คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 17 วรรคสาม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 15 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10332/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุเลิกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ แม้รายละเอียดวันที่ผิดพลาด ก็ใช้เป็นเหตุไม่จ่ายค่าชดเชยได้
แม้หนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง ระบุเหตุผลที่เลิกจ้างไว้ประการหนึ่งว่าโจทก์ไม่ได้มาทำงานในวันที่ 22 และ 26 มีนาคม 2547 แต่ได้ลงบันทึกข้อมูลของบริษัทจำเลยว่าโจทก์มาทำงานในวันดังกล่าว ทำให้จำเลยต้องจ่ายค่าอาหารให้โจทก์วันละ 10 บาท รวม 2 วัน เป็นเงิน 20 บาท อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ในวันที่ 22 และ 26 มีนาคม 2547 ซึ่งไม่ตรงกับที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่มาทำงานในวันที่ 24 มีนาคม 2547 แต่โจทก์แก้ไขข้อมูลว่ามาทำงานในวันดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์เป็นเบี้ยขยันเดือนละ 300 บาท และค่าอาหาร วันละ 10 บาท อันเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ในวันที่ 24 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นการทุจริตต่อหน้าที่คนละวันกัน แต่ก็เป็นการระบุเรื่องโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่เป็นเหตุผลให้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างแล้ว เพียงแต่ระบุวันที่โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ผิดพลาดไปซึ่งเป็นรายละเอียดเท่านั้น จำเลยย่อมยกเหตุผลที่โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ขึ้นต่อสู้เพื่อไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6945/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นายจ้างต้องระบุเหตุผลเลิกจ้างชัดเจน หากมิได้ระบุเหตุผลตั้งแต่แรก จะไม่อาจยกเหตุภายหลังได้
จำเลยระบุพฤติกรรมของโจทก์และเหตุผลในการเลิกจ้างที่ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไว้ว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีที่ร้ายแรงเท่านั้น โดยไม่ได้ระบุว่าการกระทำของโจทก์เป็นการจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายซึ่งระบุไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและเป็นกรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (2) จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุว่าโจทก์จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหายขึ้นอ้างในคำให้การและอุทธรณ์ได้ แม้ศาลแรงงานกลางจะวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่ โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้ให้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ไว้ และมิได้ใช้คำว่า "โดยทุจริต" ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) จึงต้องใช้ความหมายคำว่า "ทุจริต" ตามพจนานุกรม คือ ความประพฤติชั่ว โกง ไม่ซื่อตรง
โจทก์ไม่เคยถูกตักเตือนมาก่อนและโจทก์เป็นลูกจ้างรายเดือน ลักษณะการจ้างมิได้ถือเอาการทำงานแต่ละวันเป็นเกณฑ์ในการจ่ายค่าจ้าง การที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่ที่ต้องทำงานในเวลาปกติ แล้วนำงานเหมาที่จำเลยให้พนักงานรับไปทำในเวลาทำงานปกติเป็นแต่เพียงการละทิ้งหน้าที่ในเวลาไม่นานนัก แม้การกระทำของโจทก์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงการทำงานปกติไปบ้างและเป็นผลให้จำเลยต้องจ่ายค่าจ้างโดยไม่ได้รับประโยชน์จากการทำงานเป็นการตอบแทนแต่ก็เป็นไปเพื่อให้จำเลยได้รับประโยชน์จากงานเหมาของตนเอง ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์กระทำการทุจริตต่อหน้าที่ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานและ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (1) แม้โจทก์จะฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย แต่จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างยังสามารถตักเตือนเป็นหนังสือได้ การกระทำของโจทก์จึงมิใช่การฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมในกรณีร้ายแรง ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์นั้นชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8077-8078/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการนำ ป.วิ.พ. มาอนุโลมใช้ในคดีแรงงาน และการรับฟังพยานนอกเหนือจากคำให้การเดิม
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 45 วรรคหนึ่ง ให้อำนาจศาลแรงงานเรียกพยานหลักฐานมาสืบได้เอง และตามข้อกำหนดศาลแรงงานว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลแรงงาน (ฉบับที่ 3) ข้อ 6 ได้กำหนดวิธีการยื่นบัญชีระบุพยานของศาลแรงงานเป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำ ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) และมาตรา 88 มาอนุโลมใช้ในการดำเนินคดีแรงงาน ส่วนบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม ใช้บังคับแก่กรณีที่นายจ้างซึ่งเป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาจ้าง หากไม่ได้ระบุเหตุผลที่อ้างว่าลูกจ้างกระทำความผิดที่จะเป็นไปตามกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 119 (1) ถึง (6) ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างให้ลูกจ้างทราบแล้ว จะยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างในภายหลังไม่ได้เท่านั้น ไม่บังคับรวมถึงการนำพยานมาเบิกความในชั้นพิจารณาคดีที่จะเกินกว่าที่พยานนั้นเคยให้ถ้อยคำในชั้นสอบสวนแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6075/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้าง, ค่าชดเชย, ข้อตกลงหลังเกษียณ, และการผิดสัญญาหลังพ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง
จำเลยทั้งสามติดต่อและตกลงรับโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 เพราะเห็นว่าโจทก์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ สามารถทำหน้าที่บริหารดูแลงานทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างงาน การเป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนีย หาใช่สาระสำคัญของสัญญาจ้างงานไม่ เพียงแต่ทำให้โจทก์ดูมีคุณสมบัติเด่นเป็นพิเศษ มีความน่าเชื่อถือและน่าไว้วางใจในการดูแลและบริหารงานมากยิ่งขึ้นเท่านั้น สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นโมฆียะกรรม ที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ในทำนองว่าการปฏิบัติหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานของโจทก์ต้องอาศัยคุณสมบัติทางวิชาชีพที่น่าเชื่อถือ คุณสมบัติทางวิชาชีพจึงเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ถือเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงเพื่อให้ศาลฎีกาฟังว่าจำเลยที่ 1 รับโจทก์เข้ามาทำงานก็เพราะเห็นว่าโจทก์เป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ไม่ใช่เพราะความรู้ความสามารถอื่น ๆ เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายว่า การเป็นเนติบัณฑิต มลรัฐแคลิฟอร์เนียหรือไม่ เป็นสาระสำคัญแห่งสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 อันจะทำให้สัญญาจ้างเป็นโมฆียะกรรมหรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
ตามหนังสือเลิกจ้างได้ระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ถึง 12 ข้อ ซึ่งพอที่จะทำให้โจทก์เข้าใจได้แล้ว โดยเฉพาะในข้อ 1 ได้ระบุไว้ว่า โจทก์ฝ่าฝืนกฎและมาตรฐานการทำงานของติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ พ.ศ.2522 ซึ่งโจทก์ได้อ่าน ยอมรับและตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 1 ข้อ 6 ข้อ 7 ข้อ 13 ข้อ 15 และข้อ 16 โดยในข้อ 7 ของกฎและมาตรฐานความประพฤติ ระบุไว้ว่าห้ามมิให้พนักงานจัดเตรียมหรือยื่นแบบการให้ถ้อยคำ คำขอหรือเอกสารอื่น ๆ อันเป็นเท็จหรือไม่ถูกต้องแก่สำนักงาน ซึ่งพอเข้าใจได้ว่าเหตุแห่งการเลิกจ้างโจทก์ประการหนึ่งมาจากการที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า โจทก์ปกปิดหรือแจ้งคุณวุฒิเกี่ยวกับเนติบัณฑิตอันเป็นเท็จนั่นเอง หนังสือเลิกจ้างดังกล่าวจึงระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้ตามมาตรา 17 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ แล้ว และการที่โจทก์สำเร็จการศึกษาปริญญาเอกวิชากฎหมายจากมหาวิทยาลัยโลโยลา จำเลยที่ 2 ที่ 3 รู้จักโจทก์มาก่อน จำเลยที่ 3 เคยชักชวนโจทก์แต่แรกแล้วให้มาร่วมทำงานกับจำเลยที่ 1 ดังนั้น การที่โจทก์เข้ารับตำแหน่งหัวหน้าแผนกทรัพย์สินทางปัญญา โดยจำเลยที่ 2 ที่ 3 ไม่เคยขอดูใบอนุญาตประกอบวิชาชีพจากโจทก์เลย ดังนี้ การที่โจทก์รับรองประวัติข้อมูลการศึกษาและประวัติการทำงานของโจทก์ว่า เป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนีย อันเป็นเท็จ แม้จะเป็นการผิดหรือฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยก็ตามก็ไม่ใช่เป็นกรณีร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (4) และเมื่อศาลแรงงานกลางได้ฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า กรณีฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชักชวนลูกความของจำเลยที่ 1 ไปใช้บริการของบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี่ ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ชักชวนพนักงานหรือลูกความของจำเลยที่ 1 ไปทำงานหรือใช้บริการสำนักกฎหมายอื่น และฟังไม่ได้ว่าโจทก์นำเอารายชื่อที่อยู่ลูกความ แฟ้มจดหมายติดต่อกับลูกความ แฟ้มความเห็นทางกฎหมาย ตัวอย่างแบบฟอร์มที่ใช้ในบริษัท จำเลยที่ 1 รายงานทางการเงินของจำเลยที่ 1 ไป ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ไม่ได้กระทำผิด จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 118 (4)
โจทก์แจ้งคุณสมบัติด้านวิชาชีพอันเป็นเท็จต่อจำเลยที่ 1 ในใบสมัครงาน และในการทำงานโจทก์ให้ข้อมูลหรือรับรองข้อมูลเกี่ยวกับคุณวุฒิด้านวิชาชีพของโจทก์เป็นเท็จ การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจ จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และถือได้ว่าโจทก์กระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยที่ 1 ชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า แต่จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์มิได้มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 จำเลยที่ 1 จึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ตามฟ้อง
ตามใบสมัครงานตอนท้ายมีข้อความสรุปไว้ว่า "นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายินยอมที่จะไม่ทำงานเพื่อหรือทำประโยชน์ให้กับสำนักงานกฎหมายอื่นในกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 2 ปี ในกรณีที่ข้าพเจ้าได้ออกจากการทำงานที่ ติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม (ประโยคข้างต้นดังกล่าวมิให้นำมาใช้กับทนายซึ่งทำงานให้กับบริษัท)" โดยข้อความในวงเล็บของต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษระบุว่า "(The preceding sentence dose not apply to lawyers engaged with the firm.)" คำในวงเล็บคำว่า "lawyers" นั้น ย่อมหมายถึง ทนายความผู้ทำหน้าที่ว่าความหรือให้คำปรึกษาเป็นการเฉพาะเท่านั้น โจทก์เข้าทำงานตำแหน่งหัวหน้างานทรัพย์สินทางปัญญาและตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายงานทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นตำแหน่งที่สามารถล่วงรู้ความลับในทางการค้าและข้อมูลการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีในกิจการประกอบธุรกิจโดยชอบไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่เป็นโมฆะ เมื่อโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างแล้ว โจทก์ไปทำงานกับบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี จำกัด อันเป็นสำนักงานกฎหมายในกรุงเทพมหานครจึงเป็นการผิดสัญญาข้อดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6075/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม, ค่าชดเชย, การแข่งขันทางการค้า, และข้อตกลงหลังการจ้าง
จำเลยทั้งสามติดต่อและตกลงรับโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 เพราะเห็นว่าโจทก์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์สามารถทำหน้าที่บริหารดูแลงานทรัพย์สินทางปัญญาอันเป็นสาระสำคัญของสัญญาจ้างงาน การเป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนีย หาใช่สาระสำคัญของสัญญาจ้างงานไม่ เพียงแต่ทำให้โจทก์ดูมีคุณสมบัติเด่นเป็นพิเศษ มีความน่าเชื่อถือและน่าไว้วางใจในการดูแลและบริหารงานมากยิ่งขึ้นเท่านั้น การที่โจทก์ระบุในใบสมัครงานว่าเป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟฟอร์เนียอันเป็นการเท็จ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นโมฆียะกรรม
แม้ขณะที่โจทก์ยื่นใบสมัครเข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 เป็นเหตุที่เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 1 จะรับโจทก์เข้าทำงาน ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ยังมิได้เป็นลูกจ้างนายจ้างกัน กฎและมาตรฐานความประพฤติของจำเลยที่ 1 ยังไม่มีผลบังคับโจทก์ จะถือว่าโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างกรณีกรอกข้อความในใบสมัครอันเป็นเท็จไม่ได้ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยที่ 1 แล้ว การที่จำเลยที่ 1 ทำประวัติข้อมูลการศึกษาและประวัติการทำงานของโจทก์โดยระบุว่าโจทก์เป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนียตามที่โจทก์ระบุไว้ในใบสมัครอันเป็นเท็จซึ่งโจทก์ตรวจแล้วรับรองว่าถูกต้องนั้น ย่อมเป็นการกระทำผิดข้อบังคับและมาตรฐานความประพฤติของพนักงาน และข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน
การที่โจทก์รับรองประวัติข้อมูลการศึกษาและประวัติการทำงานของโจทก์ว่าเป็นเนติบัณฑิตมลรัฐแคลิฟอร์เนียอันเป็นเท็จ แม้จะเป็นการผิดหรือฝ่าฝืนต่อระเบียบข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ก็ตามก็ไม่ใช่เป็นกรณีร้ายแรง โจทก์ทำงานกับจำเลยที่ 1 ติดต่อกันเกินกว่าหกปีแต่ไม่ครบสิบปี โจทก์จึงชอบที่จะได้รับค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสองร้อยสี่สิบวันตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (4) และเมื่อจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโดยโจทก์มิได้มีความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 จำเลยที่ 1 ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ตามฟ้อง
โจทก์ได้แจ้งคุณวุฒิด้านวิชาชีพอันเป็นเท็จต่อจำเลยที่ 1 ในใบสมัครงานและในการทำงานโจทก์ให้ข้อมูลหรือรับรองข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติด้านวิชาชีพของโจทก์เป็นเท็จการกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย ความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจ จำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์จึงมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 และถือได้ว่าโจทก์กระทำการอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต จำเลยที่ 1 ชอบที่จะเลิกจ้างโจทก์ได้โดยมิพักต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ตามใบสมัครงานเอกสารหมาย ล. 3 ตอนท้ายมีข้อความสรุปไว้ว่า "นอกจากนี้ข้าพเจ้ายินยอมที่จะไม่ทำงานเพื่อหรือทำประโยชน์ให้กับสำนักงานกฎหมายอื่นในกรุงเทพมหานครเป็นเวลา 2 ปี ในกรณีที่ข้าพเจ้าได้ออกจากการทำงานที่ ติลลิกี แอนด์ กิบบินส์ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม (ประโยคข้างต้นดังกล่าวมิให้นำมาใช้กับทนายซึ่งทำงานให้กับบริษัท) " โดยข้อความในวงเล็บของต้นฉบับที่เป็นภาษาอังกฤษระบุว่า "(The preceding sentence does not apply to lawyers engaged wih the firm.)" คำในวงเล็บคำว่า "lawyers" ท้ายเอกสารหมาย ล. 3 ย่อมหมายถึงทนายความผู้ทำหน้าที่ว่าความหรือให้คำปรึกษาเป็นการเฉพาะรายเท่านั้น โจทก์เข้าทำงานตำแหน่งหัวหน้างานทรัพย์สินทางปัญญาและตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้อำนวยการฝ่ายงานทรัพย์สินทางปัญญา อันเป็นตำแหน่งที่สามารถล่วงรู้ความลับในทางการค้าและข้อมูลการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาต่างตอบแทนที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีในกิจการประกอบธุรกิจโดยชอบไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่เป็นโมฆะ ดังนั้น ข้อความท้ายเอกสารหมาย ล. 3 จึงมีผลผูกพันไม่ให้โจทก์ทำงานเพื่อหรือทำงานให้แก่สำนักงานกฎหมายอื่นในกรุงเทพมหานครเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี นับแต่สัญญาจ้างสิ้นสุดลง คือนับแต่วันที่เลิกจ้าง เมื่อโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 เลิกจ้างแล้วโจทก์ไปทำงานกับบริษัทเบเคอร์ แอนด์ แมคเคนซี จำกัด อันเป็นสำนักงานกฎหมายในกรุงเทพมหานคร จึงเป็นการผิดสัญญาข้อดังกล่าว แต่เนื่องจากระยะเวลาดังกล่าวได้ล่วงเลยมาเป็นเวลานาน หากให้มีผลนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาจะก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม จึงสมควรกำหนดให้เป็นค่าเสียหายโดยให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาค่าเสียหายที่โจทก์ต้องชดใช้ให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8570/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม การพิสูจน์ความผิดลูกจ้าง และข้อยกเว้นการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแรงงาน
แม้ศาลแรงงานจะฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (3) แต่เมื่อจำเลยมิได้ระบุเหตุดังกล่าวไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง จำเลยจึงยกเหตุตามมาตรา 119 ดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดตามมาตรา 67 ไม่ได้ และยังต้องถือว่าจำเลยเลิกจ้างโดยโจทก์มิได้มีความผิดตามมาตรา 119 จำเลยจึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีและวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมตามมาตรา 67 ให้แก่โจทก์
การพิจารณาว่าจำเลยจะต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า หรือจะต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ เพียงใด นั้น จะต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. มาตรา 582 และมาตรา 583 หรือตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 แล้วแต่กรณี จะนำ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสาม ที่ห้ามนายจ้างยกเหตุผลซึ่งมิได้ระบุไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างขึ้นอ้างในภายหลังมาใช้เพื่อตัดสิทธิของนายจ้างมิให้ยกขึ้นต่อสู้ในส่วนของสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมด้วยไม่ได้ เมื่อโจทก์กระทำความผิดอย่างร้ายแรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และโจทก์ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (3) จำเลยจึงไม่จำต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ และการเลิกจ้างนี้ก็มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6936/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างโดยไม่ระบุเหตุผล นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชย แม้ลูกจ้างประมาทเลินเล่อ
ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 นายจ้างจะอ้างเหตุไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 ขึ้นต่อสู้ได้หรือไม่นั้น ต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 17 วรรคสาม แม้โจทก์กระทำความผิดฐานประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงซึ่งเข้าข้อยกเว้นให้จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามมาตรา 119 (3) แต่เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้ระบุเหตุผลในการเลิกจ้างไว้ จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อให้พ้นความรับผิดได้ จำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4028/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากความประมาทเลินเล่อ, ความผิดตามข้อบังคับบริษัท และการละทิ้งหน้าที่
ในหนังสือเลิกจ้างได้ระบุเหตุผลแห่งการเลิกจ้างโจทก์ว่า โจทก์ทำงานด้วยความสะเพร่าทำให้มีสิ่งปลอมปนในผลิตภัณฑ์ที่ส่งให้ลูกค้า เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง ย่อมเห็นได้ว่าที่โจทก์ทำงานด้วยความสะเพร่าจนทำให้มีสิ่งปลอมปนในผลิตภัณฑ์ที่จำเลยส่งไปให้แก่ลูกค้าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรงตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 119 (3) นั่นเอง จึงเป็นกรณีที่จำเลยให้การต่อสู้คดีโดยระบุเหตุผลแห่งการเลิกจ้างตรงตามที่จำเลยได้ให้เหตุผลในหนังสือเลิกจ้างแล้ว
เมื่อโจทก์ได้กระทำความผิดโดยทำงานด้วยความประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง และจำเลยได้ลงโทษโจทก์ในความผิดนี้ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยด้วยการพักงานเป็นเวลา 3.5 วัน โดยไม่จ่ายค่าจ้าง ถือได้ว่าความผิดดังกล่าวได้หมดไปด้วยการลงโทษพักงานโดยไม่จ่ายค่าจ้างแล้ว จำเลยผู้เป็นนายจ้างย่อมไม่อาจนำความผิดดังกล่าวมาเป็นเหตุเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ได้อีก
การกระทำของโจทก์โดยการข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่สนใจหรือละเลยหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งกฎข้อบังคับของจำเลย ละทิ้งหน้าที่ในการปฏิบัติงานโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้บังคับบัญชา อันเป็นความผิดตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อ 3.2.4 ข้อ 3.1.9 และข้อ 3.2.14 ซึ่งตามมาตรการลงโทษสำหรับความผิดตามข้อ 3.2.4 และข้อ 3.2.14 จะต้องเป็นการกระทำผิดในครั้งที่ 3 จึงจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ส่วนความผิดตามข้อ 3.1.9 จะต้องเป็นการกระทำความผิดในครั้งที่ 2 จึงจะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย แต่ทั้งนี้จำเลยจะต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อนที่จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยในสามกรณีดังกล่าว เมื่อปรากฏว่าโจทก์กระทำความผิดในแต่ละกรณีเป็นครั้งที่ 1 จึงถือได้ว่าตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยมิได้กำหนดให้การกระทำผิดของโจทก์ทั้งสามกรณีดังกล่าวเป็นความผิดในกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทันที จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อโจทก์ละทิ้งหน้าที่ในขณะปฏิบัติงาน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ละทิ้งหน้าที่การงานไปเสีย จำเลยย่อมเลิกจ้างโจทก์ได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5321/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจา นายจ้างต้องแจ้งเหตุผล หากไม่แจ้ง เหตุผลตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรา 119 ใช้ไม่ได้
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 17 วรรคสาม การบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ว่าจะกระทำเป็นหนังสือหรือกระทำด้วยวาจา นายจ้างต้องระบุเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างให้ลูกจ้างทราบ หากทำเป็นหนังสือก็ต้องระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง แต่หากทำด้วยวาจาก็ต้องระบุเหตุผลไว้ในขณะที่บอกเลิกสัญญาจ้างนั้น เมื่อจำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ด้วยวาจาแต่มิได้ระบุหรือแจ้งเหตุผลในการบอกเลิกสัญญาจ้างไว้ในขณะที่บอกเลิกสัญญาจ้าง จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุโจทก์ทำผิดพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ ตามมาตรา 119 ขึ้นอ้างภายหลังได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5321/2545 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาจ้างด้วยวาจาต้องแจ้งเหตุผล หากไม่แจ้ง นายจ้างยกข้ออ้างการเลิกจ้างภายหลังไม่ได้
บทบัญญัติตามมาตรา 17 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มีเจตนารมณ์เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความเข้าใจอันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างโดยให้นายจ้างแสดงเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างพิจารณาว่าสมควรที่จะเรียกร้องค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์อื่นอันเนื่องมาจากการเลิกสัญญาจ้างนั้นหรือไม่เพียงใด ดังนั้น การบอกเลิกสัญญาจ้างไม่ว่าจะกระทำเป็นหนังสือหรือกระทำด้วยวาจา นายจ้างก็ต้องระบุเหตุผลในการเลิกสัญญาจ้างให้ลูกจ้างทราบ โดยหากกระทำเป็นหนังสือ ก็ต้องระบุเหตุผลไว้ในหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้าง แต่หากกระทำด้วยวาจา ก็ต้องระบุเหตุผลไว้ในขณะที่บอกเลิกสัญญาจ้างนั้น คดีนี้จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างโจทก์ด้วยวาจา แต่มิได้ระบุหรือแจ้งเหตุผลในการบอกเลิกจ้างไว้ในขณะที่บอกเลิกสัญญาจ้าง จำเลยจึงไม่อาจยกเหตุตามมาตรา 119 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่จะไม่จ่ายค่าชดเชยขึ้นอ้างภายหลังได้
of 2