พบผลลัพธ์ทั้งหมด 147 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20348/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การตีความสัญญา การชดใช้ค่าเสียหาย และดอกเบี้ยผิดนัด กรณีตัวแทนกระทำผิด
ในการตีความสัญญานั้นต้องคำนึงความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริต และต้องคำนึงประเพณีปฏิบัติในระหว่างคู่สัญญาเอง หรือประเพณีในทางการค้าด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 จะถือเอาเจตนาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20100/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำความผิดพรากผู้เยาว์: ศาลยกฟ้องเมื่อความผิดกรรมเดียวกันได้รับการตัดสินเด็ดขาดแล้ว
แม้ตามฟ้องคดีนี้จะระบุว่าเหตุเกิดระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ก็ตามแต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาได้ความจากคำเบิกความของ ม. ผู้เสียหายที่ 1 และ ป. เพื่อนผู้เสียหายที่ 1 ตรงกันว่า ระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ผู้เสียหายที่ 1 ได้ออกจากบ้านไปพักอยู่กับ ป. มาโดยตลอด จนกระทั่งวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ผู้เสียหายที่ 1 จึงเดินทางจากบ้านของ ป. ที่จังหวัดนครราชสีมาไปหาจำเลยที่จังหวัดอุบลราชธานีโดยจำเลยโอนเงินค่ารถไฟไปให้ 300 บาท แล้วจำเลยพาผู้เสียหายที่ 1 ไปอยู่ด้วยกัน ดังนั้นความผิดฐานพรากผู้เยาว์ของจำเลยจึงเกิดขึ้นและเป็นความผิดสำเร็จในวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ซึ่งข้อแตกต่างกันเกี่ยวกับเวลากระทำความผิดเช่นนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม ถือว่าเป็นข้อแตกต่างในรายละเอียดมิใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญ เมื่อจำเลยไม่หลงข้อต่อสู้ ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความนั้นได้ ตามมาตรา 192 วรรคสามประกอบวรรคสอง กรณีจึงต้องถือว่าเหตุความผิดฐานพรากผู้เยาว์ในคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ตามที่พิจารณาได้ความ หาใช่เหตุเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 11 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 14 สิงหาคม 2548 ดังที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องไม่ เมื่อปรากฏว่าจำเลยถูกพนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมาเป็นโจทก์ฟ้องในข้อหาความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 538/2550 ของศาลจังหวัดนครราชสีมาอีกคดีหนึ่ง โดยบรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2548 ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2549 กรณีจึงเป็นความผิดกรรมเดียวกัน ซึ่งคดีดังกล่าวจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยฐานพรากผู้เยาว์จึงเป็นอันระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) การที่โจทก์นำเอาการกระทำของจำเลยที่พรากผู้เยาว์ในคดีดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นฟ้องซ้ำตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19958/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การพรากเด็กต้องมีการพาไปเสีย การกระทำอนาจารต่อเด็กแต่ละคนมีเจตนาเดียวกัน
ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตาม ป.อ. มาตรา 317 แม้จะมุ่งคุ้มครองมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวน หรือกระทำการใด ๆ อันจะกระทบต่ออำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก แต่กรณีจะเป็นความผิดดังกล่าวได้จะต้องมีการกระทำที่เป็นการพราก ซึ่งหมายถึงการพาไปเสียประกอบด้วย การที่เด็กทั้งห้ามาที่ห้องพักของจำเลยด้วยความสมัครใจ จำเลยไม่เคยเป็นผู้พามา และเด็กทั้งห้าสามารถกลับบ้านของตนเองได้เสมอหากต้องการเช่นนั้น เช่นนี้จำเลยจึงมิได้กระทำการใด ๆ อันเป็นการพรากเด็กทั้งห้าไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล จำเลยย่อมไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19944/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิเรียกร้องของผู้ซื้อที่ดินก่อนการยึดทรัพย์: คุ้มครองตามมาตรา 1300 และ 287 ป.วิ.พ.
ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 จำนวน 26 แปลง รวมถึงที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลงด้วย ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2548 และผ่อนชำระที่ดินครบในวันที่ 21 ธันวาคม 2551 ก่อนที่โจทก์จะนำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง ในวันที่ 6 มีนาคม 2552 ดังนี้ สิทธิเรียกร้องของผู้ร้องที่จะเรียกให้จำเลยที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามสัญญาจะซื้อจะขายให้แก่ผู้ร้องเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2551 ก่อนที่โจทก์จะนำยึดที่ดินพิพาททั้ง 8 แปลง ผู้ร้องจึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ทั้งได้รับการคุ้มครองสิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18982/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สนับสนุนการจำหน่ายยาเสพติด: พฤติการณ์บ่งชี้ความรู้เห็นเป็นใจและช่วยเหลือ
จำเลยนั่งรถยนต์ที่มี ร. เป็นผู้ขับเพื่อส่งเมทแอมเฟตามีนให้สายลับ เมื่อถึงจุดนัดหมาย ร. จอดรถสายลับเดินไปทางด้านซ้ายของรถที่จำเลยนั่งอยู่แล้วกระจกประตูรถด้านซ้ายลดลงสายลับคุยกับบุคคลภายในรถแล้วคนในรถส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับและสายลับส่งธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อให้แก่คนในรถ หากจำเลยมิได้มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องสายลับก็ต้องเดินไปหา ร. ซึ่งเป็นคนขับ ตามพฤติการณ์บ่งชี้ว่า จำเลยรู้เห็นในการจำหน่ายและได้ช่วยเหลือในการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนจนทำให้การซื้อขายเป็นผลสำเร็จ อันถือได้ว่าจำเลยช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ร. ในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18079/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องคดีอาญาและการเปลี่ยนแปลงฐานความผิดจากรับของโจรเป็นยักยอกทรัพย์
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์มรดก ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานยักยอก แต่ลงโทษจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานรับของโจร เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์มิได้ร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีของโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ และแม้ว่าคดีสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่ามีความผิดฐานรับของโจร แต่ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 วางแผนโอนหุ้นของผู้ตายให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ความผิดเกิดขึ้นเมื่อมีการโอนหุ้น การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่เป็นความผิดฐานรับของโจร แต่เป็นความผิดฐานร่วมยักยอกตามฟ้อง ฉะนั้น คดีส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงขาดอายุความแล้วเช่นกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17094/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง: การซื้อขายที่ดินและการครอบครองเพื่อเป็นเจ้าของ
คำให้การของจำเลยตอนต้นเป็นการกล่าวให้เห็นที่มาของการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทว่าเนื่องมาจากการซื้อจากบุคคลภายนอกโดยมิได้ทำสัญญาซื้อขายกันเพื่อให้เห็นเหตุและเจตนาในการเข้าครอบครอง ส่วนที่ให้การต่อมาว่า จากนั้นจำเลยและครอบครัวจึงเข้าครอบครองทำประโยชน์โดยสงบ เปิดเผย และด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 40 ปี ก็เพื่อให้เห็นว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นแล้วโดยการครอบครอง อันเป็นการโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกับโจทก์ คำให้การของจำเลยดังกล่าวจึงไม่ถือว่าขัดแย้งกัน หากแต่เป็นการลำดับที่มาของการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่แรกจนได้กรรมสิทธิ์โดยชัดแจ้ง เมื่อศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงต้องวินิจฉัยตามประเด็นดังกล่าวซึ่งจะต้องพิจารณาข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองแล้วหรือไม่ด้วย เพราะหากจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินเสียแล้ว โจทก์ย่อมไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงมิได้วินิจฉัยนอกประเด็น
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16251/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ตัวการร่วม vs ผู้สนับสนุน: เจตนาในการร่วมกระทำความผิดค้ายาเสพติด
การที่จำเลยติดต่อกับสายลับเพื่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมาตั้งแต่ต้นโดยเป็นผู้พา ร. กับ ล. ไปเจรจาซื้อขายเมทแอมเฟตามีนกับเจ้าพนักงานตำรวจที่สถานีบริการน้ำมันและอยู่ด้วยโดยตลอด เมื่อตกลงซื้อขายกันแล้วจำเลยยังนั่งรถจักรยานยนต์ออกไปกับ ร. ตลอดจนยังชี้จุดส่งมอบยาเสพติดให้ผู้ล่อซื้อทราบ แสดงว่า จำเลยมีเจตนาร่วมกับ ร. กับ ล. มาตั้งแต่ต้น โดยมีลักษณะเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้การกระทำความผิดทั้งหมดสำเร็จลุล่วงไป แม้จำเลยไม่ได้ร่วมต่อรองราคาด้วยหรือเป็นผู้นำเมทแอมเฟตามีนมาส่งมอบแก่เจ้าพนักงานผู้ล่อซื้อโดยตรง ก็ถือได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดทั้งหมด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15033/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิเก็บกินคุ้มครองการครอบครองที่ดิน แม้เจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่
โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินมีโฉนดที่พิพาท โจทก์จดทะเบียนให้ ส. และ บ. เป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินใน ที่ดินพิพาทตลอดชีวิต ส. และ บ. ย่อมมีสิทธิครอบครอง ใช้และถือเอาประโยชน์แห่งที่ดินนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1417 วรรคหนึ่ง ในระหว่างที่สิทธิเก็บกินยังไม่สิ้นไป เจ้าของกรรมสิทธิ์จึงหามีสิทธิเช่นว่านั้นด้วยไม่ การบอกเลิกสัญญาเช่าหรือการฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากที่ดินพิพาทจึงเป็นอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของผู้ทรงสิทธิเก็บกิน แม้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทก็ไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14113/2555
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้ำ-ดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ: คำพิพากษาตามยอมผูกพันคู่ความ แม้ไม่ได้ถูกฟ้องในคดีก่อน
ในคดีก่อน จำเลยได้ฟ้องขับไล่โจทก์ที่ 2 และบริวารออกจากที่ดินพิพาทโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาซื้อขายที่ดิน อันเป็นเอกสารฉบับเดียวกันกับที่โจทก์ทั้งสองเรียกร้องขอให้เพิกถอน ต่อมาโจทก์ที่ 2 และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับที่ดินพิพาท โดยในสัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่า ภายใน 3 เดือน หากโจทก์ที่ 2 ประสงค์จะซื้อที่ดินคืน จำเลยยินยอมขายคืนให้ หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว โจทก์ที่ 2 และบริวารยินยอมขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินพิพาท สัญญาประนีประนอมได้กล่าวถึงที่ดินพิพาทแปลงเดียวกัน ซึ่งล้วนเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดี ต้องถือว่ามีการตกลงหรือประนีประนอมยอมความกันในประเด็นแห่งคดีแล้ว การที่โจทก์ทั้งสองนำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทฉบับเดิมซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทในคดีก่อนมาฟ้องเป็นคดีนี้อีก จึงเป็นการรื้อร้องฟ้องกันในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน แม้โจทก์ที่ 1 จะมิได้ถูกฟ้องในคดีก่อน แต่ไม่ว่าโจทก์ที่ 1 จะอยู่ในฐานะเป็นสามีของโจทก์ที่ 2 หรือเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงผูกพันโจทก์ทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา148
ในคดีก่อน จำเลยขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้โจทก์ที่ 2 และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 1 สามีของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอกันส่วนอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์ทั้งสอง จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเพียงบริวารของโจทก์ที่ 2 ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบริวารของโจทก์ที่ 2 จึงมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ 1 คำร้องขอกันส่วนของโจทก์ที่ 1 ในคดีก่อนและคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ที่ร่วมกับโจทก์ที่ 2 คดีนี้ มีประเด็นแห่งคดีทั้งสองเป็นประเด็นเดียวกัน คือ ให้วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทหรือไม่ เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายเป็นรายเดียวกันและศาลเคยวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีก่อนไปแล้ว คำฟ้องของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ด้วย
ในคดีก่อน จำเลยขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้โจทก์ที่ 2 และบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท โจทก์ที่ 1 สามีของโจทก์ที่ 2 ยื่นคำร้องขอกันส่วนอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์ทั้งสอง จำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเพียงบริวารของโจทก์ที่ 2 ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ที่ 1 เป็นบริวารของโจทก์ที่ 2 จึงมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ 1 คำร้องขอกันส่วนของโจทก์ที่ 1 ในคดีก่อนและคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 ที่ร่วมกับโจทก์ที่ 2 คดีนี้ มีประเด็นแห่งคดีทั้งสองเป็นประเด็นเดียวกัน คือ ให้วินิจฉัยว่าโจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทหรือไม่ เมื่อคู่ความทั้งสองฝ่ายเป็นรายเดียวกันและศาลเคยวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีก่อนไปแล้ว คำฟ้องของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 และฟ้องซ้ำตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ด้วย