คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ไชยยงค์ คงจันทร์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 147 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5537/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการรับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนเป็นทรัพย์มรดก ไม่ใช่สิทธิเฉพาะตัวเจ้ามรดก
พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 106 บัญญัติว่า "ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดประสงค์จะโอนใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนในระบบให้บุคคลอื่น ให้ยื่นคำขอต่อผู้อนุญาตตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนด เมื่อผู้อนุญาตเห็นว่าผู้รับโอนมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 21 หรือมาตรา 22 แล้วแต่กรณี ให้อนุญาตโดยเร็ว" และมาตรา 107 บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้รับใบอนุญาตตายหรือเป็นคนสาบสูญ และทายาทมีความประสงค์จะดำเนินกิจการโรงเรียนในระบบต่อไป ให้ทายาทซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 21 หรือในกรณีที่มีทายาทหลายคน ให้ทายาทด้วยกันนั้นตกลงตั้งทายาทคนหนึ่งซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 21 ยื่นคำขอรับโอนใบอนุญาตต่อผู้อนุญาตภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่ผู้รับใบอนุญาตตายหรือสาบสูญหรือภายในระยะเวลาที่ผู้อนุญาตขยายเวลาตามความจำเป็น..." แสดงให้เห็นว่าผู้รับใบอนุญาตอาจโอนโรงเรียนที่ตนได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการโอนระหว่างที่ตนมีชีวิต หรือการโอนทางมรดกเมื่อตนถึงแก่ความตายแล้ว และสิทธิของผู้รับใบอนุญาตซึ่งได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนดังกล่าวไม่ระงับหรือหมดสิ้นไปในทันทีที่ผู้รับใบอนุญาตนั้นถึงแก่ความตาย สิทธิดังกล่าวจึงไม่เป็นสิทธิที่เป็นการเฉพาะตัวของผู้รับใบอนุญาตโดยแท้ ส่วนการที่ทายาทผู้ยื่นคำขอเพื่อรับโอนโรงเรียนต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตาม มาตรา 21 เป็นเรื่องที่ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชนฯ กำหนดไว้เพื่อประโยชน์ในการให้บริการทางการศึกษา ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมส่วนรวมในอันที่จะให้ผู้รับโอนมีทั้งความรู้ความสามารถและมีคุณธรรมในมาตรฐานเช่นเดียวกับผู้รับใบอนุญาต จึงไม่มีผลกระทบต่อสภาพแห่งสิทธิการเป็นผู้รับใบอนุญาตที่ทายาทอาจขอรับโอนได้ตาม มาตรา 107 วรรคหนึ่ง ดังนั้นการได้รับอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียน ส. จึงไม่เป็นการเฉพาะตัวของเจ้ามรดก สิทธิในการรับใบอนุญาตจัดตั้งโรงเรียนเป็นทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1600

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13874/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทางจำเป็น: การพิจารณาความเหมาะสมของที่ดินที่ใช้เป็นทางออกสู่สาธารณประโยชน์ ต้องพิจารณาความเสียหายที่น้อยที่สุด
คลองบางสี่บาทมีสภาพเป็นทางระบายน้ำ ตื้นเขิน มีวัชพืชปกคลุม น้ำในคลองเน่าเสีย เรือไม่สามารถลอดใต้สะพาน สภาพเช่นนี้ประชาชนไม่สามารถใช้คลองสัญจรไปมาได้อย่างคลองสาธารณะอื่น จึงไม่ถือเป็นทางสาธารณะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349
ด้านทิศตะวันออกของที่ดินของโจทก์อยู่ห่างจากทางสาธารณประโยชน์เพียง 50 เซนติเมตร เท่ากับความกว้างของที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 ซึ่งปิดล้อมอยู่ด้านนี้ แต่ด้านทิศตะวันตกของที่ดินของโจทก์อยู่ห่างจากทางสาธารณประโยชน์ถึง 4 เมตร 50 เซนติเมตร เท่ากับความกว้างของที่ดินของจำเลยทั้งสี่ จากที่ดินของโจทก์เมื่อผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 เพื่อออกสู่ถนนพระรามที่ 2 ก็เป็นระยะทางที่ใกล้กว่าที่จะผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสี่ออกสู่ถนนพระรามที่ 2 ถึง 280 เมตร แม้ทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันออกจะมีความกว้างประมาณ 4 เมตร ถึง 6 เมตร 40 เซนติเมตร ส่วนทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันตกแม้มีความกว้างถึง 12 เมตร มี 4 ช่องเดินรถ แต่ก็ไม่ได้มีความกว้างเช่นนี้ตลอดแนวที่ดินของจำเลยทั้งสี่ คงมีความกว้างเช่นนี้เฉพาะบริเวณที่อยู่หน้าสวนหย่อมสำหรับพักผ่อนและออกกำลังกายของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พระราม 2 พ้นจากนั้นก็ลดลงเหลือเพียง 2 ช่องเดินรถ เฉพาะความกว้างเพียงบางส่วนของทางสาธารณประโยชน์ด้านนี้ก็ไม่ได้ทำให้ความสะดวกในการใช้ทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันตกมีมากกว่าทางด้านทิศตะวันออก โดยเฉพาะทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันตกนี้ติดกับทางเข้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล พระราม 2 และอยู่ตรงข้ามกับสวนหย่อมสำหรับพักผ่อนและออกกำลังกายของห้างซึ่งน่าจะมีการจราจรที่พลุกพล่านมากกว่าทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันออก เมื่อพิจารณาถึงความจำเป็นของโจทก์ที่ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์แล้ว ทางสาธารณประโยชน์ด้านทิศตะวันออกจึงมีความเหมาะสมแก่ความจำเป็นมากกว่าเพราะเนื้อที่ดินที่จะต้องสูญเสียไปเนื่องจากการทำทางผ่านมีความกว้างเพียง 50 เซนติเมตร น้อยกว่าเนื้อที่ดินที่จำเลยทั้งสี่ต้องสูญเสียไปเนื่องจากการผ่านของโจทก์ถึง 4 เท่า ทั้งเมื่อเทียบขนาดความกว้างของที่ดินแล้ว ที่ดินของจำเลยทั้งสี่ย่อมอยู่ในสภาพที่สามารถทำประโยชน์ได้มากกว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 ซึ่งปรากฏว่า จำเลยทั้งสี่ทำร้านขายอาหารและเครื่องดื่มอยู่บนที่ดินด้วย ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 มีสภาพเป็นร่องสวน
ถนนภายในหมู่บ้านเป็นทางสาธารณประโยชน์ ประชาชนทั่วไปย่อมมีสิทธิใช้สอยร่วมกัน ผู้ใดจะกีดกันหรือไม่ยินยอมให้ผู้อื่นใช้สอยไม่ได้เพราะไม่ใช่ทรัพย์ส่วนตัว ส่วนผู้ที่ใช้สอยไม่ว่าเป็นสาธารณประโยชน์ประเภทใดก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายทั่วไปและกฎหมายเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสาธารณประโยชน์นั้นเพื่อไม่ให้เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่นและไม่ทำให้เกิดความเสียหายแก่สาธารณประโยชน์นั้นเช่นกัน ที่โจทก์อ้างว่า ชาวบ้านภายในหมู่บ้าน พ. จะไม่ยินยอมให้โจทก์ใช้ถนนภายในหมู่บ้านและการนำรถบรรทุกดินผ่านถนนในหมู่บ้านจะทำให้ถนนเสียหาย จึงไม่ใช่เหตุผลที่โจทก์จะนำมาอ้างว่าโจทก์ไม่สามารถใช้ทางสาธารณประโยชน์ภายในหมู่บ้านได้ เมื่อยังมีที่ดินโฉนดเลขที่ 41058 ที่โจทก์จะผ่านออกถึงทางสาธารณประโยชน์ได้และจะเกิดความเสียหายแก่ที่ดินที่ล้อมอยู่น้อยกว่าของจำเลยทั้งสี่ ทั้งไม่ได้ทำให้โจทก์สูญเสียความสะดวกหรือประโยชน์ใช้สอยที่พอสมควรแก่ความจำเป็นที่จะออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ได้แล้ว แต่โจทก์กลับมาขอผ่านในที่ดินของจำเลยทั้งสี่ซึ่งจะได้รับความเสียหายมากกว่าจึงเป็นกรณีเกินกว่าความจำเป็นของโจทก์ที่จะออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ จึงไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1349

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21886/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ฟ้องแย้งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. หากไม่ได้รับรองและไม่ได้เสียค่าขึ้นศาล กระบวนการพิจารณาที่ผิดพลาดทำให้ฎีกาไม่รับได้
โจทก์อุทธรณ์ขอให้บังคับตามฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย โดยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์มาเฉพาะตามฟ้องโจทก์ ส่วนฟ้องแย้งไม่ได้เสียค่าขึ้นศาล แต่อุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้งมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาในศาลชั้นต้นได้รับรองให้อุทธรณ์ อุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้งจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับอุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้ง การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้งรวมมาในอุทธรณ์โจทก์ ถือว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้ง เป็นการไม่ชอบ กระบวนพิจารณาเกี่ยวกับฟ้องแย้งนับแต่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์โจทก์ในส่วนฟ้องแย้งดังกล่าวมาจนกระทั่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษาและศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาโจทก์ในส่วนฟ้องแย้งรวมมาในฎีกาโจทก์ จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่มิชอบ ฎีกาโจทก์ในส่วนฟ้องแย้งจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21019/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมบังคับคดี: ถอนการบังคับคดีเมื่อคำพิพากษาเดิมถูกกลับโดยศาลอุทธรณ์ ผู้ขอบังคับคดีต้องรับผิด
จำเลยวางเงินต่อศาลชั้นต้นก็เพื่อมิให้ถูกบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นระหว่างอุทธรณ์ ไม่มีผลเป็นการชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อโจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตกลงไม่เพิกถอนนิติกรรมขายที่ดินและจำเลยไม่ต้องชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยมิได้ตกลงเรื่องค่าธรรมเนียมในการบังคับคดีเป็นอย่างอื่น และศาลอุทธรณ์พิพากษาตามยอมจนคดีถึงที่สุด โจทก์จึงไม่สามารถบังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นได้อีก ทำให้การบังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นถูกเพิกถอนไป จึงเป็นกรณีการถอนการบังคับคดีด้วยเหตุคำพิพากษาที่อยู่ในระหว่างบังคับคดีถูกกลับในชั้นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 295 (3) เป็นกรณีการถอนการบังคับคดีนอกจากกรณีตามมาตรา 295 (1) ซึ่งตามมาตรา 169/2 วรรคสี่ ให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินเป็นผู้รับผิดค่าฤชาธรรมเนียมการบังคับคดีในชั้นที่สุด หากโจทก์ไม่ชำระเจ้าพนักงานบังคับคดีสามารถบังคับคดีค่าธรรมเนียมดังกล่าวแก่โจทก์ได้ตามมาตรา 295 ตรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20654/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องเรียกค่าบำเหน็จนายหน้าเกินกรอบคำฟ้อง ศาลต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
คำฟ้องของโจทก์ระบุข้อหาหรือฐานความผิดว่าเป็นการเรียกค่านายหน้า และบรรยายฟ้องว่าจำเลยทำสัญญาแต่งตั้งโจทก์เป็นตัวแทนขายห้องชุดของจำเลย ซึ่งสัญญาระบุว่า ถ้าโจทก์หาคนมาซื้อห้องชุดภายใน 5 เดือน นับแต่วันทำสัญญา จำเลยตกลงจะให้ค่านายหน้าร้อยละ 3 ของราคาที่ซื้อขาย ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าบำเหน็จนายหน้า โดยอาศัยเหตุตามข้อ 2 ของสัญญา ซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จแก่โจทก์ก็ต่อเมื่อสัญญาที่จำเลยขายห้องชุดแก่ ม. นั้น ได้ทำกันสำเร็จเนื่องแต่ผลแห่งการที่โจทก์ได้ชี้ช่องหรือจัดการตาม ป.พ.พ. มาตรา 845 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า จำเลยขายห้องชุดให้แก่ ม. โดยมิได้เกิดจากการชี้ช่องของโจทก์ กรณีจึงไม่ต้องด้วยข้อ 2 ของสัญญาที่จำเลยจะต้องรับผิดใช้ค่าบำเหน็จนายหน้าแก่โจทก์ ที่ศาลชั้นต้นหยิบยกเอาข้อ 5 ของสัญญาซึ่งเป็นกรณีที่จำเลยขายห้องชุดได้โดยมิได้เกิดจากการชี้ช่องของโจทก์ขึ้นวินิจฉัย และพิพากษาให้จำเลยรับผิดโดยตีความว่าเป็นการตกลงค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้า มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ทั้ง ๆ ที่ข้อตกลงดังกล่าว มิใช่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามที่โจทก์ได้บรรยายฟ้องมา จึงเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19391/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยโอนที่ดินให้บุคคลภายนอกหลังสัญญาซื้อขาย ยังต้องรับผิดตามสัญญาเดิม ศาลยืนตามเดิม
การที่จำเลยไม่ปฏิบัติหรือไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ให้ไว้แก่โจทก์ได้นั้น เป็นเพราะจำเลยได้โอนที่ดินพิพาทไปให้บุคคลภายนอกซึ่งถือได้ว่าเป็นความผิดอันเกิดแต่ฝ่ายของจำเลยเอง จำเลยยังคงมีความรับผิดที่จะต้องดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามคำขอท้ายฟ้อง เพราะอาจมีการเพิกถอนหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนให้ที่ดินพิพาทกลับมาเป็นชื่อของจำเลย และดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ได้ กรณีมิใช่สภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้จำเลยไม่จำต้องรับผิดดำเนินการดังกล่าวต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16132/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดทรัพย์สินที่ตกเป็นของแผ่นดินแล้ว ผู้ยึดต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียม แม้ศาลจะเพิกถอนการขายทอดตลาด
โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2552 แต่ได้ความว่าที่ดินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินแล้วตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน 2549 ตามคำสั่งศาลแพ่งซึ่งโจทก์เองก็ทราบดี เพราะเข้าเป็นคู่ความในคดีนั้นด้วยในฐานะผู้คัดค้าน แม้คดีดังกล่าวจะยังไม่ถึงที่สุด แต่ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาศาลสูงเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น คำสั่งนั้นย่อมมีผลอยู่ การที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินที่มิใช่ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมเป็นการไม่ชอบ ทั้งทรัพย์สินของแผ่นดินย่อมไม่อาจยึดเพื่อการบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1307 เมื่อต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาด โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคัดค้านจนคำสั่งดังกล่าวถึงที่สุด โจทก์จึงเป็นผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนที่นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดพิพาทมาแล้วไม่มีการขาย ต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง ประกอบตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. บทบัญญัติในมาตรา 161 วรรคหนึ่ง ให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดเสียค่าฤชาธรรมเนียมได้ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี จึงสมควรให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขาย
ส่วนที่โจทก์อ้างว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดมิได้เพิกถอนการยึด โจทก์จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดตามคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดี เห็นว่า เมื่อโจทก์เป็นผู้นำยึดทรัพย์สินและเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการขายทอดตลาดตามขั้นตอนแล้ว แต่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดนั้นย่อมเท่ากับทรัพย์สินที่โจทก์นำยึดมาไม่มีการขาย ความรับผิดของผู้ดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนนี้ที่จะต้องชำระค่าธรรมเนียมจึงเกิดขึ้นแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13107/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเด็นกรรมสิทธิ์ที่ดิน: การวินิจฉัยนอกประเด็นหรือไม่ เมื่อจำเลยอ้างกรรมสิทธิ์และครอบครองปรปักษ์
โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินตามตราจองอ้างว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าว จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของบิดามารดาของโจทก์และจำเลยทั้งสอง แต่ใส่ชื่อโจทก์ไว้แทน ต่อมาบิดามารดายกที่ดินดังกล่าวเนื้อที่ประมาณ 38 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 1 และเนื้อที่ประมาณ 60 ไร่ ให้แก่จำเลยที่ 2 เท่ากับจำเลยทั้งสองอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยทั้งสอง แต่กลับให้การต่อไปว่า จำเลยทั้งสองครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ติดต่อกันเป็นเวลากว่า 20 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวโดยการครอบครองปรปักษ์ คำให้การในส่วนนี้ของจำเลยทั้งสองจึงขัดกับคำให้การส่วนแรก เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทดังกล่าวมาจึงไม่ถูกต้อง และแม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยประเด็นว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่มาด้วย ก็เป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธข้ออ้างตามฟ้องของโจทก์โดยสิ้นเชิง คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยโดยฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท แต่เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนบิดามารดา จึงยังอยู่ในประเด็นข้อพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12770/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องกรณีแย่งการครอบครองที่ดิน โจทก์ต้องพิสูจน์การแย่งการครอบครองจากจำเลย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมา ส่วนจำเลยได้รับการยกให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จากผู้มีชื่อ จึงนำเจ้าพนักงานที่ดินรังวัดที่ดินดังกล่าวรวมทั้งที่ดินพิพาท โดยอ้างว่าจะเอาที่ดินพิพาทคืนทั้งหมด ตามคำฟ้องโจทก์ จำเลยยังไม่ได้เข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินพิพาท ข้ออ้างที่ว่าจำเลยแย่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจึงยังไม่เกิด โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ทั้งตามคำขอท้ายฟ้องที่ให้บังคับจำเลยโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ ก็ไม่อาจบังคับได้เพราะจำเลยไม่มีหน้าที่ตามข้อผูกพันใดที่จะต้องโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12573/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิขับไล่จากการซื้อที่ดินประมูล vs. การโอนกรรมสิทธิ์ เจ้าของกรรมสิทธิ์มีอำนาจฟ้องขับไล่ได้
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี ให้สิทธิแก่ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดียื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลในคดีเดิมเพื่อออกคำบังคับแก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ได้เท่านั้น สิทธิดังกล่าวมิใช่ทรัพยสิทธิอันเกี่ยวด้วยอสังหาริมทรัพย์ที่จะโอนกันได้ทางนิติกรรม การที่ผู้ซื้อทรัพย์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้จากการขายทอดตลาดแก่โจทก์ก็ไม่ทำให้โจทก์ได้สิทธิตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทจึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทได้
of 15