คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมควร วิเชียรวรรณ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 255 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2481/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบของกลางคดีศุลกากรและการลงโทษปรับที่ถูกต้องตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย พาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ และฐานเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม และขอให้ศาลสั่งริบรถยนต์เก๋งของกลาง โดยอ้างว่าจำเลยทั้งห้าใช้รถยนต์เก๋งของกลางดังกล่าวบรรทุกบุหรี่ของกลาง เมื่อคดีนี้มิได้สืบพยานโจทก์จำเลยจึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำฟ้องและคำให้การ เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าได้ใช้รถยนต์เก๋งคันดังกล่าวซุกซ่อนขนย้ายบุหรี่ของกลางไปในลักษณะอย่างไร ทั้งรถยนต์โดยสภาพแล้วก็เป็นยานพาหนะที่บุคคลทั่วไปใช้เป็นยานพาหนะสัญจรตามธรรมดาในชีวิตประจำวัน รถยนต์เก๋งของกลางจึงมิได้เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ หรือยานพาหนะที่จำเลยทั้งห้าได้ใช้ในการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง จึงไม่อาจริบรถยนต์เก๋งของกลางตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ได้
เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดมาตราดังกล่าว มิใช่มาตรา 27 ซึ่งมาตรา 27 ทวิ เพิ่งบัญญัติขึ้นเมื่อปี 2499 ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2499 ส่วน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 32 ที่บัญญัติว่า "เรือชนิดใดๆ อันมีระวางบรรทุกไม่เกินสองร้อยห้าสิบตันก็ดี รถ เกวียน ยานพาหนะ หีบห่อ หรือภาชนะใดๆ หากได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการย้าย ซ่อนเร้นหรือขนของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือที่ต้องจำกัดหรือต้องห้าม ให้ริบเสียทั้งสิ้น" ย่อมเป็นบทบัญญัติที่เป็นการระบุให้ริบทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายศุลกากรซึ่งใช้ในขณะนั้น ซึ่งมิได้รวมถึงความผิดตามมาตรา 27 ทวิด้วยแต่อย่างใด รถยนต์เก๋งของกลางในคดีนี้จึงจะริบตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 32 ไม่ได้เช่นกัน
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ กำหนดให้ลงโทษปรับแก่ผู้กระทำความผิดเป็นสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ซึ่งแม้จะมิได้บัญญัติความเจาะจงลงไปว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเช่นเดียวกับมาตรา 27 ก็ตาม แต่มาตรา 27 ทวิ เป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27 ดังนั้น ในเรื่องโทษนี้ก็ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ นั่นเอง ไม่ใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่าๆ กัน การที่ศาลลงโทษปรับจำเลยทั้งห้าเรียงตัวคนละสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วจึงเป็นการปรับจำเลยทั้งห้าสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ เกินกว่าสี่เท่า ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1842/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์ประกอบความผิด พ.ร.บ.เช็ค: ต้องมีการยื่นเช็คและธนาคารปฏิเสธการใช้เงิน
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จะเห็นได้ว่า ข้อความที่ว่า "ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด ฯลฯ" จึงเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 เกิดขึ้น แต่ตามฟ้องโจทก์ไม่มีคำบรรยายให้ฟังได้ว่า โจทก์ยื่นเช็คฉบับที่ 2 ถึงที่ 10 เพื่อให้ธนาคารใช้เงินตามเช็คและธนาคารปฏิเสธการใช้เงินแต่ประการใด ทั้งมิได้อ้างใบคืนเช็คฉบับที่ 2 ถึงที่ 10 แนบมาท้ายฟ้องเป็นหลักฐานอันจะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของฟ้องแต่อย่างใด ตามฟ้องโจทก์ที่บรรยายว่า เมื่อเช็คฉบับแรกถึงกำหนดเรียกเก็บเงิน โจทก์นำเช็คฉบับดังกล่าวเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ให้เหตุผลว่าบัญชีปิดแล้วนั้น ก็เป็นวันที่เกิดการกระทำความผิดในการออกเช็คฉบับแรกฉบับเดียว ในวันดังกล่าวเช็คฉบับที่ 2 ถึงที่ 10 ยังไม่ถึงกำหนดชำระและโจทก์มิได้ยื่นเช็คเพื่อเรียกเก็บ ซึ่งหากธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 จึงมิใช่วันที่จำเลยกระทำความผิดตามเช็คฉบับที่ 2 ถึงที่ 10 จึงขาดองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพก็ไม่อาจฟังลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215, 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1578/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพ: ผู้เผยแพร่ผ่านเคเบิลทีวีไม่ใช่ผู้ละเมิดโดยตรง
การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29 นั้น ผู้กระทำต้องเป็นผู้นำงานแพร่เสียงแพร่ภาพอันมีลิขสิทธิ์ที่รับสัญญาณมาส่งเผยแพร่ต่อสาธารณชนไปในทันทีโดยไม่มีการบันทึกรายการไว้ก่อนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือบันทึกงานแพร่เสียงแพร่ภาพนั้นไว้แล้วนำไปแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำในภายหลัง หรือเมื่อรับสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพดังกล่าวแล้วได้แพร่เสียงแพร่ภาพนั้นให้ประชาชนรับฟังหรือรับชมโดยตรง ณ สถานที่รับสัญญาณนั้นในทันที โดยเรียกเก็บเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่นในทางการค้า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ผู้ที่รับสัญญาณแพร่เสียงแพร่ภาพรายการ Living Asia Channel อันเป็นลิขสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสองจากการถ่ายทอดสัญญาณผ่านดาวเทียมมาแล้วได้ส่งผ่านรายการของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวผ่านสายเคเบิลไปยังสมาชิกให้ได้รับชมคือ บริษัท ร. และบริษัท ด. มิใช่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นผู้กระทำการดังกล่าวเพราะบริษัททั้งสองเป็นผู้นำงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการ Living Asia Channel ของโจทก์ทั้งสองไปเผยแพร่ต่อสมาชิกผู้ชมรายการในระบบเคเบิลทีวีโดยมีการเรียกเก็บค่าเช่าเป็นการตอบแทน ตามพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เป็นผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ หรือใช้บริษัททั้งสองดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการละเมิดลิขสิทธิ์งานแพร่เสียงแพร่ภาพของโจทก์ทั้งสองอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ดังที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์เพราะมาตราดังกล่าวมุ่งประสงค์เอาผิดแก่ผู้กระทำการตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 29 โดยตรงเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 926/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขืนกระทำชำเรา: พยานหลักฐานเพียงพอ, ฟ้องไม่เคลือบคลุม, ความร่วมมือในการกระทำผิด
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งห้ากับพวกร่วมกันข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งมิใช่ภริยาของจำเลยทั้งห้ากับพวกโดยร่วมกันใช้กำลังประทุษร้าย กอดปล้ำชกต่อยท้องผู้เสียหาย 2 ครั้ง และช่วยกันจับแขนขาของผู้เสียหาย โดยผู้เสียหายไม่สามารถขัดขืนได้ และผลัดเปลี่ยนกันข่มขืนกระทำชำเราอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิง แม้ไม่ได้บรรยายรายละเอียดว่า จำเลยที่ 5 กระทำการอย่างใดบ้างแต่ก็ถือว่าโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยที่ 5 ได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยที่ 5 เข้าใจข้อหาได้ดีตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 342/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กหญิงอายุเกิน 13 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี โดยความยินยอม และการสมรสเพื่อเลี่ยงโทษทางอาญา
ฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยไม่ยินยอม ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงในสำนวนเช่นนั้น จึงต้องฟังเป็นคุณแก่จำเลยว่าจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอม ดังนั้น เมื่อจำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายขณะผู้เสียหายอายุกว่าสิบสามปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี โดยผู้เสียหายยินยอม ย่อมเป็นกรณีตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคท้าย ที่ใช้บังคับในขณะเกิดเหตุ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายว่า ในกรณีชายและเด็กหญิงมีอายุไม่ครบสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ ยังไม่อาจที่จะสมรสกัน หากจะสมรสกันต้องมีคำสั่งศาลอนุญาตให้ทำการสมรสได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1448 และมีผลทำให้ชายผู้กระทำความผิดในคดีอาญานั้นไม่ต้องรับโทษ คดีนี้ได้ความว่าขณะที่จำเลยและผู้เสียหายจดทะเบียนสมรสกัน ทั้งจำเลยและผู้เสียหายมีอายุเกินสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว จำเลยและผู้เสียหายย่อมจดทะเบียนสมรสกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1448 โดยไม่ต้องรับอนุญาตจากศาลก่อน อย่างไรก็ตาม จำเลยกับผู้เสียหายเพิ่งจดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553 เพราะเห็นว่าจะได้ลดโทษลงและตกลงกันว่าจะจดทะเบียนหย่ากันภายหลังที่ศาลพิพากษาแล้ว เช่นนี้ ย่อมถือไม่ได้ว่าทั้งสองฝ่ายมีเจตนาที่แท้จริงที่จะจดทะเบียนสมรสกันอันจะมีผลตามกฎหมายทำให้จำเลยไม่ต้องรับโทษตามนัยแห่ง ป.อ. มาตรา 277 วรรคท้ายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11654/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: ฆ่าและพยายามลักทรัพย์ ศาลฎีกาลงโทษตามบทที่มีโทษหนักที่สุด
จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายและฐานพยายามลักทรัพย์ จำเลยมีเจตนาประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้ตายเพียงอย่างเดียว จึงเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 289 (7) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว ตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลล่างทั้งสองเรียงกระทงลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 91 เป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้แม้คู่ความมิได้ฎีกา แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ให้ลงโทษจำเลย ป.อ. มาตรา 289 (7) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11484/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์ของเจ้าของลิขสิทธิ์ร่วม และผลของการมีคำพิพากษาในคดีก่อน
สัญญาร่วมลิขสิทธิ์เพลงระหว่างโจทก์และ ศ. เป็นเรื่อง ศ. ตกลงให้โจทก์มีลิขสิทธิ์ร่วมกับ ศ. ในบทเพลงที่ ศ. มีลิขสิทธิ์อยู่ มิใช่ขายขาดให้โจทก์แต่เพียงผู้เดียวมีลิขสิทธิ์ในบทเพลงดังกล่าว ทั้งโจทก์และ ศ. จึงต่างก็เป็นเจ้าของและเป็นผู้เสียหายซึ่งมีอำนาจฟ้องผู้ละเมิดลิขสิทธิ์ในบทเพลงอันมีลิขสิทธิ์ร่วมกัน การตกลงให้โจทก์แต่ผู้เดียวเป็นผู้ดำเนินคดีแก่บุคคลภายนอกเกี่ยวกับลิขสิทธิ์บทเพลงเป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับ ศ. จะไปว่ากล่าวกันเองตามสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวไม่อาจนำมาตัดสิทธิ ศ. ไม่ให้ฟ้องผู้ละเมิดลิขสิทธิ์บทเพลงของตนอันเป็นการใช้สิทธิของผู้เสียหายตามกฎหมาย ศ. จึงชอบที่จะฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้หากเห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ละเมิดลิขสิทธิ์ของตน และเมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ถูก ศ. ฟ้องในเหตุอันเดียวกันกับเหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในคดีนี้จนศาลมีคำพิพากษาแล้ว ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องในคดีดังกล่าวแล้ว ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงระงับไป แม้คดีที่ ศ. ฟ้องยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาก็ตาม เพราะการมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) มิได้หมายความเฉพาะการมีคำพิพากษาในคดีซึ่งถึงที่สุดแล้วเท่านั้น แต่หมายถึงการมีคำพิพากษาในคดีของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางด้วย คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลดังกล่าวจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11411/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งออกหมายจับ/ค้นในชั้นสอบสวน ไม่เปิดอุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ผู้ต้องหาใช้สิทธิฟ้องดำเนินคดีกับผู้ร้องได้
การออกหมายจับและหมายค้นในชั้นสอบสวน เป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งเพื่อให้การสอบสวนดำเนินไปได้ แม้พนักงานสอบสวนจะต้องมาร้องขอต่อศาลชั้นต้นเพื่อขอให้ออกหมายจับและหมายค้น แต่ก็ยังไม่ใช่เรื่องที่ฟ้องเป็นคดีมาถึงศาล เมื่อศาลชั้นต้นเห็นสมควรสั่งประการใดแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายประสงค์จะให้อุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 หากผู้ร้องอ้างข้อมูลอันเป็นเท็จ ผู้ต้องหาก็มีสิทธิ์ที่จะดำเนินการแก่ผู้ร้องตามที่เห็นสมควรเป็นกรณีต่างหากได้ ผู้ต้องหาจึงไม่อาจอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ต้องหาที่ให้เพิกถอนหมายจับและหมายค้นในชั้นสอบสวน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10976/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ วิ่งราวทรัพย์ vs. ลักทรัพย์: การฉกฉวยทรัพย์โดยผู้เสียหายรู้สึกตัวเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์
ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์เป็นการลักทรัพย์โดยการฉกฉวยเอาซึ่งหน้า หมายถึง กิริยาที่หยิบหรือจับเอาทรัพย์ไปโดยเร็วรวมเป็นการกระทำอันเดียวกับการเอาไป และขณะที่ถูกเอาทรัพย์ไปผู้นั้นรู้สึกตัวหรือเห็นการฉกฉวยเอาทรัพย์นั้นไปด้วย การที่จำเลยดึงเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่จากกระเป๋ากางเกงของเด็กหญิง บ. แล้วเด็กหญิง บ. รู้สึกถึงการถูกดึงจึงใช้มือจับจนถูกมือของจำเลย จึงอยู่ในความหมายของการลักทรัพย์โดยการฉกฉวยเอาซึ่งหน้าอันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตามฟ้องแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10911/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานนำเข้าของต้องห้ามโดยไม่เสียภาษี: การฟ้องซ้ำซ้อนและการคุ้มกันตามกฎหมายศุลกากร
การกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมาเป็นการกระทำในวันเวลาเดียวกันโดยเป็นการร่วมกันนำหรือพาเอาของต้องห้ามต้องจำกัดเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากรและค่าภาษีศุลกากร และร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำหรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งของต้องห้ามต้องจำกัดดังกล่าวอันเป็นของจำนวนเดียวกัน โดยรู้อยู่ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงค่าอากร ซึ่งโจทก์มีคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองหลายกรรมต่างกันในความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 และมาตรา 27 ทวิ นั้น การกระทำของจำเลยทั้งสองตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยทั้งสองรับสารภาพนั้นมีลักษณะเป็นการกระทำผิดต่อเนื่องกันในคราวเดียวกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองกรณีนี้เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 หรือ มาตรา 27 ทวิ เพียงฐานใดฐานหนึ่งเท่านั้น โดยสภาพของการกระทำความผิดในคราวเดียวกัน กรณีไม่อาจเป็นความผิดทั้งสองฐานซึ่งเป็นความผิดสองกระทง เมื่อปรากฏว่าคำสั่งงดการฟ้องร้องของอธิบดีกรมศุลกากรมีผลเป็นการคุ้มกันจำเลยทั้งสองที่จะถูกฟ้องร้องในกรณีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว และกรณีเป็นเรื่องจำเลยทั้งสองกระทำความผิดในคราวเดียวกัน โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ได้อีก
of 26