คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สิงห์พล ละอองมณี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 132 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15805/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานสบคบกันเรียกรับทรัพย์สินจากผู้ค้าแผงลอยโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
จำเลยทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยริมบาทวิถีถนนราชดำเนินกลางด้านทิศใต้ ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ.2535 เรียกรับเงินจากผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายวางแผงขายสลากกินแบ่งรัฐบาลบนบาทวิถีโดยละเว้นไม่กระทำการในตำแหน่งหน้าที่ที่จะต้องแจ้งข้อหาแก่ผู้เสียหาย โดยมิชอบด้วยหน้าที่และโดยทุจริต การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 จำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างประจำซึ่งไม่ใช่ข้าราชการที่ได้รับการแต่งตั้งว่าด้วยการแต่งตั้งข้าราชการให้ดำรงตำแหน่งหรือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งหน้าที่ที่กฎหมายระบุไว้โดยเฉพาะให้ถือเป็นเจ้าพนักงาน จำเลยที่ 2 จึงไม่ใช่เจ้าพนักงานตามกฎหมาย คงลงโทษจำเลยที่ 2 ได้แต่เพียงในฐานะผู้สนับสนุน ตาม ป.อ. มาตรา 86
สภาพทางเท้าปูตัวอิฐตัวหนอนไปจนถึงขอบบันไดอาคารมีลักษณะเป็นผืนเดียวกันไม่มีการแบ่งแยกชัดเจนว่าทางเท้าของกรุงเทพมหานครไปสิ้นสุดที่จุดใด การตั้งวางแผงลอยขายของต่างๆ มีทั้งส่วนที่อยู่ใต้ชายคาอาคารและส่วนที่ล้ำออกมานอกชายคาอาคารผู้เสียหายตั้งแผงลอยขายสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่บนทางเท้า อันถือว่าเป็นถนนตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางบ้างเมือง พ.ศ.2535 แล้ว
ในการพิจารณาคดีของศาล หากมีพยานคู่แต่ไม่สามารถนำสืบได้ในคราวเดียวกัน ไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟังพยานคู่นั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14087/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการแก้ไขโทษหลังคดีถึงที่สุด: ผลของ พ.ร.บ.ล้างมลทิน และข้อยกเว้น ป.วิ.อ. มาตรา 190
ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาถึงที่สุดเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2550 ว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง จำคุก 7 ปี และปรับ 400,000 บาท เพิ่มโทษกึ่งหนึ่งเป็นจำคุก 10 ปี 6 เดือน และปรับ 600,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 5 ปี 3 เดือน และปรับ 300,000 บาท ต่อมาวันที่ 4 มิถุนายน 2551 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่าจำเลยที่ 1 ได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ล้างมลทินในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา พ.ศ.2550 จึงไม่อาจเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 ได้นั้น เห็นว่า คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษและเพิ่มโทษจำเลยที่ 1 จนคดีถึงที่สุดแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไขการเพิ่มโทษในคดีหลังได้ และเมื่อศาลอ่านคำพิพากษาจนคดีถึงที่สุดแล้ว ศาลนั้นจะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับการเพิ่มโทษหาได้ไม่ เพราะไม่ใช่การแก้ไขถ้อยคำที่เขียนหรือพิมพ์ผิดพลาดซึ่งขัดต่อ ป.วิ.อ. มาตรา 190 และกรณีดังกล่าวไม่ต้องด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่จะทำให้ศาลมีอำนาจยกคดีขึ้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ได้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 13/2553)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12600/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท – ยาเสพติด: การกระทำความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายและพยายามจำหน่ายเป็นกรรมเดียว
การที่จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนของกลางมาเพื่อจะส่งมอบให้แก่สายลับ แต่ยังไม่ทันได้ส่งมอบก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน ถือได้ว่าจำเลยลงมือกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล เนื่องจากถูกจับกุมเสียก่อน การกระทำของจำเลยนอกจากจะเป็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้ว ยังเป็นความผิดฐานพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนด้วย ซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11603/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองประกันหนี้เงินทุน ไม่ครอบคลุมหนี้ซื้อขายหลักทรัพย์แบบเมนเทแนนส์มาร์จิ้น แม้มีข้อความกว้างในสัญญา
จ. ทำสัญญากู้ยืมเงินจากจำเลยเมื่อปี 2534 เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ จ. โดยโจทก์จดทะเบียนจำนองที่ดินเพื่อประกันการกู้ยืมเงินและหนี้สินอื่นๆ ของโจทก์ และหรือของ จ. ที่มีอยู่แล้วขณะที่ทำสัญญาและที่จะมีขึ้นในภายหน้าต่อจำเลย เป็นการจำนองเพื่อประกันหนี้การกู้ยืมในเรื่องเงินทุน แต่ไม่ใช่เป็นประกันหนี้การกู้ยืมเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์แบบเมนเทแนนส์มาร์จิ้นของ จ. ซึ่งทำในปี 2531 เนื่องจากการกู้ยืมในเรื่องหลักทรัพย์มีหลักเกณฑ์และวิธีการที่ตลาดหลักทรัพย์ประกาศกำหนดไว้ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน เพราะไม่มีหลักเกณฑ์และวิธีการให้นำที่ดินจดทะเบียนจำนองประกันการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวได้ แต่ให้นำหลักทรัพย์จดทะเบียน พันธบัตร สลากออมสิน มาวางเป็นประกัน และผู้ให้ยืมจะได้เงินกู้ยืมในกรณีนี้คืนเมื่อขายหลักทรัพย์ได้แล้วเท่านั้น ในระหว่างยังมิได้ขายหลักทรัพย์ผู้ให้กู้ยืมจะเรียกให้ผู้กู้ยืมชำระหนี้เงินกู้ยืมไม่ได้ มิฉะนั้นการซื้อขายหลักทรัพย์จะปั่นป่วน คงมีสิทธิเรียกให้ผู้กู้ยืมชำระดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเท่านั้น คู่สัญญาไม่มีเจตนาให้ผูกพันเลยไปถึงเป็นประกันการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวด้วย เมื่อหนี้เงินทุนระงับแล้วจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมระงับตามไปด้วย และจำเลยต้องส่งมอบหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินให้แก่โจทก์และจดทะเบียนไถ่ถอนจำนองให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11603/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองประกันหนี้เงินทุน vs. หลักทรัพย์ MTM: ศาลยืนเจตนาจำนองเฉพาะเงินทุน แม้มีข้อความกว้างในสัญญา
แม้ในสัญญาจำนองมีข้อความต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันหนี้อื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วในขณะทำสัญญาหรือที่จะเกิดขึ้นใหม่ในภายหน้า แต่ก็ได้ความว่าการกู้ยืมจดทะเบียนจำนองในคดีนี้เป็นการกู้ยืมในเรื่องเงินทุน ส่วนการผู้ยืมในเรื่องหลักทรัพย์แบบเมนเทแนนส์มาร์จิ้นมีหลักเกณฑ์และวิธีการที่ตลาดหลักทรัพย์ประกาศกำหนดไว้ซึ่งเป็นคนละส่วนกัน โจทก์จำเลยทำสัญญาจำนองคู่สัญญาตั้งใจให้ผูกพันเป็นประกันเฉพาะการกู้ยืมในเรื่องเงินทุนจำนวน 7,000,000 บาท เท่านั้น คู่สัญญาไม่มีเจตนาให้ผูกพันเลยไปถึงเป็นประกันการซื้อขายหลักทรัพย์แบบเมนเทแนนส์มาร์จิ้นด้วย นอกจากนี้ยังไม่มีข้อความเขียนให้ชัดว่าเป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมซื้อหลักทรัพย์แบบเมนเทแนนส์มาร์จิ้นทั้งที่มีโอกาสเขียนให้ชัดได้ ข้อต่อสู้จำเลยว่าการจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ซื้อขายหลักทรัพย์แบบเมนเทแนนส์มาร์จิ้นด้วยนั้น เป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์อันแท้จริงของคู่สัญญาแต่แรกให้ผิดไปจากความประสงค์เดิม เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าการจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ซึ่งเป็นหนี้เงินทุนเพียงอย่างเดียวและหนี้เงินทุนระงับแล้ว จำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมระงับไปด้วย จำเลยจะอ้างไม่ส่งโฉนดเพราะมีหนี้ซื้อขายหลักทรัพย์ค้างชำระอยู่ด้วยหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11252/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฎีกาเป็นสิทธิเฉพาะตัว การใช้สิทธิของผู้อื่นย่อมไม่ชอบ
สิทธิในการยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาเป็นสิทธิเฉพาะตัวของคู่ความแต่ละฝ่าย โจทก์ร่วมจะถือเอาคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตขยายระยะเวลาฎีกาให้โจทก์ เป็นสิทธิของตนยื่นฎีกาของโจทก์ร่วมคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ได้ ฎีกาของโจทก์ร่วมจึงเป็นฎีกาที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดเวลาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 216 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ร่วมมาจึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกายกขึ้นได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11122/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความสมบูรณ์ของฟ้องอาญา: ข้อผิดพลาดเรื่องวันเวลานับเป็นสาระสำคัญหรือไม่?
คดีนี้เหตุเกิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2549 แต่คำฟ้องโจทก์ระบุว่า เหตุลักทรัพย์เกิดเมื่อวันที่ 31 พฤศจิกายน 2549 เห็นได้ชัดว่าเป็นการพิมพ์รายละเอียดเกี่ยวกับเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิดผิดพลาดไป จึงมิใช่ข้อสาระสำคัญ ทั้งคำฟ้องโจทก์บรรยายด้วยว่าหลังเกิดเหตุลักทรัพย์ จำเลยที่ 1 นำทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกลักไปจำหน่ายแก่ผู้มีชื่อ ครั้นวันที่ 2 มิถุนายน 2549 เจ้าพนักงานยึดทรัพย์ดังกล่าวจากผู้มีชื่อเป็นของกลาง จำเลยทั้งสามเข้าใจข้อหาได้ดีมิได้หลงต่อสู้ จึงให้การรับสารภาพและชำระหนี้แก่ผู้เสียหายเพื่อบรรเทาผลร้ายด้วย ฟ้องโจทก์จึงสมบูรณ์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11118/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาทำลายทรัพย์สิน: การรื้อแล้วเผา ไม่ใช่เผาทรัพย์โดยตรง ศาลตัดสินผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 ร่วมกันรื้อโครงสร้างไม้ห้องแถวของผู้เสียหายมากองรวมกันไว้แล้วนำไปเผาทำลาย มิใช่เผาทำลายในขณะที่ทรัพย์ยังมีสภาพเป็นโครงสร้างไม้ห้องแถวอยู่ จึงเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 มีเพียงเจตนาทำให้ทรัพย์นั้นใช้การไม่ได้โดยการรื้อออกมา ส่วนการเผาเป็นเพียงแค่การทำลายชิ้นส่วนที่รื้อออกมาจนตัวทรัพย์ซึ่งใช้การไม่ได้ไปแล้วเท่านั้น จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 จึงไม่มีเจตนาวางเพลิงเผาทรัพย์ การกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 6 จึงเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 เพียงบทเดียว หาใช่เป็นความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 217 ด้วยไม่ ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10107/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้เสียหายต้องไม่เป็นผู้ร่วมกระทำผิด จึงจะมีอำนาจร้องทุกข์ในคดีฉ้อโกงได้
การเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยจะต้องไม่มีส่วนร่วมในการกระทำผิดเสียก่อน การที่โจทก์ร่วมทั้งสองมอบเงินให้จำเลยไปโดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยจะนำไปวิ่งเต้นติดสินบนเจ้าพนักงานเพื่อให้นำไม้จากประเทศกัมพูชาผ่านแดนเข้าประเทศไทยได้ แม้จำเลยจะมิได้นำไปวิ่งเต้นติดสินบนตามที่กล่าวอ้าง แต่ความประสงค์อันแท้จริงของโจทก์ร่วมทั้งสองก็เพื่อให้จำเลยวิ่งเต้นติดสินบนในเรื่องที่ผิดกฎหมาย โจทก์ร่วมทั้งสองมีส่วนก่อให้เกิดความผิดอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่จะมีอำนาจร้องทุกข์ในคดีความผิดฐานฉ้อโกงได้ ปัญหาดังกล่าวแม้จะมิได้ว่ากันมาโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ เพราะเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อโจทก์ร่วมทั้งสองไม่มีอำนาจร้องทุกข์ พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้อง เพราะเป็นความผิดต่อส่วนตัว ศาลล่างทั้งสองจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9925/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม เหตุข้อฎีกาใหม่ ไม่เคยยกขึ้นว่ากันในศาลชั้นต้น-อุทธรณ์ แม้เป็นเรื่องการส่งมอบเงินผ่านบริษัทจัดหางาน
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 กู้ยืมเงินโจทก์ 230,000 บาท และได้รับเงินจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว โดยโจทก์นำสืบว่า โจทก์เป็นคนจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 โดยตรงไม่ได้ผ่านบริษัทจัดหางาน ศาลชั้นต้นยกฟ้อง โดยฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้รับเงินกู้ 230,000 บาท จากโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนวน 230,000 บาท และจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินดังกล่าวไปมอบให้บริษัทจัดหางานทันที จำเลยที่ 1 จึงได้ไปทำงานที่ต่างประเทศ เป็นกรณีที่โจทก์ยกขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นและอุทธรณ์โดยตลอดว่า โจทก์มอบเงินตามสัญญากู้ยืมเงิน 230,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยตรง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน โดยวินิจฉัยว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีมูลหนี้ต่อกันตามสัญญากู้ยืมเงิน ฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้รับเงินกู้ 230,000 บาท จากโจทก์ ดังนี้ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีมูลหนี้ต่อกันตามสัญญากู้ยืมเงิน โดยเป็นมูลหนี้ที่เกิดจากการที่โจทก์ออกเงินค่าใช้จ่ายในการไปทำงานต่างประเทศให้แก่จำเลยทั้งสามไปก่อน และถือว่ามีการส่งมอบเงินที่โจทก์ให้จำเลยทั้งสามยืมแล้ว หาใช่ว่าจำเลยทั้งสามต้องรับเงินจากโจทก์โดยตรงไม่ เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงยุติว่า โจทก์ออกเงินค่าใช้จ่ายในการไปทำงานต่างประเทศให้แก่จำเลยทั้งสามผ่านบริษัทจัดหางานไปก่อนหรือไม่ เพียงใด ที่โจทก์ฎีกาจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
of 14