จะได้รับการปลดเปลื้องไป และต่อมาเมื่อศาลมีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการเนื่องจากลูกหนี้ได้ปฏิบัติตามแผนครบถ้วนแล้ว ในส่วนหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ ลูกหนี้ก็คงต้องรับผิดเฉพาะหนี้ที่เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้แล้ว ซึ่งยังค้างชำระอยู่ตามที่กำหนดไว้ในแผน เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ได้ตกลงผูกพันตนเข้าค้ำประกันหนี้ที่จำเลยมีต่อบริษัท ท. ก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ จึงถือว่า มูลหนี้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการอันเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระได้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/27 วรรคหนึ่ง ส่วนที่โจทก์ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งยกคำขอรับชำระหนี้ของโจทก์นั้น ก็เนื่องจากบริษัท ท. เจ้าหนี้ ได้ยื่นคำขอ รับชำระหนี้ไว้เต็มจำนวนแล้ว ตามมาตรา 90/27 วรรคสอง ประกอบมาตรา 101 ทั้งนี้เนื่องจากมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อบริษัท ท. และมูลหนี้ตามภาระค้ำประกันนั้นเป็นมูลหนี้จำนวนเดียวกัน หาใช่มูลหนี้ของโจทก์เป็นหนี้ที่ไม่อาจขอรับชำระหนี้ได้ เมื่อต่อมาศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและจำเลยได้ชำระหนี้ตามแผนครบถ้วนแล้ว และศาลได้มีคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ จึงไม่มีหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดตามแผนอีกต่อไป การที่โจทก์ได้ชำระหนี้ให้แก่บริษัท ท. นั้น โจทก์จะเรียกร้องให้จำเลยรับผิดในการที่จะใช้สิทธิไล่เบี้ยในฐานะผู้ค้ำประกันที่ได้ชำระหนี้ไปหาได้ไม่ เนื่องจากหนี้ดังกล่าวนั้นจำเลยได้รับการปลดเปลื้องไปแล้ว โดยคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนและคำสั่งยกเลิกการฟื้นฟูกิจการ ทั้งโจทก์จะรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ในการที่จะสวมสิทธิของเจ้าหนี้ที่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ในการฟื้นฟูกิจการของจำเลยในหนี้ที่ยังค้างอยู่ก็ไม่อาจทำได้เนื่องจากจำเลยได้ชำระหนี้ตามแผนครบถ้วนแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง