คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมควร วิเชียรวรรณ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 255 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6435/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องซ้ำในความผิดอาญาต่างกรรมต่างวาระ แม้มีข้อเท็จจริงร่วมกัน สิทธิฟ้องไม่ระงับ
ความผิดข้อหามีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบบุหรี่ซิกาแรต ซึ่งเป็นยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ตามกฎหมายกับข้อหามียาสูบที่ไม่ได้ปิดแสตมป์ไว้ในครอบครองเกินห้าร้อยกรัมตามฟ้องเป็นคดีก่อน และความผิดข้อหาเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งบุหรี่ซิกาแรตที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมซึ่งโจทก์แยกฟ้องมาเป็นคดีนี้ เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติที่มีโทษทางอาญาคนละฉบับกัน มีองค์ประกอบความผิดแตกต่างกัน กล่าวคือข้อหามีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ตามกฎหมายและข้อหามีไว้ในครอบครองเพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ไว้ในครอบครอง เป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 ส่วนความผิดข้อหาเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมในคดีนี้ เป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งสามารถแยกเจตนาในการกระทำความผิดออกจากกันได้ ดังนั้นการกระทำความผิดของจำเลยในคดีก่อนจึงไม่ใช่การกระทำความผิดกรรมเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้ แม้คดีก่อนศาลได้พิพากษาลงโทษจำเลยไปแล้ว ก็ไม่อาจถือได้ว่าศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมไม่ระงับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6078/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เช็คไม่มีมูลหนี้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยไม่ต้องรับผิด
เช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้จึงไม่มีหนี้ตามเช็คพิพาทที่จำเลยที่ 1 ผู้สลักหลังอาวัลผู้สั่งจ่ายต้องรับผิดแก่โจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 อำนาจฟ้องเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 1 ไม่ได้ต่อสู้และฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5451/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความเหมือน/คล้ายและความเป็นเครื่องหมายเฉพาะ
โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่ประกอบด้วยคำว่า "Mc" เป็นสาระสำคัญและใช้คำว่า "Mc" กับผลิตภัณฑ์อาหารหลายรูปแบบมาตลอด ส่วนบริษัท ฟ. ผู้ขอจดทะเบียน
ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แม้เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียน
ดังกล่าว จะมีภาคส่วนอักษรโรมัน คำพยางค์แรกว่า "Mac" และมีอักษรโรมันตัว M และ c เช่นเดียวกันกับคำว่า "Mc" ในเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ก็ตาม แต่คำดังกล่าวเป็นคำที่มีความหมายโดยทั่วไปหมายถึงชาวสกอตแลนด์ จึงมิใช่คำประดิษฐ์ ผู้ขอจดทะเบียนจึงมีสิทธิใช้เป็นคำต้นของเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนได้ เมื่อพิจารณาถึงเสียงเรียกขาน เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์อาจเรียกขานได้แตกต่างกัน เช่น บิคแม็ค แม็คฟิช แม็คโดนัลด์'ส แม็คพิซซ่า แม็คเบอร์เกอร์ และแม็คทูไนท์ เป็นต้น ซึ่งมีเสียงเรียกขานแตกต่างไปจากเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียน นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนยังประกอบด้วยรูปประดิษฐ์นกอินทรี จึงแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งไม่มีภาพหรือรูปประดิษฐ์ของสัตว์ใดเป็นสัญลักษณ์ แม้โจทก์จะใช้เครื่องหมายการค้าของตนมายาวนานและแพร่หลายเพียงใดก็ตาม แต่เมื่อเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จึงไม่ต้องห้ามรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (10) และมาตรา 13 แม้คำว่า "Candy" ในเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าโดยตรงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 7 วรรคสอง (2) และผู้ขอจดทะเบียนแสดงปฏิเสธไม่ขอถือสิทธิของตนแต่ผู้เดียวที่จะใช้คำดังกล่าวแล้วก็ตาม แต่เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนประกอบด้วยภาคส่วนอื่นที่มีลักษณะบ่งเฉพาะด้วย เมื่อพิจารณาทั้งเครื่องหมายแล้ว เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนจึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5450/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีสัญญาซื้อขายปิโตรเลียมและการสนับสนุนปรับปรุงสถานีบริการ ไม่อยู่ในอำนาจศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ
โจทก์เรียกค่าเสียหายและเบี้ยปรับจากการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมกับโจทก์ และเรียกให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินคืนเนื่องจากจำเลยที่ 1 ปฏิบัติผิดสัญญาให้การสนับสนุนการปรับปรุงรูปแบบสถานีบริการ โดยไม่ปรากฏว่ามีกรณีพิพาทเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ หรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ สัญญาแต่งตั้งผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์อยู่ในสัญญาดังกล่าว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีข้อตกลงเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของโจทก์ตามสัญญายืมทรัพย์สิน อุปกรณ์การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำหรับผู้แทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเอกสารท้ายอุทธรณ์นั้น ก็เป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้อ้างมาในฟ้อง เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย คดีนี้จึงมิใช่คดีเกี่ยวกับเครื่องหมายการค้าหรือสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้าตามนัยมาตรา 7 (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5448/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายบริการ 'HAVE IT YOUR WAY' มีลักษณะบ่งเฉพาะ แม้เป็นคำบรรยายทั่วไป หากใช้สร้างความแตกต่างกับบริการอื่น
แม้ว่าเครื่องหมายบริการข้อความว่า "HAVE IT YOUR WAY" ที่โจทก์ขอยื่นจดทะเบียนเพื่อใช้กับบริการจำพวก 43 รายการบริการ ภัตตาคาร จะเป็นคำหลายคำประกอบกันเป็นข้อความ ซึ่งอาจแปลได้ความหมายว่า "มีมันตามทางของคุณ" หรือ "รับประทานมันตามใจ หรือตามแบบของคุณ" หรือสื่อความหมายได้ว่า "มีทุกอย่างที่คุณต้องการ หรือตามใจปรารถนา" ซึ่งมีลักษณะเป็นคำบรรยายทั่วไปก็ตาม แต่ข้อความดังกล่าวจะเป็นเครื่องหมายบริการได้ ก็ต้องเป็นเครื่องหมายที่ใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการเพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายบริการนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการของบุคคลอื่นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 และในการพิจารณาลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายบริการที่ขอจดทะเบียนนั้น ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 กล่าวคือ ต้องเป็นเครื่องหมายบริการอันมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้บริการนั้นทราบและเข้าใจได้ว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างไปจากบริการอื่น และหากเป็นเครื่องหมายบริการที่เป็นคำหรือข้อความ คำหรือข้อความนั้นต้องไม่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการนั้นโดยตรง แต่ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายมาตราใดที่ระบุว่า เครื่องหมายที่เป็นคำหรือข้อความทั่วไปถือว่าไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ เพราะหากคำหรือข้อความนั้นได้ถูกใช้เป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับบริการเพื่อแสดงว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายของเจ้าของเครื่องหมายบริการนั้นแตกต่างกับบริการที่ใช้เครื่องหมายของบุคคลอื่นจนมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้บริการนั้นทราบ เข้าใจและสามารถแยกแยะได้ว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการนั้นแตกต่างไปจากบริการอื่น ดังนั้น จะต้องปรากฏข้อเท็จจริงหรือผู้ขอจดทะเบียนสามารถพิสูจน์ได้ว่า เครื่องหมายที่เป็นคำหรือข้อความดังกล่าวมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้บริการนั้นทราบและเข้าใจว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการดังกล่าวแตกต่างจากบริการอื่นอย่างไร และข้อความหรือคำดังกล่าวต้องเป็นข้อความหรือคำที่ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของบริการนั้นโดยตรงตามมาตรา 80 ประกอบมาตรา 7 วรรคสอง (2) เพราะไม่ควรที่จะให้บุคคลใดมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวหรือผูกขาดในข้อความหรือคำที่สะท้อนให้เห็นถึงลักษณะหรือชนิดหรือประเภทของบริการนั้นโดยตรง ซึ่งบุคคลทุกคนย่อมมีสิทธิที่จะใช้ข้อความหรือคำที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของบริการกับบริการของตนได้ รวมทั้งมีสิทธิในการนำข้อความหรือคำที่แสดงถึงคุณสมบัติของบริการโดยตรงไปใช้พรรณนาหรือโฆษณาคุณภาพของบริการของตนได้
สำหรับเครื่องหมายบริการข้อความว่า "HAVE IT YOUR WAY" ที่โจทก์ขอยื่นจดทะเบียนแม้จะมีลักษณะเป็นคำบรรยายแต่เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า ก่อนที่โจทก์จะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการข้อความว่า "HAVE IT YOUR WAY" โจทก์ได้รับการจดทะเบียนและใช้เครื่องหมายบริการดังกล่าวกับบริการประเภทภัตตาคารซึ่งเป็นร้านอาหารประเภทจานด่วนซึ่งจำหน่ายแฮมเบอร์เกอร์และเครื่องดื่มเป็นอาหารหลักภายใต้ร้านค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการอื่นของโจทก์ในต่างประเทศหลายสิบประเทศรวมทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายบริการดังกล่าวในประเทศไทยกับบริการประเภทภัตตาคารซึ่งเป็นร้านอาหารประเภทจานด่วนซึ่งจำหน่ายแฮมเบอร์เกอร์และเครื่องดื่มเป็นอาหารหลักภายใต้ร้านค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการอื่นของโจทก์ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และบนถนนหลายสายภายในกรุงเทพมหานครที่เป็นแหล่งชุมชน รวมทั้งร้านอาหารของโจทก์ในแหล่งการค้าต่าง ๆ ในต่างจังหวัดที่เป็นสถานท่องเที่ยวสำคัญ และโจทก์ได้โฆษณาเครื่องหมายบริการข้อความว่า "HAVE IT YOUR WAY" ในนิตยสาร ที่สื่อสิ่งพิมพ์และการทำตลาดร่วมกับบัตรเครดิต (VISA) ป้ายโฆษณา ซึ่งเมื่อผู้ใช้บริการเห็นเครื่องหมายบริการข้อความว่า "HAVE IT YOUR WAY" ก็จะทราบได้ทันทีว่าเป็นเครื่องหมายบริการของโจทก์ เครื่องหมายบริการข้อความว่า "HAVE IT YOUR WAY" ของโจทก์จึงมีลักษณะที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้บริการนั้นทราบและเข้าใจได้ว่าบริการที่ใช้เครื่องหมายบริการข้อความว่า "HAVE IT YOUR WAY" ของโจทก์นั้นแตกต่างไปจากบริการอื่น ทั้งข้อความว่า "HAVE IT YOUR WAY" ไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของภัตตาคารโดยตรง ดังนั้นเครื่องหมายบริการข้อความว่า "HAVE IT YOUR WAY" จึงมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนได้ตามมาตรา 80 ประกอบมาตรา 6 และมาตรา 7 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5447/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกัน การจดทะเบียน และการใช้ในต่างประเทศ ไม่อาจใช้เป็นเหตุรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า
แม้แนวความคิดของเครื่องหมายการค้าจะเป็นของโจทก์เองโดยมิได้มีการลอกแบบคิดของผู้อื่นมาก็ตาม แต่เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวมีความเหมือนหรือคล้ายกับของเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ย่อมเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียน
มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีอำนาจรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกันให้แก่เจ้าของเครื่องหมายการค้าหลายคนได้ หากเจ้าของเครื่องหมายการค้าหลายคนต่างได้ใช้มาแล้วด้วยกันโดยสุจริต หรือมีพฤติการณ์พิเศษที่สมควรรับจดทะเบียนให้ โดยเจ้าของเครื่องหมายการค้าหลายคนดังกล่าวต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นมาแล้วด้วยกันโดยสุจริตในราชอาณาจักร ดังนั้นแม้โจทก์จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวมาแล้วในต่างประเทศเป็นเวลานานและนำไปใช้กับสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของโจทก์อย่างกว้างขวางในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าตามบทบัญญัติของมาตรานี้และกรณีไม่เข้าเงื่อนไขที่จะพิจารณาพฤติการณ์พิเศษเพื่อให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นตามบทกฎหมายดังกล่าวได้เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5445/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีทรัพย์สินทางปัญญา: กฎหมายใหม่เป็นคุณแก่จำเลย แม้ฟ้องหลังยกเลิกกฎหมายเก่า ศาลต้องใช้กฎหมายใหม่บังคับ
จำเลยกระทำความผิดฐานเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ มีดีวีดีและวีซีดีภาพยนตร์หรือวีดิทัศน์ที่ภาพและเสียงของเรื่องไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับความเห็นชอบจากเจ้าพนักงานไว้ในสถานประกอบกิจการ และฐานผู้ได้รับอนุญาตมีภาพยนตร์ที่ไม่ได้แสดงเครื่องหมายการอนุญาต ประเภทภาพยนตร์และหมายเลขรหัสไว้ในสถานประกอบการเพื่อจำหน่ายอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 35 (1) และมาตรา 36 เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 อันเป็นเวลาขณะที่ พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 ยังใช้บังคับ ซึ่งความผิดตามมาตรา 35 (1) มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามมาตรา 36 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความ 5 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (4) จำเลยถูกฟ้องเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 ซึ่งขณะนั้น พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ใช้บังคับแล้วโดยมีผลยกเลิก พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 และการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 25 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 78 และมาตรา 43 ประกอบมาตรา 80 ตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่มีระวางโทษปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงหนึ่งล้านบาทและระวางโทษปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท โดยไม่มีโทษจำคุก จึงมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) ดังนั้น กฎหมายใหม่จึงเป็นคุณแก่จำเลยต้องใช้ พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาบังคับใช้แก่การกระทำความผิดของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 จึงต้องนำอายุความตามกฎหมายใหม่มาใช้บังคับแก่จำเลย เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่จำเลยกระทำความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3260-3261/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกัน - สิทธิเรียกร้องก่อนมีคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ - การคุ้มครองประโยชน์ก่อนเสียหาย
เมื่อการวินิจฉัยชี้ขาดว่าสัญญาเป็นโมฆะเพราะผู้คัดค้านเข้าทำสัญญาโดยสำคัญผิดในตัวบุคคลที่อยู่ในกิจการร่วมค้ากับผู้ร้องหรือไม่เป็นประเด็นข้อพิพาทข้อหนึ่งในชั้นอนุญาโตตุลาการ ข้อเท็จจริงที่ว่าสัญญาเป็นโมฆะหรือไม่ จึงยังไม่ยุติ ผู้ร้องชอบที่จะเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทตามเงื่อนไขในสัญญาได้ทั้งการฟ้องคดีอาญาฐานฉ้อโกงต่อผู้ร้อง อันเกี่ยวเนื่องจากผู้คัดค้านสำคัญผิดในตัวบุคคลของคู่สัญญา ศาลยังมิได้มีคำพิพากษาลงโทษผู้ใด ข้อเท็จจริงเรื่องความสำคัญผิดในตัวบุคคลเกี่ยวพันกับการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงจึงยังไม่ยุติอันจะพึงถือว่าสัญญาเป็นโมฆะผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่าผู้คัดค้านเรียกร้องให้กลุ่มธนาคารทั้งห้าชำระเงินตามสัญญาค้ำประกันให้ผู้คัดค้านแล้ว ซึ่งเป็นการกระทำต่อไปในทำนองว่าผู้ร้องเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องเพื่อให้ศาลมีคำสั่งจัดให้มีวิธีคุ้มครองป้องกันการกระทบสิทธิของผู้ร้องก่อนเกิดความเสียหายโดยห้ามชั่วคราวไม่ให้ผู้คัดค้านเรียกร้องเงินตามหนังสือค้ำประกันจากธนาคารไว้จนกว่าอนุญาโตตุลาการจะมีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 (2) ได้โดยไม่จำต้องเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านกระทำการใดๆ อันเป็นการก่อความเสียหายแก่ผู้ร้องโดยตรง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2994/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิขับไล่จากที่ราชพัสดุ: ผู้เช่า/ผู้ให้เช่ามีอำนาจฟ้องคดีได้อย่างไรเมื่อมีผู้บุกรุก
โจทก์ทำสัญญาก่อสร้างอาคารยกกรรมสิทธิ์ให้กระทรวงการคลังกับโจทก์ร่วมโดยให้โจทก์มีสิทธิเช่าที่ราชพัสดุเป็นเวลา 30 ปี แต่โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ราชพัสดุพิพาทไม่ได้เพราะมีบ้านจำเลยปลูกอยู่ ทำให้โจทก์ร่วมผู้ให้เช่าส่งมอบที่ราชพัสดุพิพาทให้แก่โจทก์ไม่ได้ เป็นเรื่องที่โจทก์ถูกรอนสิทธิ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ราชพัสดุพิพาทโดยลำพัง
โจทก์ในฐานะผู้เช่าซึ่งเป็นผู้ถูกจำเลยรอนสิทธิชอบที่จะขอให้ศาลเรียกโจทก์ร่วมในฐานะผู้ให้เช่าเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับโจทก์ในคดีที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยเพื่อศาลจะได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างผู้เป็นคู่กรณีทั้งหลายรวมไปเป็นคดีเดียวกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 477 ประกอบมาตรา 549 แต่จำเลยกลับเป็นฝ่ายยื่นคำร้องขอให้เรียกโจทก์ร่วมเข้าเป็นจำเลยตามฟ้องแย้งของจำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) เมื่อโจทก์ร่วมอยู่ในฐานะจำเลยร่วมตามฟ้องแย้ง มิใช่อยู่ในฐานะเป็นโจทก์ร่วมกับโจทก์ จึงเข้าเป็นคู่ความในฐานะถูกฟ้องตามมาตรา 58 วรรคหนึ่ง โจทก์ร่วมย่อมไม่อาจมีคำขอบังคับให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ราชพัสดุพิพาทได้ดังเช่นคำฟ้อง และคงเป็นเพียงคำให้การแก้ฟ้องแย้งและขอให้ยกฟ้องแย้งของจำเลย โจทก์ร่วมจึงไม่มีสิทธิขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารพร้อมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ราชพัสดุพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2829/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกานี้แก้ไขบทมาตราที่ฟ้องผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ และลงโทษฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต โดยพิจารณาโทษปรับให้เหมาะสม
วีดิทัศน์ของกลาง 782 แผ่น เป็นวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ได้วินิจฉัยคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) โจทก์บรรยายฟ้องว่าแผ่นวีดิทัศน์ 782 แผ่น นี้ จำเลยใช้ในการประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ทั้งไม่ได้ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งสาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่การไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและไม่นำวีดิทัศน์ไปให้คณะกรรมการตรวจพิจารณาอนุญาตก่อนนำออกจำหน่าย แผ่นวีดิทัศน์จึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยมีไว้เป็นความผิด ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด อันจะพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 32 และมาตรา 33 อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ในข้อหาความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดีทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต กับฐานจำหน่ายวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตนั้น จำเลยกระทำความผิดดังกล่าวในวันเวลาเดียวกัน โดยแผ่นวีดิทัศน์ของกลางเป็นจำนวนเดียวกัน และเป็นการกระทำในคราวเดียวกันโดยจำเลยมีเจตนามุ่งประสงค์ต่อผลอย่างเดียวกันคือเพื่อนำแผ่นวีดิทัศน์ออกจำหน่าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 91 เพียงบทเดียว การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานจำหน่ายวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง แต่ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวางโทษปรับจำเลยในความผิดฐานประกอบกิจการจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต 100,000 บาท แล้วลดโทษให้กึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 นั้น เป็นการลงโทษปรับต่ำที่สุดและลดโทษให้จำเลยในอัตราสูงสุดตามกฎหมายแล้ว จึงไม่อาจลดโทษปรับในความผิดฐานนี้ได้อีก
จำเลยทำซ้ำ ดัดแปลงเนื้อร้องและทำนองเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายบันทึกไว้ในแผ่นดีวีดี วีซีดีภาพยนตร์ ดีวีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ วีซีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ และซีดีเอ็มพีสาม รวม 507 แผ่น เพื่อจำหน่าย ให้เช่า ให้เช่าซื้อแก่ลูกค้าและบุคคลทั่วไปซึ่งเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) ประกอบมาตรา 69 วรรคสอง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง จึงไม่ถูกต้อง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องโดยมีคำขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 แต่มิได้อ้างมาตรา 69 กลับอ้างมาตรา 70 นั้น ก็เป็นการอ้างบทมาตราผิด ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามบทกฎหมายที่ถูกต้องได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยที่ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ส่วนที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางลงโทษปรับจำเลยในความผิดฐานนี้อีกสถานหนึ่งโดยให้ปรับ 110,000 บาท ก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งนั้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสี่ปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงแปดแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ คดีนี้จำเลยทำซ้ำ ดัดแปลงเนื้อร้องและทำนองเพลงอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายบันทึกไว้ในแผ่นดีวีดี วีซีดีภาพยนตร์ ดีวีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ วีซีดีคาราโอเกะภาพยนตร์ และซีดีเอ็มพีสาม เป็นจำนวนถึง 507 แผ่น การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อแสวงหากำไรและเป็นการกระทำเพื่อการค้าด้วยซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจแก่ผู้เสียหาย และกระทบกระเทือนต่อสิทธิในการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย โทษปรับที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดไว้จึงเป็นคุณแก่จำเลยมากแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
of 26