คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประพันธ์ ทรัพย์แสง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 352 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8649/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคิดดอกเบี้ยชดเชยเวนคืนที่ดินตามอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมสินแบบผันแปรตามช่วงเวลา
ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ที่ 1 ในอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี ซึ่งหมายความว่า ต้องคิดดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยที่มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงในแต่ละช่วงตลอดเวลา หาใช่คิดดอกเบี้ยในอัตราเดียวตลอดไปจนครบ 12 เดือนไม่ เพราะมิฉะนั้นแล้วหากในช่วงเวลาดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยขึ้นลงก็จะมีการได้เปรียบเสียเปรียบกันของคู่ความทั้งสองฝ่ายในส่วนต่างของดอกเบี้ยในอัตราที่เพิ่มขึ้นหรือลดลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7890/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการได้รับเงินค่าทดแทนเวนคืน กรณีจำเลยจ่ายเงินให้บุคคลอื่นที่ไม่ใช่เจ้าของ
โจทก์มิได้โต้แย้งจำนวนเงินค่าทดแทนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินที่ถูกเวนคืน หากแต่โต้แย้งว่า โจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินค่าทดแทนโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง มิใช่บุคคลที่จำเลยทั้งสองได้จ่ายเงินค่าทดแทนให้ไป จึงไม่ใช่กรณีตามมาตรา 25 และ 26 ของ พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 และกรณีนี้ไม่มี บทบัญญัติกฎหมายใดที่ให้โจทก์ต้องอุทธรณ์ต่อรัฐมนตรีฯ ก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลได้ เมื่อการกระทำของ จำเลยทั้งสองเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง
ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 มาตรา 18 (2) ให้กำหนดเงินค่าทดแทนแก่เจ้าของโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่รื้อถอนไม่ได้ ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงต้องจ่ายเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างส่วนที่เป็นของโจทก์ให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของ ที่จำเลยทั้งสองจ่ายเงินค่าทดแทนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่ ม. ซึ่งไม่ใช่ เจ้าของจึงไม่ชอบ
โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองประวิงคดี การต่อสู้คดีของจำเลยทั้งสองไม่มีความสุจริต ขอให้จำเลยทั้งสอง ชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (6) นั้น เห็นว่าปัญหานี้โจทก์เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7280/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอดำเนินคดีอนาถาซ้ำ: ศาลไม่อนุญาตหากเคยมีคำสั่งยกคำร้องและไม่ได้อุทธรณ์
หลังจากที่ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาของโจทก์แล้ว โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ เพื่ออนุญาตให้โจทก์นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมว่าโจทก์เป็นคนยากจนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 156 วรรคสี่ ศาลชั้นต้นเห็นว่าไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้โจทก์นำพยานหลักฐานมาแสดงเพิ่มเติมอีก ยกคำร้องขอให้พิจารณาคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่ฉบับนี้ โจทก์ชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ แต่โจทก์ไม่อุทธรณ์ กลับมายื่นคำร้องขอให้พิจารณาคำร้องขอดำเนินคดีอย่างคนอนาถาใหม่อีกครั้ง จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7270/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาที่ภูมิลำเนาทนายจำเลยที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยพิจารณาจากสถานที่ทำงานตามตำแหน่งหน้าที่
การที่ทนายจำเลยซึ่งเป็นพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดสีคิ้วได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการที่สำนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา แม้ยังต้องถือว่าทนายจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ที่สำนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดสีคิ้ว เพราะเป็นที่ทำการตามตำแหน่งหน้าที่ มิใช่ที่สำนักงานอัยการจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นเพียงถิ่นอันเป็นที่ทำการชั่วคราว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 46 ก็ตาม แต่คำร้องของทนายจำเลยอ้างด้วยว่า เจ้าพนักงานศาลให้ นาย อ. พนักงานอัยการสำนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดสีคิ้วรับหมายนัดไว้แทนทนายจำเลย ในขณะที่นาย อ. ไปที่ศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานศาลมิได้ไปส่งหมายนัดที่สำนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดสีคิ้ว หากข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องของทนายจำเลยดังกล่าว การส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้แก่ทนายจำเลยย่อมถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งหมาย ณ ภูมิลำเนาของทนายจำเลยและมีผู้รับแทนโดยชอบ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่ง หรือเป็นการส่งคำคู่ความที่ได้กระทำในศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 77 (2) ศาลชั้นต้นชอบที่จะไต่สวนให้ได้ความว่าเจ้าพนักงานศาลไปส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลชั้นต้นแก่ทนายจำเลย และนาย อ. รับไว้แทนที่สำนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดสีคิ้วหรือไม่ ก่อนมีคำสั่งยกคำร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7003/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ วิวาทซึ่งกันและกัน-อำนาจฟ้อง-ผู้เสียหายโดยนิตินัย-ความสมัครใจ
การที่โจทก์กับจำเลยที่ 2 เคยมีข้อพิพาททั้งทางแพ่งและอาญามาก่อน ในวันเกิดเหตุ โจทก์ยังเป็นฝ่ายด่าว่ายกมือไหว้สาปแช่งจำเลยที่ 2 จนเกิดการทำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน ย่อมฟังได้ว่าเป็นการที่ต่างสมัครใจเข้าวิวาทกัน โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 28

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6597-6598/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดินและการคำนวณดอกเบี้ยค่าทดแทน กรณีพระราชกฤษฎีกาหมดอายุ
ขณะที่ออก พ.ร.บ. เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างทางพิเศษสายบางซื่อ - หัวลำโพง - พระโขนง ? พ.ศ. 2540 เวนคืนที่ดินของโจทก์นั้น พระราชกฤษฎีกาฯ ที่กำหนดให้ที่ดินของโจทก์อยู่ในบริเวณที่ที่จะต้องเวนคืนหมดอายุบังคับใช้ไปแล้ว กรณีนี้ต้องถือว่าเป็นการใช้บังคับ พ.ร.บ. เวนคืนอสังหาริมทรัพย์โดยมิได้มีการออก พระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เข้ากรณีตามมาตรา 23 ซึ่งมาตรา 23 ประกอบมาตรา 28 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้เจ้าหน้าที่เวนคืนจ่ายเงินค่าทดแทนแก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ภายในระยะเวลาที่กำหนดซึ่งต้องไม่เกิน 120 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการได้กำหนดเงินค่าทดแทนแล้ว วันที่ช้าที่สุดเจ้าหน้าที่เวนคืนจะต้องจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์คือวันที่ครบกำหนด 120 วัน นับแต่วันที่คณะกรรมการได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ วันดังกล่าวจึงเป็นวันที่ต้องมีการจ่ายเงินค่าทดแทนตามมาตรา 26 วรรคท้าย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยนับแต่วันดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4887/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิซื้อคืนที่นาหลังการโอนโดยไม่ชอบตาม พ.ร.บ.เช่าที่ดินฯ ราคาซื้อขายเป็นธรรม และกรอบระยะเวลาชำระราคา
โจทก์เป็นผู้เช่านา เมื่อผู้ให้เช่าโอนขายที่นาที่เช่าให้แก่จำเลยทั้งสองโดยฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524 มาตรา 53 วรรคหนึ่ง โจทก์ย่อมมีสิทธิซื้อที่นาคืนจากจำเลยทั้งสองได้ตามมาตรา 54 วรรคหนึ่ง ของ พ.ร.บ. ดังกล่าว การที่โจทก์และสามีโจทก์มีอายุมากแล้วกับได้ให้บุตรเขยทำนาแทนหรือใกล้จะเลิกทำนา ไม่เป็นข้อที่จะทำให้จำเลยทั้งสองยกขึ้นอ้างเพื่อปฏิเสธการขายที่นาคืนแก่โจทก์ ทั้งไม่พอฟังว่าโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 กำหนดเวลาให้โจทก์ต้องชำระราคาภายใน 6 เดือน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 มิฉะนั้นให้ถือว่าโจทก์ไม่ติดใจขอซื้อที่นาคืนนั้น ก็เพื่อให้การบังคับตามคำพิพากษามีผลสมบูรณ์ กรณีเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์มิได้มีคำขอ ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) จึงมิใช่เรื่องนอกฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4767/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการเพิกถอนคำสั่งรับคำฟ้องที่ฟุ่มเฟือยหรือไม่ชัดเจน แม้ผู้พิพากษาที่ออกคำสั่งจะเปลี่ยนไป
แม้ศาลจะมีคำสั่งรับคำฟ้องซึ่งถือว่าเป็นคำคู่ความแล้ว แต่เมื่อศาลตรวจพบว่าคำฟ้องฟุ่มเฟือย ไม่ชัดเจน ศาลก็มีอำนาจเพิกถอนคำสั่งเดิมที่ให้รับคำฟ้องไปแล้วได้เพราะถือได้ว่าเป็นการเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27
ในการเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามมิให้ผู้พิพากษาคนอื่นที่มีอำนาจในการพิจารณาคดีมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งของผู้พิพากษาคนก่อน ๆ ที่ไม่ได้พิจารณาคดีแล้ว ดังนั้น แม้เป็นผู้พิพากษาคนอื่นแต่มีอำนาจในการพิจารณาคดีสำนวนนั้น ก็ย่อมมีอำนาจในการเพิกถอนคำสั่งหรือการพิจารณาที่ผิดระเบียบของผู้พิพากษาคนก่อน ๆ ที่ไม่มีอำนาจในการพิจารณาคดีแล้ว และไม่เป็นการทำลายหลักความเป็นอิสระของผู้พิพากษา แต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4314/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร่วมกันลักทรัพย์: การพิสูจน์เจตนาและความผิดฐานร่วมกัน vs. ความผิดฐานเฉพาะ
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 ฐานร่วมกันลักทรัพย์ในเคหสถานตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) และ (8) เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มิได้ร่วมกระทำความผิดด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 ย่อมไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ตั้งแต่สองคนขึ้นไปตาม ป.อ. มาตรา 335 (7) แต่เป็นการกระทำความผิดเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา 335 (8) วรรคแรก โดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดหรือการพาทรัพย์นั้นไปตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ ที่ศาลชั้นต้นปรับบทเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 เป็นการไม่ถูกต้อง และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่แก้ไขก็เป็นการไม่ชอบ กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4275/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นในคดีเวนคืนที่ดิน ต้องคำนึงถึงเนื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนจริง และสิทธิที่โจทก์มีตามจริง
โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเนื้อที่ 49.60 ตารางวา และมีคำขอให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มแก่โจทก์ตามจำนวนเนื้อที่ดังกล่าว จำเลยให้การว่า ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเนื้อที่เพียง 44.60 ตารางวาเท่านั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มแก่โจทก์อีกตารางวาละ 5,000 บาท จากเนื้อที่ 49.60 ตารางวา จำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเนื้อที่เพียง 44.60 ตารางวาเท่านั้น จึงมีปัญหาในชั้นศาลอุทธรณ์ว่า ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเนื้อที่เท่าใด เมื่อศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า ที่ดินของโจทก์ถูกเวนคืนเนื้อที่จริงเพียง 44.60 ตารางวา แต่เห็นว่าอัตราเงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลชั้นต้นเพิ่มให้แก่โจทก์เป็นตารางวาละ 30,000 บาท นั้นเหมาะสมแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินทั้งสิ้นจำนวน 1,338,000 บาท เมื่อโจทก์ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินไปแล้วจำนวน 1,240,000 บาท โจทก์จึงยังคงมีสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 98,000 บาท เท่านั้น ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเสียให้ถูกต้องได้ โดยจำเลยไม่จำต้องมีคำขอให้โจทก์คืนเงินค่าทดแทนที่ดินที่ได้รับไปแล้วหรือขอให้หักเงินค่าทดแทนที่ดินที่รับไปแล้วออกจากเงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลพิพากษาเพิ่มให้ เพราะศาลอุทธรณ์ต้องพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินเพิ่มแก่โจทก์จากเนื้อที่ที่ถูกเวนคืนจริงตามที่โจทก์มีสิทธิจะได้รับเท่านั้น คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวเป็นการพิพากษาไปตามประเด็นแห่งคดีไม่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
of 36