คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมควร วิเชียรวรรณ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 255 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2126/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความในมูลละเมิดที่เกี่ยวข้องกับความผิดทางอาญา การเริ่มต้นนับอายุความเมื่อโจทก์รู้ถึงการละเมิดและตัวผู้กระทำผิด
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง ได้บัญญัติในกรณีที่การละเมิดที่เกิดขึ้นดังกล่าวมีโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา และกำหนดอายุความทางอาญายาวกว่าก็ให้เอาอายุความที่ยาวกว่าใช้บังคับ ซึ่งหมายความว่า หากความเสียหายในมูลละเมิดที่เกิดขึ้นมีความผิดที่มีโทษตาม ป.อ. ที่เกิดขึ้นด้วย ก็ให้ใช้อายุความที่ยาวกว่า แต่ก็หมายความถึงการเรียกร้องจากผู้กระทำความผิดหรือผู้ร่วมกระทำความผิดโดยเฉพาะ ไม่หมายความรวมถึงผู้อื่นที่มิได้ร่วมกระทำความผิดด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2079-2084/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตรน้ำมันไบโอดีเซล: การผลิตโดยกรรมวิธีอื่นที่ไม่ตรงตามสิทธิบัตร ไม่เป็นการละเมิด
โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ทรงอนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ชื่อว่า "กรรมวิธีทำน้ำมันพืชเหลือใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงใช้กับเครื่องยนต์ดีเซล" ระบุข้อถือสิทธิว่า "กรรมวิธีในการเตรียมส่วนผสมที่ใช้ได้อย่างน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่ประกอบด้วยการทำให้ส่วนต่อไปนี้ผสมเข้าด้วยกันโดยการใช้เครื่องสูบผสมเวียนน้ำมันพืชเหลือใช้ที่ผ่านการทำให้สะอาด น้ำมันดีเซลและน้ำมันละหุ่ง (หรือแอลกอฮอล์) ในอัตราส่วน 10 : 10 : 1 โดยปริมาตรตามลำดับ ก่อนปรับความหนืดเป็น 6 ถึง 8 เซนติสโตกส์ ด้วยน้ำมันดีเซล" ดังนั้นโจทก์ทั้งสองจึงไม่ได้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล แต่โจทก์ทั้งสองเพียงมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้กรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าว ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์โดยใช้กรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวของโจทก์ทั้งสองตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 36 (2) ประกอบมาตรา 65 ทศ บุคคอื่นย่อมมีสิทธิที่จะผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีอื่นๆ นอกจากกรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2079-2084/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตร: การพิจารณาการละเมิดสิทธิบัตรต้องพิสูจน์กรรมวิธีผลิตที่ตรงกัน มิใช่เพียงใช้กรรมวิธีคล้ายคลึงกัน
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 บัญญัติว่า กระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.นี้ และข้อกำหนดตามมาตรา 30 ในกรณีที่ไม่มีบทบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าวให้นำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. หรือ ป.วิ.อ. หรือ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับโดยอนุโลมและกรณีไต่สวนมูลฟ้องนี้ไม่มีบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.และข้อกำหนดดังกล่าวจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ภาค 3 วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น ลักษณะ 1 ฟ้องคดีอาญาและไต่สวนมูลฟ้อง มาใช้บังคับโดยอนุโลม ดังนั้น กรอบการพิจารณาที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะต้องพิจารณาและวินิจฉัยจึงมีว่าคดีมีมูลหรือไม่ ซึ่งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางก็ได้พิจารณาและวินิจฉัยว่า ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ทั้งสองย่อมมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงให้พอมีมูลให้รับฟังได้ว่ามีการกระทำละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 23 เป็นผู้กระทำความผิดตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวหาในฟ้องโดยวินิจฉัยปัญหาว่ามีการกระทำละเมิดอนุสิทธิบัตรตามฟ้องหรือไม่ และในเบื้องต้นมีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลโดยใช้กรรมวิธีตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรดังกล่าวหรือไม่อันเป็นการพิจารณาเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยว่าคดีมีมูลหรือไม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 167 นั้นเอง มิใช่เป็นการตั้งประเด็นเพื่อวินิจฉัยว่ามีการกระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่
อนุสิทธิบัตรสำหรับการประดิษฐ์ของโจทก์ทั้งสอง ระบุข้อถือสิทธิว่า "กรรมวิธีในการเตรียมส่วนผสมที่ใช้ได้อย่างน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลที่ประกอบด้วยการทำให้ส่วนผสมต่อไปนี้ผสมเข้าด้วยกันโดยการใช้เครื่องสูบผสมเวียนน้ำมันพืชเหลือใช้ที่ผ่านการทำให้สะอาด น้ำมันดีเซลและน้ำมันละหุ่ง (หรือแอลกอฮอล์) ในอัตราส่วน 10:10:1 โดยมีปริมาตรตามลำดับ ก่อนปรับความหนืดเป็น 6 ถึง 8 เซนติสโตกส์ ด้วยน้ำมันดีเซล" ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงเพียงมีสิทธิแต่ผู้เดียวในการใช้กรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าว ผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำมาในราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรดังกล่าวเท่านั้นบุคคลอื่นย่อมมีสิทธิที่จะผลิต ใช้ ขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย หรือนำมาใน ราชอาณาจักรซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตโดยใช้กรรมวิธีอื่นๆ นอกจากกรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง เมื่อโจทก์ที่ 1 เบิกความเพียงว่า จำเลยทั้งหมดผลิตน้ำมันไบโอดีเซลโดยใช้น้ำมันพืชใช้แล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งหมดใช้กรรมวิธีตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลหรือไม่ แม้โจทก์ที่ 1 จะอ้างว่าจำเลยทั้งหมดใช้กระบวนการทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่น (Transesterification) หรือกระบวนการกำจัดไขมันและสิ่งสกปรกที่เจือปนในน้ำมันในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลอันเป็นกรรมวิธีเดียวกันกับกรรมวิธีตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง แต่โจทก์ที่ 1 ก็เบิกความตอบคำถามค้านว่า กระบวนการดังกล่าวคล้ายคลึงกับกรรมวิธีในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสอง แต่มีจุดแตกต่างกันคือวิธีการดังกล่าวใช้เมทานอล ส่วนของโจทก์ทั้งสองใช้น้ำมันดีเซลโดยอาจมีส่วนผสมที่ใช้แอลกอฮอล์หรือไม่ใช้เลยก็ได้ ประกอบกับทางไต่สวนไม่ได้ความว่ากระบวนการทรานส์เอสเทอริฟิเคชั่นที่จำเลยทั้งหมดใช้ในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลใช้กรรมวิธีมีลักษณะตรงกับกรรมวิธีในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ทั้งสองในสาระสำคัญหรือไม่อย่างไร คดีของโจทก์ทั้งสองไม่มีมูล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2071/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำในความผิดเดียวกันสิทธิระงับ, ริบของกลางตามกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
ตามฟ้องของโจทก์ในคดีนี้และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2495/2551 หมายเลขแดงที่ อ.3571/2551 เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 เวลากลางวัน จำเลยเสนอ จำหน่าย และมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าเสื้อยี่ห้อลาคอสท์ที่เป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้เสียหาย เหตุเกิดที่ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งทั้งสองคดีตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการกระทำในเรื่องเดียวกัน เกิดขึ้นในเวลา สถานที่ และกระทำต่อผู้เสียหายรายเดียวกัน จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2495/2551 หมายเลขแดงที่ อ.3571/2551 ก่อนคดีนี้แล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องที่ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไป ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)
โจทก์ฟ้องขอให้ริบของกลางแต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้เองตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง เมื่อสินค้าของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้อื่น จึงให้ริบตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ มาตรา 115

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2069/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษซ้ำตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์: การพ้นโทษด้วยการชำระค่าปรับ และความหมายของการพ้นโทษ
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 73 บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปีกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัตินี้อีกต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น" บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าการพ้นโทษจะต้องเป็นการพ้นโทษจำคุกอย่างเดียว การปรับก็ถือว่าเป็นโทษอย่างหนึ่งตามป.อ. มาตรา 18 (4) ดังนั้น แม้คดีก่อนศาลจะลงโทษจำคุกและรอการลงโทษให้จำเลย แต่ปรากฏว่า คดีนั้นศาลก็ได้ลงโทษปรับจำเลยอีกสถานหนึ่งด้วย เมื่อมีการชำระค่าปรับครบถ้วนในวันเวลาใด ย่อมถือว่าจำเลยได้พ้นโทษในวันที่ชำระค่าปรับนั้นแล้ว ได้ความว่าขณะกระทำความผิดคดีนี้ จำเลยยังชำระค่าปรับในคดีก่อนไม่ครบถ้วน จึงเป็นกรณีที่จำเลยยังไม่ได้พ้นโทษในคดีก่อนและเมื่อกลับมากระทำความผิดคดีนี้ ซึ่งแม้จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 เช่นเดียวกันก็ไม่อาจระวางโทษสองเท่าแก่จำเลยตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 73 ได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางระวางโทษสองเท่าแก่จำเลยตามมาตรานี้ จึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1829/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์ การเผยแพร่ต่อสาธารณชน และบทลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์
ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 27 (2) และมาตรา 28 (2) ต้องเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรง การกระทำของจำเลยตามฟ้องโจทก์ที่ว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสองโดยการนำแผ่นวิดีโอซีดีคาราโอเกะที่บันทึกเสียงเพลงและภาพงานเพลงซึ่งเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสองมาทำซ้ำ ถ่ายโอนข้อมูลบันทึกลงในหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์แล้วนำออกขาย หรือมีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการทำซ้ำดัดแปลง หรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งสอง จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 27 (1) และมาตรา 28 (1) เท่านั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 27 (2) และมาตรา 28 (2) ด้วยไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 591/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินจากการซื้อประมูลทอดตลาด: ผู้ซื้อได้สิทธิแม้ผู้ขายเดิมไม่มีสิทธิสมบูรณ์
แม้จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาก่อน ป. ซื้อที่ดินพิพาทและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในคดีที่ ป. เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทตามคดีแพ่งของศาลชั้นต้นก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าก่อนหน้านั้น ป. นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่ ก. ในปี 2530 และถูก ก. ฟ้องบังคับจำนองที่ดินพิพาทต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2531 แต่ ป. ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม ก. จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาด และโจทก์เป็นผู้ซื้อทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ก็ต้องถือว่า ก. ยึดสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจาก ป. แล้วหากจำเลยเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยก็ต้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทในคดีที่ ก. เป็นโจทก์ฟ้องบังคับจำนองแก่ ป. ก่อนเอาที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทและศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขายแล้ว แม้ ป. ไม่ได้เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจนำที่ดินออกขายทอดตลาดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 308 เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดและโจทก์เป็นผู้ซื้อทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ โจทก์จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจากการซื้อทอดตลาด สิทธิของโจทก์ผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลจึงมิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าที่ดินพิพาทนั้นมิใช่ของ ป. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 อันเป็นข้อยกเว้นหลักกฎหมายที่ว่า "ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน"
เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย การที่จำเลยปลูกห้องแถว 5 ห้อง รุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์และทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่จำเลยมิได้ยกข้อโต้แย้งเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้จำเลยใช้แก่โจทก์ขึ้นอ้างไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา ฎีกาของจำเลยในส่วนค่าเสียหายจึงไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ และเมื่อจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีบังคับคดีรื้อถอนห้องแถว 5 ห้อง ของจำเลยออกจากที่ดินพิพาทตามคำพิพากษา การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นละเมิดต่อจำเลย โจทก์จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยตามฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 230/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำรับสารภาพความผิดฐานกระทำชำเราเด็กและพรากเด็ก ศาลไม่ต้องสืบพยานประกอบ และการฎีกาขอลงโทษเบาเป็นปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก กำหนดอัตราโทษอย่างต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ 4 ปี ขึ้นไป จำนวน 4 กรรม เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงที่เป็นสาระสำคัญอันเป็นองค์ประกอบของความผิดดังกล่าว รวมทั้งการกระทำความผิดของจำเลยจะเป็นจำนวนกี่กรรมก็ต้องรับฟังเป็นยุติดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้โดยไม่ต้องฟังพยานโจทก์ที่ต้องนำสืบประกอบคำรับสารภาพในความผิดฐานดังกล่าวก่อนแต่อย่างใด
ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร จำคุก 8 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 4 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดโทษ อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 112/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ต่อสัญญาทางแพ่ง: สัญญาไม่ระงับ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าปรับได้จนถึงวันบอกเลิกสัญญา
คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดมีผลเพียงทำให้ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ป. ไม่สามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตนเองต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ดำเนินการแทน หามีผลทำให้สัญญาระหว่างโจทก์กับห้างดังกล่าวต้องสิ้นสุดหรือระงับไปด้วย โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าปรับได้จนถึงวันที่โจทก์บอกเลิกสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9775/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยานหลักฐานแน่นหนาพิสูจน์จำเลยเป็นผู้ลงมือสังหาร ผู้ตายให้การก่อนเสียชีวิตยืนยันตัวผู้กระทำผิด
แม้คำเบิกความของ ด. เป็นพยานบอกเล่า แต่ถ้อยคำของผู้ตายที่บอกกล่าวขณะรู้สึกว่าตนจะต้องถึงแก่ความตายว่าคนร้ายที่ยิงตนคือจำเลย ย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานว่าเป็นความจริงตามคำกล่าวได้ซึ่ง ด. ได้ให้การชั้นสอบสวนในวันถัดจากวันเกิดเหตุว่า ผู้ตายบอกกล่าวกับตนว่า "ไอ้ลอบยิงผมแล้ว" ซึ่งเป็นเวลาใกล้ชิดกับเหตุที่ผู้ตายถูกยิงและขณะนั้น ด. ย่อมจำเหตุการณ์ได้ดีที่สุด ส่วนที่ ด. มาเบิกความในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3731/2544 ของศาลชั้นต้นและเบิกความในคดีนี้เหตุการณ์ได้ผ่านไปประมาณ 12 ปี และ 17 ปี ตามลำดับ ความจำของ ด. อาจคลาดเคลื่อนไปบ้างแต่มีระบุชื่อจำเลยตรงกัน ไม่ปรากฏว่ามีผู้อื่นในหมู่บ้านที่เกิดเหตุชื่อเดียวกับจำเลย และจำเลยกับพี่น้องรวม 3 คน มีเรื่องทะเลาะชกต่อยกับผู้ตายประกอบกับผู้ตายถูกยิงที่แก้มด้านซ้ายในระยะห่างประมาณ 1.50 เมตร แสดงว่าคนร้ายต้องอยู่ต่อหน้าผู้ตายในระยะใกล้เชื่อว่าผู้ตายมีโอกาสเห็นจำเลยได้ชัดเจน จึงสามารถระบุชื่อจำเลยเป็นคนยิงทันที
ส่วนปัญหาว่า ช. ไปแจ้งเหตุให้ ด. ทราบหรือไม่ ไม่ใช่สาระสำคัญแต่ ช. ได้ให้การในชั้นสอบสวนในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3000/2546 ของศาลชั้นต้นเบิกความในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3731/2544 ของศาลชั้นต้นและเบิกความในคดีนี้ตรงกันตลอดมาว่า เมื่อได้ยินเสียงอาวุธปืนดัง พยานเห็นจำเลยถืออาวุธปืนสั้นเดินสวนทางมากับพยาน ทั้งตรงกับคำให้การในชั้นสอบสวนของ ด. ว่าหลังเกิดเหตุ ช. บอกพยานว่า เห็นจำเลยวิ่งถืออาวุธปืนสวนทางไป เป็นการสนับสนุนว่าพยานโจทก์ดังกล่าวเป็นพยานแวดล้อมกรณีที่ใกล้ชิดเหตุการณ์ที่มีเหตุผลรับฟัง พยานหลักฐานของจำเลยนำสืบปฏิเสธอ้างฐานที่อยู่ลอยๆ ไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาว่า จำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
of 26