คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 91/21 (5)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 8 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15072/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีธุรกิจเฉพาะ การวางแผนหลีกเลี่ยงภาษี และการประเมินภายในกำหนดอายุความ
เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกสำหรับการประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครึ่งปีของปีภาษี 2539 เกินกำหนดเวลา 2 ปี นับแต่วันที่โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 19 การประเมินจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ปลดภาษีดังกล่าว มีผลทำให้เงินจำนวนดังกล่าวเป็นจำนวนภาษีที่โจทก์ยังไม่ได้ชำระให้ถูกต้องและเป็นจำนวนเงินของภาษีปี 2539 เต็มปี ซึ่งโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยจึงมีอำนาจออกหมายเรียกและทำการประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 23 และ 24 ซึ่งไม่มีกำหนดเวลาในการออกหมายเรียก เมื่อสิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรมีกำหนดอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 และเจ้าพนักงานประเมินได้กระทำภายในกำหนดเวลาดังกล่าว การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเต็มปีภาษีสำหรับปีภาษี 2539 จึงรวมถึงจำนวนเงินได้พึงประเมินเต็มปีภาษีที่โจทก์ยังมิได้นำมารวมคำนวณและชำระภาษีสำหรับปีภาษี 2539 ด้วย การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คิดภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายโดยมิได้เอาเงินได้อื่นมารวมคำนวณเพื่อเรียกเก็บภาษีและมิใช่เป็นการประเมินเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมในประเด็นข้ออื่นจึงชอบแล้ว
ป.รัษฎากร มาตรา 91/21(5) ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนอำนาจเจ้าพนักงานประเมินเฉพาะมาตรา 88/3, 88/4 และ 88/5 มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยมิได้บัญญัติให้นำมาตรา 88/6 ในเรื่องกำหนดเวลาการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้บังคับด้วย จึงไม่อาจนำกำหนดเวลาการประเมินของภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แก่กรณีของโจทก์ และตามมาตรา 88/4 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนได้โดยไม่มีกำหนดเวลาบังคับ อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินจึงไม่อยู่ในบังคับของ ป.รัษฎากร มาตรา 19 ซึ่งเป็นบททั่วไป
เมื่อ ป.พ.พ. มาตรา 193/31 กำหนดให้สิทธิเรียกร้องของรัฐที่จะเรียกเอาค่าภาษีอากรมีกำหนดอายุความ 10 ปี ดังนั้น นับตั้งแต่วันครบกำหนดที่โจทก์ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเดือนภาษีมกราคม 2539 ซึ่งเป็นเดือนแรกที่มีปัญหาพิพาทจนถึงวันที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากโจทก์ยังอยู่ภายในกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่จะเรียกเอาภาษีธุรกิจเฉพาะยังไม่ขาดอายุความ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 334/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษีอากรและการขอบเขตคำพิพากษา เมื่อโจทก์ขอเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์
เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะให้โจทก์ชำระภาษี โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/21 (5) ประกอบมาตรา 30, 88/5 การที่โจทก์อุทธรณ์การประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้วแสดงว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาเห็นด้วยกับการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ซึ่งโจทก์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลได้อีกตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 (2) การที่โจทก์มิได้ฟ้องว่าการประเมินไม่ชอบจึงฟังเป็นยุติว่าการประเมินชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่ได้ แม้คำขอท้ายฟ้องโจทก์จะขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์โดยไม่ได้ฟ้องคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เป็นจำเลยด้วย แต่ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 5 บัญญัติว่า ภาษีอากรซึ่งบัญญัติไว้ในลักษณะนี้ให้อยู่ในอำนาจหน้าที่และการควบคุมของกรมสรรพากรซึ่งมูลกรณีเรื่องภาษีอากรในคดีนี้อยู่ในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของจำเลย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ และเมื่อศาลเห็นว่าคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ศาลย่อมมีอำนาจไม่ให้บังคับตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ หรือให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เสียได้ไม่ว่าคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะถูกฟ้องเป็นจำเลยหรือไม่ การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ย่อมรวมถึงการเพิกถอนการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินด้วยในตัว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินด้วยจึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10383/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะชอบด้วยกฎหมายแม้ไม่ได้ระบุรายละเอียด เหตุผลประเมิน และการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อลงทุนให้เช่าถือเป็นการขายเพื่อประกอบกิจการ
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะไม่ได้แจ้งข้อหาประเมินว่าโจทก์ได้ขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีไว้ในการประกอบกิจการคำฟ้องของโจทก์มิได้อ้างว่า หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ถูกต้องตามรูปแบบและวิธีการที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ มาตรา 77 แต่อย่างใด การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ถูกต้องตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนด และพิพากษาให้เพิกถอนหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นในคำฟ้อง ซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
ป.รัษฎากร มาตรา 88/5 ประกอบมาตรา 91/21 (5) เพียงแต่กำหนดให้เจ้าพนักงานประเมินเมื่อได้ประเมินแล้วให้แจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษีเท่านั้น มิได้กำหนดว่าในการแจ้งการประเมินเจ้าพนักงานประเมินต้องแจ้งรายละเอียดและเหตุผลที่ประเมินให้ผู้เสียภาษีต้องเสียภาษีอากรทราบด้วย ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมินว่าโจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร โดยมิได้ระบุว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีไว้ในการประกอบกิจการ จึงเป็นหนังสือแจ้งการประเมินที่ชอบด้วย ป.รัษฎากร แล้ว
แม้จะมี พ.ร.ฎ. ใหม่ ออกมายกเลิก พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244)ฯ แต่เมื่อขณะที่โจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์พิพาทและเกิดความรับผิดทางภาษีนั้น พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244)ฯ ยังมีผลใช้บังคับ การที่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยนำหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244)ฯ มาใช้ในการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะของโจทก์จึงชอบแล้ว
พ.ร.ฎ. ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244)ฯ มาตรา 3 (5) ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น บัญญัติว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/2 (6) ได้แก่การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการแต่ไม่รวมถึงที่ดินที่ผู้นั้นใช้ในเกษตรกรรม ดังนั้น แม้อสังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบกิจการและที่มีไว้เพื่อใช้ในการประกอบกิจการนั้นอาจยังมิได้นำมาใช้ในการประกอบกิจการดังที่โจทก์เบิกความว่าโจทก์เพิ่งสร้างอาคารพิพาทภายหลังจากที่ซื้อที่ดิน และตั้งใจนำที่ดินและอาคารพิพาทออกให้เช่าแต่ยังไม่มีผู้เช่า พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์แต่แรกว่าประสงค์จะลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มมูลค่าของที่ดิน โดยการสร้างอาคารพิพาทแล้วนำออกให้เช่า แม้ต่อมาจะมีผู้มาเช่าหรือไม่ก็ตามก็ต้องถือว่าโจทก์ประกอบกิจการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์แล้ว ที่ดินและอาคารพิพาทจึงเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีไว้ในการประกอบกิจการ เมื่อโจทก์ขายที่ดินและอาคารพิพาทจึงเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร โดยไม่ต้องคำนึงถึงระยะเวลาที่โจทก์ถือครอง โจทก์ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8937-8938/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายเวลาอุทธรณ์ภาษีอากร การรวมสำนวนคดี และเหตุสมควรลดเบี้ยปรับ
ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2549 จำเลยยื่นอุทธรณ์คดีทั้งสองสำนวนเป็นอุทธรณ์คนละฉบับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2549 ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่งเป็นใจความว่า ศาลสั่งรวมการพิจารณาคดีทั้งสองสำนวนแล้วจึงให้จำเลยทำอุทธรณ์มาในฉบับเดียวกันภายใน 7 วัน ต่อมาจำเลยจึงยื่นอุทธรณ์คดีทั้งสองสำนวนมาในฉบับเดียวกันเป็นอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 21 มิถุนายน 2549 ดังนี้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงเป็นอุทธรณ์ที่จำเลยจัดทำและยื่นภายในกำหนดที่ศาลภาษีอากรกลางมีคำสั่ง ถือว่าจำเลยยื่นอุทธรณ์คดีทั้งสองสำนวนภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว
การที่โจทก์ ช. และ ส. เป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลในการขายที่ดิน 1 แปลงและโจทก์กับ ส. เป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลในการขายที่ดินอีก 1 แปลง แต่เจ้าพนักงานของจำเลยส่งหนังสือขอทราบรายละเอียดการขายอสังหาริมทรัพย์เฉพาะที่ดินเพียงแปลงเดียวถึง ส. โดยไม่ได้ระบุชัดแจ้งว่าเป็นหนังสือที่ส่งถึง ส. ในฐานะบุคคลในคณะบุคคลดังเช่นที่มีการระบุในหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะ จึงต้องถือว่าเจ้าพนักงานของจำเลยต้องการขอทราบรายละเอียดการขายที่ดินจาก ส. ในฐานะส่วนตัว ทั้งไม่ได้ความว่าเจ้าพนักงานของจำเลยส่งหนังสือขอทราบรายละเอียดการขายอสังหาริมทรัพย์ถึงโจทก์ด้วยแต่อย่างใด หลังจากขายที่ดินทั้งสองแปลงแล้ว โจทก์ไม่เคยพบกับ ส. อีก จึงไม่อาจนำข้อเท็จจริงที่ ส. ไม่ไปพบเจ้าพนักงานของจำเลยตามหนังสือขอทราบรายละเอียดการขายอสังหาริมทรัพย์มาเป็นเหตุให้มีผลถึงโจทก์โดยอนุมานว่า โจทก์ซึ่งเป็นบุคคล ในคณะบุคคลกับ ส. ไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีการขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวด้วยได้ ทั้งโจทก์ขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวหลังจากมีการแก้ไขประมวลรัษฎากรซึ่งเปลี่ยนการจัดเก็บภาษีการค้ามาเป็นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีธุรกิจเฉพาะแทนไม่กี่เดือน ตามพฤติการณ์ของโจทก์ที่ยอมเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ยังเพียงติดใจขอลดเบี้ยปรับลงเพราะคิดว่ามีการชำระครบถ้วนขณะขายที่ดินเรียบร้อยแล้ว โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีรายพิพาท กรณีจึงมีเหตุสมควรลดเบี้ยปรับให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งจากเบี้ยปรับที่ต้องชำระตามการประเมิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8829/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี, การประเมินภาษี, และการลดเบี้ยปรับ: ข้อพิพาทเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีเงินได้นิติบุคคล
ปัญหาเรื่องการออกหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินเป็นไปโดยชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 19 หรือไม่ เป็นปัญหาเกี่ยวกับอำนาจในการประเมินภาษีอากรว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้ยกขึ้นโต้แย้งในชั้นอุทธรณ์การประเมิน ก็มีอำนาจยกขึ้นในชั้นพิจารณาของศาลได้
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย นั้น เมื่อเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าโจทก์หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งไม่ถูกต้องครบถ้วน เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินให้โจทก์ในฐานะผู้จ่ายเงินรับผิดในส่วนที่ขาดได้โดยอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 54 วรรคหนึ่ง และมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 70 โดยเจ้าพนักงานประเมินอาจส่งหนังสือแจ้งให้โจทก์ส่งพยานหลักฐานอันควรแก่เรื่องเพื่อตรวจสอบการหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ตามที่เห็นสมควรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 51 ซึ่งเป็นบทบัญญัติโดยเฉพาะอยู่แล้ว จึงไม่อยู่ในบังคับต้องออกหมายเรียกภายในระยะเวลาและโดยเงื่อนไขตามมาตรา 19 ส่วนกรณีภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 และปี 2538 นั้น โจทก์มีหน้าที่ยื่นรายการเพื่อชำระภาษีจากจำนวนกึ่งหนึ่งของประมาณการกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตาม ป.รัษฎากร มาตรา 67 ทวิ ซึ่งหากโจทก์ไม่ยื่นรายการหรือยื่นรายการโดยแสดงประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 เจ้าพนักงานประเมินอาจประเมินให้ชำระภาษีพร้อมเงินเพิ่มได้ทันทีเมื่อพ้นกำหนดยื่นรายการหรือเมื่อโจทก์ยื่นชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตาม ป.รัษฎากร มาตรา 67 ตรี โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกโจทก์มาไต่สวนตรวจสอบตามมาตรา 19 และ 23 แต่อย่างใด
ในชั้นอุทธรณ์การประเมิน โจทก์อ้างว่าได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายให้ถูกต้องและนำส่งครบถ้วนแล้วแต่โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาแสดงต่อเจ้าพนักงานประเมินเมื่อโจทก์อ้างในคำฟ้องว่าการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบเพราะโจทก์ได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายถูกต้องและนำส่งครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธินำพยานหลักฐานเกี่ยวกับเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมของเจ้าพนักงานของโจทก์มาแสดงว่าได้หักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ ที่จ่ายและนำส่งถูกต้องครบถ้วนแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางไม่รับวินิจฉัยไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยก่อน โดยโจทก์มี ป. ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ และ ล. เจ้าหน้าที่ฝ่ายบัญชีและการเงินเบิกความว่า โจทก์ได้นำส่งเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมของพนักงานโจทก์ตลอดมา ปรากฏตามรายชื่อผู้ประกันตน ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นพนักงานของโจทก์และโจทก์นำส่งเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมแล้ว แต่ปรากฏว่า ใบเสร็จรับเงินของสำนักงานประกันสังคมไม่ได้แสดงรายการว่าเป็นเงินสมทบของผู้ประกันตนคนใด เป็นพนักงานของโจทก์หรือไม่ และพยานโจทก์ก็มิได้นำสืบอธิบายรายละเอียดให้เห็นได้ว่าหลักฐานการนำส่งเงินสมทบจ่ายเข้ากองทุนประกันสังคมดังกล่าวตรงกับรายชื่อพนักงานของโจทก์ตามแบบที่ยื่นรายการภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด. 1 และ ภ.ง.ด. 1 ก การที่เจ้าพนักงานประเมินนำมาประเงินภาษีโจทก์เพิ่มแต่อย่างใด พยานหลักฐานของโจทก์จึงยังไม่อาจรับฟังได้ดังที่โจทก์อ้าง
ในชั้นตรวจสอบไต่สวนและชั้นพิจารณาอุทธรณ์ เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินให้โจทก์รับผิดตาม ป.รัษฎากร มาตรา 70 ซึ่งบัญญัติว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยแต่ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (2) (3) (4) (5) หรือ (6) ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย ให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นเสียภาษีโดยให้ผู้จ่ายหักภาษีเงินได้พึงประเมินที่จ่ายตามอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแล้วนำส่งอำเภอท้องที่พร้อมกับยื่นรายการตามแบบที่อธิบดีกำหนดภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินนั้น โดยบัญชีอัตราภาษีเงินได้สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกำหนดอัตราภาษีตามมาตรา 70 ยกเว้นเฉพาะกรณีการจ่ายเงินได้พึงประเมินมาตรา 40 (4) (ข) ไว้ร้อยละ 15 ฉะนั้น การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย สำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) (4) (ก) (6) ที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทยในอัตราร้อยละ 15 จึงชอบแล้ว ที่โจทก์อ้างว่าคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.8/2528 เรื่อง การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย กรณีจ่ายเงินค่าจ้างทำของให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ กำหนดให้โจทก์หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เพียงร้อยละ 5 นั้น คำสั่งดังกล่าวใช้สำหรับการจ่ายเงินให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศที่ประกอบกิจการในประเทศไทย แต่โจทก์ก็มิได้ยกขึ้นอ้างในคำฟ้องและทางนำสืบว่าบริษัทต่างประเทศดังกล่าวประกอบกิจการในประเทศไทย คงเพิ่งมายกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 29 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัยในส่วนนี้
โจทก์ไม่ได้ยื่นรายการซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการคำนวณภาษีพร้อมด้วยบัญชีงบดุล บัญชีทำการและบัญชีกำไรขาดทุน บัญชีรายรับและรายจ่าย หรือบัญชีรายรับก่อนหักรายจ่ายที่มีบุคคลตามมาตรา 3 สัตต ตรวจสอบและรับรองในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวตามมาตรา 68 และ 69 ทั้งได้ความจากทางนำสืบของจำเลยว่าโจทก์ไม่นำส่งสมุดบัญชีและเอกสารประกอบการบันทึกบัญชีหรือเอกสารใดๆ ที่เพียงพอจะแสดงให้รู้ว่าโจทก์มีรายได้และรายจ่ายจำนวนใด จึงไม่อาจคำนวณหากำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิเพื่อประเมินภาษีตามวิธีปกติได้ การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลของโจทก์ในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใดๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า จึงชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 71 (1) โดยมิต้องคำนึงว่าโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีดังที่โจทก์อุทธรณ์หรือไม่
โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) (ภ.ง.ด. 51) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ถึง 2539 โดยแสดงผลขาดทุนสุทธิทั้งสามรอบระยะเวลาบัญชี แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด. 50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าว การที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลโจทก์ทั้งสามรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวในอัตราร้อยละ 5 ของยอดรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ หรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายใดๆ ของรอบระยะเวลาบัญชีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่าตามมาตรา 71 (1) แห่ง ป.รัษฎากร เมื่อได้จำนวนภาษีที่ต้องชำระแล้วจึงคำนวณกลับเป็นกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ ซึ่งปรากฏว่าโจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2537 ถึง 2539 โดยแสดงผลขาดทุนสุทธิอันเป็นการประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิดังกล่าวโดยไม่มีเหตุสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินทำการประเมินให้โจทก์รับผิดเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ จึงชอบแล้ว ส่วนรอบระยะเวลาบัญชีปี 2540 นั้นโจทก์ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) โจทก์จึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของกึ่งหนึ่งของจำนวนเงินภาษีที่ต้องเสียในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ทั้งนี้ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 67 ตรี วรรคหนึ่ง
การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะตาม ป.รัษฎากร มาตรา 88/4 ประกอบมาตรา 91/21 (5) เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานประเมินที่จะออกหมายเรียกผู้มีหน้าที่เสียภาษี ผู้ทำการแทน หรือพยาน หรือสั่งให้บุคคลเหล่านั้นนำบัญชี เอกสารหรือหลักฐานอันควรแก่เรื่องมาให้ตรวจสอบไต่สวนได้โดยไม่มีบทบัญญัติใดบังคับให้เจ้าพนักงานประเมินต้องแจ้งให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากรส่งเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องก่อนจึงจะทำการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะได้ ทั้งกรณีนี้ก็ปรากฏว่าเจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกตรวจสอบภาษีอากรทุกประเภทโดยระบุมาตรา 91/21 แห่ง ป.รัษฎากร ไว้ด้วยแล้ว แต่โจทก์ไม่ได้ส่งมอบเอกสารหลักฐานให้เจ้าพนักงานประเมิน เมื่อเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบพบว่าโจทก์ทำนิติกรรมขายที่ดินมีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่มิได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มแก่โจทก์ได้ตามมาตรา 91/15 (1) และ (3)
เมื่อโจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์แล้วไม่ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีธุรกิจเฉพาะตามกฎหมาย จึงต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับ และการที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ลดเบี้ยปรับสำหรับภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่โจทก์คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายเป็นคุณแก่โจทก์และเหมาะสมแล้ว ไม่มีเหตุที่จะงดเบี้ยปรับให้
การยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) ตามมาตรา 67 ทวิ นั้น เป็นการเรียกเก็บภาษีก่อนถึงกำหนดเวลาตามมาตรา 68 โดยภาษีที่ชำระนี้ให้ถือเป็นเครดิตในการคำนวณภาษีที่ต้องชำระตามมาตรา 68 ฉะนั้น ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) ที่ต้องชำระตามมาตรา 67 ทวิ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีใดจึงเป็นส่วนหนึ่งของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้นตามมาตรา 68 โดยกฎหมายให้นำภาษีที่ชำระให้ตอนครึ่งปีมาเป็นเครดิตสำหรับภาษีที่ต้องเสียทั้งรอบระยะเวลาบัญชี คำฟ้องที่เกี่ยวกับการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล (ครึ่งปี) จึงเป็นข้อหาเดียวที่เกี่ยวข้องกันกับภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องชำระเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชีนั้นๆ แม้จะมีการประเมินแต่เงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี ก็ตาม การที่ศาลภาษีอากรกลางเรียกค่าขึ้นศาลเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งครึ่งปีและเต็มปีในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีเป็นแต่ละข้อหาและเมื่อรวมกันแล้วเกินกว่า 200,000 บาท จึงไม่ชอบและเห็นควรให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ที่เสียเกินมาด้วย อนึ่ง โจทก์ยังไม่ได้เสียค่าขึ้นศาลสำหรับการอุทธรณ์คำสั่งศาลภาษีอากรกลางดังกล่าวซึ่งเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ โจทก์ต้องเสียค่าขึ้นศาลในส่วนนี้อีก 200 บาท ตามราราง 1 (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ. ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรฯ มาตรา 24

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1946/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความภาษีและการประเมินที่ชอบด้วยกฎหมาย การยกปัญหาข้อเท็จจริงหลังพ้นกำหนดอุทธรณ์
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/21 (5) ประกอบมาตรา 88/5 และมาตรา 30 โจทก์มีสิทธิอุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับแจ้งการประเมิน ปัญหาข้อเท็จจริงใดที่โจทก์ไม่ใช้สิทธิหยิบยกขึ้นอุทธรณ์เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้ทำการไต่สวนหาความจริงและพิจารณาวินิจฉัย ปัญหาข้อเท็จจริงนั้นย่อมเป็นอันยุติ โจทก์จะยกปัญหาข้อเท็จจริงนั้นขึ้นอุทธรณ์ต่อศาลไม่ได้ เพราะล่วงเลยเวลาที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ข้อกล่าวอ้างของโจทก์แล้ว เมื่อโจทก์ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ต่อศาลไม่ได้ การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวให้จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบ
โจทก์ขายอสังหาริมทรัพย์ เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2536 ในขณะที่ พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 244)ฯ มีผลใช้บังคับ การประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีนี้จึงต้องนำ พ.ร.ฎ. ฉบับนี้มาใช้บังคับ แม้ พ.ร.ฎ. ฉบับนี้จะถูกยกเลิกโดย พ.ร.ฎ.ออกตามความใน ป.รัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342)ฯ แต่การยกเลิกนั้นก็ไม่มีผลทำให้การขายอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ. ฉบับเดิมกลายเป็นไม่ต้องเสียภาษีไปได้ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เข้าหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ. ฉบับเดิมในขณะที่ พ.ร.ฎ. ฉบับเดิมมีผลใช้บังคับไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอีกต่อไป การที่เจ้าพนักงานประเมินประเมินเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากโจทก์โดยอาศัยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ฎ. ฉบับเดิม จึงเป็นการประเมินโดยมีกฎหมายให้อำนาจและปรากฏตามบันทึกการปิดหนังสือแจ้งการประเมินว่า เจ้าหน้าที่ได้ปิดหนังสือแจ้งการประเมินให้โจทก์ทราบโดยชอบตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2546 ซึ่งอยู่ภายในกำหนดเวลา 10 ปี นับแต่วันครบกำหนดชำระภาษีคือวันที่ 15 มีนาคม 2536 จึงเป็นการประเมินภาษีภายในอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8824/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีธุรกิจเฉพาะจากกิจการร่วมค้า การประเมิน และการลดเบี้ยปรับจากเหตุผลความเข้าใจผิด
โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลร่วมกับโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 8 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาขายที่ดินอันมีกรรมสิทธิ์ร่วมกันภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ได้มาเป็นการประกอบกิจการร่วมค้าตาม ป.รัษฎากร มาตรา 39 จึงเป็นนิติบุคคลผู้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะจากรายรับที่ได้จากกิจการที่ดำเนินการร่วมกันต่างหากจากโจทก์ทั้งแปดแต่ละคนตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77/1 (4) ประกอบมาตรา 91/1 วรรคสอง เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งแปดได้ร่วมกันยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะในนามของนิติบุคคลผู้ประกอบกิจการร่วมค้าเช่นนี้ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินได้โดยไม่จำต้องออกหมายเรียกตาม ป.รัษฎากร มาตรา 91/15 (1) และมาตรา 88/4 ประกอบกับมาตรา 91/21 (5) กรณีภาษีธุรกิจเฉพาะ ประมวลรัษฎากรมิได้กำหนดเวลาการประเมินไว้ จึงต้องบังคับตามบทบัญญัติอายุความทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/31 ซึ่งมีกำหนด 10 ปี ในการเรียกเอาค่าภาษีอากร