คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 156

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 287 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 811/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และบุกรุก, การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญา, ค่าฤชาธรรมเนียมคดีแพ่ง
จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 ซื้อบ้านเลขที่ 7 ซึ่งมีลักษณะเป็นห้องแถวไม้และใช้ผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านร่วมกันกับบ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 9 - 10 ของโจทก์ร่วม จำเลยทั้งสองต้องการปรับปรุงซ่อมแซมอาคารของจำเลยที่ 1 เพื่อขยายกิจการค้าขายเครื่องสำอาง จึงได้ว่าจ้างให้ ช. ดำเนินการปรับปรุงโดยจำเลยทั้งสองได้ว่าจ้างให้ ช. รื้อผนังอาคารไม้ซึ่งเป็นผนังร่วมทั้งสองด้านโดยพลการโดยไม่ได้ขออนุญาตจากโจทก์ร่วมหรือแจ้งการรื้อถอนผนังอาคารไม้ซึ่งเป็นผนังร่วมทั้งสองด้านให้โจทก์ร่วมทราบก่อนแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการร่วมกันเข้าไปในบ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 9 - 10 ทั้งสองหลังซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 362 และเป็นการเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 364 อีกบทหนึ่งด้วย และเมื่อจำเลยทั้งสองร่วมกระทำผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป การกระทำของจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุกจึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 362 และมาตรา 364
การที่จำเลยทั้งสองว่าจ้างให้ ช. ปรับปรุงอาคารบ้านเลขที่ 7 ของตนด้วยการก่อสร้างเป็นผนังปูนแทนผนังร่วมไม้ทั้งสองด้านโดยต้องรื้อถอนผนังอาคารไม้เดิมซึ่งเป็นผนังร่วมกับอาคารบ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 9 - 10 ของโจทก์ร่วมทั้งสองหลังย่อมเป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งผนังอาคารไม้ทั้งสองด้านของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย จึงเป็นความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 358 อีกบทหนึ่ง
จำเลยทั้งสองร่วมกันว่าจ้างให้ ช. ซ่อมแซมปรับปรุงบ้านเลขที่ 7 ของจำเลยที่ 1 โดยให้รื้อฝาผนังร่วมซึ่งเป็นผนังไม้ทั้งสองด้าน และคอยควบคุมดูแลการก่อสร้างอยู่ตลอด จึงทราบว่าการไม่ฉาบปูนผนังอิฐทางด้านบ้านเลขที่ 5 และเลขที่ 9 - 10 ของโจทก์ร่วมเป็นสาเหตุที่ทำให้มีน้ำรั่วซึมเวลาฝนตก การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการสมคบร่วมกันกระทำการรื้อถอนผนังอาคารร่วมทั้งสองด้านซึ่งโจทก์ร่วมเป็นเจ้าของร่วมด้วย จึงเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดตามมาตรา 83 หาใช่เป็นเพียงผู้ใช้ให้ ช. กระทำความผิดตามมาตรา 84 แห่งประมวลกฎหมายอาญาไม่
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีไม่ใช่ค่าเสียหายโดยตรงที่เกิดจากการที่จำเลยทั้งสองบุกรุกและทำให้บ้านทั้งสองหลังของโจทก์ร่วมเสียหาย ส่วนค่าเสียหายต่อจิตใจที่โจทก์ร่วมเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ ซึ่งก็คือค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินนั้น ป.พ.พ. มาตรา 446 กำหนดให้เรียกร้องได้เฉพาะในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยหรือทำให้เขาเสียเสรีภาพเท่านั้น กรณีความเสียหายต่อทรัพย์สิน มาตรา 446 ดังกล่าวไม่เปิดสิทธิให้แก่ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนต่อจิตใจได้
กรณีผู้เสียหายยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่มีนัยสำคัญบ่งชี้ว่าวิธีพิจารณาคดีส่วนแพ่งเช่นว่านี้ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เช่นเดียวกับคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาทั่วไปดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 นั่นเอง ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจึงอยู่ในบังคับต้องมีคำพิพากษาสั่งในเรื่องความรับผิดในชั้นที่สุดแห่งค่าฤชาธรรมเนียมตาม ป.วิ.พ. มาตรา 161 ประกอบมาตรา 167 ทั้งนี้ เพราะแม้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 253 คำร้องขอตามมาตรา 44/1 ห้ามมิให้เรียกค่าธรรมเนียมก็ตาม แต่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 158 คำว่า "ผู้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมศาล" เป็นบทบัญญัติต่อเนื่องมาจากหลักเกณฑ์การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในการฟ้องหรือต่อสู้คดีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 156 มาตรา 156/1 และมาตรา 157 ก็ตาม แต่ก็ต้องนำมาใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้เสียหายใช้สิทธิตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ตนเองอันเป็นคดีส่วนแพ่ง ซึ่งมาตรา 44/1 วรรคสอง บัญญัติให้ถือว่าคำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ.และผู้เสียหายอยู่ในฐานะโจทก์ในคดีส่วนแพ่งนั้นด้วย ในฐานะที่เป็นกฎหมายใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6062-6063/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายนัดฟังคำสั่งศาลและการชำระค่าธรรมเนียมศาลตามกำหนดเวลา มีผลต่อการรับอุทธรณ์
โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 68 บัญญัติให้ถิ่นอันเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่เป็นภูมิลำเนาของบริษัท โจทก์มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 162/18 หมู่ที่ 10 ตำบลหนองปรือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี แม้โจทก์จะอ้างว่าโจทก์ปิดกิจการไปตั้งแต่ปี 2540 แต่โจทก์ก็อ้างมาในฎีกาว่า โจทก์ยังมิได้จดทะเบียนเลิกบริษัท จึงถือว่าโจทก์ยังคงมีภูมิลำเนาอยู่ที่เดิม ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปิดหมายนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่บ้านหลังดังกล่าวจึงเป็นการส่งที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 74 (2) แล้ว ศาลชั้นต้นหาจำต้องส่งหมายนัดฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้แก่กรรมการผู้จัดการของโจทก์และทนายโจทก์ด้วยไม่
อนึ่ง คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกเว้นค่าธรรมเนียมให้โจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์จำนวน 100,000 บาท ซึ่งเป็นค่าขึ้นศาลสำหรับทุนทรัพย์ 4,000,000 บาท เมื่อโจทก์ไม่นำเงินค่าธรรมเนียมศาลมาชำระต่อศาลชั้นต้นภายใน 15 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ในทุนทรัพย์ที่โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาเท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งหมดจึงเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ในทุนทรัพย์ 4,000,000 บาทนั้น ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3667/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำหนดระยะเวลาอุทธรณ์คำสั่งศาล: คำสั่งที่ไม่ใช่การยกคำร้องขอทำคดีอนาถา ต้องอุทธรณ์ภายใน 1 เดือน
อุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นอุทธรณ์ที่คัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา โดยอ้างว่าผู้ร้องทิ้งคำร้อง คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวมิได้สั่งในเนื้อหาของคำร้องดังกล่าวของผู้ร้องแต่ประการใด จึงมิได้เป็นคำสั่งที่ให้ยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาซึ่งผู้ร้องจะต้องอุทธรณ์ภายใน 7 วัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย แต่คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งที่ผู้ร้องมีสิทธิอุทธรณ์คัดค้านได้ภายในกำหนด 1 เดือน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ประกอบด้วยมาตรา 229 ข้อเท็จจริงได้ความตามท้องสำนวนว่าผู้ร้องทราบคำสั่งยกคำร้องของศาลชั้นต้นดังกล่าวเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2548 ผู้ร้องยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2548 ซึ่งยังไม่พ้นกำหนด 1 เดือน ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะรับอุทธรณ์ของผู้ร้องไว้พิจารณาต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3080/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอดำเนินคดีอนาถาต้องมีเหตุผลสมควรในการอุทธรณ์ มิใช่แค่ยากจน
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคสี่ ที่บัญญัติให้ผู้ขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถามีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้พิจารณาคำขออนาถาของตนใหม่ได้ก็เฉพาะเพื่ออนุญาตให้ผู้ขอนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมในประเด็นที่ว่าผู้ขอเป็นคนยากจนเท่านั้น หาได้ให้สิทธิแก่ผู้ขอที่จะขอให้ศาลพิจารณาใหม่ในประเด็นว่าคดีของผู้ขอมีเหตุอันสมควรจะอุทธรณ์ด้วยไม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองด้วยเหตุผลที่ว่าคดีของจำเลยทั้งสองไม่มีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองมิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายใน 7 วัน ย่อมหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคท้าย ประเด็นที่ศาลชั้นต้นชี้ขาดว่าคดีของจำเลยทั้งสองไม่มีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ย่อมยุติ จำเลยทั้งสองขอให้ศาลพิจารณาคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ในประเด็นดังกล่าวอีกไม่ได้ การที่จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคำขอใหม่ก็ได้แต่เฉพาะประเด็นเรื่องจำเลยทั้งสองเป็นคนยากจนเท่านั้น ส่วนการขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาชั้นอุทธรณ์นั้นนอกจากผู้ขอจะเป็นคนยากจนแล้ว คดีของผู้ขอต้องมีเหตุผลอันสมควรที่จะอุทธรณ์ด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ศาลจะอนุญาตให้จำเลยทั้งสองนำพยานหลักฐานมาสืบเพิ่มเติมก็ตาม คดีก็ต้องฟังตามข้อยุติว่าคดีของจำเลยทั้งสองไม่มีเหตุอันสมควรที่จะอุทธรณ์
การที่ศาลอุทธรณ์มิได้กำหนดเวลาให้จำเลยทั้งสองนำค่าธรรมเนียมมาชำระภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำสั่งของศาลอุทธรณ์ให้จำเลยทั้งสองฟัง ทั้งกำหนดเวลาของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยทั้งสองนำค่าฤชาธรรมเนียมมาชำระได้ล่วงพ้นไปแล้วเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาชอบที่จะกำหนดเวลาให้จำเลยทั้งสองนำค่าธรรมเนียมมาชำระภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาของศาลฎีกาแล้วได้
การดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นไต่สวนอนาถาไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1877/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์อย่างคนอนาถาที่มิได้ปฏิบัติตามกฎหมาย และผลของการไม่ทราบคำสั่งศาล
จำเลยที่ 4 ยื่นคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถา โดยไม่ได้ยื่นอุทธรณ์มาด้วย เป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคหนึ่ง จึงไม่ชอบที่จะรับไว้พิจารณาศาลชั้นต้นสามารถสั่งยกคำร้องได้ทันทีโดยไม่ต้องไต่สวน และไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะกำหนดเวลาให้จำเลยที่ 4 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระเพราะจำเลยที่ 4 มิได้ยื่นอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งยกคำร้องขอให้พิจารณาคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และมีคำสั่งต่อไปว่าหากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ยังติดใจอุทธรณ์ให้นำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระต่อศาลชั้นต้นภายใน 7 วัน นับแต่วันทราบคำสั่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ไม่ไปฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ตามนัด ศาลชั้นต้นจึงอ่านคำสั่งให้ฝ่ายโจทก์ฟังฝ่ายเดียวและถือว่าได้อ่านคำสั่งดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฟังโดยชอบแล้ว ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ทราบคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 ในส่วนที่กำหนดให้นำค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระต่อศาลชั้นต้นด้วย เพราะเป็นคำสั่งต่อเนื่องจากคำสั่งยกคำร้องขอให้พิจารณาคำขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ จึงไม่มีเหตุที่ศาลชั้นต้นจะต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นำเงินค่าธรรมเนียมศาลชั้นอุทธรณ์มาชำระอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1629/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องดำเนินคดีอนาถา: ศาลมีดุลพินิจไม่อนุญาตนำสืบพยานหลักฐานเพิ่มเติมหากไม่เปลี่ยนแปลงผลคำวินิจฉัย
โจทก์ยื่นคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ยังพอมีฐานะ มิได้ยากจนจริง ยกคำร้องโจทก์มิได้อุทธรณ์ การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลอนุญาตให้โจทก์นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าเป็นคนยากจนโดยอ้างว่าโจทก์มีฐานะยากจนลงกว่าเดิมเนื่องจากไม่อาจขอความช่วยเหลือเรื่องค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมศาลจากบุตรคนโตได้ และโจทก์มีภาระเพิ่มมากขึ้นจากการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งพยานหลักฐานที่จะนำมาแสดงเพิ่มเติมเป็นพยานหลักฐานใหม่ที่ยังไม่ได้นำมาสืบและข้อเท็จจริงบางส่วนเพิ่งปรากฏขึ้นภายหลังนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ประสงค์จะนำพยานหลักฐานมานำสืบหักล้างข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบไว้เดิม ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยชี้ขาดและเป็นยุติแล้ว จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้โจทก์นำพยานหลักฐานดังกล่าวมาสืบ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคสี่ ไม่ได้บังคับว่าเมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขออนุญาตให้ผู้ร้องนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าเป็นคนยากจนศาลจะต้องอนุญาตและทำการไต่สวน จึงเป็นดุลพินิจของศาลที่จะสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตก็ได้แล้วแต่พฤติการณ์แห่งคดี ดังนั้นเมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่ากรณีตามคำร้องของโจทก์ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลได้ก็ชอบที่จะยกคำร้องของโจทก์เสียได้โดยไม่จำต้องมีคำสั่งรับคำร้องของโจทก์ไว้ดำเนินการไต่สวนก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1072/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตอุทธรณ์แบบอนาถา ต้องยื่นภายใน 7 วัน หากเกินกำหนดเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอให้พิจารณาคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาใหม่ของจำเลยโดยเห็นว่าจำเลยมิใช่คนยากจนไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะเสียค่าธรรมเนียมศาลและไม่อนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 156 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1070-1071/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถา: ระยะเวลาการยื่นคำร้อง และการพิจารณาจากทรัพย์สินที่มีอยู่
บริษัทจำเลยที่ 1 มีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท มีเงินสดและเงินฝากธนาคาร 12,585.10 บาท ทั้งยังมีสินทรัพย์เป็นสินค้าคงเหลือจำนวน 38,124,414.13 บาท จำเลยที่ 1 ยังมีเครดิตขอกู้ยืมเงินได้อีกและมีทรัพย์จำนองในคดีนี้เป็นหลักประกันจึงไม่พอให้รับฟังว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีทรัพย์สิน การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่อ้างว่าสินทรัพย์ที่เป็นสินค้าคงเหลือ เป็นมูลค่าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ติดจำนองไว้กับโจทก์ ไม่สามารถจำหน่ายจ่ายโอนให้แก่บุคคลภายนอกจึงไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินมาวางศาลเป็นค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ได้ และทรัพย์จำนองมีมูลค่าต่ำกว่าหนี้เงินกู้ จำเลยที่ 1 พยายามติดต่อขอกู้เงินจากสถาบันการเงินอยู่ เป็นการคัดค้านข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยโดยคำสั่งหลังเสร็จการไต่สวนแล้ว หากจำเลยที่ 1 ไม่เห็นด้วยและประสงค์จะคัดค้านโดยการอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น มิใช่โดยการยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 2 ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์ และให้จำเลยที่ 2 นำเงินค่าธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์มาวางศาลภายในวันที่ 6 มกราคม 2547 จำเลยที่ 2 ย่อมมีสิทธิดำเนินการเพื่อให้ศาลรับอุทธรณ์ของตนได้ คือนำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระเสียภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดกรณีหนึ่ง หรือยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา156 วรรคสี่ อีกกรณีหนึ่ง แม้กฎหมายมาตราดังกล่าวไม่ได้กำหนดระยะในการยื่นคำร้องขอไว้ แต่เมื่อการใช้สิทธิดำเนินการในกรณีแรกคือนำเงินค่าธรรมเนียมมาชำระต้องนำมาชำระภายในวันที่ 6 มกราคม 2547 การใช้สิทธิดำเนินการในกรณีหลัง ก็ต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาคำขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ภายในวันที่ 6 มกราคม 2547 เช่นเดียวกัน เพราะเป็นการใช้สิทธิเพื่อให้ศาลรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 เหมือนกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 474/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไม่วางค่าขึ้นศาลทำให้คำร้องขอทำคดีอนาถาเป็นอันตก และอุทธรณ์ไม่อาจพิจารณาได้
จำเลยอุทธรณ์พร้อมกับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาวางเงินค่าขึ้นศาล ศาลชั้นต้นอนุญาต แต่จำเลยไม่วางเงินภายในกำหนด หลังจากนั้นจำเลยยื่นคำร้องขอดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องพร้อมกับมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ แต่มิได้ดำเนินการทำให้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์เป็นที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง และมาตรา 234 เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยไม่อาจขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ได้แล้ว จำเลยก็ไม่อาจขอดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์อย่างคนอนาถาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 473/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการขอพิจารณาคำขออุทธรณ์ใหม่ vs. การอุทธรณ์คำสั่งศาล - เลือกใช้สิทธิทางกฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขออุทธรณ์อย่างคนอนาถาของจำเลย หากจำเลยไม่พอใจย่อมมีสิทธิที่จะดำเนินการตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคสี่ หรือวรรคห้าโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลให้พิจารณาคำขอนั้นใหม่เพื่ออนุญาตให้นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าตนเป็นคนยากจน หรืออุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ซึ่งแม้มีสิทธิที่จะเลือกดำเนินกระบวนพิจารณาเช่นนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งได้ แต่เมื่อจำเลยได้เลือกอุทธรณ์คำสั่งตามมาตรา 156 วรรคห้าแล้ว จำเลยจะกลับมาขอให้ศาลพิจารณาคำขอนั้นใหม่เพื่ออนุญาตให้จำเลยนำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าตนเป็นคนยากจนตามมาตรา 156 วรรคสี่ อีกไม่ได้
of 29