คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 458

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 97 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 797/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์รถยนต์ตกเป็นของผู้อื่นก่อนถูกใช้ในความผิด ผู้ร้องไม่มีสิทธิขอคืน
คดีหลักโจทก์บรรยายฟ้องว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่ตามกฎหมาย รถยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด คดีนี้จึงมิใช่คดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 15 ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษา แต่เป็นอำนาจของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่จะพิจารณาพิพากษาคดี การที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิจารณาพิพากษาคดีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาแล้ว เพื่อมิให้คดีล่าช้าศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยคดีไปเสียทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยก่อน
เมื่อผู้ร้องและ ว. ตกลงซื้อขายรถยนต์ของกลาง โดย ว. ชำระราคารถยนต์ของกลางครบถ้วนและได้รับมอบรถยนต์ของกลางแล้วก่อนวันที่จำเลยนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด จึงเป็นการซื้อขายกันเสร็จเด็ดขาด ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 458 กรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลางตกไปเป็นของ ว. แล้ว นับแต่วันที่ผู้ร้องและ ว. ตกลงซื้อขายรถยนต์ของกลางกัน แม้จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนจากชื่อผู้ร้องเป็นชื่อ ว. การซื้อขายก็สมบูรณ์เพราะรายการจดทะเบียนมิใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง ดังนี้ขณะเกิดเหตุผู้ร้องจึงไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ของกลาง ผู้ร้องย่อมไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนรถยนต์ของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7366/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายรถยนต์ที่มีสัญญาเช่าซื้อก่อน การโอนกรรมสิทธิ์ และสิทธิของบุคคลภายนอก
โจทก์ซึ่งอยู่ในฐานะบุคคลภายนอกผู้มีเพียงบุคคลสิทธิเหนือห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ตามสัญญาซื้อขายรถบัสพิพาทระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ย่อมไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการโอนทะเบียนรถบัสพิพาทระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. กับจำเลยที่ 2 หรือให้จำเลยที่ 2 กรรมการบริษัท ด. โอนทะเบียนรถพิพาทมาให้โจทก์ได้ เพราะหลังจากทำสัญญาซื้อขายรถบัสพิพาทกับห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. แล้ว ห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ไม่เคยได้กรรมสิทธิ์ในรถบัสพิพาทอันจะสามารถโอนทะเบียนให้แก่โจทก์ได้
ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิดีกว่าเพราะเป็นเรื่องบุคคลหลายคนเรียกเอาสังหาริมทรัพย์โดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์ต่างกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1303 และโจทก์เป็นผู้ครอบครองทรัพย์นั้น การเรียกเอาสังหาริมทรัพย์ตามหลักกฎหมายดังกล่าวผู้เรียกต่างต้องได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เรียกด้วยหลักกรรมสิทธิ์อย่างใดอย่างหนึ่งก่อนจึงจะพิจารณาว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายครอบครองทรัพย์ในลำดับต่อไป แต่คดีนี้ได้ความว่า โจทก์ยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในรถบัสพิพาทแต่อย่างใด เพียงแต่มีสิทธิจะได้รับเมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด จ. ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่บริษัท พ. ครบถ้วนแล้วเท่านั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างได้ว่าได้กรรมสิทธิ์ในรถบัสพิพาทโดยอาศัยหลักกรรมสิทธิ์อย่างใดๆ ได้ แม้ว่าโจทก์จะครอบครองรถบัสพิพาทก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1834/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินหลังจดทะเบียน: สิทธิของเจ้าของเดิมสิ้นสุด แม้ยังไม่ชำระราคา
โจทก์ทำสัญญาขายที่ดินและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้ง 21 แปลง ให้แก่ ป. เมื่อปี 2532 กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมตกไปเป็นของ ป. ผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามนัย ป.พ.พ. มาตรา 453 และมาตรา 456 แม้ ป. ผู้ซื้อยังไม่ชำระราคาให้แก่โจทก์ผู้ขาย แต่การชำระราคามิใช่เงื่อนไขแห่งการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การชำระราคาอาจเกิดขึ้นก่อนหรือหลังเวลาโอนกรรมสิทธิ์ก็ย่อมทำได้ตามแต่คู่สัญญาจะตกลงกัน ดังนั้น สัญญาซื้อขายและการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับ ป. จึงมีผลสมบูรณ์เสร็จเด็ดขาด และที่ดินพิพาทย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ป. มิใช่เป็นที่ดินของโจทก์อีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้ทายาทและผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทต่อมาภายหลังคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9603/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ในรถยนต์โอนทันทีเมื่อทำสัญญาซื้อขาย แม้ยังไม่ได้โอนทะเบียน การนำรถไปโดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลักทรัพย์
โจทก์ร่วมตกลงซื้อรถยนต์ตู้กับจำเลยในราคา 310,000 บาท ซึ่งในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า จำเลยตกลงรับชำระราคารถยนต์จำนวน 200,000 บาท ในวันที่ 27 ตุลาคม 2540 ส่วนจำนวนที่เหลือจะชำระให้จำเลยในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้แต่ประการใดจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ย่อมโอนให้แก่โจทก์ร่วมตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 453, 458
ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์มิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปีและแสดงว่าผู้มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้น คดีจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ตู้คันดังกล่าว ดังนั้น การที่จำเลยขับรถยนต์ตู้ไปจากที่จอดรถ จึงเป็นการเอารถยนต์ตู้ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไปโดยไม่มีอำนาจ แม้จำเลยจะอ้างว่าสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้าง แต่ก็เป็นการใช้อำนาจบังคับให้ชำระหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์ร่วมค้างชำระราคารถยนต์แก่จำเลยเพียงประมาณ 20,000 บาท แต่จำเลยจะให้โจทก์ร่วมชำระเงินแก่จำเลยถึง 100,000 บาท การที่จำเลยเอารถยนต์ตู้ไปจากโจทก์ร่วมเพื่อเรียกร้องให้โจทก์ร่วมชำระหนี้นั้น เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
(ประชมใหญ่ครั้งที่ 9/2553)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5309/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายรถยนต์มีเงื่อนไขการชำระหนี้ การโอนกรรมสิทธิ์จึงยังไม่สมบูรณ์ การบอกเลิกสัญญา
โจทก์ซื้อรถพิพาทไปจากจำเลย ชำระราคาบางส่วนและรับมอบรถพิพาทไปครอบครองใช้ประโยชน์แล้ว มีข้อตกลงให้โจทก์ต้องชำระราคาบางส่วนที่เหลือให้หมดภายในกำหนด 2 ปี จำเลยจึงจะโอนทะเบียนรถพิพาทให้เป็นชื่อโจทก์ ตราบใดที่โจทก์ยังชำระเงินส่วนที่เหลือให้จำเลยไม่ครบภายในกำหนด 2 ปี จำเลยก็จะไม่โอนทะเบียนรถให้เป็นชื่อโจทก์ เป็นการเอาเงื่อนไขการชำระหนี้เป็นการหน่วงนิติกรรมการซื้อขายไว้มิให้เป็นผลจนกว่าโจทก์จะชำระหนี้ส่วนที่เหลือให้จำเลยครบถ้วนแล้วกรรมสิทธิ์ในรถพิพาทจึงยังไม่โอนไปยังโจทก์ทันทีที่ตกลงซื้อขายรถพิพาทกัน ข้อตกลงซื้อขายรถพิพาทไม่ใช่เป็นการซื้อขายเสร็จเด็ดขาด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1013/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่จอดรถส่วนบุคคลในอาคารชุด: การกระทำละเมิดและการชดใช้ค่าเสียหาย
ตามสัญญาขายห้องชุดระหว่างผู้ขายกับโจทก์ผู้ซื้อระบุข้อความว่าขาย (ห้องชุด) พร้อมที่จอดรถ หมายเลข 538 - 540, 547 - 549 ของอาคารจอดรถจำนวน 5 คัน ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 10,014,333 บาท ถือได้ว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในห้องชุดพร้อมที่จอดรถยนต์ตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 458 ซึ่งโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ย่อมมีสิทธิต่าง ๆ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1336
ที่จอดรถยนต์ในอาคารชุดโดยสภาพย่อมถือเป็นทรัพย์สินอื่นที่มีไว้เพื่อใช้หรือเพื่อประโยชน์ร่วมกันสำหรับเจ้าของร่วม จึงเป็นทรัพย์ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 4 แต่เมื่อสัญญาขายห้องชุดที่โจทก์ซื้อกรรมสิทธิ์มาระบุว่าขาย (ห้องชุด) พร้อมที่จอดรถ ที่จอดรถยนต์ตามที่ระบุไว้ย่อมตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์พร้อมห้องชุดและไม่ถือเป็น "ทรัพย์ส่วนกลาง" ของอาคารชุดอีกต่อไป แต่ถือเป็น "ทรัพย์ส่วนบุคคล" ของโจทก์แล้ว จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลอาคารชุดจึงไม่อาจออกระเบียบหรือกระทำการใด ๆ เกี่ยวกับที่จอดรถยนต์ดังกล่าวในภายหลังให้เป็นที่เสื่อมความสะดวกแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ แม้โจทก์ค้างชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางเกินกว่า 6 เดือน จำเลยก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเป็นอีกคดีต่างหาก เมื่อจำเลยออกระเบียบห้ามมิให้โจทก์นำรถยนต์เข้ามาจอดในที่จอดรถยนต์ตามสัญญาขาย กระทั่งโจทก์ต้องนำรถยนต์ไปจอดในสถานที่อื่น จนต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น อันถือเป็นการขัดขวางสิทธิใช้สอยทรัพย์สินตามสัญญาขายห้องชุดของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการจงใจกระทำละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์
ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 33 บัญญัติว่านิติบุคคลอาคารชุดมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และให้มีอำนาจกระทำการใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว การที่จำเลยออกระเบียบกำหนดให้รถยนต์ที่จะเข้ามาจอดในอาคารจอดรถยนต์ของจำเลยจะต้องได้รับสติกเกอร์จากจำเลยเพื่อติดรถยนต์ก่อนอันเป็นการจัดการและดูแลทรัพย์สินส่วนกลางคือสถานที่จอดรถให้อยู่ในระเบียบเดียวกัน จำเลยย่อมสามารถกระทำได้ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบว่าด้วยการขอรับสติกเกอร์จอดรถยนต์ในอาคารจอดรถยนต์ ข้อ 1 แต่การที่จำเลยกำหนดในข้อ 2 ว่าเจ้าของร่วมผู้มีสิทธิในการขอรับสติกเกอร์ตามข้อ 1 จะต้องไม่ค้างชำระค่าส่วนกลางเกิน 6 เดือนนั้น ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเรื่องการค้างชำระค่าส่วนกลางถือเป็นหนี้ที่จะต้องมีการฟ้องร้องบังคับคดีตามกฎหมาย การออกระเบียบเช่นนี้ถือเป็นการหลีกเลี่ยงที่จะไม่ใช้สิทธิฟ้องร้องให้ถูกต้อง มีเจตนาที่จะบีบบังคับเอากับโจทก์ให้ต้องปฏิบัติตามระเบียบที่จำเลยกำหนดจึงไม่ชอบด้วยเจตนารมณ์ในการบังคับใช้กฎหมายตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ไม่สามารถบังคับเอาแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9145/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายยาเสพติด: การส่งมอบทรัพย์สินยังไม่สมบูรณ์ ถือเป็นความผิดพยายามจำหน่าย
พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ บัญญัติคำนิยามของคำว่า จำหน่าย หมายความว่า ขาย จ่าย แจก แลกเปลี่ยน ให้ ซึ่งมีความหมายกว้างกว่าการซื้อขายตาม ป.พ.พ. แม้เป็นการจ่าย แจก ซึ่งไม่มีค่าตอบแทนก็ถือว่าเป็นการจำหน่าย แสดงว่าถือเอาการส่งมอบทรัพย์สินที่ซื้อขายเป็นสำคัญ แม้จะมีการตกลงซื้อขายกัญชากันแล้ว แต่สายลับยังไม่ได้ส่งมอบเงินให้แก่จำเลยทั้งสอง และจำเลยทั้งสองเพียงเอากัญชาของกลางจากที่ซ่อนเพื่อให้สายลับดูยังไม่ทันได้ส่งมอบกัญชาของกลางให้แก่สายลับ เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับจำเลยทั้งสองกับพวกเสียก่อน ทั้งกัญชาของกลางที่ยึดไว้มีเพียง 40 กิโลกรัม ไม่ครบจำนวน 50 กิโลกรัม ตามที่สายลับตกลงซื้อจากพวกของจำเลยทั้งสอง การที่สายลับเพียงแต่ได้ดูกัญชาของกลาง ยังถือไมได้ว่าเป็นการส่งมอบกัญชาของกลางโดยปริยาย การซื้อขายกัญชาของกลางระหว่างจำเลยทั้งสองและพวกกับสายลับจึงไม่สำเร็จบริบูรณ์ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายกัญชาของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1144/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่มีเงื่อนไขกรรมสิทธิ์ยังไม่โอน สิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เงื่อนไขตามสัญญาซื้อขายเครื่องจักรเพื่อใช้งานในโรงคัดเมล็ดพันธุ์ที่โจทก์ทำกับบริษัท อ. ระบุว่า ผู้ซื้อจะชำระเงินเป็น 4 งวด โดยชำระงวดสุดท้ายเมื่อทดสอบเครื่องจนใช้งานได้ดี นอกจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ขายจะต้องส่งมอบเครื่องจักรและติดตั้งให้ผู้ซื้อภายในกำหนดแล้ว โจทก์ต้องออกแบบระบบโรงคัดเมล็ดพันธุ์และติดตั้งระบบไฟฟ้าควบคุมเครื่องจักรทั้งหมด ตลอดจนทดสอบเครื่องจักรให้ใช้งานได้ดีด้วย โดยสัญญากำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ของเครื่องจักรไว้ว่า ยังไม่โอนไปยังผู้ซื้อทันทีที่ส่งมอบจนกว่าจะมีการส่งมอบงานทั้งหมด ส่วนเงื่อนไขตามสัญญาซื้อขายเครื่องจักรเพื่อใช้ในโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวที่โจทก์ทำกับบริษัท ร. มีข้อความทำนองเดียวกัน โดยมีเงื่อนไขให้ผู้ซื้อชำระเงินเป็น 3 งวด โดยมีสัญญาระบุว่าเครื่องจักรดังกล่าวจะถือเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขายจนกว่าจะมีการส่งมอบงานเสร็จเรียบร้อย ซึ่งผู้ขายจะต้องทำแบบโครงสร้างและให้คำแนะนำในการติดตั้งเครื่องจักร ทดสอบเดินเครื่องจนใช้งานได้ดี ตลอดจนฝึกสอนเจ้าหน้าที่ของผู้ซื้อจนใช้งานเป็นด้วย สัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงเป็นสัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบ เมื่อสัญญาทั้งสองฉบับดังกล่าวได้ทำขึ้นและมีการผ่อนชำระตามสัญญาก่อนวันที่ 16 สิงหาคม 2540 โจทก์จึงได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการขายสินค้าหรือการให้บริการที่จะได้รับสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 7.0 ต่อไป ลงวันที่ 13 สิงหาคม 2540 ข้อ 1 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2733/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ตามสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดและการริบรถยนต์ที่ใช้ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด
ตามสัญญาซื้อขายที่ทำขึ้นระหว่างผู้คัดค้านกับจำเลยที่ 2 มีข้อความระบุแต่เพียงว่า ผู้คัดค้านได้ขายรถยนต์ของกลางให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 320,000 บาทได้รับเงินมัดจำไว้ 170,000 บาท ส่วนที่เหลือ 150,000 บาท จะชำระในวันที่ 29มกราคม 2541 สัญญาซื้อขายดังกล่าวจึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดที่มีการแบ่งชำระราคาซื้อขายเป็น 2 งวดเท่านั้น ดังนั้น เมื่อทำสัญญาเสร็จแล้ว กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ย่อมโอนไปยังจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ซื้อทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 458 มิใช่สัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไขในการโอนกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 459 ผู้คัดค้านจึงมิใช่เจ้าของรถยนต์ของกลาง จึงไม่มีสิทธิยื่นคำคัดค้าน ขอให้ศาลมีคำสั่งคืนรถยนต์ของกลางให้แก่ผู้คัดค้านได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8325/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ในสังหาริมทรัพย์: สัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาดแม้ยังไม่ชำระราคา, การโอนกรรมสิทธิ์ไปยังผู้รับโอน
แม้ว่าการซื้อขายเครื่องชั่งพิพาทระหว่าง ข. กับจำเลยมีข้อตกลงกันว่า ถ้า ข. ผู้ซื้อไม่สามารถชำระเงินให้แก่จำเลยผู้ขายได้ ไม่ว่าด้วยกรณีใด ๆ ยินยอมให้จำเลยไปรับเอาเครื่องชั่งพิพาทคืนไปได้ทันทีโดยไม่จำกัดว่าเครื่องชั่งพิพาทจะอยู่สถานที่ใดก็ตาม แต่การซื้อขายเครื่องชั่งดังกล่าวเป็นการซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่ระบุตัวทรัพย์และราคา แน่นอนแล้ว และไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงในการซื้อขายว่า หากผู้ซื้อชำระราคาไม่ครบถ้วนทรัพย์สินที่ขายยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ขายอยู่จนกว่าผู้ซื้อจะชำระราคาครบถ้วนแต่อย่างใด จึงมิใช่สัญญาซื้อขายที่มีเงื่อนไข แต่เป็นสัญญา ซื้อขายเสร็จเด็ดขาด แม้ ข. จะยังไม่ชำระราคาให้แก่จำเลย กรรมสิทธิ์ในเครื่องชั่งพิพาทก็ย่อมโอนไปยัง ข. แล้วตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 458 โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนเครื่องชั่งพิพาทมาจาก ข. ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในเครื่องชั่งพิพาทโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ได้ทราบว่า ข. ซื้อเครื่องชั่งพิพาทมาจากจำเลยและยังไม่ได้ชำระราคาหรือไม่ เครื่องชั่งพิพาทจึงมิใช่เป็นของจำเลย
of 10