คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สิงห์พล ละอองมณี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 132 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16051/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา: เริ่มนับเมื่อพ้นระยะปลอดหนี้ 2 ปี ไม่ขาดอายุความ
โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา พ.ศ.2541 อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง มีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนหรือนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์กู้ยืมเงินเพื่อเป็นค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการครองชีพระหว่างศึกษา ส่วนการนำส่งคืนกองทุนยังให้โอกาสผู้กู้ยืมชำระคืนเมื่อสำเร็จการศึกษาหรือเลิกการศึกษาแล้วเป็นระยะเวลา 2 ปี ทั้งยังกำหนดให้คิดดอกเบี้ยในอัตราไม่เกินเงินฝากประจำหนึ่งปีของธนาคารออมสิน และห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยทบต้น กำหนดใช้คืนเป็นรายเดือนเป็นระยะเวลาสูงสุดถึงสิบห้าปี ในกรณีผู้ยืมถึงแก่ความตาย ให้หนี้ตามสัญญาระงับไป หรือกรณีผู้กู้พิการหรือทุพลภาพไม่สามารถประกอบการได้ คณะกรรมการกองทุนมีอำนาจระงับการให้ชำระหนี้ตามสัญญาได้ โดยมีเหตุผลการออกพระราชบัญญัติเนื่องจากมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการพัฒนามนุษย์ เพื่อรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการยกฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ดังนั้นการให้กู้ยืมเงินตามพระราชบัญญัติก็เป็นไปเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่และให้โอกาสแก่บุคคลผู้ด้อยโอกาสในสังคมโดยแท้ กรณีเป็นเรื่องที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือกฎหมายอื่นมิได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 หาใช่เป็นสิทธิเรียกร้องในเงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวด ๆ อันมีอายุความห้าปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33 (2) ไม่ เพราะแม้ผู้กู้สามารถเลือกผ่อนชำระหนี้เป็นรายเดือนหรือรายปีได้ แต่หากมีความจำเป็นอาจร้องขอผ่อนผันการชำระหนี้ตามระยะเวลาที่แตกต่างไปหรือชะลอการชำระหนี้เป็นการชั่วคราวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15657/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งในการยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายและการรับรองความถูกต้อง แม้จะมอบหมายให้สมุห์บัญชีดูแล
พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่ละคนต้องยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งจัดทำขึ้นและผู้สมัครรับรองความถูกต้องภายในกำหนดเก้าสิบวันหลังจากวันประกาศผลเลือกตั้ง ผลแห่งกฎหมายทำให้จำเลยในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งมีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายและรับรองความถูกต้อง แม้บทบัญญัติในมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จะกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแต่งตั้งสมุห์บัญชีเลือกตั้งเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการจัดทำบัญชีและรับรองความถูกต้องของบัญชีรายรับรายจ่ายของผู้สมัครก็ตาม ก็ไม่ทำให้จำเลยหลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องกระทำการให้ถูกต้องครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด เมื่อจำเลยลงลายมือชื่อในฐานะผู้สมัครรับเลือกตั้งในบัญชีรายรับรายจ่ายที่สมุห์บัญชีเลือกตั้งได้จัดทำขึ้น โดยมิได้ตรวจสอบถึงความถูกต้องตามความจริงและครบถ้วนตามกฎหมาย อีกทั้งต้องมีหน้าที่รับรองความถูกต้องด้วย จำเลยจึงมีความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14924/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับโอนเช็คพิพาท การพิสูจน์เจตนาฉ้อฉล และความรับผิดส่วนตัวของผู้สั่งจ่ายเช็ค
ขณะที่ อ. รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับมานั้น ยังไม่เกิดข้อพิพาทกันตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินสวนลำไยระหว่างจำเลยที่ 2 กับ ส. เช็คพิพาททั้งสองฉบับจึงยังคงมีมูลหนี้ต่อกัน แม้หนี้ระหว่าง ป. กับ อ. จะไม่มีหลักฐานการซื้อขาย ก็มิได้แสดงว่าทั้งสองฝ่ายมิได้มีหนี้ต่อกันเพราะมิฉะนั้น ป. คงไม่สลักหลังส่งมอบเช็คให้แก่ อ. ในขณะที่รับเช็คพิพาททั้งสองฉบับ การโอนเช็คด้วยการคบคิดกันฉ้อฉลที่จะเป็นเหตุให้ผู้สั่งจ่ายยกความเกี่ยวพันระหว่างตนกับผู้ทรงคนก่อนขึ้นต่อสู้ผู้ทรงได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 916 นั้นจะต้องเป็นการคบคิดกันฉ้อฉลที่เกิดขึ้นขณะที่ผู้ทรงรับโอนเช็คเท่านั้น ดังนั้น การที่ อ. รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับไว้จึงมิใช่เป็นการคบคิดกับ ป. เพื่อฉ้อฉลจำเลยทั้งสอง แม้ต่อมาจำเลยที่ 2 กับ ส. ได้มีการบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อกัน ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้แจ้งให้ อ. ทราบแล้ว ก่อนที่เช็คพิพาททั้งสองฉบับจะถึงกำหนดเรียกเก็บเงิน แต่ อ. กลับนำเช็คพิพาททั้งสองฉบับไปเรียกเก็บเงินนั้น ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ อ. รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับมาแล้ว จึงฟังไม่ได้ว่า อ. ได้รับโอนเช็คพิพาททั้งสองฉบับด้วยคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่สุจริต
จำเลยที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจาก ส. แล้วจำเลยที่ 2 ออกเช็คของจำเลยที่ 1 โดยลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 มอบให้ ส. และ ป. ต่อมา ป. ได้สลักหลังเช็คดังกล่าวให้แก่ อ. สามีโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงมีหนี้ที่ต้องชำระเป็นส่วนตัว การที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัว และในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้ออกเช็ครวมสองฉบับ โดยเช็คทั้งสองฉบับมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในฐานะส่วนตัวและในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้ค่าแบ่งผลประโยชน์ในการทำสวนลำไย และค่าดูแลรักษาสวนลำไยให้แก่ ป. ตามคำฟ้องของโจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องขอบังคับจำเลยที่ 2 รับผิดตามเช็คพิพาทต่อโจทก์ในฐานะส่วนตัวด้วย มิใช่ในฐานะเป็นผู้แทนนิติบุคคล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14297/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลที่เปลี่ยนแปลงตามกฎหมาย ไม่ถือเป็นเจตนาจูงใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้เข้าใจผิด
การที่จำเลยซึ่งเคยเป็นสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมายเดิม ซึ่งต่อมาเมื่อมีการแก้ไขโดย พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 อันเป็นเวลาที่จำเลยได้ลาออกจากตำแหน่งดังกล่าวแล้ว ได้เทียบตำแหน่งกรรมการบริหารเป็นรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมายใหม่ ดังนั้น การที่จำเลยปิดประกาศโฆษณาว่าเคยดำรงตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลอันเป็นความเชื่อของจำเลยโดยสุจริตว่าตำแหน่งเทียบเท่ากันได้ และจำเลยมีสิทธิจะใช้ชื่อตำแหน่งรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลได้ และการที่จำเลยได้รับการเลือกตั้งโดยมีคะแนนรวมเป็นอันดับที่ 1 น่าจะเกิดจากผลงาน ชื่อเสียงในการทำงานทางการเมืองในครั้งก่อน ๆ เชื่อว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำการอันเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าใจผิดในเรื่องประสบการณ์การทำงานของจำเลยแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14202/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผู้รับจำนองในการบังคับคดีและการรับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่ถูกบังคับคดี แม้ไม่ยื่นคำร้องตามกำหนด
แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 289 จะบัญญัติว่า "ในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์หรือบุริมสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์อันได้ไปจดทะเบียนไว้นั้น ให้ยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด..." ก็เป็นเพียงบทบัญญัติที่ให้อำนาจผู้รับจำนองที่จะยื่นคำร้องต่อศาลก่อนเอาทรัพย์สินนั้นออกขายทอดตลาด เพื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ดำเนินการให้เป็นไปโดยถูกต้องตามเจตนาของผู้รับจำนองและเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้รับจำนองให้ได้รับจัดสรรการชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวโดยจะสะดวกกว่าให้ผู้รับจำนองไปฟ้องบังคับแก่ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดในภายหลังเท่านั้น แต่ถ้าผู้รับจำนองไม่ยื่นคำร้องขอภายในกำหนดดังกล่าวก็หาทำให้ผู้รับจำนองต้องหมดสิทธิไปไม่ โดยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น ย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนอง ซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินพิพาทได้ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 287 อีกทั้งสิทธิรับจำนองเป็นทรัพยสิทธิซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยกฎหมาย จะระงับสิ้นไปก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายซึ่งได้บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 744 ดังนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองจึงมีบุริมสิทธิที่จะบังคับเหนือทรัพย์พิพาทก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วยและเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเอาทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองตามความประสงค์ของผู้ร้องแล้ว ก็ต้องชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 732 ผู้ร้องจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11216/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ต้องรอคดีอาญาถึงที่สุดก่อน
คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 โดยเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ถือคดีอาญาเป็นหลัก จึงจะฟังข้อเท็จจริงในคดีส่วนแพ่งให้แตกต่างไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีส่วนอาญาที่ฟังเป็นยุติแล้วไม่ได้ ทั้งมาตรา 44 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า เมื่อมีการฟ้องคดีอาญาและเรียกค่าสินไหมทดแทน คดีส่วนแพ่งย่อมรวมเป็นส่วนหนึ่งของคดีส่วนอาญา เมื่อ ป.วิ.อ. ภาค 6 หมวด 1 การบังคับตามคำพิพากษา มาตรา 245 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ให้บังคับคดีโดยไม่ชักช้า ซึ่งมีความหมายว่าการบังคับคดีตามคำพิพากษาในคดีอาญาจะกระทำได้ต่อเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว ดังนั้น คดีส่วนแพ่งซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคดีส่วนอาญาจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาด้วยเช่นเดียวกัน จำเลยอุทธรณ์และคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดียังไม่ถึงที่สุด โจทก์ร่วมซึ่งเป็นผู้เสียหายจึงไม่อาจขอให้ออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้เพิกถอนคำสั่งออกคำบังคับและหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้นชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิจารณาคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีของจำเลยระหว่างอุทธรณ์นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งยกคำร้อง อำนาจในการสั่งให้ทุเลาการบังคับหรือไม่เป็นอำนาจเฉพาะของศาลแต่ละชั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งในเรื่องนี้อย่างไรแล้ว โจทก์ร่วมจะฎีกาคำสั่งดังกล่าวไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11196/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากผู้เยาว์ต้องมีการพาไป ไม่ใช่แค่ชักชวน การกระทำเพียงชักชวนแต่ผู้เยาว์มาเอง ไม่ถือเป็นความผิดฐานพราก
การพรากเป็นคนละอย่างกับการพูดชักชวนและการพรากมีความหมายคนละอย่างกับการพูดและไม่ใช่การพูด หากจำเลยพูดแต่ไม่ได้พรากหรือพาผู้เสียหายไปจำเลยย่อมไม่ผิดฐานพรากผู้เยาว์ เพราะการพรากผู้เยาว์จะต้องมีการกระทำที่ยิ่งกว่าการพูดชักชวน เนื่องจากการพูดชักชวน เด็กหรือผู้เยาว์ตัดสินใจไม่ไปตามที่พูดชักชวนได้ จนกว่าจะมีการพาเด็กหรือผู้เยาว์ไปตามทิศทางที่พูดชักชวนไว้ จึงจะมีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ได้ สอดคล้องกับพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานที่ให้คำนิยามคำว่า พราก หมายถึงต้องมีการกระทำที่พาไป ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่ 1 ยอมออกจากบ้านมาหาจำเลย การกระทำของจำเลยเป็นการพรากผู้เยาว์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความเพียงจำเลยพูดชักชวนผู้เสียหายที่ 1 จนผู้เสียหายที่ 1 ใจอ่อนยอมมาหาจำเลยเองโดยจำเลยไม่ได้ไปรับหรือพาผู้เสียหายที่ 1 ออกมาจากบ้าน การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐานพรากผู้เยาว์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10328/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยื่นพยานหลักฐานในคดีอาญา: ศาลมีอำนาจรับพยานแม้โจทก์มิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน หากจำเลยไม่ติดใจ
วิธีพิจารณาในข้อที่เกี่ยวกับการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีอาญานั้น ป.วิ.อ. ได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะในมาตรา 173/1, 173/2 และ 240 แล้ว โดยมีเจตนารมณ์ไม่เน้นบังคับให้โจทก์ต้องระบุชื่อเอกสารแต่ละฉบับหรือชื่อวัตถุแต่ละอันที่อยู่ในสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวนไว้ในบัญชีระบุพยาน เพราะในคดีอาญาที่จำเลยไม่ให้การหรือให้การปฏิเสธ กฎหมายมีมาตรการให้มีการตรวจพยานหลักฐานโดยให้โจทก์ส่งเอกสารและวัตถุที่โจทก์จะอ้างเป็นพยานให้อีกฝ่ายตรวจสอบตามที่คู่ความร้องขอหรือศาลเห็นสมควรก่อนสืบพยานโจทก์ โดยมีวัตถุประสงค์ให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรวดเร็วต่อเนื่องและเป็นธรรม ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะกำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานก่อนกำหนดวันนัดสืบพยานหรือไม่ก็ได้ โดยคำนึงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าว กรณีจึงไม่จำต้องใช้ ป.วิ.พ. เรื่องการยื่นบัญชีระบุพยานในคดีแพ่งมาใช้บังคับในคดีอาญานี้ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 15 ดังนั้น ที่โจทก์อ้างบัญชีระบุพยานโจทก์ซึ่งไม่ใช่พยานบุคคลว่า "สรรพเอกสารและวัตถุพยานของกลางในสำนวนการสอบสวนคดีนี้" ก็เป็นการยื่นบัญชีระบุพยานโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ศาลชั้นต้นให้เลื่อนวันนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลย ตรวจพยานหลักฐานและกำหนดวันนัดสืบพยานเดิมไปเป็นนัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลยและกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเลิกวันตรวจพยานหลักฐานโดยปริยาย กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของ ป.วิ.อ. มาตรา 240 ซึ่งเป็นกรณีที่ศาลมิได้กำหนดให้มีวันตรวจพยานหลักฐานตามมาตรา 173/1 ซึ่งตามวรรคหนึ่งของมาตราดังกล่าว กำหนดให้คู่ความที่ประสงค์จะอ้างเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของตนเป็นพยานหลักฐาน ให้ยื่นพยานเอกสารนั้นต่อศาลก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าสิบห้าวัน เพื่อให้คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมีโอกาสตรวจและขอคัดสำเนาเอกสารได้ก่อนที่จะนำสืบพยานเอกสารนั้นเว้นแต่ "...หรือศาลเห็นสมควรสั่งเป็นอย่างอื่นอันเนื่องจากสภาพและความจำเป็นแห่งเอกสารนั้น" การที่โจทก์มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าวโดยจำเลยยอมรับต่อศาลชั้นต้นที่สอบจำเลยว่าไม่ติดใจตรวจสอบเอกสารของโจทก์แล้ว ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยสอบคำให้การจำเลยและให้ฝ่ายจำเลยตรวจดูเอกสารและฝ่ายจำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าว แล้วศาลชั้นต้นรับเอกสารไว้ โดยนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยต่อไป และศาลชั้นต้นได้ให้ฝ่ายจำเลยตรวจเอกสารดังกล่าวดูแล้ว โดยจำเลยไม่ต้องการสำเนา การที่ศาลชั้นต้นรับเอกสารดังกล่าวใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีนั้น จึงเป็นอำนาจที่ศาลชั้นต้นกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมายอันเนื่องมาจากสภาพและความจำเป็นแห่งเอกสารตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 240 วรรคหนึ่ง แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10029/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบังคับคดีและการโอนสิทธิในที่ดินหลังการยึด: ผู้ซื้อจากการขายทอดตลาดมีสิทธิรับโอน แม้ผู้ขายจะมอบ น.ส. 3 ก. ให้เจ้าหนี้อื่น
จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิขอให้บังคับคดีด้วยการยึดที่ดินของจำเลยที่ 1 ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาได้ แม้จำเลยที่ 1 จะนำต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทไปมอบให้ ฉ. ภริยาโจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ยืม แต่ที่ดินดังกล่าวก็ยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 อยู่ และตราบใดที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ฉ. ยังมิได้นำยึดที่ดินนั้นเพื่อบังคับการชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิเกี่ยวข้องอย่างใดที่จะบังคับเอากับที่ดินดังกล่าวได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่มีหน้าที่ต้องแจ้งการยึดที่ดินนั้นให้โจทก์ทราบแต่อย่างใด
ขณะที่จำเลยที่ 2 นำยึดที่ดิน และต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งการยึดให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาทราบ พร้อมกับเรียกให้จำเลยที่ 1 ส่งต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ จนกระทั่งศาลแขวงสงขลาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดที่ดินที่ยึดไปตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โจทก์ยังมิได้มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ 1 ที่จะมีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคหนึ่ง เนื่องจากสิทธิของโจทก์ที่จะขอเฉลี่ยทรัพย์เพิ่งจะเกิดมีขึ้นในภายหลังเมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 มิได้แจ้งต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีในเวลานั้นว่าต้นฉบับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทอยู่ในความครอบครองของโจทก์ จึงไม่เป็นการใช้สิทธิบังคับคดีโดยฉ้อฉลเพื่อมิให้โจทก์ใช้สิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์
เมื่อโจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์เองที่จะต้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ ก่อนสิ้นระยะเวลาสิบสี่วันนับแต่วันที่มีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินตาม ป.วิ.พ. มาตรา 290 วรรคสี่ จำเลยที่ 2 ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องแจ้งข้อเท็จจริงใดต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อให้โจทก์สามารถยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ได้ทันกำหนดเวลาดังกล่าว ดังนั้น เมื่อศาลมิได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดในคดีดังกล่าว จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทจากการขายทอดตลาดจึงมีสิทธิรับโอนที่ดินแปลงนี้ตามคำสั่งศาล เมื่อจำเลยที่ 2 มีสิทธิรับโอนก็ย่อมไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ขอออกใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่พิพาทและจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินนั้นให้แก่จำเลยที่ 2 จึงเป็นเพียงการกระทำไปตามสิทธิของจำเลยที่ 2 ตามกฎหมายเท่านั้น มิได้เป็นการฉ้อฉลหรือละเมิดต่อโจทก์แต่ประการใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9972/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความละเมิด: เริ่มนับเมื่อใด? ศาลตัดสินว่าเริ่มนับจากวันพิพากษาคดีก่อน แม้โจทก์ไม่เคยอุทธรณ์
เมื่อศาลคดีก่อนพิพากษายกฟ้อง คำพิพากษาดังกล่าวผูกพันโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมทราบนับแต่วันที่ศาลในคดีดังกล่าวมีคำพิพากษาแล้วว่า ลายมือชื่อของผู้ทำสัญญาขอเช่าใช้บริการโทรศัพท์ตามฟ้องไม่ใช่ลายมือชื่อ ป. ผู้ขอใช้บริการ โจทก์ย่อมรู้ว่ามีการละเมิดเกิดขึ้นและรู้ว่าจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับคำขอเช่าใช้บริการโทรศัพท์ดังกล่าวน่าจะต้องรับผิดชอบ เป็นกรณีที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแล้วจึงไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาในคดีดังกล่าว เมื่อนับถึงวันฟ้องคดีนี้เกิน 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
of 14