คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 292 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2860/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาควบคุมงานก่อสร้าง: การบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบ & การระงับหนี้จากการชำระหนี้โดยลูกหนี้ร่วม
โจทก์ว่าจ้างจำเลยควบคุมงานก่อสร้างโครงการอาคารชุดของโจทก์ การควบคุมงานในส่วนงานโครงสร้างและงานสถาปัตยกรรมอันเป็นงานก่อสร้างของบริษัท น. งานที่ก่อสร้างมีความชำรุดบกพร่องและยังไม่ได้แก้ไข จำเลยจึงไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมงานให้ถูกต้องตามที่ได้ให้สัญญา เป็นการผิดสัญญาว่าจ้างควบคุมงานในส่วนงานก่อสร้างของบริษัท น. แต่การควบคุมงานในส่วนงานระบบของบริษัท อ. เมื่อโจทก์ไม่ชำระค่าจ้างควบคุมงานของเดือนมีนาคม 2559 จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะไม่มาควบคุมงาน การที่จำเลยไม่มาควบคุมงานตั้งแต่เดือนเมษายน 2559 ถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดสัญญาเพราะทิ้งงาน ที่โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 25 เมษายน 2559 แจ้งให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา และมีหนังสือลงวันที่ 22 มิถุนายน 2559 บอกเลิกสัญญาไปยังจำเลย แต่ตามหนังสือบอกกล่าวดังกล่าวโจทก์เพียงแจ้งให้จำเลยกลับมาทำหน้าที่ควบคุมงานก่อสร้างภายใน 15 วัน และขอให้จำเลยเรียกบริษัท อ. เข้ามาแก้ไขความบกพร่องที่เกิดจากการทำงานของบริษัทดังกล่าว เมื่อจำเลยเพิกเฉย โจทก์ก็มีหนังสือบอกเลิกสัญญา เท่ากับว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาด้วยเหตุที่จำเลยทิ้งงานและเหตุที่จำเลยไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาว่าจ้างควบคุมงานในส่วนงานก่อสร้างของบริษัท อ. ซึ่งทั้งสองเหตุนี้จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์ย่อมไม่อาจนำมาเป็นเหตุในการบอกเลิกสัญญาได้ การบอกเลิกสัญญาของโจทก์จึงไม่ชอบ มีผลเท่ากับกับโจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญา
ตามสัญญาว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ข้อ 4 วรรคสอง ระบุไว้ในตอนท้ายว่า การที่โจทก์ไม่บอกเลิกสัญญา ไม่เป็นเหตุให้จำเลยพ้นจากความรับผิดตามสัญญา จำเลยจึงยังคงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาว่าจ้างควบคุมงานในส่วนงานก่อสร้างของบริษัท น. แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัท น. ได้ยื่นฟ้องขอให้บังคับโจทก์คืนเงินประกันผลงานและชำระค่าจ้างทำงานก่อสร้างดังกล่าวส่วนที่ยังค้างชำระ โจทก์ฟ้องแย้งขอให้บังคับบริษัท น. ชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการทำงานก่อสร้างบกพร่อง ตามคดีหมายเลขแดงที่ 2309/2561 ของศาลชั้นต้น ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้โจทก์คืนเงินประกันผลงานที่โจทก์หักไว้จากค่าจ้างในแต่ละงวด รวม 14,256,971.38 บาท และให้รับผิดในค่าจ้างที่ยังไม่ได้ชำระ 7,978,778.68 บาท แก่บริษัท น. โดยให้หักกลบลบหนี้กับค่าเสียหายที่บริษัท น. ทำงานก่อสร้างบกพร่อง เป็นเงิน 4,857,212.97 บาท ซึ่งค่าเสียหายในส่วนของงานก่อสร้างที่บกพร่องเป็นค่าเสียหายจำนวนเดียวกับที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดในคดีนี้ ถือเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ จำเลยและบริษัท น. ต้องรับผิดแก่โจทก์เช่นอย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 การที่บริษัท น. ชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ด้วยวิธีการหักกลบลบหนี้กับเงินประกันผลงานและค่าจ้างที่โจทก์ค้างชำระ ย่อมเป็นประโยชน์แก่จำเลยด้วยตามมาตรา 292 วรรคหนึ่ง มีผลให้หนี้ของจำเลยในคดีนี้ระงับไป จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาว่าจ้างควบคุมงานในส่วนงานก่อสร้างของบริษัท น. แก่โจทก์อีก
ตามสัญญาว่าจ้างวิศวกรที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง ข้อ 5 ระบุว่า หากโจทก์บอกเลิกสัญญาตามข้อ 4 แล้ว จำเลยจะต้องคืนเงินค่าจ้างที่ได้รับไว้ให้แก่โจทก์ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าการบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไม่ชอบด้วยสัญญาข้อ 4 วรรคสอง มีผลเท่ากับโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าจ้างที่จำเลยได้รับไปแล้วคืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1148/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีและการมีส่วนได้เสียในการประกาศขายทอดตลาด: ผู้ค้ำประกันไม่มีสิทธิเรียกร้อง
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 306 (เดิม) ใช้บังคับอยู่ในขณะมีการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ตามคำพิพากษากำหนดไว้ว่าเมื่อศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขายทอดตลาดแล้ว การดำเนินการบังคับคดีให้เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่จะต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายนั้นให้ทราบด้วย แม้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นผู้หนึ่งที่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดนั้นตามคำนิยามของมาตรา 280 (1) (เดิม) แต่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องส่งประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบตามบทบัญญัติมาตรา 306 (เดิม) นั้น ต้องเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์สินที่จะทำการขายทอดตลาดโดยต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น ไม่ว่าจะปรากฏทางทะเบียนหรือโดยประการอื่นก็ตาม เมื่อปรากฏว่าที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ประกาศขายทอดตลาดเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่มีส่วนได้เสียโดยตรงในทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ถือหุ้นและเป็นกรรมการของจำเลยที่ 1 และไม่ได้มีส่วนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างร่วมกับจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด แม้จำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รับผิดตามคำพิพากษาตามยอม และการขายทอดตลาดที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 อาจทำให้ความรับผิดตามคำพิพากษาตามยอมของจำเลยที่ 2 ที่มีต่อโจทก์เปลี่ยนแปลงเพราะหากขายทอดตลาดได้ในราคาสูงก็อาจเพียงพอแก่การชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมได้สิ้นเชิงหรือคงเหลือหนี้ค้างชำระจำนวนน้อยลงอันเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 292 วรรคหนึ่ง ด้วยก็ตาม แต่การเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิงหรือโดยส่วน เป็นสิทธิของโจทก์ที่จะเลือกบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก็คงเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 โดยทำให้ความรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในหนี้ตามคำพิพากษายอมลดลงเท่านั้น ส่วนความรับผิดท้ายสุดเป็นความรับผิดระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมตามคำพิพากษาตามยอมด้วยกันตามมาตรา 296 แห่ง ป.พ.พ.นั้น ต่างต้องรับผิดเป็นส่วนเท่า ๆ กัน เว้นแต่จะกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น โดยอาจใช้สิทธิไล่เบี้ยกันเองภายหลังลูกหนี้คนใดคนหนึ่งชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ การขายทอดตลาดที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 จะได้ราคาทอดตลาดมากน้อยเพียงใด จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในระหว่างลูกหนี้ร่วมด้วยกันซึ่งเป็นความรับผิดโดยตรงแต่ประการใด จำเลยที่ 2 จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงในที่ดินทั้งแปดแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 1 ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องส่งประกาศการขายทอดตลาดให้ทราบด้วย กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนการขายทอดตลาดตามคำร้องของจำเลยที่ 2