คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 386

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 888 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3090/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกสัญญาเช่าโดยความยินยอม และการเรียกร้องค่าเสียหาย/ค่าซ่อมแซมจากผู้เช่าเมื่อสัญญาเลิก
หนังสือที่จำเลยมีถึงโจทก์แจ้งว่า โจทก์ทราบว่าจำเลยย้ายออกจากพื้นที่เช่าจึงขอคืนพื้นที่จอดรถ ใบส่งโทรสารของโจทก์ถึงจำเลยเกี่ยวกับพื้นที่จอดรถ และหนังสือที่โจทก์คืนเงินค่าหมายเลขโทรศัพท์ให้แก่จำเลย แม้จำเลยมิได้อ้างไว้ในบัญชีระบุพยาน ซึ่งฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา 88 แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานดังกล่าวอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีศาลฎีกามีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานนั้นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2)
เอกสารที่จำเลยไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารนั้นให้แก่โจทก์ เป็นเอกสารโต้ตอบระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งต่างฝ่ายต่างทราบดีอยู่แล้วถึงความมีอยู่และความแท้จริงแห่งเอกสารนั้นแล้ว จึงไม่จำต้องส่งสำเนาให้โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 วรรคสาม (1)
จำเลยไม่เสียค่าอ้างเอกสาร เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยจงใจฝ่าฝืนไม่เสีย ประกอบกับศาลมีอำนาจพิจารณาพิพากษาเพื่อความเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่ายย่อมไม่ควรยกเป็นเหตุไม่รับฟังเอกสารดังกล่าวนั้น ศาลจึงมีอำนาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้
ป.พ.พ. มาตรา 386 ให้สิทธิคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งมีสิทธิบอกเลิกสัญญาตามข้อสัญญาหรือตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ นอกจากนี้คู่สัญญาอาจตกลงเลิกสัญญากันเองภายหลังทำสัญญาก็ได้ ซึ่งอาจตกลงเลิกสัญญากันโดยชัดแจ้งหรือถือว่าสัญญาเลิกกันโดยปริยายก็ได้ และการบอกเลิกสัญญาโดยปริยายไม่มีกฎหมายบังคับไว้ว่าจะต้องบอกเลิกสัญญาเป็นหนังสือ แต่ต้องทำโดยแสดงเจตนาแก่อีกฝ่ายหนึ่ง แม้ตามสัญญาเช่าระหว่างโจทก์กับจำเลยจะให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเพียงฝ่ายเดียว โดยจำเลยไม่สามารถบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดสัญญาก็ตาม แต่การที่ ธ. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยเคยแจ้งให้โจทก์ทราบทางจดหมายว่าจะไม่เช่าพื้นที่ทั้งหมดและจะย้ายออกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2539 โจทก์ทราบว่าจำเลยได้ขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารออกสถานที่เช่า ทั้งจำเลยซ่อมแซมพื้นที่เช่าไปด้วย โจทก์ไม่ได้โต้แย้ง โจทก์ไม่ได้ให้บริการแก่จำเลยตั้งแต่เดือนธันวาคม 2540 และจำเลยมีหนังสือถึงโจทก์เพื่อคืนกุญแจห้องและสถานที่จอดรถตั้งแต่เดือนธันวาคม 2539 ในเดือนพฤศจิกายน 2540 จำเลยว่าจ้างบริษัท ท. มาปรับปรุงอาคารที่เช่าเพื่อส่งมอบคืนแก่โจทก์ โจทก์ตอบกลับว่างานที่ปรับปรุงยังมีความบกพร่องต้องแก้ไข ทั้งโจทก์คืนเงินมัดจำค่าโทรศัพท์ให้จำเลย 2 ครั้ง ดังนั้นเมื่อจำเลยทำคำเสนอแสดงเจตนาขอเลิกสัญญาเช่ากับโจทก์และโจทก์ทำคำสนองรับด้วยพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์จำเลยว่าต่างสมัครใจที่จะเลิกสัญญาเช่าและสัญญาให้บริการต่อกันโดยปริยายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2507/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบอกเลิกสัญญาตัวแทนจำหน่าย สัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม การพิสูจน์เหตุบอกเลิกสัญญา
สัญญาตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ ข้อ 11.3 กำหนดเพียงว่า จำเลยมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ โดยการบอกกล่าวให้โจทก์ทราบเป็นหนังสือล่วงหน้า 90 วัน และจะมีผลเป็นการเลิกสัญญาเมื่อครบกำหนด 90 วัน นับแต่ได้รับการบอกกล่าวแล้วเท่านั้น หาได้กำหนดเงื่อนไขหรือเหตุที่จะทำให้มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแต่อย่างใดไม่ และข้อ 11.2 ยังกำหนดให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยเช่นเดียวกับตามสัญญาข้อ 11.3 เหมือนกัน ข้อตกลงดังกล่าวเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมฯ มาตรา 4 หรือไม่ ต้องยึดหลักเกณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 4 วรรคสาม ว่าเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์หรือไม่ เช่น เป็นข้อตกลงให้ต้องรับผิดหรือรับภาระมากกว่าที่กฎหมายกำหนด หรือเป็นข้อตกลงให้สัญญาสิ้นสุดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือให้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้โดยอีกฝ่ายหนึ่งมิได้ผิดสัญญาในข้อสาระสำคัญ เป็นต้น โจทก์จึงไม่ได้ตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบหรือจำยอมก่อนจะเข้าทำสัญญากับจำเลยแต่อย่างใด ถือว่าการเข้าทำสัญญากับจำเลยเป็นไปด้วยความสมัครใจของโจทก์และอยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียเปรียบซึ่งกันและกัน ทั้งว่าจำเลยก็ได้นำสืบถึงสาเหตุแห่งการบอกเลิกสัญญา จะถือว่าจำเลยบอกเลิกสัญญาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร หรือบอกเลิกสัญญาโดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำด้วยประการใดๆ ที่เป็นการผิดสัญญาหรือผิดข้อตกลงตามสัญญาไม่ได้ ข้อตกลงข้อ 11.3 จึงไม่เป็นข้อตกลงที่มีลักษณะหรือมีผลให้โจทก์ปฏิบัติ หรือรับภาระเกินกว่าที่วิญญูชนจะพึงคาดหมายได้ตามปกติ หรือเป็นข้อตกลงที่อาจถือได้ว่าทำให้จำเลยได้เปรียบโจทก์ จึงไม่เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1202/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เลิกสัญญาซื้อขายบ้าน - การคืนสิทธิไทม์แชร์และเงินมัดจำ - การกลับคืนสู่ฐานะเดิม
จำเลยที่ 1 ให้การเพียงว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ดำเนินการปลูกบ้านตามแบบที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันตลอดมา แต่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อจำเลยที่ 1 โดยไม่ยินยอมชำระเงินตามงวดที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงกันเท่านั้น มิได้ให้การถึงว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาเพราะมิได้ดำเนินการโอนสิทธิใดๆ หรือได้ชำระเงินใดๆ ตามสัญญาไทม์แชร์ให้แก่จำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่า โจทก์ยังไม่ได้ทำหนังสือติดต่อไปยัง ฮ. เพื่อโอนสิทธิในสัญญาไทม์แชร์ให้แก่จำเลยที่ 1 สัญญาไทม์แชร์จะยกเลิกไม่ได้นั้น จึงเป็นการนำสืบนอกคำให้การ ไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณาต้องห้ามมิให้รับฟัง และถือว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
ข้อตกลงในการซื้อขายบ้านและที่ดินระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาอย่างหนึ่ง เมื่อโจทก์ยกเลิกการซื้อขายและจำเลยที่ 1 ได้คืนเงินมัดจำที่ได้รับไว้ตามสัญญาให้แก่โจทก์ไปแล้ว แสดงว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงยินยอมเลิกสัญญาซื้อขายที่มีอยู่ต่อกันนั้นโดยปริยาย คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง เมื่อผลของการเลิกสัญญาทำให้สิทธิตามสัญญาไทม์แชร์ที่โจทก์มอบให้แก่จำเลยที่ 1 อันเป็นส่วนหนึ่งของราคาบ้านและที่ดินที่โจทก์ต้องชำระแก่จำเลยที่ 1 ยังอยู่ที่จำเลยที่ 1 และอยู่ในวิสัยที่จำเลยที่ 1 จะส่งมอบคืนแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องรับสิทธิตามสัญญาไทม์แชร์ดังกล่าวคืนเพื่อให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมก่อนมีการซื้อบ้านและที่ดิน ดังนั้น แม้โจทก์มิได้ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 คืนสิทธิตามสัญญาไทม์แชร์ที่จำเลยที่ 1 จะต้องคืนให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาก็พิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนสิทธิตามสัญญาไทม์แชร์แก่โจทก์ได้เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติว่าด้วยการเลิกสัญญาไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องแต่ประการใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10161/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลาออกของลูกจ้างมีผลสิ้นสุดสัญญาจ้างแรงงาน แม้จำเลยให้ลูกจ้างออกจากงานก่อนกำหนดก็ไม่ถือเป็นการเลิกจ้าง
โจทก์แสดงความประสงค์ลาออกจากงานต่อจำเลยเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2545 โดยให้มีผลวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 เป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งการเลิกสัญญาจ้างแรงงานที่ไม่มีกำหนดระยะเวลานั้นนายจ้างหรือลูกจ้างมีสิทธิแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาได้แต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่จำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งยินยอมตกลงหรืออนุมัติ จึงมีผลในวันที่โจทก์แจ้งไว้ และไม่อาจถอนเจตนานั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 วรรคสอง ดังนั้น สัญญาจ้างแรงงานย่อมจะมีผลสิ้นสุดลงในวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 แม้จำเลยจะให้โจทก์ออกจากงานก่อนถึงวันดังกล่าวตามที่โจทก์ประสงค์โดยโจทก์ไม่มีความผิด ก็มีผลทำให้โจทก์เสียหายเพียงเท่าที่ไม่ได้รับค่าจ้างจนถึงวันที่โจทก์ประสงค์จะออกเท่านั้น จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างอันมีผลที่จะทำให้จำเลยต้องรับผิดจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8509/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายบ้านใหม่บกพร่อง ผู้ขายต้องแก้ไขก่อนโอนกรรมสิทธิ์ ผู้ซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้
ในการขายที่ดินพร้อมบ้านในโครงการ จำเลยได้ปลูกสร้างบ้านตัวอย่างให้ลูกค้าดู บ้านตัวอย่างจึงมีส่วนประกอบในการตัดสินใจซื้อ เชื่อว่าที่โจทก์ทั้งสองซื้อเพราะพอใจในคุณภาพการก่อสร้าง แม้วิธีการก่อสร้างบ้านที่จะส่งมอบแก่ลูกค้าอาจไม่เหมือนกับการสร้างบ้านตัวอย่างไปบ้างดังเช่นการเปลี่ยนวิธีสร้างจากก่ออิฐฉาบปูนตามบ้านตัวอย่างมาเป็นการใช้วัสดุสำเร็จรูป แต่คุณภาพการก่อสร้างในส่วนอื่นก็ควรจะใกล้เคียงกับบ้านตัวอย่าง และเมื่อโจทก์ทั้งสองพบเห็นการก่อสร้างบกพร่องก็เป็นสิทธิของโจทก์ทั้งสองที่จะขอให้จำเลยแก้ไข อันเป็นเรื่องปกติที่ผู้ต้องการจะซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยย่อมต้องการบ้านที่มีคุณภาพพร้อมจะเข้าอยู่อาศัยโดยมิพักต้องมาแก้ไขอีกหลังจากที่ตนเข้าอยู่อาศัยแล้ว จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องดำเนินการให้ก่อนจะโอนกรรมสิทธิ์ แม้การแก้ไขจะทำให้จำเลยมีภาระต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นอันเป็นไปตามข้อสัญญาที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงกันให้โจทก์ทั้งสองมีโอกาสตรวจสอบบ้านที่จะส่งมอบก่อนที่จะมีการโอนกรรมสิทธิ์กัน ดังนี้ เมื่อจำเลยรับว่าจำเลยยังไม่แก้ไขข้อบกพร่องให้โจทก์ทั้งสองเท่ากับยังมิได้ปฏิบัติการชำระหนี้ของตนให้ครบ จำเลยทั้งสองจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะเรียกให้โจทก์ทั้งสองรับโอนกรรมสิทธิ์บ้านและที่ดินตามสัญญา โจทก์ทั้งสองชอบที่จะบอกเลิกสัญญากับจำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8331/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตอำนาจตัวแทน & เลิกสัญญาเช่าซื้อโดยปริยาย: การบังคับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกัน
เมื่อปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ ไม่ได้ระบุให้ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจช่วงได้ด้วย การที่ผู้รับมอบอำนาจมอบอำนาจช่วงจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์ ทั้งขณะที่ผู้รับมอบอำนาจช่วงทำบันทึกข้อตกลงว่าโจทก์จะไม่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยนั้น ผู้รับมอบอำนาจช่วงได้มอบหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้ฝ่ายจำเลยแล้วด้วย กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะทำให้จำเลยควรเชื่อว่า ผู้รับมอบอำนาจช่วงกระทำการแทนโจทก์ภายในขอบเขตอำนาจของตัวแทนอันมีผลทำให้โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยเสมือนผู้รับมอบอำนาจช่วงเป็นตัวแทนโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 822 ประกอบ มาตรา 821
สัญญาเช่าซื้อมีข้อกำหนดว่า เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์บอกเลิกสัญญาได้ทันที แต่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์บอกเลิกสัญญา ต้องถือว่าขณะที่โจทก์ไปยึดรถที่เช่าซื้อคืน สัญญายังไม่เลิกกัน แต่เมื่อโจทก์ยึดรถคืนโดยจำเลยไม่โต้แย้งพฤติการณ์เช่นนี้ถือว่าโจทก์กับจำเลยตกลงเลิกสัญญากันโดยปริยายตั้งแต่วันยึดรถจำเลยจึงต้องรับผิดเฉพาะค่าขาดประโยชน์อันเกิดจากการใช้ทรัพย์เท่านั้น ส่วนค่าเสียหายอื่นโจทก์ไม่อาจเรียกร้องได้ เพราะกรณีนี้มิใช่การเลิกสัญญาเพราะเหตุจำเลยผิดสัญญา ส่วนที่โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โจทก์ต้องนำสืบว่าโจทก์มีสิทธิเรียกได้โดยอาศัยสิทธิใด มิฉะนั้นศาลกำหนดให้ในอัตราร้อยละ 7.5 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6239/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่า: การบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสิทธิเรียกร้องค่าเช่าค้างชำระ
จำเลยเช่าพื้นที่ชั้นล่างของอาคารจากโจทก์มีกำหนด 3 ปี โดยสัญญาเช่ามิได้มีข้อความระบุว่า จำเลยจะใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เมื่อไรก็ได้ การที่จำเลยจะบอกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนดระยะเวลาการเช่าจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 387 ถึง 389
จำเลยเพิกเฉยไม่ชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา จำเลยจึงตกเป็นผิดนัดโดยมิพักต้องเตือนตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าเช่าตามสัญญาเช่าแก่โจทก์ตามมาตรา 213 วรรคหนึ่ง โดยไม่ต้องใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระค่าเช่าที่ค้างชำระก่อนสัญญาเช่าครบกำหนดโดยมิได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา ทั้งการที่โจทก์ฟัองจำเลยก็ไม่เป็นการบอกเลิกสัญญา โจทก์จึงมีสิทธิได้รับชดใช้ค่าเสียหายเท่ากับค่าเช่าที่ค้างชำระ แม้จำเลยได้ขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่เช่าไปก่อนครบกำหนดเวลาการเช่าก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5313/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกหนี้จากการกู้ยืม และผลของการบอกเลิกสัญญา
ตามสัญญากู้ระบุว่า ผู้กู้จะชำระหนี้ทั้งหมดให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญา โดยผู้กู้ต้องชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน ทุกๆ เดือน ติดต่อกันภายในวันที่สิ้นสุดของเดือน ถ้าผู้กู้ผิดนัดข้อหนึ่งข้อใด หรือส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งสัญญานี้ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ผู้กู้ยอมให้ผู้ให้กู้เรียกหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันที แต่ตามสัญญาข้อต่อไประบุว่า เมื่อสัญญานี้ครบกำหนดหากผู้ให้กู้หรือผู้กู้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้บอกเลิกสัญญานี้ให้ถือว่าสัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละ 1 ปี ตลอดไป โดยมีเงื่อนไขและข้อตกลงเดิมทุกประการจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะได้บอกเลิกสัญญา และหากผู้ให้กู้บอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ตาม ผู้กู้จะต้องชำระหนี้ทั้งหมดในทันที แสดงให้เห็นว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนาที่จะให้สัญญาสิ้นสุดลงในทันทีที่ครบกำหนดในแต่ละปี แต่ถือเอาการบอกเลิกสัญญาของแต่ละฝ่ายเป็นสำคัญ การที่ผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยตามกำหนดตามสัญญา คงมีผลทำให้ผู้ให้กู้มีสิทธิที่จะถือว่าผู้กู้ผิดนัดทั้งหมด และเรียกหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันทีตามสัญญาเท่านั้น แต่ตราบใดที่ผู้ให้กู้ยังมิได้บอกเลิกสัญญาและเรียกให้ผู้กู้ชำระหนี้ทั้งหมด สัญญากู้ก็ยังมีผลต่อไป คู่สัญญาต้องผูกพันกันตามสัญญาดังกล่าว
โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวลงวันที่ 27 มกราคม 2538 ให้จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ภายใน 7 วัน เป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือบอกกล่าวของโจทก์เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2538 จึงมีผลให้สัญญาเลิกกันในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2538 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 จำเลยที่ 1 ต้องชำระต้นเงินแก่โจทก์ในวันดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ โจทก์ย่อมใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินแก่โจทก์ได้นับแต่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2538 เป็นต้นไป ซึ่งจะครบกำหนด 10 ปี ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2548 โจทก์ยื่นฟ้องคดีเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2546 ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจใช้สิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์สำหรับต้นเงินจึงไม่ขาดอายุความ
ป.พ.พ. มาตรา 193/33 บัญญัติว่า "สิทธิเรียกร้องดังต่อไปนี้มีกำหนดอายุความ 5 ปี (1) ดอกเบี้ยค้างชำระ" จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2534 จำนวน 28.99 บาท โจทก์นำไปหักชำระดอกเบี้ยก่อน คงมีดอกเบี้ยค้างชำระจำนวน 212.91 บาท ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ต้นเงินจำนวน 19,361.41 บาท จำเลยที่ 1 ต้องชำระดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นไป แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ตลอดมา โจทก์สามารถบังคับให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ได้นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นไป ตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 นับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันฟ้อง ดังนั้น ฟ้องโจทก์ในส่วนดอกเบี้ยที่มีกำหนดเกินกว่า 5 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปย่อมขาดอายุความแล้ว จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระดอกเบี้ยค้างชำระเพียง 5 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5313/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีสัญญาเงินกู้ การบอกเลิกสัญญา และดอกเบี้ยค้างชำระ
ตามสัญญากู้เงินระบุว่า เมื่อสัญญาครบกำหนดหากผู้ให้กู้หรือผู้กู้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมิได้บอกเลิกสัญญานี้ให้ถือว่าสัญญาฉบับนี้มีผลใช้บังคับต่อไปอีกคราวละ 1 ปี ตลอดไป แสดงให้เห็นว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนาที่จะให้สัญญาสิ้นสุดลงในทันทีที่สัญญาครบกำหนดในแต่ละปี แต่ถือเอาการบอกเลิกสัญญาของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายเป็นสำคัญ การที่ผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระดอกเบี้ยตามกำหนดตามสัญญา คงมีผลทำให้ผู้ให้กู้มีสิทธิที่จะถือว่าผู้กู้ผิดนัดทั้งหมด และเรียกหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันทีตามสัญญาเท่านั้น แต่ตราบใดที่ผู้ให้กู้ยังมิได้บอกเลิกสัญญาและเรียกให้ผู้กู้ชำระหนี้ทั้งหมด สัญญากู้ยังมีผลต่อไป เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระต้นเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ภายใน 7 วัน ถือเป็นการแสดงเจตนาบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 1 มีผลให้สัญญาเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 386 และเริ่มนับอายุความเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว
จำเลยที่ 1 มีดอกเบี้ยค้างชำระนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2534 เป็นต้นมาตามคำฟ้องของโจทก์ระบุว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงวันฟ้อง ดังนั้น ฟ้องโจทก์ในส่วนดอกเบี้ยที่มีกำหนดเกินกว่า 5 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไปย่อมขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1) จำเลยที่ 1 จึงต้องชำระดอกเบี้ยค้างชำระเพียง 5 ปี นับแต่วันฟ้องย้อนหลังขึ้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2409/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาจะซื้อจะขาย และการบอกเลิกสัญญาเมื่อผู้โอนสิทธิไม่ชำระหนี้
การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายโครงการ ก. ให้แก่จำเลยที่ 2 โดยในข้อ 7.2 มีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ตกลงและยอมรับโอนไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายที่จำเลยที่ 1 มีต่อลูกค้าเฉพาะรายที่ได้จองหรือซื้อที่ดินและ/หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในโครงการแต่ยังมิได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินดังกล่าวนั้นจากจำเลยที่ 1 เป็นการโอนสิทธิเรียกร้อง เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นลูกค้าที่ซื้อที่ดินจากจำเลยที่ 1 แต่ยังไม่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ได้ทราบถึงการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 แล้วมิได้โต้แย้งคัดค้าน ทั้งยังมีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่โจทก์ทำกับจำเลยที่ 1 อีกด้วย จึงต้องถือว่าโจทก์ให้ความยินยอมในการโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นหนังสือและยอมให้จำเลยที่ 2 ผูกพันตนในอันที่จะปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแทนจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 2 จึงต้องรับโอนไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่มีต่อโจทก์แทนจำเลยที่ 1 โจทก์จึงมีสิทธิบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 2 ได้ การที่โจทก์ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายโดยไม่ยอมเข้าทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับจำเลยที่ 2 เป็นการใช้สิทธิที่มีอยู่ตามปกติหาเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายเลิกกันจำเลยที่ 2 มีหน้าที่ต้องคืนเงินที่จำเลยที่ 1 ได้รับพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์นับแต่เวลาที่รับไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391
เมื่อจำเลยที่ 2 ได้รับโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแทนจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินต่อโจทก์ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
of 89