คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมควร วิเชียรวรรณ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 255 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10674/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานสรรพสามิต และการริบของกลางตาม พ.ร.บ.ยาสูบ
ความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 136 มีระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 39 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัย
จำเลยที่ 1 พูดต่อผู้เสียหายที่ 2 กับพวกซึ่งเป็นเจ้าพนักงานสรรพสามิตผู้มีอำนาจหน้าที่จับกุมผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายเกี่ยวกับสรรพสามิตว่า "พวกมึงเป็นข้าราชการรังแกประชาชน แกล้งจับกู" ถ้อยคำดังกล่าวมิใช่เป็นเพียงคำกล่าวที่ไม่สุภาพและไม่สมควร แต่เป็นถ้อยคำดูถูก สบประมาทผู้เสียหายที่ 2 กับพวก จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานตาม ป.อ. มาตรา 136
แสตมป์ยาสูบของกลางที่อ้างแสดงอยู่บนซองบุหรี่ของกลางเป็นเครื่องอุปกรณ์ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 ต้องริบเป็นของกรมสรรพสามิตตาม มาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10673/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต และการละเมิดลิขสิทธิ์เกมคอมพิวเตอร์: องค์ประกอบความผิดและข้อกำหนดการคุ้มครองลิขสิทธิ์
พ.ร.บ.ภาพยนต์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง บัญญัติ "ห้ามมิให้ผู้ใดจัดตั้งหรือประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน" และมาตรา 4 บัญญัติให้นิยามคำว่า "วีดิทัศน์" ว่า วัสดุที่มีการบันทึกภาพหรือภาพและเสียงซึ่งสามารถนำมาฉายให้เห็นเป็นภาพที่เคลื่อนไหวได้อย่างต่อเนื่องในลักษณะที่เป็นเกมการเล่น... และนิยามคำว่า "ร้านวีดิทัศน์" ว่า สถานที่ที่จัดให้มีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการฉาย เล่น หรือดูวีดิทัศน์ โจทก์บรรยายการกระทำของจำเลยว่า จำเลยประกอบกิจการร้านวีดิทัศน์ ชื่อร้าน "ไอซ์เกมส" โดยทำเป็นธุรกิจและได้รับค่าตอบแทน โดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน และจำเลยนำแผ่นดีวีดีเกมสไปเดอร์แมนและเกมสไปเดอร์แมน 3 เดอะเกมส์ ที่บันทึกเสียงและภาพ บรรจุลงในเครื่องเล่นเกมแล้วต่อสายไปเชื่อมกับเครื่องรับสัญญาณภาพ (โทรทัศน์) เพื่อให้ลูกค้าเช่าเล่นเกมและยึดได้เครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่นทูโทรทัศน์สี จอยสติ๊ก สายเอวี สายไฟฟ้าของกลาง กับแผ่นดีวีดีเกมซึ่งจัดเป็นเครื่องมือหรืออุปกรณ์ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกในการเล่นเกมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จึงฟังได้ว่าจำเลยประกอบกิจการร้านไอซ์เกมส์ในลักษณะให้บริการลูกค้าเช่าผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์และโทรทัศน์ แผ่นดีวีดีเกมคอมพิวเตอร์ของกลางคดีนี้จึงเป็นวัสดุที่มีการบันทึกภาพและเสียงในลักษณะที่ผู้เล่นสามารถนำมาเล่นโดยฉายภาพและเสียงผ่านเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชั่นทูและโทรทัศน์ได้อย่างต่อเนื่อง อันจัดเป็นวีดีทัศน์ตามนิยามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 จึงเป็นฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด รวมทั้งรายละเอียดและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้นๆ รวมทั้งสิ่งของที่เกี่ยวข้องพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์จึงครบองค์ประกอบความผิดตามพ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
งานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 หมายถึง งานสร้างสรรค์ของผู้อื่นที่กฎหมายให้ความคุ้มครองลิขสิทธิ์ภายใต้หลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับการให้ความคุ้มครองที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดไว้
ผู้เสียหายมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกมของตนเป็นครั้งแรกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2546 และปี 2549 โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีหรือไม่ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 8 อันเป็นข้อเท็จจริงซึ่งเป็นสาระสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบความผิดตามข้อหาที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้อง จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิด ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในชั้นนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10671/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ฐานประกอบกิจการจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต
โจทก์บรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 หลายกรรมต่างกัน ฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตกระทงหนึ่ง ฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายวีดิทัศน์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตกระทงหนึ่ง และฐานมีภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่ไม่ผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการ ฯ ออกจำหน่ายอีกกระทงหนึ่ง แต่ปรากฏตามคำฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดในวันเวลาเดียวกัน โดยมีแผ่นซีดีภาพยนตร์และแผ่นซีดีวีดิทัศน์ของกลางจำนวนเดียวกัน แม้การกระทำนั้นจะเป็นความผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมายหลายบท แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่จำเลยมีเจตนาเดียว โดยมุ่งประสงค์ต่อผลเดียว คือ เพื่อประกอบกิจการจำหน่ายซีดีภาพยนตร์และซีดีวีดิทัศน์ของกลางในทางการค้าซึ่งได้กระทำไปในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง ประกอบ มาตรา 79 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว
ความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายภาพยนตร์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีสาระสำคัญของการกระทำผิดอยู่ที่จำเลยประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน แผ่นซีดีภาพยนตร์และซีดีวีดิทัศน์ของกลาง จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือเป็นทรัพย์ที่มีไว้เป็นความผิดอันจะพึงริบตาม ป.อ. มาตรา 32, 33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีเรียกคืนเงินที่ส่งผิดพลาด และการหักกลบลบหนี้ค่าตอบแทนการค้า
โจทก์ฟ้องเรียกเงินจากการที่พนักงานของโจทก์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากจำเลยที่ 1 เป็นค่าตอบแทนจากการจำหน่ายสินค้า เกินกว่าที่จำเลยที่ 1 ควรจะได้รับ เป็นกรณีฟ้องเรียกคืนทรัพย์ที่โจทก์อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้รับโดยปราศจากมูลจะอ้างตามกฎหมาย เข้าลักษณะลาภมิควรได้ ห้ามฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าจะมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นกำหนดเวลาสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น การที่ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 มีการตรวจหนี้สินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองครั้งสุดท้าย พบว่าโจทก์ส่งเงินมูลค่าสูงกว่าให้จำเลยทั้งสอง วันดังกล่าวจึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ ที่จะเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 6 ตุลาคม 2549 ยังไม่เกินหนึ่งปีนับแต่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกเงินที่ส่งผิดพลาดคืน คดีจึงไม่ขาดอายุความ
เมื่อคดีฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองมีสิทธิได้รับเงินค่าตอบแทนจากการจำหน่ายสินค้าจากโจทก์มากกว่าที่โจทก์ส่งให้จำเลยทั้งสองผิดพลาด หลักลบกลบหนี้แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกเงินคืนจากจำเลยทั้งสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10221/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องไม่ชัดเจน ละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมเกม ศาลฎีกายกฟ้อง แม้จำเลยรับสารภาพ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์งานวรรณกรรมโปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายโดยนำวรรณกรรมโปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์บรรจุลงในหน่วยประมวลผลกลาง (ซีพียู) ที่ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแล้วนำออกบริการให้เช่าแก่บุคคลทั่วไป ตามฟ้องดังกล่าวยังไม่แน่ชัดว่า โปรแกรมเกมคอมพิวเตอร์ที่มีการบรรจุลงในหน่วยประมวลผลกลางเป็นโปรแกรมเกมที่มีลิขสิทธิ์หรือเป็นโปรแกรมเกมที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย และจำเลยหรือผู้อื่นนั้นกระทำการอันละเมิดลิขสิทธิ์แก่งานของผู้เสียหายในลักษณะอย่างไรแน่ จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษได้ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10220/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินจากการกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องพิสูจน์ได้ว่าเงินที่ยึดได้มาจากการกระทำความผิดโดยตรง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 นำแผ่นวีซีดีเพลงและแผ่นซีดีรอมเอ็มพีสาม ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสามออกขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อการขายแก่บุคคลทั่วไปเพื่อการค้า จำนวน 1,406 แผ่น เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองพร้อมยึดได้แผ่นวีซีดีเพลงและแผ่นซีดีรอมเอ็มพีสามที่ละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 1,406 แผ่น และเงิน 8,540 บาท ที่จำเลยทั้งสองได้มาจากการจำหน่ายแผ่นซีดีรอมเอ็มพีสามและแผ่นซีดีเพลงเป็นของกลาง ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังรับฟังไม่ได้ชัดเจนว่า เงินของกลางจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 ได้มาจากการขายเสนอขายและมีไว้เพื่อขายแผ่นวีซีดีเพลงและแผ่นซีดีรอมเอ็มพีสาม จำนวน 1,406 แผ่น ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ผู้เสียหายทั้งสามในคดีนี้ หรือที่ได้มาจากการกระทำการในครั้งก่อนซึ่งโจทก์ก็มิได้ฟ้องถึงการกระทำดังกล่าวในครั้งก่อนมาด้วย กรณีจึงไม่อาจฟังได้ว่าเงิน 8,540 บาท เป็นทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิดตามความหมายของ ป.อ. มาตรา 33 (2) ที่จะลงโทษทางอาญาแก่จำเลยที่ 1 ด้วยการริบทรัพย์สินได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางสั่งไม่ริบเงินของกลางชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10217/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความลับทางการค้า: มาตรการรักษาความลับที่เหมาะสม และการบรรยายฟ้องที่ชัดเจน
ตามนิยาม "ความลับทางการค้า" และ "ผู้ควบคุมความลับทางการค้า" ในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.ความลับทางการค้า พ.ศ.2545 ข้อมูลการค้าซึ่งเป็นความลับทางการค้าต้องเป็นข้อมูลที่เจ้าของหรือผู้ควบคุมความลับทางการค้าได้ใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อรักษาไว้เป็นความลับ การที่มีข้อตกลงในสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งสองกับพนักงานที่ห้ามมิให้พนักงานนำข้อมูลความลับของบริษัทไปเปิดเผยแก่บุคคลภายนอกซึ่งหากฝ่าฝืนอาจถูกลงโทษได้นั้น ไม่เพียงพอที่จะถือว่าเป็นมาตรการที่เหมาะสมในการรักษาข้อมูลดังกล่าวไว้เป็นความลับตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายนี้
โจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายฟ้องว่า ข้อมูลตามใบเสนอราคาเป็นความลับทางการค้าที่จำเลยทั้งสองนำไปเปิดเผย แม้โจทก์ทั้งสองจะนำสืบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นความลับทางการค้าของโจทก์ทั้งสองก็เป็นเรื่องนอกฟ้อง ถือเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10212-10215/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการ: ข้อพิพาทเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ต้องระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการก่อนฟ้องคดี
สัญญารับจ้างออกแบบและควบคุมการก่อสร้างศูนย์การแพทย์ระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่ที่มีข้อตกลงกำหนดให้ในกรณีที่มีข้อเรียกร้อง ข้อพิพาทหรือเรื่องอื่นใดที่เป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาซึ่งไม่สามารถยุติโดยการเจรจานั้นให้ได้รับการชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการ เป็นสัญญาที่มีลักษณะเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งต้องเสนอข้อพิพาทที่เป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาต่ออนุญาโตตุลาการก่อนนำคดีขึ้นสู่ศาลตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 11 เมื่อการวินิจฉัยในปัญหาระหว่างคู่สัญญาว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิทำซ้ำ ดัดแปลงหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ และจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญา โจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่จึงต้องปฏิบัติตามข้อตกลงของสัญญาเรื่องการระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการ เมื่อไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ โจทก์ทั้งสี่จึงต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีต่อศาลโดยมิได้เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนย่อมขัดต่อ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 14 โจทก์ทั้งสี่จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10212-10215/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการ: ศาลจำหน่ายคดี เนื่องจากโจทก์ไม่เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการก่อนฟ้อง
ตามสัญญารับจ้างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่ว่า สัญญาบริการทางวิชาชีพและสัญญาบริการออกแบบทางวิชาชีพ แปลได้ความว่า "ในกรณีที่มีข้อเรียกร้องข้อพิพาท หรือเรื่องอื่นใดที่เป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาซึ่งไม่สามารถยุติโดยการเจรจานั้นให้ได้รับการชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการ..." ดังนี้ ข้อสัญญาระหว่างโจทก์ทั้งสี่กับจำเลยทั้งสี่จึงมีลักษณะเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการฯ มาตรา 11 ที่บัญญัติว่า สัญญาอนุญาโตตุลาการ หมายถึง สัญญาที่คู่สัญญาตกลงให้ระงับข้อพิพาทไม่ว่าจะเกิดจากนิติสัมพันธ์ทางสัญญาหรือไม่ โดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ดังนั้น ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิทำซ้ำ ดัดแปลง หรอืเผขแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ตามฟ้องหรือไม่ และจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่หรือไม่ จึงขึ้นอยู่กับข้อตกลงที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าว เมื่อข้อตกลงตามสัญญาจ้างกำหนดเรื่องระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการไว้ และไม่ปรากฏว่ามีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการนี้เป็นโมฆะหรือใช้บังคับไม่ได้หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ โจทก์ทั้งสี่ต้องเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการตามสัญญาดังกล่าว เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องคดีต่อศาลโดยมิได้เสนอข้อพิพาทซึ่งเป็นปัญหาระหว่างคู่สัญญาต่ออนุญาโตตุลาการก่อน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9790/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพราง: สัญญาซื้อขายที่ดินเป็นกลบเกลื่อนการกู้ยืมเงิน ศาลเพิกถอนสัญญาได้
โจทก์ทั้งสองและจำเลยมีเจตนาทำสัญญากู้ยืมเงินกัน มิได้มีเจตนาที่จะทำสัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท สัญญาดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง และเป็นนิติกรรมอำพรางการกู้ยืมเงินที่โจทก์ทั้งสองกู้เงินจากจำเลยโดยให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยยึดถือเป็นประกัน ถือว่าสัญญาซื้อขายและสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงินที่ทำกันเป็นลายลักษณ์อักษรระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยซึ่งถูกอำพรางไว้จึงต้องบังคับตามสัญญากู้เงินที่เป็นนิติกรรมที่ถูกอำพรางไว้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เมื่อโจทก์ทั้งสองผ่อนชำระหนี้เงินกู้แก่จำเลยเกินกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ทั้งสองกู้จากจำเลยแล้ว จำเลยก็ไม่มีสิทธิยึดหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินพิพาทไว้ ต้องคืนแก่โจทก์ทั้งสองและต้องจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนแก่โจทก์ทั้งสองด้วย แต่ที่โจทก์ทั้งสองขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โดยปลอดจำนองหรือภาระผูกพันใด ๆ นั้น มีผลทำให้คำพิพากษากระทบต่อสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่คู่ความในคดี ย่อมไม่อาจกระทำได้
of 26