คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วรพจน์ วิไลชนม์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 90 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6984/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบุกรุกทำลายป่าและยึดครองพื้นที่ ศาลมีอำนาจสั่งขับไล่โดยไม่ต้องมีคำขอ
คดีนี้ ปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์และคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสี่ว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง ตัดฟัน เผาป่า โค่นไม้ ก่อความเสียหายแก่ป่าไม้ และยึดถือครอบครองที่ดินป่าที่เกิดเหตุ ซึ่งตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 72 ตรี วรรคสาม บัญญัติว่า "ในกรณีที่มีคำพิพากษาชี้ขาดว่าบุคคลใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ ถ้าปรากฏว่าบุคคลนั้นได้ยึดถือครอบครองป่าที่ตนได้กระทำความผิด ศาลมีอำนาจที่สั่งให้ผู้กระทำผิด คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทนและบริวารของผู้กระทำผิด ออกไปจากป่านั้นได้ด้วย" ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่ได้ยึดถือครอบครองป่าที่เกิดเหตุ ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้จำเลยทั้งสี่ คนงาน ผู้รับจ้าง ผู้แทน และบริวารของจำเลยทั้งสี่ออกไปจากป่าที่เกิดเหตุได้ด้วย โดยโจทก์หาจำต้องมีคำขอในข้อดังกล่าวมาด้วย ปัญหานี้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้าง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6603/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ: ศาลใช้บทบัญญัติรื้อถอนตาม พ.ร.บ.การเดินเรือ แม้โจทก์มิได้ขอ
บทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ.2456 มาตรา 118 ทวิ วรรคหนึ่งและวรรคสองที่ว่า "ในกรณีที่มีการฝ่าฝืนมาตรา 117... ให้เจ้าท่ามีคำสั่งเป็นหนังสือแจ้งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใดดังกล่าวรื้อถอนหรือแก้ไขอาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นให้เสร็จสิ้นโดยถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด แต่ต้องไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองให้เจ้าท่าปิดคำสั่งไว้ ณ อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นและจะห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองนั้นใช้หรือยินยอมให้ผู้ใดใช้อาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วนจนกว่าจะได้รื้อถอนหรือแก้ไขเสร็จด้วยก็ได้ ถ้าไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าท่าตามวรรคหนึ่ง หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง และเจ้าท่าได้ปิดคำสั่งไว้ ณ อาคาร หรือสิ่งอื่นใดนั้นครบสิบห้าวันแล้ว ให้เจ้าท่าร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งให้มีการรื้อถอนอาคารหรือสิ่งอื่นใดนั้น ถ้าข้อเท็จจริงในทางพิจารณาฟังได้ว่ามีการฝ่าฝืนมาตรา 117 จริง ในกรณีที่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสิ่งอื่นใด ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองเป็นผู้รื้อถอน ในกรณีที่เจ้าของหรือผู้ครอบครองไม่รื้อถอนตามกำหนดเวลาในคำสั่งศาล หรือในกรณีที่ไม่ปรากฏตัวเจ้าของหรือผู้ครอบครอง ให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าท่าเป็นผู้จัดการให้มีการรื้อถอน" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นคำขอให้บังคับทางแพ่งก็ตาม แต่การที่ศาลต้องรับฟังข้อเท็จจริงให้ได้ว่ามีการฝ่าฝืนมาตรา 117 จริงหรือไม่ เป็นคดีในส่วนอาญา การบังคับทางแพ่งดังกล่าวจึงถือเป็นผลอย่างหนึ่งของคดีอาญาซึ่งในที่สุดแล้วก็ต้องร้องขอต่อศาลในการที่จะบังคับให้เป็นไปตามบทบัญญัตินี้อยู่ดี เมื่อข้อเท็จจริงในคดีอาญารับฟังได้ว่า มีการฝ่าฝืนมาตรา 117 จริงและยังไม่มีการรื้อถอนหรือแก้ไขอาคารให้เสร็จสิ้น ประกอบกับเป็นบทบัญญัติที่ให้มีการกำหนดเวลาให้ปฏิบัติตามคำสั่งด้วย อันเป็นการให้กำหนดเงื่อนเวลาการรื้อถอนหรือแก้ไขอาคารให้เป็นธรรมแก่จำเลยโดยไม่ให้เสียหายแก่ประโยชน์ส่วนรวม ทั้งบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวก็เป็นการบัญญัติเปิดช่องให้เจ้าท่ามีสิทธิร้องขอต่อศาลได้เอง จึงไม่ใช่เป็นการบัญญัติให้ศาลจะมีคำสั่งได้เฉพาะแต่กรณีที่โจทก์มีคำขอเท่านั้น เมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้โดยชอบแล้ว เท่ากับจำเลยยอมรับว่ายังไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายนี้จริง และจำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งว่า คำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งมาตรา 118 ทวิ นี้อย่างไร จึงไม่มีประเด็นให้วินิจฉัย ดังนั้น แม้โจทก์จะไม่มีคำขอให้บังคับทางแพ่งดังกล่าวมาก็ตาม ก็อาจเป็นเพราะโจทก์เห็นว่ามีบทบัญญัติข้างต้นเป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์ประสงค์ที่จะไม่ให้บังคับตามนั้นแต่อย่างใด ศาลจึงใช้ดุลพินิจบังคับให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้ได้ คำพิพากษาส่วนนี้ของศาลล่างทั้งสองหาได้พิพากษาหรือสั่งเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3021/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน: การกระทำความผิดกรรมเดียว แม้มีการจ่ายเงินหลายครั้ง
การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงประชาชนตาม ป.อ. มาตรา 343 วรรคแรก และความผิดตาม พ.ร.ก.การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน พ.ศ.2527 เป็นการกระทำโดยหลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จและได้เงินหรือทรัพย์สินไปจากผู้ถูกหลอกลวง โดยผู้กระทำความผิดมีเจตนาให้เกิดผลต่อผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนแยกต่างหากจากกัน จึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้ที่ถูกหลอกลวงแต่ละคน ส่วนเหตุการณ์ในภายหลังที่ผู้กระทำความผิดได้เงินหรือทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงแต่ละคนอีกหลายคราว ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการหลอกลวงในครั้งแรก หาใช่เป็นการกระทำใหม่อีกกรรมหนึ่งไม่
ผู้เสียหายทั้งสิบได้นำนากหญ้าจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไปเลี้ยงตามคำแนะนำเชิญชวนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก โดยจ่ายเงินให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก คู่ละ 20,000 บาท แม้ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 นำนากหญ้าไปเลี้ยงเพิ่มขึ้นจากครั้งแรกและจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เพิ่มเติมอีก 1 ครั้ง 1 ครั้ง และ 2 ครั้ง ตามลำดับ โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกไม่ได้กล่าวข้อความหลอกลวงใด ๆ ขึ้นใหม่ การได้รับเงินในครั้งต่อมาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก เป็นเพียงผลสืบเนื่องจากการกระทำครั้งแรก โดยมีเจตนาอันเดียวกันเพื่อให้ได้รับเงินไปจากผู้เสียหายที่ 1 ที่ 3 และที่ 8 แม้จะต่างวาระกันก็เป็นความผิดกรรมเดียวกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดสำเร็จสำหรับผู้เสียหายแต่ละคน รวม 10 กรรม ตามจำนวนผู้เสียหาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 441/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าทนายความในคดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับคดีแพ่ง: ศาลมีอำนาจกำหนดได้ตามความเหมาะสม
ค่าทนายความใช้แทนไม่ใช่ค่าธรรมเนียมที่ ป.วิ.อ. มาตรา 253 วรรคหนึ่ง บัญญัติไว้มิให้เรียก แต่เป็นค่าฤชาธรรมเนียมอย่างหนึ่งซึ่งศาลมีอำนาจกำหนดได้ตามดุลพินิจ เมื่อคดีที่พิจารณาในศาลนั้น ๆ สิ้นสุดลง คดีนี้มีโจทก์ร่วมทั้งสองแต่งตั้งทนายความดำเนินกระบวนพิจารณาคดีส่วนแพ่ง ศาลย่อมมีอำนาจกำหนดค่าทนายความให้จำเลยใช้แทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20005-20007/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนบัตรปลอม: การรู้เจตนาจากพฤติการณ์ และความผิดกรรมเดียว
องค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรของรัฐบาลต่างประเทศปลอมตาม ป.อ. มาตรา 244 ประกอบมาตรา 247 อันเป็นความผิดตามฟ้องคือ ผู้ซึ่งมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรของรัฐบาลต่างประเทศนั้นต้องได้ธนบัตรนั้นมาโดยรู้ว่าเป็นธนบัตรปลอม ซึ่งการรู้หรือไม่รู้ว่าเป็นธนบัตรปลอมดังกล่าวเป็นเรื่องของเจตนาซึ่งอยู่ภายใน การพิจารณาว่าจำเลยกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่จึงจำต้องอาศัยพฤติการณ์ของจำเลยและพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเป็นเครื่องบ่งชี้ การที่จำเลยนำธนบัตรปลอมไปทยอยแลกหลายครั้ง ครั้งละไม่กี่ฉบับ และแลกกับธนาคารหลายแห่งซึ่งอยู่ใกล้เคียงกัน เป็นพฤติการณ์ที่ผิดปกติวิสัยไปจากที่สุจริตชนพึงกระทำ แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ประสงค์ให้การแลกธนบัตรของจำเลยเป็นที่สังเกตอันจะทำให้มีการตรวจสอบธนบัตรของกลางอย่างละเอียดว่าเป็นธนบัตรปลอมหรือไม่ บ่งชี้ว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าธนบัตรที่จำเลยนำไปแลกนั้นเป็นธนบัตรปลอม การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง
ความผิดฐานมีไว้เพื่อนำออกใช้ซึ่งธนบัตรของรัฐบาลต่างประเทศอันตนได้มาโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นธนบัตรปลอมตาม ป.อ. มาตรา 244 ประกอบมาตรา 247 เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่มีการรับธนบัตรนั้นไว้เพื่อนำออกใช้โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นธนบัตรปลอม ไม่ใช่เมื่อมีการนำออกใช้ แม้จะนำออกใช้หลายคราวจำเลยก็มีความผิดเพียงกรรมเดียว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13033/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมสิ้นสุดลงเมื่อไม่ได้ใช้เกิน 10 ปี โจทก์มีสิทธิเพิกถอนได้ แม้จำเลยเพิ่งรับโอน
ภายหลังการจดทะเบียนภาระจำยอม บริษัท ด. ผู้เป็นเจ้าของสามยทรัพย์มิได้ใช้ที่ดินภาระจำยอมของโจทก์เป็นเวลาเกินกว่าสิบปี ภาระจำยอมดังกล่าวย่อมสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1399 ซึ่งเป็นการสิ้นไปโดยผลแห่งกฎหมายและก่อสิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะขอให้เพิกถอนภาระจำยอมนับตั้งแต่ครบกำหนดเวลาดังกล่าว เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 1399 มิได้กำหนดเงื่อนเวลาในการใช้สิทธิดังกล่าวโจทก์ย่อมชอบที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีเพื่อขอให้เพิกถอนภาระจำยอมในเวลาใด ๆ นับตั้งแต่เกิดสิทธิดังกล่าว และเมื่อจำเลยเพิ่งรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสามยทรัพย์จากบริษัท ด. ภายหลังภาระจำยอมสิ้นไปแล้ว ทั้งเพิ่งใช้ทางภาระจำยอมในที่ดินของโจทก์ยังไม่ครบกำหนดสิบปี ยังไม่ได้ภาระจำยอมโดยอายุความ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนเพิกถอนภาระจำยอมได้
โจทก์กับพวกขายที่ดินภารยทรัพย์ทั้งห้าแปลงให้บริษัท ด. และจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินของโจทก์ให้แก่ที่ดินภารยทรัพย์ทั้งห้าแปลงโดยไม่มีกำหนดระยะเวลาและไม่มีค่าตอบแทน ซึ่งจำเลยอ้างว่าเพื่อตอบแทนการซื้อที่ดินภารยทรัพย์ทั้งห้าแปลงก็ตาม แต่การจดทะเบียนภาระจำยอมดังกล่าวเป็นเพียงการทำนิติกรรมที่ไม่มีเงื่อนเวลาสิ้นสุด และภาระจำยอมไม่ว่าจะได้มาโดยนิติกรรมหรืออายุความ เมื่อไม่ได้ใช้เป็นเวลานานถึงสิบปีภาระจำยอมนั้นย่อมสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1399 การฟ้องคดีของโจทก์จึงเป็นการอ้างสิทธิตามกฎหมาย หาใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21848/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลมีหน้าที่สั่งให้แก้ฟ้องก่อน ศาลอุทธรณ์มีอำนาจเพิกถอนได้
จำเลยแต่งตั้ง บ. เป็นทนายความดำเนินคดีแทนจำเลยเฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น การที่ บ. ลงชื่อเป็นผู้อุทธรณ์ ผู้เรียง และผู้พิมพ์เป็นเรื่องฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยไม่ชอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (7) ประกอบมาตรา 215 ถือเป็นฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลชั้นต้นรับฟ้องอุทธรณ์ทั้งที่เป็นฟ้องอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายแต่อยู่ในวิสัยที่จะสั่งให้จำเลยแก้ฟ้องอุทธรณ์ให้ถูกต้องได้ จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ชอบที่จะเพิกถอนการรับฟ้องอุทธรณ์ของศาลชั้นต้น และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการพิจารณาใหม่หรือดำเนินการเสียเองให้จำเลยแก้ให้ถูกต้องก่อนก็ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ไม่ชอบที่จะด่วนพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นที่รับฟ้องอุทธรณ์และยกอุทธรณ์ของจำเลย อย่างไรก็ดีปรากฏว่าในชั้นฎีกาจำเลยยื่นใบแต่งทนายความแต่งตั้ง บ. ให้ใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาได้แล้ว จึงไม่จำต้องดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้อีก จึงให้ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาพิพากษาใหม่ต่อไปตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18918/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีออกจากพื้นที่ป่าสงวนหลังคดีถึงที่สุด ไม่อาจอ้างอายุความได้ และการยกเหตุปฏิรูปที่ดินหลังศาลตัดสิน
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และมีคำสั่งให้จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครองตามมาตรา 31 วรรคสาม คดีถึงที่สุดแล้ว จำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดจึงต้องออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติที่ยึดถือครอบครองตามคำสั่งศาลดังกล่าวทันที การยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติต่อมาภายหลังจากคดีถึงที่สุดแล้วยังคงเป็นการยึดถือครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายตลอดเวลาที่จำเลยยังไม่ออกไปจากป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว โดยจำเลยไม่อาจอ้างอายุความใด ๆ ที่จะมีสิทธิยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าวต่อรัฐได้ ดังนั้น โจทก์ชอบที่จะบังคับจำเลยให้ออกจากป่าสงวนแห่งชาติได้ตลอดเวลาที่จำเลยยังยึดถือครอบครองป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว หาจำต้องบังคับคดีภายใน 10 ปี ดังเช่นคดีแพ่งทั่วไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14427/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากหน้าที่เวรยาม: หน่วยงานต้องรับผิดชอบการประมาทเลินเล่อของข้าราชการ
การที่ดาบตำรวจ ว. ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดจำเลยที่ 3 มีหน้าที่เฉพาะเจาะจงเป็นเวรดูแลผู้ต้องหาในห้องควบคุมของสถานีตำรวจให้อยู่ในความสงบเรียบร้อยและเพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหลบหนี แต่ดาบตำรวจ ว. ขาดความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เวรยามจนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำร้าย ส. จนถึงแก่ความตาย ซึ่งเป็นการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่จำต้องกระทำเพื่อป้องกันผลจากเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้น ถือได้ว่า ดาบตำรวจ ว. ประมาทเลินเล่อ จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของดาบตำรวจ ว. จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง แต่ดาบตำรวจ ว. ไม่ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดแก่โจทก์ คงรับผิดเป็นการเฉพาะตัวของดาบตำรวจ ว. ที่ประมาทเลินเล่อไม่ตรวจห้องควบคุมผู้ต้องหาเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำร้าย ส. ถึงแก่ความตาย ซึ่งพิเคราะห์พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว สมควรให้ดาบตำรวจ ว. รับผิดเพียง 200,000 บาท ซึ่งเป็นส่วนที่จำเลยที่ 3 ต้องชดใช้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11190/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ: การพิจารณา 'สถานที่ปฏิบัติราชการโดยตรง' และความผิดฐานลักทรัพย์
การกระทำอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการนั้น ต้องเป็นการลักทรัพย์ในสถานที่ซึ่งใช้ปฏิบัติราชการโดยตรง หาได้หมายความรวมถึงบริเวณของสถานที่ราชการนั้นด้วย การที่จำเลยลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่จอดไว้ระหว่างป้อมยามที่ 1 และป้อมยามที่ 2 บริเวณทางเข้าวนอุทยานที่เกิดเหตุ ซึ่งมิใช่สถานที่ซึ่งใช้ปฏิบัติราชการโดยตรง จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในสถานที่ราชการตาม ป.อ. มาตรา 335 (8)
of 9