คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุพัฒน์ บุญยุบล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 245 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9189/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้ยืมที่ขัดแย้งกับคำสั่งศาลเดิม และดอกเบี้ยเกินกฎหมาย ทำให้สัญญากู้ยืมไม่มีผลผูกพัน
เจ้าหนี้อื่นนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินที่จำเลยจำนองไว้แก่โจทก์ออกขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนอง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถึงที่สุดให้โจทก์ได้รับชำระหนี้จำนองจำนวน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองก่อนเจ้าหนี้อื่นตามคำขอของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับชำระหนี้ตามคำสั่งศาลชั้นต้นได้อยู่แล้ว เมื่อจำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์อีกนอกจากหนี้จำนองดังกล่าว การที่โจทก์กลับนำเอาหนี้จำนองนั้นมาให้จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินอีกโดยบวกดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่จะเรียกได้ตามกฎหมาย อันทำให้ส่วนดอกเบี้ยที่กำหนดตกเป็นโมฆะโดยจำเลยมิได้รับเงินตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวแต่อย่างใด สัญญากู้ยืมเงินจึงไม่มีมูลหนี้ที่จำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6494/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำร้ายร่างกายโดยบันดาลโทสะของเจ้าพนักงานตำรวจหลังถูกทำร้ายและเหตุการณ์ต่อเนื่อง ศาลฎีกาพิจารณาโทษกรรมเดียว
ผู้เสียหายที่ 4 เป็นผู้ก่อเหตุขึ้นก่อนโดยกระโดดถีบหน้าอกจำเลย แต่เมื่อผู้เสียหายที่ 4 เห็นจำเลยชักปืนพกออกมาจึงร้องบอกให้ผู้เสียหายอื่นทราบ แล้วผู้เสียหายทั้งสี่ต่างก็วิ่งหนีเช่นนี้ ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่มีต่อจำเลยจึงไม่มีต่อไปแล้ว การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสี่หลายนัดและกระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 3 ที่ด้านหลังของต้นขาขวา ทำให้ผู้เสียหายที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัส แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหายอื่น อันแสดงให้เห็นว่าเป็นการยิงขณะผู้เสียหายทั้งสี่หันหลังให้จำเลย การกระทำของจำเลยดังกล่าวจึงหาเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ แต่เห็นได้ว่าเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ เพราะผู้เสียหายทั้งสี่อยู่ในวัยรุ่นและจำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจด้วย แม้ผู้เสียหายทั้งสี่จะไม่รู้ก็ตาม ทั้งเหตุแต่แรกก็เป็นสาเหตุเล็กน้อยเพียงแต่โต้เถียงกันเรื่องขวางทางเดินเท่านั้น การที่ผู้เสียหายทั้งสี่กลับมาพบจำเลยในที่เกิดเหตุอีก แล้วผู้เสียหายที่ 4 กระโดดถีบหน้าอกจำเลยเช่นนี้ ย่อมทำให้จำเลยโกรธเพราะถือว่าเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามศักดิ์ศรีของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ มีลักษณะเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและจำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสี่ทันทีในขณะผู้เสียหายทั้งสี่วิ่งหนี จึงเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 72 ในขณะที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงนั้น ผู้เสียหายที่ 3 อยู่ห่างจำเลยเพียง 2 ถึง 3 เมตร ส่วนผู้เสียหายอื่นก็อยู่ห่างจำเลยเพียง 5 เมตร ถึง 6 เมตร เท่านั้น จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีความชำนาญในการใช้อาวุธปืนมากกว่าบุคคลทั่วไปและได้ยิงถึง 6 นัด แต่กระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่ 3 เพียงคนเดียวและถูกที่ด้านหลังของต้นขาขวา ซึ่งเป็นอวัยวะที่ไม่สำคัญอันไม่สามารถทำให้ถึงตายได้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาเพียงทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่เท่านั้น เมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัสจากการถูกยิง ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่ได้รับอันตรายใด ๆ จำเลยจึงมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) ประกอบมาตรา 72 และพยายามทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 80 และ 72 อันเป็นการกระทำกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1257/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาบุกรุกเคหสถานและทำร้ายร่างกาย การให้มีดสปาร์ต้าแก่ผู้อื่นถือเป็นความผิดร่วม
จำเลยที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 3 เข้าไปในบ้านของจำเลยที่ 2 เพื่อจะทำร้ายฝ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งอยู่ในบ้าน แม้จำเลยที่ 4 จะไม่ได้ใช้มีดสปาร์ต้าที่ถือมาฟันเด็กชาย น. จำเลยที่ 1 และที่ 2 แต่การที่จำเลยที่ 4 ให้มีดดังกล่าวแก่จำเลยที่ 3 แล้วจำเลยที่ 3 ใช้มีดนั้นฟันเด็กชาย น. จำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้รับอันตรายแก่กาย หลังจากนั้นก็หลบหนีไป ด้วยกัน จำเลยที่ 4 มีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 3 เข้าไปในบ้านของจำเลยที่ 2 เพื่อทำร้ายฝ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งอยู่ภายในบ้าน จึงมีความผิดฐานบุกรุกเคหสถานโดยมีอาวุธ และฐานทำร้ายร่างกายเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้มีเรื่องกับจำเลยที่ 4 แต่มีเรื่องกับจำเลยที่ 3 และผู้ตาย ทั้งในขณะนั้นจำเลยที่ 1 ก็อยู่ภายในบ้านของจำเลยที่ 2 มิได้ก่อให้เกิดภยันตรายแก่ผู้ใดอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายที่จะต้องป้องกัน การที่จำเลยที่ 4 ให้มีดสปาร์ต้าแก่จำเลยที่ 3 และเข้าไปในบ้านของจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ด้วย แล้วจำเลยที่ 3 ใช้มีดดังกล่าวฟันจำเลยที่ 1 ที่ 2 และเด็กชาย น. จึงเป็นการเข้าไปโดยมีเจตนาที่จะทำร้ายบุคคลที่อยู่ภายในบ้าน เป็นการเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร มิใช่มีเหตุสมควรอันจะทำให้การกระทำของจำเลยที่ 4 ไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 198/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนโอนที่ดิน: สิทธิจดทะเบียนก่อน-การซื้อขายสุจริต-ผู้จัดการมรดก
การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ข. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงพิพาทให้ ท. โดยอ้างว่าเพื่อนำเงินที่ขายได้ไปชำระหนี้กองมรดกของ ข. ซึ่งได้ระบุไว้ชัดแจ้งในคำขอจดทะเบียนสิทธิด้วย ซึ่งเป็นอำนาจของผู้จัดการมรดกที่กระทำได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทจึงต้องผูกพันต่อ ท. ในการที่จำเลยที่ 1 กระทำไปดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 กลับไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยไม่มีค่าตอบแทนและรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ข. ได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินแปลงพิพาทให้ ท. ไปก่อนแล้วและได้รับชำระราคาครบถ้วนแล้ว ทั้งยังได้ไปดำเนินการยื่นคำขอจะทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ท. และอยู่ในระหว่างการดำเนินการของเจ้าพนักงานที่ดินเช่นนี้ ท. จึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 หาใช่จำเลยที่ 2 ไม่ การที่จำเลยที่ 2 อาศัยสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกับจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 2 จึงเป็นทางเสียเปรียบแก่ ท. ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน โจทก์ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของ ท. จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินแปลงพิพาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1300 ประกอบมาตรา 1599 และมาตรา 1600

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 198/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนนิติกรรมที่ดินโดยไม่สุจริต ผู้มีสิทธิจดทะเบียนก่อนย่อมมีสิทธิเหนือกว่า
จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ข. ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทของ ข. ให้ ท. เพื่อนำเงินที่ขายได้ไปชำระหนี้กองมรดกของ ข. อันเป็นอำนาจของผู้จัดการมรดก ที่กระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1724 ทายาทรวมทั้งจำเลยที่ 2 จึงต้องผูกพันต่อ ท. ในการที่จำเลยที่ 1 กระทำไปดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 กลับไปทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอมโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยไม่มีค่าตอบแทนและรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทให้ ท. ไปก่อนและได้รับชำระราคาครบถ้วนแล้ว ทั้งยังได้ไปดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ท. และอยู่ในระหว่างการดำเนินการของเจ้าพนักงานที่ดิน ท. จึงอยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา 1300 จึงเป็นทางเสียเปรียบแก่ ท. โจทก์ในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกของ ท. จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยทั้งสองขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทได้ตามมาตรา 1300 ประกอบ มาตรา 1599 และมาตรา 1600

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8015/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอาศัยบนที่ดินตามข้อตกลง: การต่อเติมไม่ใช่การผิดสัญญา หากยังสามารถอยู่อาศัยได้
ตามบันทึกข้อตกลงที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับ ช. มารดาจำเลยทั้งสองนั้นเป็นบันทึกข้อตกลงที่ก่อตั้งสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งจะต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงจะบริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิใช้ยันบุคคลภายนอกได้ แต่แม้จะมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็หาทำให้เป็นโมฆะเสียเปล่าไม่ ยังคงบังคับกันได้ในฐานะเป็นบุคคลสิทธิระหว่างคู่สัญญา เมื่อโจทก์เป็นคู่สัญญาตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นบุคคลภายนอกที่จะได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง
บันทึกข้อตกลงระบุให้ ช. และบริวารอยู่อาศัยในห้องแถวทั้งสี่ห้องจนกว่าจะทรุดโทรมจนอยู่อาศัยไม่ได้ อันเป็นข้อตกลงที่ระบุเงื่อนไขไว้ชัดแจ้งว่า ช. และบริวารสามารถอยู่อาศัยในห้องแถวพิพาทซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินของโจทก์ได้จนกว่าห้องแถวนั้นจะทรุดโทรมประการหนึ่งและการทรุดโทรมนั้นต้องทำให้ไม่สามารถอยู่ในห้องแถวได้อีกประการหนึ่ง เมื่อครบทั้งสองประการดังกล่าว ช. และบริวารจึงจะอยู่อาศัยในที่ดินของโจทก์ต่อไปไม่ได้ต้องออกไปจากที่ดินของโจทก์ ซึ่งเงื่อนไขทั้งสองประการเป็นที่เห็นได้ว่าการทรุดโทรมจนอยู่อาศัยไม่ได้นั้น ไม่อาจกำหนดเวลาได้ว่าจะทรุดโทรมเมื่อใดและเมื่อทรุดโทรมแล้วเมื่อใดจึงจะถือว่าอยู่อาศัยไม่ได้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าบันทึกข้อตกลงเป็นการก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินโดยมีกำหนดเวลา อันจะต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1412 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1403 วรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7778/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์, การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง, และสิทธิภาระจำยอมในที่ดิน
แม้เดิมศาลชั้นต้นจะรับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 19368 ทั้งแปลงโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ก็ตาม แต่ต่อมาวันที่ 14 พฤษภาคม 2541 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งรับฟ้องแย้งดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 และมีคำสั่งใหม่ให้รับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เฉพาะในส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ปลูกบ้านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์เนื้อที่ 60 ตารางวา เท่านั้น ซึ่งคำสั่งดังกล่าวมิใช่คำสั่งระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226 แต่เป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 18 คู่ความสามารถอุทธรณ์ได้ทันทีตามวรรคสุดท้ายของมาตรา 18 โดยต้องอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 227 และ 228 (3) วรรคสอง แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด จำเลยที่ 1 เพิ่งอุทธรณ์เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2543 ล่วงเลยกำหนดเวลาตามกฎหมายเกือบ 2 ปี จำเลยที่ 1 จึงหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์ในปัญหาส่วนฟ้องแย้งที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนแล้ว จึงถือว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ในส่วนที่อ้างว่าได้ครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ทั้งแปลง มิใช่เป็นข้อเท็จจริงที่ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์และฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 249 วรรคหนึ่ง แต่ในส่วนฟ้องแย้งที่จำเลยที่ 1 อ้างว่า ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ของโจทก์ตามที่โจทก์ล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ปลูกบ้านรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์เนื้อที่ 60 ตารางวา โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาโดยชอบในศาลชั้นต้นแล้ว
ที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ของโจทก์ และที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 ของจำเลยที่ 1 อยู่ติดกัน เดิมเป็นที่ดินแปลงเดียวกันคือที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 ซึ่งเดิมเป็นกรรมสิทธิ์ของ จ. บิดาของจำเลยที่ 1 และ ส. และตามที่จำเลยที่ 1 นำสืบมาก็ยอมรับว่าบ้านเลขที่ 38 ที่ปลูกรุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์นั้น จ. บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลูกสร้างขึ้นเมื่อประมาณ 50 ปี มาแล้ว และพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้พร้อมกับบุตรซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 1 ด้วย ตั้งแต่ที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้แบ่งแยกออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 แล้ว จ. จึงยกที่ดินส่วนที่มีบ้านเลขที่ 38 ปลูกอยู่ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อมีการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวออกเป็นที่ดินของจำเลยที่ 1 โฉนดเลขที่ 19367 และที่ดินของโจทก์โฉนดเลขที่ 19368 จึงทำให้บ้านเลขที่ 38 ของจำเลยที่ 1 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ที่โจทก์ได้กรรมสิทธิ์มาจากการรับซื้อฝากจาก ว. หลานของจำเลยที่ 1 ก็หาทำให้จำเลยที่ 1 ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างในฟ้องแย้งไม่ เพราะเห็นได้ว่าเป็นการครอบครองฉันญาติพี่น้องตามที่ครอบครองมาแต่เดิม มิใช่เป็นการแย่งการครอบครองเพื่อเอากรรมสิทธิ์แต่อย่างใด
จำเลยที่ 1 ไม่ได้ปลูกบ้านเลขที่ 38 แต่ จ. บิดาจำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลูกสร้างและอยู่อาศัยมาก่อนในที่ดินโฉนดเลขที่ 1006 ก่อนที่จะมีการแบ่งแยกออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 19368 ซึ่งต่อมาตกเป็นของโจทก์ และที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 ซึ่งเป็นของจำเลยที่ 1 ทำให้บ้านเลขที่ 38 ซึ่งอยู่ในที่ดินของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์เนื้อที่ประมาณ 60 ตารางวา เช่นนี้ จำเลยที่ 1 จึงมิใช่ผู้ปลูกบ้านเลขที่ 38 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ แต่บ้านเลขที่ 38 ปลูกอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนมีการแบ่งแยกโฉนดที่ดินออกเป็นของโจทก์ จึงต้องถือว่าการรุกล้ำดังกล่าวเป็นการปลูกรุกล้ำโดยสุจริต กรณีไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1312 วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาใช้บังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนบ้านเลขที่ 38 ส่วนที่รุกล้ำเข้าไปในที่ดินโจทก์ออกไปจากที่ดินของโจทก์และเรียกค่าเสียหายได้เพราะมิใช่กรณีที่จำเลยทั้งสองกระทำละเมิดต่อโจทก์ โจทก์คงมีสิทธิเรียกค่าใช้ที่ดินและจดทะเบียนสิทธิในที่ดินส่วนที่ปลูกบ้านรุกล้ำเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 19367 ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น แต่เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องโดยใช้สิทธิดังกล่าวบังคับจึงไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ได้รับค่าใช้ที่ดินแก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1723/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ในบ้านที่ปลูกในที่ดินที่ยกให้ผู้อื่น โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องรื้อถอนหากไม่ใช่เจ้าของบ้าน
บ้านพิพาทอยู่ในที่ดินที่ ท. จดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์ให้ ด. บุตรจำเลยโดยมิได้ระบุว่ายกให้แต่ที่ดินมิได้ยกบ้านพิพาทให้ด้วย ด. ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจึงมีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 144 แม้จำเลยจะมีชื่ออยู่ในสำเนาทะเบียนบ้านพิพาทในฐานะเจ้าบ้านก็มิใช่ผู้มีกรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทตามกฎหมาย การที่โจทก์ให้จำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทส่วนที่รุกล้ำออกไปแต่จำเลยมิได้ปฏิบัติตาม โจทก์จึงฟ้องจำเลยไม่ได้ เนื่องจากจำเลยมิได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์บ้านพิพาท แม้จำเลยจะอยู่ในบ้านพิพาทด้วยก็ถือว่าอยู่ในฐานะบริวารของ ด. จำเลยไม่ได้เป็นผู้โต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย และจำเลยก็ไม่มีอำนาจฟ้องแย้งโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 357/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การร่วมกระทำความผิด และการลดโทษจากข้อมูลที่เป็นประโยชน์
แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าได้ชี้เบาะแสและให้ข้อมูลต่อพนักงานสอบสวนว่าซื้อของกลางมาจาก ห. จนทำให้เจ้าพนักงานตำรวจขยายผลเพื่อจับกุม ห. แต่เป็นการตอบคำถามของพนักงานสอบสวนที่ถามว่าซื้อมาจากที่ใดเท่านั้น โดยจำเลยที่ 1 มิได้ให้รายละเอียดถึงสถานที่อยู่ว่าอยู่ที่ใดอันจะทำให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถขยายผลเพื่อทำการจับกุมตัว ห. ได้ ทั้งตามทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่ามีการขยายผลตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง จึงไม่มีเหตุจะลงโทษจำเลยที่ 1 ให้น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำของกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2618/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิและหนี้, การแปลงหนี้, และอายุความฟ้องร้องคดีสัญญาซื้อขาย
คดีล้มละลายเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยว่ามีหนี้สินล้นพ้นตัว ประเด็นมีว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เป็นคนละประเด็นกับคดีนี้ที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ในมูลหนี้ตามสัญญาซื้อขาย จึงไม่ใช่เรื่องเดียวกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง ไม่เป็นฟ้องซ้อน
ข้อตกลงตามสัญญาซื้อขายดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 โอนสิทธิและหน้าที่ในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายที่มีอยู่แก่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 มิใช่เป็นแต่เพียงโอนสิทธิเรียกร้องแก่โจทก์ให้จำเลยที่ 2 เท่านั้น กรณีมิใช่เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่อาจนำ ป.พ.พ. มาตรา 306 มาใช้บังคับได้ แต่การที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำข้อตกลงกันต่อมาว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาซื้อขายดินกันซึ่งเป็นดินแปลงเดียวกับที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายจากโจทก์และจำเลยที่ 2 ได้ขุดดินของโจทก์ไปครบแล้ว จำเลยที่ 2 ยังชำระค่าดินให้แก่โจทก์ไม่ครบ ถือได้ว่าเป็นสัญญาระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ ย่อมมีผลเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ตามมาตรา 350 ซึ่งทำให้หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นอันระงับสิ้นไปตามมาตรา 349 แล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาซื้อขายดิน
of 25