คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 208

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 222 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 111-112/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของผู้เช่าซื้อ: ศาลฎีกายกคำพิพากษาเดิม สั่งย้อนสำนวนเพื่อพิจารณาความสัมพันธ์นิติสัมพันธ์และเจตนาของผู้เช่าซื้อ
การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า โจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยไม่มีอำนาจร้องทุกข์ โดยอาศัยข้อเท็จจริงเพียงว่าโจทก์ร่วมมิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันพิพาท ไม่ชอบที่จะนำรถออกให้จำนำได้ โดยมิได้รับฟังข้ออ้างข้อเถียงของคู่ความถึงนิติสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างกัน จึงเป็นการด่วนวินิจฉัยข้อกฎหมายจากการฟังข้อเท็จจริงที่ยังไม่สิ้นกระแสความ เห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1132/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ไม้แปรรูปหวงห้าม การพิสูจน์ไม้เก่าที่เคยเป็นสิ่งปลูกสร้าง และการรอการลงโทษ
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เป็นเรื่องที่กฎหมายกําหนดให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิพากษาไปโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไป มิได้หมายความว่าเมื่อจําเลยให้การรับสารภาพแล้วจะต้องพิพากษาลงโทษจําเลยเสมอไป คดีอาญาไม่ว่าจําเลยจะให้การเช่นใด ก็เป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาเสมอว่าจําเลยได้กระทำความผิดจริงหรือไม่ ถ้าศาลเห็นว่าจําเลยมิได้กระทำความผิดหรือการกระทำของจําเลยไม่เป็นความผิด ศาลย่อมพิพากษายกฟ้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง หรือหากศาลเห็นว่าสมควรให้มีการสืบพยานหลักฐานก่อนมีคําพิพากษาก็เป็นอำนาจของศาลที่จะมีคำสั่งเช่นนั้นได้ ประกอบขณะคดีนี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2562 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 106/2557 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน ซึ่งตามบทบัญญัติมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 (ที่แก้ไขใหม่) มีผลต่อการวินิจฉัยของศาลว่า ไม้ของกลางยังคงเป็นไม้หวงห้ามหรือไม่ ซึ่งหากไม่เป็นไม้หวงห้าม การกระทำของจําเลยก็ย่อมไม่เป็นความผิดอีกต่อไป ศาลอุทธรณ์ภาค 8 จึงมีอำนาจที่สั่งให้ศาลชั้นต้นทำการไต่สวนพยานโจทก์และพยานจําเลยในประเด็นว่าไม้ของกลางเป็นไม้หวงห้ามหรือไม่ ได้ตาม ป.วิ.อ มาตรา 208 (1) ทั้ง พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ. 2559 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้อำนาจศาลที่จะนําข้อเท็จจริงที่ปรากฏในรายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยที่พนักงานคุมประพฤติส่งศาลมาประกอบการพิจารณาพิพากษาหรือเพื่อประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษที่จะลงแก่จําเลย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 สั่งให้ศาลชั้นต้นทำการสืบเสาะและพินิจจําเลยก่อนมีคําพิพากษา และพิจารณารายงานการสืบเสาะและพินิจแล้วเห็นว่าข้อเท็จจริงไม่แน่ชัดว่าไม้ของกลางยังเป็นไม้หวงห้ามต่อไปหรือไม่ จึงมีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นสืบพยานเพิ่มเติมในประเด็นถึงแหล่งที่มาของไม้ของกลาง แล้วนําข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบพยานหลักฐานของโจทก์และจําเลยมาเป็นพยานหลักฐานในการวินิจฉัยคดี จึงไม่ขัดต่อ ป.วิ.อ. และ พ.ร.บ.คุมประพฤติ พ.ศ. 2559 ดังกล่าว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยฐานมีไม้จําปา ไม้ตาเสือและไม้หยีแปรรูปอันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. เกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตร ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีคําขอให้ลงโทษจําเลยตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48, 73 จําเลยต่อสู้ว่าไม้แปรรูปของกลางส่วนที่เป็นไม้ใหม่เป็นไม้ที่ตัดมาจากที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ข ส่วนที่เป็นไม้เก่าได้มาจากการรื้อบ้านหลังเก่าที่ปลูกสร้างมาประมาณ 30 ปี เมื่อจําเลยให้การต่อสู้ดังกล่าว จําเลยจึงต้องนําสืบให้เห็นว่าไม้แปรรูปของกลางที่เป็นไม้ใหม่ ไม่ใช่ไม้หวงห้ามจึงจะเข้าข้อยกเว้นตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 50 (4) ส่วนไม้ของกลางที่เป็นไม้เก่าไม่ใช่ไม้แปรรูปตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4 (4) ซึ่งในประเด็นไม้แปรรูปที่เป็นไม้ใหม่นั้น จําเลยและ อ. ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้ขายไม้แปรรูปของกลางให้แก่จําเลยเบิกความแต่เพียงลอย ๆ ว่า ไม้แปรรูปของกลางตัดมาจากที่ดินที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินซึ่งมีหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินแบบ ส.ป.ก. 4-01 ข โดยไม่มีข้อเท็จจริงใดมานําสืบสนับสนุนให้เห็นเช่นนั้น ทั้งภาพถ่ายที่จําเลยอ้างไม่ปรากฏตอไม้ที่จะบ่งชี้ถึงที่มาของไม้แปรรูปของกลาง และบางภาพปรากฏว่าเป็นต้นไม้ที่ถูกโค่นใหม่ ยังไม่มีการแปรรูปใด ๆ ทำให้เชื่อได้ว่ามีการโค่นต้นไม้ดังกล่าวภายหลังจากจําเลยถูกดำเนินคดีนี้แล้ว จึงยังฟังไม่ได้ว่าไม้แปรรูปของกลางที่เป็นไม้ใหม่ได้มาจากไม้ที่ปลูกขึ้นในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ข ดังนั้น จึงต้องฟังว่าจําเลยมีไม้แปรรูปหวงห้ามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต สำหรับไม้ของกลางที่เป็นไม้เก่าเป็นไม้ที่รื้อมาจากบ้านหลังเก่าของจําเลย ซึ่งตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4 (4) วรรคสอง แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 31/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ บัญญัติว่า "ไม้ที่อยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างหรืออยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้ ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่อยู่ในสภาพเช่นนั้น รวมทั้งไม้ที่เคยอยู่ในสภาพดังกล่าว และผู้ครอบครองพิสูจน์ได้ว่าได้เคยมีสภาพเช่นนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีสำหรับไม้อื่นที่มิใช่ไม้สัก และไม่น้อยกว่าสิบปีสำหรับไม้สัก มิให้ถือว่าเป็นไม้แปรรูป" ความในวรรคนี้มีความหมายว่า ไม้ที่มิให้ถือว่าเป็นไม้แปรรูปนั้นแยกได้เป็นสองอย่าง คือ ไม้ที่อยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างหรืออยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้ ทั้งนี้ ตลอดเวลาที่อยู่ในสภาพเช่นนั้นอย่างหนึ่ง กับไม้ที่เคยอยู่ในสภาพดังกล่าว คือเคยเป็นสิ่งปลูกสร้างหรือเคยเป็นเครื่องใช้มาแล้วและผู้ครอบครองพิสูจน์ได้ว่าเคยมีสภาพเช่นนั้นมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีสำหรับไม้อื่นที่ไม่ใช้ไม้สัก และสิบปีสำหรับไม้สักอีกอย่างหนึ่ง ตามความในกฎหมายดังกล่าว ผู้ครอบครองจะต้องพิสูจน์แต่เฉพาะกรณีที่ไม้นั้นมิได้อยู่ในสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างหรือมิได้อยู่ในสภาพเป็นเครื่องใช้แต่กล่าวอ้างว่าเคยมีสภาพเช่นนั้นมาแล้วเท่านั้น ข้อความที่ว่า "รวมทั้งไม้ที่เคยอยู่ในสภาพดังกล่าว และผู้ครอบครองพิสูจน์ได้ว่าเคยมีสภาพเช่นนั้นมาแล้ว" ย่อมแสดงชัดว่าในปัจจุบันไม้มิได้อยู่ในสภาพเช่นนั้นแล้ว โดยมีระยะเวลาไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด คือ ห้าปีสำหรับไม้อื่นที่ไม่ใช่ไม้สัก และสิบปีสำหรับไม้สัก ดังนั้นไม้ของกลางที่เป็นไม้เก่านี้เป็นไม้ที่เคยอยู่ในสภาพสิ่งปลูกสร้างมาก่อน จึงมิใช่ไม้แปรรูปตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4 (4) การที่จําเลยมีไม้ของกลางในส่วนที่เป็นไม้เก่าไว้ในครอบครองจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48, 73 เมื่อไม้ของกลางที่อยู่ในความครอบครองของจําเลยมีทั้งไม้แปรรูปที่เป็นไม้หวงห้าม กับไม้ที่มีไว้ในครอบครองได้โดยไม่เป็นความผิด ซึ่งในส่วนของไม้แปรรูปของกลางที่เป็นไม้หวงห้ามนั้น เมื่อพิจารณาจากภาพถ่ายที่โจทก์นําสืบมีจำนวนค่อนข้างมาก จําเลยเองก็ให้การไว้ในรายงานการสืบเสาะและพินิจจําเลยว่า ร. ไม่ทราบชื่อสกุล นําไม้จําปาแปรรูปจำนวน 50 แผ่น ไม้ตาเสือแปรรูปจำนวน 20 แผ่น และไม้หยีแปรรูปจำนวน 20 แผ่น มาขายให้แก่จําเลย ไม้แปรรูปของกลางที่เป็นไม้ใหม่จึงย่อมต้องมีปริมาตรเกินกว่า 0.20 ลูกบาศก์เมตร แต่เมื่อไม่ได้ความชัดว่าปริมาตรเกิน 2 ลูกบาศก์เมตร หรือไม่ ก็ต้องฟังในทางที่เป็นคุณแก่จําเลยว่า จําเลยมีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตไม่เกิน 2 ลูกบาศก์เมตร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3515/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งคำร้องเพิ่มเติมหลังศาลอุทธรณ์พิพากษา และประเด็นความผิดฐานบุกรุกโดยใช้กำลัง
ตราบใดที่ศาลชั้นต้นยังไม่ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ให้คู่ความฟัง ก็ต้องถือว่าคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ศาลชั้นต้นจะต้องส่งคำร้องของจำเลยที่ขอแถลงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณา การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่ส่งคำร้องดังกล่าวไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 9 เป็นการไม่ชอบ
คำร้องของจำเลยเป็นการร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิจารณาพิพากษาแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้นโดยยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ เพื่อเป็นเหตุเพิ่มเติมในการขอให้รอการลงโทษแก่จำเลย อันเป็นการเพิ่มเติมจากที่อุทธรณ์ไว้ มีลักษณะเป็นการขอแก้ไขเพิ่มเติมอุทธรณ์ซึ่งพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมายแล้ว จึงไม่อาจอนุญาตตามคำร้องขอได้ แต่ควรให้รับไว้เป็นคำแถลงการณ์ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 205
จำเลยบุกรุกเข้าไปในเคหสถานที่อยู่อาศัยของโจทก์ร่วม แล้วจึงใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ร่วม เป็นการบุกรุกโดยมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อจะเข้าไปใช้กำลังประทุษร้ายโจทก์ร่วมเท่านั้น เมื่อจำเลยไม่ได้ใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อที่จะบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของโจทก์ร่วม การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย ตาม ป.อ. มาตรา 365 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพและหน้าที่การสืบพยานประกอบ, การลดโทษ, และการริบของกลางในคดีปลอมแปลงเงินตรา
แม้ศาลชั้นต้นนำแบบพิมพ์คำให้การจำเลย (คดีรับสารภาพไม่ต้องสืบพยาน) มาใช้ แต่ตามรายงานกระบวนพิจารณาที่อยู่ด้านหลังแบบพิมพ์ ปรากฏว่าจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โจทก์และจำเลยแถลงไม่สืบพยาน คดีเสร็จการพิจารณาให้รอฟังคำพิพากษาวันนี้ โดยโจทก์จำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวแล้ว ซึ่งหากโจทก์เห็นว่าการที่จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์จะต้องสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 240 โจทก์ก็ชอบที่จะคัดค้านหรือแถลงขอสืบพยานโจทก์ต่อไป เมื่อโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่จะให้ศาลฟังลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้ ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชอบแล้ว คดีจึงไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 240 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5584/2562 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพจำเลยและการพิจารณาคดีอาญา ศาลต้องตรวจสอบพยานหลักฐานแม้จำเลยรับสารภาพ และการลดโทษที่เหมาะสม
แม้ศาลชั้นต้นจะนำแบบพิมพ์คำให้การจำเลย (คดีรับสารภาพไม่ต้องสืบพยาน) มาใช้แต่ก็ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่อยู่ด้านหลังแบบพิมพ์คำให้การดังกล่าวว่า นัดสอบคำให้การวันนี้ โจทก์และจำเลยมาศาล ก่อนเริ่มพิจารณาศาลสอบถามจำเลยเรื่องทนายความแล้ว จำเลยแถลงว่าไม่มีและไม่ต้องการทนายความ อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โจทก์และจำเลยแถลงไม่สืบพยาน คดีเสร็จการพิจารณาให้รอฟังคำพิพากษาวันนี้ และได้อ่านคำพิพากษาให้โจทก์จำเลยฟังในวันนั้นเอง โดยโจทก์จำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวแล้ว ดังนี้ หากโจทก์เห็นว่าการที่จำเลยให้การรับสารภาพ แล้วโจทก์จะต้องสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 240 โจทก์ก็ชอบที่จะคัดค้านหรือแถลงขอสืบพยานโจทก์ต่อไป เมื่อโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่จะให้ศาลฟังลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้ ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชอบแล้วคดีจึงไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานทำปลอมขึ้นซึ่งเงินตราเพื่อให้เป็นธนบัตรซึ่งรัฐบาลออกใช้ตาม ป.อ. มาตรา 240 โดยใช้เครื่องพิมพ์ของกลางพิมพ์ธนบัตรปลอมออกมา เครื่องพิมพ์ของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด เมื่อศาลพิพากษาว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดฐานดังกล่าว และเครื่องพิมพ์ของกลางมิใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าผู้ใดมีไว้เป็นความผิด ศาลย่อมไม่มีอำนาจสั่งริบให้ได้ตาม ป.อ. มาตรา 32 จึงให้คืนแก่เจ้าของ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8845/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์จำเลยครบถ้วน ถือเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. ศาลฎีกายกคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยส่งให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษาโดยชอบแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย คงวินิจฉัยเฉพาะอุทธรณ์ของโจทก์ ถือว่าศาลอุทธรณ์ภาค 6 มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. ว่าด้วยการพิจารณาและพิพากษา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคสอง, 186 (6) (8) เห็นควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ปฏิบัติให้ถูกต้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6043-6044/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การส่งสำเนาอุทธรณ์ที่ไม่ถูกต้องและการดำเนินการพิจารณาใหม่ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ได้ความตามคำเบิกความของจำเลยประกอบทะเบียนบ้าน และสัญญาเช่าทรัพย์สินว่า จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 55/22 ตรอกวัดใหญ่ศรีสุพรรณ ถนนอินทรพิทักษ์ แขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร ซึ่งสามารถเดินทางไปบ้านดังกล่าวได้ แต่การส่งสำเนาอุทธรณ์เพื่อให้จำเลยแก้อุทธรณ์ ระบุบ้านที่อยู่ของจำเลยเป็นแขวงบางยี่เรือ ซึ่งเป็นการระบุตามที่ปรากฏในฟ้อง และไม่มีการระบุตรอก เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ส่งหมายส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยไม่ได้เนื่องจากหาไม่พบ กรณีดังกล่าวเป็นการผิดหลงในเรื่องภูมิลำเนาของจำเลย อย่างไรก็ตาม จำเลยแต่งตั้งทนายความเข้ามาต่อสู้คดีตั้งแต่ชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยไม่ได้ ศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะสั่งให้ส่งสำเนาอุทธรณ์ให้ทนายจำเลยแทน แต่ศาลชั้นต้นสั่งให้รีบส่งสำนวนไปศาลอุทธรณ์ จำเลยจึงไม่มีโอกาสแก้อุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้เพิกถอนเฉพาะการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เท่านั้น โดยมิได้พิจารณาสั่งเรื่องการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยว่าชอบหรือไม่ คำสั่งศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ชอบ แม้มีการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้จำเลยฟังใหม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ดังกล่าวก็เป็นการพิจารณาพิพากษาโดยมิชอบด้วยเช่นกัน กรณีมีเหตุสมควรให้ดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2) ประกอบมาตรา 225 และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ของจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9082/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจอุทธรณ์ของผู้รับรองหลักทรัพย์สัญญาประกัน และเหตุลดค่าปรับ
ป.วิ.อ. มาตรา 119 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่เห็นสมควรโดยมิต้องฟ้อง เมื่อศาลมีคำสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด" จำเลยที่ 1 กับผู้ร้องมีนิติสัมพันธ์ระหว่างกันตามสัญญาประกันภัยในฐานะผู้เอาประกันกับผู้รับประกัน จำเลยที่ 1 ทำสัญญาประกันขอปล่อยชั่วคราวโดยใช้หนังสือรับรองของผู้ร้องเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หนังสือรับรองดังกล่าวระบุว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาประกัน และศาลมีคำสั่งบังคับตามสัญญาประกัน ผู้ร้องตกลงชำระค่าปรับตามสัญญาประกันถือได้ว่าผู้ร้องเกี่ยวข้องกับสัญญาประกันในฐานะผู้รับรองหลักทรัพย์ตามสัญญาประกัน ผู้ร้องจึงเป็นฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันตามความหมายของบทกฎหมายข้างต้น และมีอำนาจยื่นอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า ผู้ร้องไม่ใช่คู่สัญญาประกันไม่มีอำนาจยื่นอุทธรณ์แล้วพิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ร้องมานั้น เป็นการวินิจฉัยเรื่องอำนาจฟ้อง ไม่ใช่การใช้ดุลพินิจวินิจฉัยในเนื้อหาของการลดค่าปรับตามสัญญาประกัน คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงไม่เป็นที่สุด
จำเลยที่ 1 ไม่มาศาลในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 8 มิถุนายน 2549 ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับจำเลยที่ 1 และวันที่ 21 ตุลาคม 2549 เจ้าพนักงานตำรวจจับจำเลยที่ 1 ส่งศาลชั้นต้น โดยไม่ปรากฏว่าผู้ร้องมีส่วนเกี่ยวข้องหรือช่วยเหลือในการจับกุมจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด แสดงว่าผู้ร้องไม่ได้ขวนขวายติดตามจับตัวจำเลยที่ 1 มาส่งศาล การที่ศาลชั้นต้นไม่ลดค่าปรับให้แก่ผู้ร้องจึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว ปัญหานี้ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปให้เสร็จในคราวเดียวกันโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ทำการพิจารณาและพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2045/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพและการสืบพยานประกอบคำรับสารภาพในคดีอาญา ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 240, 244 และ 341 โดยความผิดตาม ป.อ. มาตรา 240 ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท จึงเป็นคดีที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างต่ำตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หากจำเลยให้การรับสารภาพก็เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องนำสืบพยานหลักฐานประกอบคำรับสารภาพของจำเลยและศาลต้องฟังพยานหลักฐานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 เมื่อปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นว่า จำเลยให้การรับสารภาพ โจทก์และจำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน ศาลชั้นต้นจึงให้รอฟังคำพิพากษาและได้อ่านคำพิพากษาให้โจทก์จำเลยฟังในวันนั้นเองโดยโจทก์จำเลยได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าว ซึ่งหากโจทก์เห็นว่าการที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้วโจทก์จะต้องสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 240 ดังกล่าว โจทก์ก็ชอบที่จะคัดค้านหรือแถลงขอสืบพยานโจทก์ต่อไป เมื่อโจทก์แถลงไม่ติดใจสืบพยาน โจทก์จึงไม่มีพยานหลักฐานที่จะให้ศาลรับฟังลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้ ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชอบแล้ว คดีจึงไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 208
สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสามหมื่นบาท และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดในสองมาตราดังกล่าวไม่ใช่คดีที่มีอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง จึงไม่อยู่ในบังคับที่โจทก์จะต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพของจำเลย และศาลไม่จำต้องฟังพยานหลักฐานของโจทก์เสียก่อน หากศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยตามคำรับสารภาพ ศาลก็คงลงโทษจำเลยในบทมาตราดังกล่าวได้ ดังนั้น คดีนี้ศาลชั้นต้นย่อมฟังว่าจำเลยกระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 244 และมาตรา 341 ตามฟ้องได้โดยไม่จำต้องสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดสองมาตราดังกล่าวจึงเป็นการไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขเสียให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4279/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องความผิดตาม พ.ร.บ.เช็ค ต้องระบุหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย
พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 บัญญัติว่า "ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายโดยมีลักษณะหรือมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) เจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น ฯลฯ เมื่อได้มีการยื่นเช็คเพื่อให้ใช้เงินโดยชอบด้วยกฎหมาย ถ้าธนาคารปฏิเสธไม่ใช้เงินตามเช็คนั้น ผู้ออกเช็คมีความผิด ฯลฯ" ตามบทบัญญัติดังกล่าวการออกเช็คที่จะเป็นความผิดนั้น จะต้องเป็นการออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายด้วย อันเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดการที่โจทก์บรรยายฟ้องมีสาระสำคัญว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสองฉบับซึ่งจำเลยทั้งสองออกเพื่อชำระหนี้ค่าอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นให้แก่โจทก์ เมื่อเช็คทั้งสองฉบับถึงกำหนดโจทก์ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินโดยให้เหตุผลว่า "โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย" เป็นที่เห็นได้ว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงแล้วว่า จำเลยทั้งสองออกเช็คพิพาททั้งสองฉบับเพื่อชำระหนี้ค่าอะไหล่และอุปกรณ์เครื่องทำความเย็นอันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 158 (5)
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกด้วยแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) โดยยังมิได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองว่าสมควรลงโทษจำเลยทั้งสองสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกหรือไม่ เพื่อให้การวินิจฉัยกำหนดโทษของจำเลยทั้งสองเป็นไปตามลำดับศาล เพราะผลแห่งการวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์อาจนำไปสู่การจำกัดสิทธิการฎีกาของคู่ความได้ จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 208 (2) ประกอบด้วยมาตรา 225 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4
of 23