คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 386

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 888 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2684/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างบริการขนส่ง: การผิดสัญญา, อายุความ 10 ปี, และขอบเขตความรับผิด
ตามสัญญาจ้างบริการขนส่งสิ่งอุปกรณ์ (ยุทโธปกรณ์ทางทหาร) ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 1 ที่ให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจัดบริการขนส่งสิ่งอุปกรณ์มาส่งมอบให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ในข้อ 17 ระบุว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 เห็นว่า จำเลยที่ 1 ไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการรับจัดบริการขนส่ง เป็นต้นว่า ไม่สามารถที่จะควบคุมสั่งการประสานงานกับตัวแทนจัดการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ โจทก์ที่ 1 มีอำนาจบอกเลิกสัญญาได้ ข้อตกลงดังกล่าวกำหนดให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องควบคุมสั่งการประสานงานกับตัวแทนจัดการขนส่งให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การที่จำเลยที่ 1 ขัดแย้งกับตัวแทนจัดการขนส่งถึงขนาดบอกเลิกการเป็นตัวแทนจัดการขนส่งสิ่งอุปกรณ์อีกต่อไปและทำให้ตัวแทนจัดการขนส่งกักสิ่งอุปกรณ์ที่โจทก์ที่ 1 ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการจัดบริการขนส่งไว้นั้น ต้องด้วยกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถควบคุมตัวแทนจัดการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพอันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาจ้างบริการขนส่งสิ่งอุปกรณ์ ข้อ 17 ดังกล่าวแล้ว โจทก์ที่ 1 จึงใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 เพราะเหตุจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยไม่สามารถจัดการขนส่งสิ่งอุปกรณ์ให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสี่เสียหายในการดำเนินการจัดส่งคณะผู้แทนและทนายความของโจทก์ที่ 1 ไปประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อติดตามเอาคืนสิ่งอุปกรณ์ที่ถูกกักเก็บโดยตัวแทนจัดการขนส่งของจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนำสิ่งอุปกรณ์ออกจากโกดังของตัวแทนจัดการขนส่งดังกล่าวที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อส่งมายังประเทศไทย รวมทั้งความเสียหายเนื่องจากสิ่งอุปกรณ์บุบสลายและสูญหาย อันสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 ไม่สามารถจัดการขนส่งให้ได้ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องเรียกค่าเสียหายอันเนื่องจากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างบริการขนส่งสิ่งอุปกรณ์ ซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ มิใช่กรณีฟ้องผู้ขนส่งให้รับผิดในกรณีที่ดำเนินการขนส่งสินค้าแล้วสินค้าสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งชักช้าในระหว่างการขนส่งซึ่งอยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี นับแต่ส่งมอบหรือวันที่ควรจะได้ส่งมอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 624 สิทธิเรียกร้องของโจทก์ทั้งสี่จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 437/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินและบ้านสร้างเสร็จ การปรับราคา และการผิดสัญญา
แม้แผ่นพับโฆษณาของบริษัทจำเลยจะมีข้อความและเงื่อนไขโครงการระบุว่าขายบ้านพร้อมที่ดิน แต่โจทก์จองซื้อที่ดินกับจำเลยก่อนยังไม่มีการปลูกสร้างบ้าน โดยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน มีการชำระเงินในวันทำสัญญาและแบ่งชำระเงินมัดจำอีก20 งวด ซึ่งเงินส่วนที่เหลือโจทก์จะชำระในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ ซึ่งในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินระบุว่า รูปแบบ แปลน วัสดุ อุปกรณ์และรายละเอียดของบ้านพักอาศัยที่ผู้จะซื้อจะปลูกสร้างบนที่ดินก็ดี ตำแหน่งของบ้านก็ดี จะต้องให้ผู้จะขายให้ความยินยอมและเห็นชอบด้วย เพื่อทัศนียภาพที่สวยงามและความเป็นระเบียบเรียบร้อย และผู้จะซื้อเฉพาะที่ดินให้คำมั่นว่าจะทำสัญญาปลูกสร้างบ้านให้เรียบร้อยภายใน 12 เดือน หากผู้จะซื้อผิดเงื่อนไขผู้จะขายมีสิทธิเลิกสัญญาและคืนเงินให้ผู้จะซื้อครึ่งหนึ่งของเงินที่ชำระมาทั้งหมดซึ่งข้อสัญญาดังกล่าวมิได้ห้ามโจทก์ผู้จะซื้อในการว่าจ้างผู้อื่นให้ปลูกบ้านแต่กลับให้สิทธิโจทก์ที่จะว่าจ้างผู้อื่นปลูกสร้างบ้านภายใน 12 เดือน ตามแบบบ้านที่จำเลยกำหนด ส่วนข้อสัญญาที่ระบุว่าสัญญาจ้างก่อสร้างบ้านพักอาศัยเกี่ยวพันกับสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินซึ่งจะแยกจากกันไม่ได้นั้น ก็ใช้บังคับในกรณีที่โจทก์ทำสัญญาว่าจ้างจำเลยให้ปลูกบ้านบนที่ดินที่ซื้อขายเท่านั้นจึงจะถือว่าแยกจากกันไม่ได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ยังไม่ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยปลูกสร้างบ้าน สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินกับสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านจึงแยกจากกันทำคนละฉบับก็ได้ส่วนที่ต่อมาโจทก์จ้างจำเลยให้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินที่จะซื้อตามตารางราคาและการชำระเงินที่จำเลยมอบให้แก่โจทก์ในวันจองนั้น เอกสารดังกล่าวระบุหมายเหตุว่าราคานี้อาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ดังนั้นราคาในเอกสารดังกล่าวจึงเป็นราคาที่กำหนดโดยมีเงื่อนไข เพราะราคาบ้านย่อมขึ้นอยู่กับราคาวัสดุอุปกรณ์ตลอดจนค่าแรงงานและสถานการณ์ขณะนั้น ซึ่งโจทก์จะได้ราคาค่าปลูกบ้านตามเอกสารดังกล่าว โจทก์จะต้องตกลงทำสัญญากับจำเลยก่อนที่จะมีการปรับราคาค่าปลูกสร้างเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้ โจทก์จึงไม่อาจยกเอาการที่จำเลยปรับราคาค่าปลูกบ้านเพิ่มขึ้นมาเป็นเหตุไม่ปฏิบัติตามสัญญาหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ไม่ชำระราคาที่ดินตามที่ตกลงกันไว้ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา การที่จำเลยใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินที่ชำระมาแล้วนั้น จึงเป็นการปฏิบัติตามสิทธิและข้อตกลงในสัญญาโดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 185/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความค่าเช่าและค่าใช้จ่ายส่วนกลาง, ผลของสัญญาจองสิทธิการเช่า, และผลของการตกลงยกเลิกสัญญา
ทรัพย์สินที่โจทก์ให้จำเลยได้สิทธิเป็นผู้เช่าเป็นร้านค้าเพื่อใช้เป็นที่ประกอบการค้า จึงเป็นการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/33(3) มีอายุความ 5 ปี ส่วนค่าภาษีและค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายอื่นที่โจทก์ได้จัดขึ้นเพื่อรักษาความปลอดภัย รักษาความสะอาด ไอเย็น แสงสว่าง สิ่งอื่นใดเพื่ออำนวยความสะดวกอันเป็นส่วนกลางที่ใช้ร่วมกัน รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านการโฆษณาและส่งเสริมการขายตามสัญญาจองสิทธิการเช่าก็มีลักษณะเป็นค่าใช้จ่ายอันเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่า จึงมีอายุความเช่นเดียวกับค่าเช่าทรัพย์สินที่ค้างชำระตามมาตรา 193/33(3) กรณีมิใช่โจทก์เป็นผู้ประกอบธุรกิจในการดูแลกิจการของผู้อื่นแล้วเรียกเงินที่ได้ออกทดรองไปตามมาตรา 193/34
จำเลยให้การรับว่าได้ทำสัญญาจองสิทธิการเช่าตามฟ้องกับโจทก์จริง มิได้ปฏิเสธถึงความถูกต้องของสัญญาดังกล่าว ฉะนั้น แม้สัญญาจองสิทธิการเช่าซึ่งเป็นตราสารการเช่ามิได้ปิดอากรแสตมป์ก็รับฟังได้ ไม่ต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา 118
บันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญาจองสิทธิการเช่าระบุว่าโจทก์และจำเลยประสงค์จะยกเลิกสัญญาจองสิทธิการเช่า โดยตกลงให้โอนเงินค่าตอบแทนสิทธิการเช่าไปเป็นเงินประกันสัญญาการเช่าพื้นที่สัญญาสิทธิการได้ใช้บริการอุปกรณ์ระบบสาธารณูปโภค และสัญญาให้บริการภายในอาคารที่จะทำขึ้นต่อไป แล้วคืนเงินค่าตอบแทนสิทธิการเช่าส่วนที่เหลือแก่จำเลย จึงได้ทำบันทึกดังกล่าวและลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานต่อหน้าพยานเป็นสำคัญ แสดงว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันว่าจะต้องทำสัญญายกเลิกสัญญาจองสิทธิการเช่ากันเป็นหนังสือ เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้ลงลายมือชื่อในบันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญาจองสิทธิการเช่า ย่อมถือไม่ได้ว่าได้มีการทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแล้ว จึงไม่มีผลเป็นการเลิกสัญญาจองสิทธิการเช่าทันที

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 53/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนดและการบังคับใช้สัญญาเช่าที่ไม่ได้จดทะเบียน
สัญญาเช่าอาคารที่โจทก์ทำกับจำเลยมีกำหนดระยะเวลาเช่า 10 ปี โดยมิได้จดทะเบียนการเช่า สัญญาดังกล่าวจึงบังคับได้เพียง 3 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 538 และต้องถือว่าการเช่าใน 3 ปีแรก เป็นการเช่าที่มีกำหนดระยะเวลา การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าหลังจากเช่าไปแล้ว 1 ปีเศษ ถือว่าโจทก์ประสงค์บอกเลิกสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลา เมื่อสัญญาดังกล่าวไม่มีข้อความตอนใดให้สิทธิแก่โจทก์ในอันที่จะเลิกสัญญาได้ การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าก่อนกำหนดจึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6407/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างก่อสร้าง: การไม่ส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างเป็นเหตุให้ผู้รับจ้างบอกเลิกสัญญาได้ และผู้ว่าจ้างต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียม
สัญญาจ้างข้อ 5 ระบุว่าโจทก์ต้องเริ่มลงมือทำงานจ้าง ณ สถานที่ที่กำหนดภายในวันที่ 25 กันยายน 2533 แสดงว่าตั้งแต่วันดังกล่าว จำเลยผู้ว่าจ้างต้องเตรียมพื้นที่สำหรับก่อสร้างพร้อมที่จะส่งมอบแก่โจทก์เพื่อลงมือก่อสร้างแล้ว แม้ในสัญญาจ้างจะมิได้ระบุเรื่องการส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างไว้ก็ตาม แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าพื้นที่สำหรับก่อสร้างอยู่ในความรับผิดชอบของจำเลยหรือจำเลยมีสิทธิที่จะครอบครองดูแลหรือใช้ประโยชน์ จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างให้โจทก์ก่อน มิฉะนั้นโจทก์ย่อมไม่อาจลงมือก่อสร้างได้ เมื่อจำเลยเพิกเฉยไม่ส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างให้โจทก์จนล่วงพ้นกำหนดเวลาก่อสร้างตามสัญญา จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอก เลิกสัญญาได้ และจำเลยต้องคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคารให้โจทก์นับแต่วันที่สัญญาจ้างเลิกกันเมื่อจำเลยไม่คืน จำเลยย่อมต้องรับผิดในค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่โจทก์ต้องชำระให้แก่ธนาคาร
จำเลยฎีกาว่า โจทก์ส่งมอบงานงวดที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ล่าช้า และยังไม่รับข้อเสนอของจำเลยที่ขยายเวลาก่อสร้างให้อีก 27 วัน โจทก์จึงต้องเสียค่าปรับเป็นรายวันแก่จำเลยสำหรับระยะเวลา 27 วัน เป็นเงิน 364,500 บาท ขอให้หัก ออกจากค่าจ้างที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยเป็นข้อที่จำเลยมิได้ให้การไว้ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยฎีกาว่า จำเลยควรต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมของธนาคารให้แก่โจทก์นับแต่วันที่ศาลชั้นต้น มีคำพิพากษา มิใช่นับแต่วันฟ้อง ปรากฏว่า เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยมิได้ยกประเด็นข้อนี้ขึ้นอ้างในอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยในส่วนนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกา ไม่รับวินิจฉัย
จำเลยเสียค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกามาตามจำนวนทุนทรัพย์ 7,462,320 บาท ซึ่งจำเลยต้องใช้ให้แก่โจทก์ตามสัญญาจ้าง เอกสารหมาย จ.4 ส่วนสัญญาจ้าง เอกสารหมาย จ.2 ไม่มีค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดอีก นอกจากค่าธรรมเนียมของธนาคารปีละ 12,500 บาท นับแต่วันฟ้อง อันเป็นค่าเสียหายในอนาคต ประเด็นที่ว่าจำเลยผิดสัญญาจ้าง เอกสารหมาย จ.2 หรือไม่ จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาล เพียง 200 บาท และค่าขึ้นศาลสำหรับค่าเสียหายในอนาคตอีก 100 บาท ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ(2) และข้อ (4) ส่วนสัญญาจ้าง เอกสารหมาย จ.4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทุกข้อ ซึ่งต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาให้จำเลยทั้งหมด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 151 วรรคหนึ่ง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 300 บาท แก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5730/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการริบเงินประกันตามสัญญาเช่าเมื่อผู้เช่าผิดสัญญา และห้ามนำเงินประกันมาหักชำระค่าเสียหาย
สัญญาเช่าสิทธิขายอาหารและสิ่งพิมพ์ประจำสถานีรถไฟมีข้อความว่าถ้าผู้เช่าประพฤติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด ผู้ให้เช่ามีสิทธิที่จะเลิกสัญญาเสียได้ทันที ส่วนเงินประกันและเงินค่าเช่าที่เก็บล่วงหน้าไว้ ผู้ให้เช่าก็อาจริบเสียได้ เมื่อจำเลยผู้เช่าประพฤติผิดสัญญาเช่า โจทก์ผู้ให้เช่าจึงมีสิทธิริบเงินประกันตามสัญญาได้และไม่มีหน้าที่ต้องคืนเงินประกันแก่จำเลย กรณีไม่อาจนำเงินประกันดังกล่าวมาหักชำระค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4623/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีขาดนัด และการพิสูจน์หนี้จากเอกสารทางบัญชีบัตรเครดิต ศาลฎีกาตัดสินให้จำเลยชำระหนี้ตามยอดคงเหลือ
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205(เดิม) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในขณะฟ้องคดีนี้บัญญัติให้คู่ความเพียงแต่นำสืบพยานหลักฐานให้ศาลเห็นว่าคดีมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายเท่านั้น เมื่อจำเลยเป็นหนี้โจทก์แม้โจทก์จะอ้างส่งเอกสารเพียง 10 ฉบับและไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้จ่ายบัตรเครดิตของจำเลยครบถ้วนแต่ตามหลักฐานที่โจทก์นำส่งจำเลยได้ชำระหนี้บางส่วนเป็นจำนวนหลายครั้งให้แก่โจทก์ อีกทั้งไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าจะต้องนำหลักฐานการใช้จ่ายบัตรเครดิตมาอ้างส่งต่อศาล พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีมูลและไม่ขัดต่อกฎหมายที่จะชนะคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 205(เดิม) โดยโจทก์ไม่ต้องนำหลักฐานการใช้จ่ายบัตรเครดิตทั้งหมดอ้างส่งเป็นพยานแต่อย่างใด
สัญญาบัตรเครดิตตามฟ้องเป็นสัญญาที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา คู่สัญญาฝ่ายใดจะบอกเลิกสัญญาเมื่อใดก็ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386 โจทก์ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาให้แก่จำเลยไม่ได้และได้ประกาศหนังสือพิมพ์ระหว่างวันที่ 17ถึง 21 กรกฎาคม 2541 แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ลงประกาศ หากพ้นกำหนดให้ถือว่าบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตเป็นอันยกเลิก เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ภายในกำหนดถือได้ว่าสัญญาบัตรเครดิตเป็นอันสิ้นสุดลงตั้งแต่วันพ้นกำหนดชำระหนี้คือวันที่ 5 สิงหาคม 2541 โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปี หรืออัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์พึงเรียกเก็บได้ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นตามข้อตกลงที่ระบุไว้ในใบสมัครเป็นสมาชิกบัตรเครดิตจนถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2541 หลังจากสัญญาสิ้นสุดแล้วโจทก์จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยอีกไม่ได้ คงเรียกได้ตามอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญาอันเป็นสิทธิที่พึงได้โดยชอบมาแต่เดิมเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3379/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณบำนาญในโครงการเอื้ออาทร: จำนวนปีที่ทำงานตามข้อบังคับธนาคาร
ตามข้อบังคับว่าด้วยการแบ่งส่วนงานและการปฏิบัติงานของธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด ฉบับที่ 2 ว่าด้วยเรื่องบำเหน็จ บำนาญ กำหนดวิธีการคำนวณ "บำนาญ" ว่า ให้นำเงินเดือนเดือนสุดท้ายคูณด้วยจำนวนปีที่ทำงานแล้วหารด้วย 50 ผลลัพธ์จะเป็นบำนาญซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องจ่ายให้แก่พนักงานเป็นรายเดือนตลอดชีวิต ส่วนข้อความว่า "จำนวนปีที่ทำงาน" หมายถึง จำนวนปีที่โจทก์ได้ทำงานกับจำเลยที่ 1 จริงๆ มิได้มีความหมายให้นับรวมไปจนถึงวันที่โจทก์เกษียณอายุและพ้นจากตำแหน่งหน้าที่เมื่ออายุครบ 60 ปีด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 อนุมัติให้โจทก์ลาออกตามโครงการเอื้ออาทรน้องพี่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 แล้วโจทก์ก็ไม่ได้ทำงานกับจำเลยที่ 1 อีกต่อไป ย่อมไม่มีเวลาทำงานกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มี "ปีที่ทำงาน" ตามที่กำหนดในข้อบังคับดังกล่าว โจทก์เข้าทำงานเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2505 เมื่อนับถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 โจทก์มีอายุการทำงาน 33 ปี 8 เดือนเศษ ซึ่งตามข้อบังคับดังกล่าวให้นับอายุการทำงานเป็นเวลา 34 ปี เมื่อจำเลยที่ 1 คำนวณบำนาญโดยนำเงินเดือนเดือนสุดท้ายของโจทก์คูณด้วย 34 ซึ่งเป็นจำนวนปีที่ทำงานแล้วหารด้วย 50 จึงเป็นการคิดคำนวณบำนาญตามระเบียบของธนาคารตรงตามที่กำหนดไว้ในโครงการเอื้ออาทรน้องพี่และถูกต้องตามข้อบังคับว่าด้วยเงินบำเหน็จ บำนาญแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3035/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาขนส่ง, สัญญาต่างตอบแทน, ค่าเสียหายจากการเลิกสัญญาที่ไม่ชอบ, และประเด็นนอกฟ้อง
แม้คำให้การจะถือว่าเป็นคำคู่ความเช่นเดียวกับคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(5) แต่การพิจารณาว่าคำให้การที่จำเลยยื่นต่อศาลเป็นคำให้การที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 1(4) และ มาตรา 177 กฎหมายไม่ได้บัญญัติว่าในกรณีที่จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีเอง แต่มอบอำนาจให้ผู้อื่นดำเนินคดีแทนจำเลยจะต้องบรรยายไว้ในคำให้การด้วยว่ามอบอำนาจให้ผู้ใดดำเนินคดีแทนและต้องแสดงหลักฐานการมอบอำนาจมาพร้อมกับคำให้การด้วย เมื่อจำเลยทำคำให้การเป็นหนังสือและยื่นต่อศาลภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ และในคำให้การจำเลยได้ปฏิเสธข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งหมดโดยแสดงเหตุแห่งการปฏิเสธโดยชัดแจ้งเมื่อจำเลยเป็นนิติบุคคลซึ่งต้องมีผู้กระทำการแทนและตามใบแต่งทนายความของจำเลยระบุว่าผู้แต่งทนายความคือ "บริษัท น. โดย ร. ผู้รับมอบอำนาจจำเลย" ขอแต่งตั้งให้ว. เป็นทนายความและลงลายมือชื่อ ร. ในช่องผู้แต่งทนายความ ถือว่าจำเลยได้มอบอำนาจให้ ร. ดำเนินคดีแทนจำเลยและต่อมาจำเลยยื่นคำแถลงขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมและยื่นสำเนาเอกสาร จำเลยก็ได้ส่งสำเนาภาพถ่ายหนังสือมอบอำนาจซึ่งรับรองสำเนาถูกต้อง ร. จึงมีอำนาจลงลายมือชื่อเป็นผู้แต่งตั้ง ว. เป็นทนายความแทนจำเลย ว. ในฐานะทนายความจึงมีอำนาจทำคำให้การและลงชื่อในคำให้การยื่นต่อศาลได้
สัญญารับจ้างขนส่งระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุไว้ชัดแจ้งว่า "สัญญานี้มีกำหนดระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2540 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2541 แต่ถ้าผู้ว่าจ้างเห็นสมควร ผู้ว่าจ้างมีสิทธิบอกเลิกสัญญานี้ได้โดยทำเป็นหนังสือหรือจดหมายลงทะเบียนไปรษณีย์ตอบรับบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน" ดังนั้นสัญญานี้ย่อมเลิกกันเมื่อถึงวันที่ 31 มีนาคม 2541 โดยจำเลยไม่ต้องบอกเลิกสัญญาให้โจทก์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน กรณีที่จำเลยต้องแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าเป็นกรณีที่สัญญายังไม่สิ้นสุดแต่จำเลยเห็นสมควรเลิกสัญญาก็มีสิทธิเลิกสัญญาได้โดยต้องแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน แม้จำเลยได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาก่อนสัญญานี้สิ้นสุดลงโดยให้มีผลเป็นการเลิกสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2541ซึ่งเป็นการบอกเลิกสัญญาที่ไม่ชอบ ก็มีผลเพียงไม่ทำให้สัญญาสิ้นสุดลงในวันที่ 1 มีนาคม2541 การที่โจทก์มีหนังสือทักท้วงการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวและจำเลยมีหนังสือยินยอมให้โจทก์มีสิทธิขนส่งน้ำมันให้จำเลยต่อไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2541 อันเป็นระยะเวลาสิ้นสุดของสัญญา จึงไม่ใช่เป็นการบอกเลิกสัญญา แต่เป็นการแสดงเจตนายืนยันว่าจำเลยจะไม่ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์ต่อไปอีกเมื่อสัญญาสิ้นสุดลงในวันดังกล่าว
โจทก์มิได้ฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในเรื่องค่าเสียหาย หรือคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่าไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบอย่างไร คงฎีกาเพียงแต่ให้ศาลฎีกาพิจารณากำหนดค่าเสียหายให้โจทก์ตามฟ้อง จึงเป็นฎีกาที่เคลือบคลุมไม่ชัดแจ้ง ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2364/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างระหว่างทดลองงาน นายจ้างต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมาย แม้มีข้อตกลงในสัญญา
สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 กำหนดว่า ในระหว่างระยะเวลาทดลองงาน หากจำเลยที่ 1 เห็นว่าผลการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่เป็นที่น่าพอใจ จำเลยที่ 1 มีสิทธิยกเลิกการจ้างงานโดยไม่จำต้องแจ้งให้โจทก์ทราบล่วงหน้า และโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเงินค่าชดเชยจากจำเลยที่ 1 ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่าผลการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่เป็นที่พอใจและบอกเลิกสัญญาจ้าง จึงเป็นการเลิกจ้างตามข้อตกลงที่ระบุไว้อันเป็นการใช้สิทธิโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 386วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เป็นการเลิกจ้างโดยมีเหตุอันสมควร มิใช่การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม
สัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาทดลองงานไม่เกิน 120 วัน หมายถึง นายจ้างตกลงจ้างลูกจ้างให้ทำงานโดยมีเวลาทดลองงานไม่เกิน 120 วัน หากผ่านการทดลองงานนายจ้างจะจ้างต่อไป ถ้าไม่ผ่านการทดลองงานนายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้ ซึ่งไม่แน่นอนว่าสัญญาจ้างจะสิ้นสุดลงเมื่อใด จึงเป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสอง
การบอกเลิกสัญญาจ้างแต่เดิมบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 แต่ปัจจุบันพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ นำบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติไว้ในมาตรา 17 ซึ่งเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนนายจ้างและลูกจ้างจึงไม่มีสิทธิจะตกลงเกี่ยวกับการเลิกจ้างให้เป็นอย่างอื่นได้ การจ้างและเลิกจ้างคดีนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ แล้ว จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 ซึ่งให้เลิกสัญญาจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าไว้ 3 กรณี คือสัญญาจ้างสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาและนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากลูกจ้างกระทำผิดกรณีใดกรณีหนึ่งตามมาตรา 119และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 โดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 มิได้มีข้อยกเว้นว่าการเลิกจ้างในระหว่างทดลองงานนั้นไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เข้าทั้ง 3 กรณีดังกล่าวตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคหนึ่งและวรรคท้ายจำเลยจึงต้องบอกเลิกสัญญาจ้างเป็นหนังสือให้โจทก์ทราบในเมื่อถึงหรือก่อนจะถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวหนึ่งคราวใดเพื่อให้เป็นผลเลิกสัญญากันเมื่อถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างคราวถัดไป เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์โดยมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าจึงต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯมาตรา 17 วรรคสองและวรรคสี่
of 89